'สุดารัตน์' จับตารัฐแจกเงิน 3,000 บาท ระวังเอื้อทุนใหญ่ เหลื่อมล้ำมากขึ้น

'สุดารัตน์' จับตานโยบายรัฐเตรียมแจกเงินอีก 3,000 บาท ระวังเอื้อทุนใหญ่ เหลื่อมล้ำมากขึ้น - โฆษกรัฐบาลแจงยังไม่สรุปแผนแจกเงิน รอรายละเอียดจาก ศบศ.ใน 2 สัปดาห์

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2563 ว่าคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย แสดงความคิดเห็นผ่าน แฟนเพจเฟสบุ๊ค กรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เตรียมแจกเงิน 3,000 บาท ให้คนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 15 ล้านคน ให้เวลาใช้ 3 เดือน โดยกำหนดให้ใช้วันละ 100-250 บาท ผ่านร้านค้าที่ขึ้นทะเบียน ทำให้มีความเป็นห่วงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น รัฐบาลยังคงวนเวียนกับการแจกเงินแบบที่เคยทำมาก่อนเกิดโควิด-19 และทำมาตลอด 6 ปีกว่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แปลว่ารัฐบาลยังคิดมาตรการอื่นที่ดีกว่าการแจกเงินไม่ออก ปัญหาคือจะมีปัญญาแจกเงินไปได้อีกนานเท่าไร

คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุต่อไปว่า ผลของความล้มเหลวการแจกเงินแสดงออกมาในรูปของการจัดเก็บภาษี ปรากฏว่าสิ้นสุดเดือน ก.ค. 2563 รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการถึง 2.67 แสนล้านบาท คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2563 การจัดเก็บภาษีอากรน่าจะติดลบเกินกว่า 300 แสนล้านบาท แสดงว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กู้เงินมาใช้เงินอย่างมโหฬารไม่ได้ผล คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2564 หนี้สาธารณะจะสูงเกินร้อยละ 60 ที่เป็นกรอบความยั่งยืนทางการคลังซึ่งจะทำให้รัฐบาลก่อหนี้ไม่ได้อีก แปลว่ารัฐบาลประยุทธ์ จะล้มละลายทางการคลัง ความหายนะจะบังเกิดกับประชาชน

“ความน่าเป็นห่วงของมาตรการแจกเงินครั้งนี้คือ เงินที่แจกมาจากการกู้และเป็นหนี้ที่ประชาชนต้องชดใช้ ซึ่งกว่าจะใช้หนี้หมดคงใช้เวลาเกือบ 100 ปี แต่จะไม่เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยหรือเอสเอ็มอี เพราะรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการอะไรที่จะทำให้พ่อค้าแม่ค้ารายเล็กรายน้อยได้ประโยชน์จากเงินที่แจก โดยทำกระบวนการแจกยุ่งยากต้องใช้ผ่านแอปฯ ซึ่งเอื้อกิจการรายใหญ่ทั้งสิ้น ถ้าคิดจะแจกให้คนจนได้ประโยชน์ก็แจกเป็นเงินสดดีกว่า

ส่วนที่รัฐบาลคิดว่าคนไทยไม่มีกำลังซื้อจึงต้องแจกเงิน แล้วทำไมจึงคิดว่าพ่อค้าแม่ค้าที่หมดตัวไปแล้วยังมีทุนไปซื้อของมาขายเพื่อรับเงินที่รัฐบาลแจกคน 15 ล้านคน ผลคือเงินที่กู้มาแจก จะไหลไปสู่กระเป๋าเจ้าสัวเพียงไม่กี่ราย ทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก กู้เงินมาแจก ก็ยังแจกไม่เป็น ปัญหาของรัฐบาลนี้คือการที่นายกฯ มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่มีความจริงใจต่อประชาชน คิดแต่จะอุ้มคนรวย โดยอ้างคนจนบังหน้า”

โฆษกรัฐบาลแจงยังไม่สรุปแผนแจกเงิน รอรายละเอียดจาก ศบศ.ใน 2 สัปดาห์

ด้าน สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2563 ว่านายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข่าวเรื่องมาตรการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยการช่วยค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน 15 ล้านคน ในวงเงิน 3,000 บาทต่อคน เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอย เป็นการลดค่าครองชีพ และเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยนั้น

มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงหลักการในเบื้องต้น ที่ทางกระทรวงการคลังได้นำเสนอในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เท่านั้น ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปที่จะอนุมัติให้ดำเนินการโครงการแต่อย่างใด ข้อสรุปของที่ประชุมศบศ. คือได้มีมติให้กระทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมศบศ. ในครั้งต่อไปภายใน 2 สัปดาห์

"มาตรการช่วยค่าใช้จ่ายประชาชนที่มีสิทธิจำนวน 15 ล้านคน ในวงเงินคนละ 3,000 บาทนั้นเป็นเพียงข้อเสนอในหลักการเบื้องต้นที่กระทรวงการคลัง นำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมศบศ. เมื่อวันพุธที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ที่ประชุมศบศ. ได้มีมติให้กระทรวงการคลังดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในส่วนของประชาชนที่จะลงทะเบียนได้รับสิทธิ รวมถึงร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยขอให้ครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อยให้ได้มากที่สุด และเมื่อกระทรวงการคลังได้ข้อสรุป และนำเสนอเพื่อขอมติจากศบศ. ในรายละเอียดแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการนำเสนอมาตรการดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนที่จะดำเนินการต่อไป จึงขอให้ประชาชนได้มั่นใจว่า รัฐบาลจะดำเนินการโครงการช่วยเหลือประชาชนด้วยความรอบคอบ และให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทั่วไป"นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวอีกว่า สำหรับเงินช่วยเหลือดังกล่าวนี้ รัฐบาลตั้งใจที่จะให้ประชาชนสามารถนำไปใช้จ่ายได้ที่ร้านค้าทั่วไป ร้านหาบเร่แผงลอย ร้านโชห่วยต่าง ๆ รวมถึงการซื้อสินค้าในตลาดสดและตลาดนัด เพื่อให้ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ให้ได้มากที่สุด และเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลได้อย่างเต็มที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท