Skip to main content
sharethis

'จาตุรนต์' หนุน 'เพื่อไทย' ลงมติใหม่ แก้ รธน.ปิดสวิตช์ ส.ว. 'วันชัย สอนศิริ' ประกาศยกมือสนับสนุนแก้ รธน. ทุกรูปแบบ ชี้ถ้า ส.ว.ทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวาง วันนั้นนรกจะมาเยือน ส.ว. กระแสของคนทั้งสังคมจะกดดัน รุมประณามอย่างรุนแรงแน่นอน 'คำนูณ' พร้อมปิดสวิตซ์ตัวเองตัดอำนาจเลือกนายก

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2563 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ โพสต์ข้อความใน เพจเฟสบุ๊ก Chaturon Chaisang ระบุว่า “ขอสนับสนุนการที่พรรคเพื่อไทย จะลงมติใหม่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิทช์ สว. บ้านเมืองมาถึงขั้นนี้จะให้ สว.ลงมติเลือกนายกฯ อีกไม่ได้แล้ว หากมีการยุบสภากะทันหัน แล้วสว.ยังเลือกนายกฯ ได้อีกจะเป็นวิกฤตร้ายแรง เสนอแล้วจะสำเร็จหรือไม่ ย่อมขึ้นกับกระแสสังคม ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน”

'วันชัย' ประกาศยกมือสนับสนุนการแก้ รธน. ทุกรูปแบบ 

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2563 ว่านายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 ก.ย. ว่าตนพร้อมจะอภิปราย และยกมือสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบ ทั้งโมเดลการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือการแก้ไขแบบรายมาตรา เพราะคิดว่าสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งซีกรัฐบาล และฝ่ายค้านทั้งหมด พร้อมใจกันเสนอให้มีการแก้ไข ขณะที่ภาคประชานักเรียน นิสิต นักศึกษาต่างเรียกร้อง ถ้า ส.ว.ทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวาง ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่า วันนั้นนรกจะมาเยือนส.ว.แน่ กระแสของคนทั้งสังคมจะกดดัน รุมประณามมาที่ส.ว.อย่างแรงแน่นอน และจะมีผลกระทบ ส่งปัญหาต่อการทำงานตลอดความร่วมมือกันในรัฐสภาอีกด้วย ที่และสำคัญที่สุดเรื่องนี้จะมีผลโดยตรง ไปกระทบตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอย่างแน่นอน เพราะมุมหนึ่ง พรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯนั้น เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อีกมุมหนึ่ง ส.ว.ชุดที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้แต่งตั้งมา กลับไม่ยอมให้แก้ไข สถานการณ์ดังกล่าว แม้พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะไม่เกี่ยวข้องหรือรู้เห็น แต่มันจะหลีกเลี่ยง ห้ามคนมองไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เล่นสองหน้า มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ ไม่ให้ ส.ว.ยอมรับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“เรื่องนี้จะทำให้ ส.ว.เสียหาย แล้วจะพลอยทำให้พล.อ.ประยุทธ์ เสียหายไปด้วย ทั้งๆที่ท่านอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยสถานการณ์ขณะนี้ ผมคิดว่า ส.ว.มีส่วนอย่างสำคัญในการลดความขัดแย้งทั้งในและนอกสภาฯได้ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้จะมีผลกระทบต่อนายกฯรุนแรง พรรคการเมืองจะขัดแย้งกันรุนแรง ฉะนั้น ส.ว.ควรจะมีส่วนลดความขัดแย้งได้ เพราะเมื่อ ส.ส.ทั้งหมด ยืนยันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เราก็ต้องไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคใดๆทั้งสิ้น วส.ว.คนอื่นผมไม่รู้ แต่ ส.ว.วันชัย ตกผนึกแล้ว โดยพร้อมสนับสนุนการแก้ไขทุกรูปแบบ และนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปผมขอประกาศปิดสวิตซ์ตัวเอง ไม่ขอใช้สิทธิในการโหวตนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป ต่อไปนี้การแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จหรือไม่ ถ้ามีการโหวตนายกฯเมื่อไหร่ก็ตาม ผมขออนุญาติปิดสวิตซ์ตัวเอง ไม่ใช้สิทธิดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 อีกต่อไป โดยจะของดออกเสียง ถอนปลั๊กเรื่องนี้ออกทั้งหมด เพราะเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆแล้ว เก็บเอาไว้รังแต่จะขัดแย้งสร้างปัญหา” นายวันชัย กล่าว

'คำนูณ' พร้อมปิดสวิตซ์ตัวเองตัดอำนาจเลือกนายก

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2563 ว่านายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ว่า โดยภาพรวมแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 ในส่วนของบทถาวร มีข้อดีอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อพิจารณามาตรา 144 ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีส่วนใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่สำหรับเสียงคัดค้านในบทเฉพาะกาลที่ถูกตั้งคำถามหนักในประเด็นความชอบธรรมทางการเมือง อันเป็นเสมือนส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งของความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา อย่างมาตรา 269 ประกอบมาตรา 272 อันเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ที่กำหนดให้คสช.คัดเลือก 250 ส.ว. แล้วส.ว.ร่วมเลือกอดีตหัวหน้าคสช.เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งยอมรับว่าตรงนี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ

"แต่ได้รับการอรรถาธิบายแก้ต่างจากหลายคน รวมทั้งผมเอง ว่าเป็นระบอบการเมืองเฉพาะกิจและเฉพาะกาลในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้บรรลุ 2 เป้าหมาย หนึ่ง คือความสงบสุขในบ้านเมือง อย่างน้อยก็ชั่วคราว และ สอง เพื่อให้การปฏิรูปประเทศตามแผนงานเดินหน้าได้ดี ในช่วง 5 ปีแรก แต่บัดนี้ทั้ง 2 เป้าหมายไม่สามารถบรรลุผลได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศอย่างการปฏิรูปตำรวจ ที่จำเป็นที่จะต้องกล่าวด้วยความเจ็บปวดว่ารัฐบาลชุดนี้สอบไม่ผ่าน เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วผมขอตอบโจทย์โดยไม่ลังเล ขณะนี้ไม่มีความคุ้มค่าที่จะคงมาตรการพิเศษเฉพาะกิจและเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะที่อ้างว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้า ไว้อีกต่อไป ทำให้ตรงเป้าที่สุดก็คือตัด มาตรา 272 อำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของ 250 ส.ว.ออกไปจากรัฐธรรมนูญ ความคิดเบื้องต้นของผม คือควรแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราว่ากันเป็นประเด็น ๆ ไปก่อนเลย โดยต้องรวมเอาประเด็นที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด หรือที่ถูกมองว่าไร้ความชอบธรรมที่สุด คือมาตรา 272 ไว้ด้วย จะเหมาะสมกว่าการแก้ไขให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยส.ส.ร.

"อย่างไรก็ตามในชั้นต้นที่ผมยังมีคำถามกับประเด็นส.ส.ร.ก็เพราะ การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หมดทั้งฉบับโดยส.ส.ร.ในลักษณะปราศจากกรอบ นอกจากห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เท่านั้น เสี่ยงต่อการที่จะทำให้ของดีๆที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีอันต้องหายไป  นอกเหนือจากหมวด 1 และหมวด 2 แล้ว ยังมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนอีกมาก โดยเฉพาะประเด็นเหล่านี้ พระราชอำนาจในฐานะองค์พระประมุขแห่งรัฐที่อยู่นอกหมวด 2 อาทิ ในขั้นตอนการตราพระราชบัญญัติ หรือรัฐธรรมนูญ และอื่น ๆ กลไกขององค์กรอิสระต่าง ๆ ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ที่อาจถูกแปรเปลี่ยนไปเมื่อต้องยกร่างใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น ก็ยังต้องใช้เวลาอีก 15 - 19 เดือนกว่าจะสำเร็จทุกขั้นตอน แต่ครั้นคิดทบทวนดูอย่างรอบคอบแล้ว ในชั้นวาระที่ 1 นี้ จะให้ผม ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภาชุดแรก 250 คนตามบทเฉพาะกาล มาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแบบยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ที่เสนอจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี ได้อย่างไร ขอบอกว่าโดยตรรกะแล้วเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง หนึ่งคือประเด็นความสงบในบ้านเมือง ดังนั้น ในวันที่ 24 ก.ย.ส่วนตัวจะลงมติให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรายประเด็นรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 272 ว่าด้วยการให้ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกฯ ถ้ามีร่างฯเสนอเข้ามา หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดใหม่ให้มี ส.ส.ร.ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับตามร่างฯที่เสนอเข้ามาแล้ว 2 ฉบับ

'พนิต' ย้ำจุดยืน ไม่ให้ ส.ว.เลือกนายก

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2563 ว่านายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊คในหัวข้อ “สถานะเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน แต่จุดยืนไม่เคยเปลี่ยน ขอแค่ประชาธิปไตยปกติ” ใจความว่า ย้อนไปเมื่อวันลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 (7 ส.ค. 2559) ผมในฐานะประชาชนคิดไม่ตกกับการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะบางมาตราเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักของ "นิติรัฐ - นิติธรรม" แต่ก็มีในบางส่วนบางตอนไม่เข้าหลักการนี้ คำถามของผมคือ รัฐธรรมนูญดีพอไหม + ส.ว.ควรมีอํานาจในการเลือกนายกไหม ? ผมจึง VOTE NO ทั้งสองคำถามในการประชามติครั้งนี้ วันนี้ 4 ปี ผ่านไป ทำให้ผมต้องหวนกลับมาพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง ในสถานะของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 60 ผมก็ยังยืนหยัดจุดยืนเดิมดังที่ได้แถลงข่าวร่วมกับเพื่อนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนว่า “ร่างรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวไม่พอต่อการแก้ไขสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน แต่ต้องแก้ไขมาตรา 272 เพิ่มเติมเพื่อลดอำนาจของ ส.ว. ในการโหวตนายกรัฐมนตรี และยับยั้งการสืบทอดอำนาจ” คำตอบของผม รัฐธรรมนูญดีไม่พอ + ส.ว.ไม่ควรมีอํานาจในการเลือกนายกอย่างแน่นอน

“สถานการณ์ในวันนั้นยุค คสช. ประชาธิปัตย์ถูกระงับบทบาททางการเมือง ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบและแสดงความเห็นต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ แต่ในวันนี้เราเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลที่มีหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการหาทางออกให้กับประเทศ ซึ่งในวันนี้ปัญหาของประเทศไทยมิใช่มีเพียงแค่ปัญหาของรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีอีกสิ่งที่สำคัญคือปัญหาปากท้องของประชาชนที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไข ผมคิดว่าเราควรถอยกันคนละก้าวเพื่อให้ประเทศเราเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงต่อไป สถานะเปลี่ยน วันนั้นในฐานะประชาชน 1 ใน 70 ล้าน ส่วนวันนี้ในฐานะส.ส. สถานการณ์เปลี่ยน-วันนั้นที่ประชาธิปัตย์ถูกระงับบทบาททางการเมืองยุคคสช. ส่วนวันนี้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล คําตอบวันประชามติเป็นยังไง วันนี้ก็เหมือนเดิม บางคนเรียกกบฏ บางคนเรียกจุดยืน ผมแค่อยากได้ประชาธิปไตยปกติ” นายพนิต ระบุ

นายพนิต ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ตนยังยืนยันที่จะลงชื่อในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งส่วนตัวไม่มีใครในพรรคมากดดัน หรือโทรมาหาแต่ทราบว่ามีเพื่อนส.ส.หลายคนที่ร่วมลงชื่อในญัตติขอแก้ไขมาตรานี้ มีคนในพรรคทั้งเป็นผู้ใหญ่และเพื่อน ส.ส.โทรมา เพื่อขอให้ถอนชื่อจากร่างญัตติดังกล่าวที่ทางกลุ่มต้องรวบรวมรายชื่อ ส.ส.ให้ได้ 1 ใน 5 หรือ 98 คน และขอยืนยันว่า ตนจะเดินหน้ารวบรวมชื่อเพื่อนส.ส.ทั้งที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน เพื่อเสนอขอให้มีการแก้ไขมาตรา 272 คือให้ ส.ว.ไม่มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ใช่ประชาธิปไตยปกติ เพราะวันนี้ถึงเวลาของการเป็นประชาธิปไตยปกติได้แล้ว

เมื่อถามว่า เป็นการเล่นสองหน้าของพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องนี้หรือไม่ นายพนิต กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน แต่เป็นจุดยืนเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่ต้น และแม้พรรคจะมีมติใช้ร่างเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาล การที่กลุ่มของพวกตนจะขอแก้ มาตรา 272 เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยปกติ ก็เป็นเอกสิทธิ์ที่สามารถทำได้ และรัฐบาลเองก็เปิดโอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง จึงถึงเวลาที่จำเป็นต้องพูดถึงประเด็นนี้ เพราะการแก้มาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร. ก็เป็นเรื่องในอนาคต แต่ในวันนี้ เมื่อ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เรามุ่งแก้มาตรา 272 ให้ส.ว.ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ไม่ใช่มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ เพราะหมดยุคประชาธิปไตยไม่ปกติแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net