Skip to main content
sharethis

จังหวัดภาคเหนือคุมเข้มชายแดนอีกครั้ง หลังสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 'พม่า-เอเชียใต้' น่าเป็นห่วง


ที่มาภาพ: ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจของจังหวัดเชียงใหม่

8 ก.ย. 2563 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ส.ค. 2563 เพื่อนบ้านเราอย่างประเทศพม่า ได้เกิดการระบาดของเชื้อ COVID-19 ระลอกที่ 2 (พม่าพบผู้ป่วย COVID-19 รายแรกเมื่อวันที่ 23 มี.ค. และพบรายสุดท้ายในการระบาดระลอกแรกเมื่อวันที่ 16 ก.ค.) โดยพบการติดเชื้อระลอกใหม่นี้เริ่มจากรัฐยะไข่ จากนั้นรัฐบาลได้ออกคำสั่งให้ประชาชนใน 5 เมืองของรัฐยะไข่อยู่แต่ภายในบ้าน ได้แก่ ซิตต่วย เจ้าผิ่ว อัน ตองก๊ก และตานต่วย ต่อมาช่วงปลายเดือน ส.ค. 2563 กระทรวงต่างประเทศพม่าประกาศขยายเวลาห้ามผู้เดินทางทั้งหมดเข้าประเทศเป็นการชั่วคราวออก ขยายเวลาระงับวีซ่าทุกประเภทเป็นการชั่วคราว และสั่งขยายเวลาห้ามบริการเที่ยวบินระหว่างประเทศไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 อีกด้วย 

วันที่ 3 ก.ย. 2563 กระทรวงสาธารณพม่ารายงานว่ามีผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 120 ราย ส่งผลให้พม่ามีผู้ติดเชื้อเกินหนึ่งพันคน สะสมอยู่ที่ 1,058 ราย โดยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าภายในเวลาไม่ถึง 10 วัน 

วันที่ 5 ก.ย. 2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1,253 ราย เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในย่างกุ้ง ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ 7 เขตในย่างกุ้งอยู่ภายใต้คำสั่งห้ามออกจากบ้าน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 8.00 น. วันที่ 2 ก.ย. เมืองมัณฑะเลย์ได้ออกประกาศให้ผู้ที่เดินทางมาจากย่างกุ้งและรัฐยะไข่จะต้องถูกกักตัวและตรวจหา COVID-19 โดยเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง ขณะที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า ประกาศคุมเข้มการเข้าเมืองในวันที่ 1 ก.ย. หลังจำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเนปิดอว์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยสถานการณ์ล่าสุด ข้อมูลจาก Worldometer ณ วันที่ 7 ก.ย. 2563 (13:47 น. GMT) พม่ามีผู้ติดเชื้อ 1,419 คน เสียชีวิต 8 คน 

ติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศพม่าจาก The Myanmar Times

เอเชียใต้น่าห่วง

เนื่องด้วยภูมิศาสตร์ของพม่าที่มีพรมแดนติดกับประเทศในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ขณะนี้พบว่าสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในกลุ่มประเทศนี้น่าเป้นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอินเดียที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2563 สถิติในรอบ 24 ชั่วโมง พบผู้ติดเชื้อ 90,802 ราย ซึ่งเป็นสถิติรายวันสูงสุดเท่าที่โรคนี้ระบาดมาในประเทศจีนตั้งแต่ปลายปี 2562 ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 ล้านราย ส่งผลให้อินเดียขึ้นเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดรองเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น

สถานการณ์ล่าสุด ข้อมูลจาก Worldometer ณ วันที่ 7 ก.ย. 2563 (13:47 น. GMT) พบว่าประเทศสำคัญ ๆ ในเอเชียใต้ อย่างอินเดียมีผู้ติดเชื้อรวม 4,224,014 คน เสียชีวิต 71,844 คน ปากีสถานมีผู้ติดเชื้อรวม 298,903 คน เสียชีวิต 6,345 คน และบังกลาเทศ มีผู้ติดเชื้อ 327,359 คน เสียชีวิต 4,516 คน

กรมควบคุมโรคคาด 2 สัปดาห์ ขยายพื้นที่มาถึงพื้นที่แถบชายแดนไทย

8 ก.ย. 2563 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในพม่าว่าสถานการณ์การระบาดในพม่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มพบในหลาย ๆ เมืองจากพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ คือรัฐยะไข่ และเริ่มเข้ามาทางตอนกลางของประเทศในพม่าแล้ว ทำให้เกิดความเสี่ยงกับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น 

แม้ว่าตอนนี้พื้นที่การระบาดจะอยู่ห่างไกลจากชายแดนไทย แต่คาดการณ์ว่าประมาณ 2 สัปดาห์ การระบาดจะขยายพื้นที่มาถึงพื้นที่แถบชายแดนไทย ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งทหาร ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งบุคลากรการแพทย์ ต่างเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นตามแนวชายแดน หากตรวจจับได้ต้องมีตรวจสอบและกักกัน 

จังหวัดภาคเหนือคุมเข้มชายแดน-กวดขันแรงงานข้ามชาติ


ที่มาภาพ: ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจของจังหวัดเชียงใหม่

ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2563 กระทรวงมหาดไทย ได้ออกหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 10 จังหวัด ติดชายแดนประเทศพม่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังการเดินทางเข้าประเทศผ่านทางด่าน จุดผ่านแดน หรือจุดผ่อนปรน โดยต้องดำเนินการตามมาตรการการป้องกันโรคตามคำสั่ง ศบค. อย่างเคร่งครัด และบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ชายแดน เฝ้าระวังป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมายผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อป้องกันการระบาดของโรค COVID-19 ในจังหวัดชายแดนที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศพม่า 10 จังหวัด ติดชายแดนพม่า ที่สั่งเฝ้าระวัง ประกอบด้วย กาญจนบุรี ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระนอง แม่ฮ่องสอน และราชบุรี 

การกวดขันในฝั่งไทยเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับตามสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นในพม่า 

เชียงใหม่


ที่มาภาพ: ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจของจังหวัดเชียงใหม่

3 ก.ย. 2563 นายแพทย์กิตติพันธ์ ฉลอม นายแพทย์ชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่  เปิดเผยว่าขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ยังคงมีการระบาดอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างประเทศได้ให้ความสนใจการระบาดของ COVID-19 ในประเทศพม่า ที่พบผู้ป่วยจำนวน 700 กว่ารายแล้ว ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และมีจำนวนผู้ป่วยใหม่ในย่างกุ้งอีกส่วนหนึ่งที่เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ซึ่งประเทศพม่านั้นมีพรมแดนติดกับประเทศไทย ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีข้อสั่งการในเรื่องการตรวจตรา ป้องกัน ผู้ที่ลักลอบเข้ามาตามพรมแดนทางธรรมชาติ ได้มีการเน้นย้ำเครือข่ายในแต่ละอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอชายแดนที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษร่วมกับเครือข่ายโควิดหมู่บ้าน อสม. หากพบว่ามีผู้ลักลอบเข้ามาให้ดำเนินการแจ้งเจ้าหน้าที่ทั้งสาธารณสุข ผู้นำชุมชน ในพื้นที่ทันที เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีการติดตามต่อไป  ส่วนผลการดำเนินการสำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายจำนวน 43 ราย ที่ตรวจจับได้บริเวณอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่  ได้ให้เข้ากักกันในสถานที่กักกันของรัฐ ซึ่งขณะนี้ครบกำหนดระยะกักกันตัว 14 วันแล้ว โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้มีการดำเนินการตรวจหาเชื้อ COVID-19 จำนวน 2 ครั้ง ผลการตรวจหาเชื้อไม่พบผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด จึงได้ส่งต่อให้ ตม. ดำเนินการผลักดันกลับสู่ประเทศเดิมเป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางมาท่องเที่ยว หรือทำกิจธุระ  ทั้งยังได้รับสมัครโรงแรมที่จะเข้าร่วมเป็น Alternative Local Quarantine ซึ่งมีโรงแรมที่สนใจเข้าร่วมแล้วกว่า 10 แห่ง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการประเมินการจัดเตรียมความพร้อม และพัฒนาให้เข้มข้นในเรื่องของการคงมาตรการการกักกัน ร่วมกับทางโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความมั่นใจให้มากที่สุด

นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้เตรียมความพร้อมจัดทำแผนรองรับหากเกิดมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยจะจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เตรียมพร้อมรับผู้ป่วยกรณีที่เกิดการระบาดหนักรวมถึงการเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลในการรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ ทั้งผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยปานกลาง จำนวนกว่า 300 คน และขอเน้นย้ำให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด  สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกไปทำกิจธุระนอกบ้าน รักษาระยะห่างระหว่างกัน สแกนแอพพลิเคชันไทยชนะ หรือลงทะเบียนเวลาไปในสถานที่ชุมชน เพื่อความปลอดภัยและดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขในยุค New Normal


ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

7 ก.ย. 2563 นายสิทธิศักดิ์ อภิกุลชัยสุทธิ์ นายอำเภอแม่อาย จ.เชียงใหม่ มอบหมายให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอำเภอแม่อายที่ 5 บูรณาการร่วมกับ ตชด.ที่ 334 กองบังคับการควบคุมทหารพราน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3 ผู้ใหญ่บ้าน ต.ท่าตอน ต.แม่อาย และ ชรบ. ต.ท่าตอน ต.แม่อาย อ.แม่อาย จัดชุดปฏิบัติการ ลงพื้นที่ลาดตระเวนตามช่องทางแนวชายแดน เพื่อสกัดกั้น เฝ้าระวัง การลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวฯ อันเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) บริเวณพื้นที่ชายแดน หมู่บ้านแก่งทรายมูล หมู่ที่ 14 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย และบริเวณถนนสายความมั่นคงโดยผลการปฏิบัติการไม่พบต่างด้าวลักลอบหนีเข้าเมือง และสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด

เชียงราย


ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

3 ก.ย. 2563 พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก และคณะร่วมเดินทางลงพื้นที่ไปยังชายแดนด่านแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อเข้าประเมินสถานการณ์ จากกรณีเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 รอบใหม่ในประเทศพม่า ซึ่งพบคนต่างด้าวทั้งชาวพม่า-ชาวลาว-และชาวจีน นับร้อยคน ลักลอบเดินทางหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายข้ามฝั่งเข้ามาในประเทศไทย ทางช่องทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่มีพรมแดนติดกับประเทศพม่า ตลอดแนวในเขต 3 อำเภอคือ อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่จัน และอำเภอแม่สาย ของจังหวัดเชียงราย

โดยพบว่าทางเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังผาเมืองยังคงเข้มงวด โดยมีการวางกำลังตั้งจุดตรวจบนถนนสายต่าง ๆ ปัจจุบันได้มีการวางกำลังเคลื่อนที่และตั้งจุดตรวจตามถนนสายต่าง ๆ ทำการตรวจคุมเข้มในทุกช่องทางธรรมชาติตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า รวมถึงเพิ่มกำลังไปสนับสนุนหน่วยที่กำลังปฏิบัติการอยู่ตลอดแนวชายแดนทางบก 

ทั้งนี้ผู้บัญชาการทหารบก ได้พบปะพูดคุย พร้อมกับได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังผาเมือง ตรวจคุมเข้มช่องทางข้ามตามธรรมชาติโดยตลอดแนวชายแดน ไทย-พม่า ป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเข้ามายังฝั่งไทยโดยผิดกฎหมายและไม่ผ่านการคัดกรอง พร้อมกันนี้ ยังได้ให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติงานตามแนวชายแดนอีกด้วย

7 ก.ย. 2563 ศูนย์ติดตามสถานการณ์ COVID 19 เชียงราย รายงานว่าตามที่มีผู้นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับมี "ชาวเมียนมาลักลอบหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ติดโรคโควิดทุกคน โดยมาพักพิงกับญาติในหมู่บ้านห้วยขม หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 10  ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย และถูกจับไปกักตัวในค่าย" โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบแล้ว แต่ไม่พบเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด จึงยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม
     
และในบ่ายวันจันทร์ที่ 7 ก.ย. 2563 นายอำเภอเมืองเชียงรายพร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายสาธารณสุขได้ร่วมกันออกตรวจแบบปูพรมโดยละเอียดทั่วทั้งหมู่บ้าน แต่ไม่พบว่ามีบุคคลต่างด้าวลักลอบเข้ามาในพื้นที่ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
     
ขณะนี้ นายอำเภอเมืองเชียงรายได้รวบรวมหลักฐาน สำหรับแจ้งความดำเนินคดีกับผู้แพร่ข่าวเท็จ ที่เป็นข่าวปลอม และบิดเบือน ที่ส่งผลต่อความสงบสุข ความปลอดภัยสาธารณะ และความผาสุกของประชาชนด้วยแล้ว

แม่ฮ่องสอน


ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

7 ก.ย. 2563 พ.อ.สมรรถชัย แปงสาย ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 36 มอบหมายให้ กองร้อยทหารพรานที่3604 จัดกำลังร่วมกับ ฝ่ายปกครองอำเภอสบเมย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน ที่สว.1 (แม่สามแลบ ) ผู้ใหญ่บ้าน และ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ทำการลาดตระเวนด้วยการเดินเท้าตามภูมิประเทศ โดยเน้นการตรวจบริเวณช่องทาง ท่าข้ามต่างๆ ตามริมน้ำสาละวิน เนื่องจากในห้วงที่ผ่านมา ปรากฏข่าวสารว่ามีผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย จากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามายังฝั่งไทย และในบางพื้นที่ได้มีการลักลอบนำผลผลิตทางการเกษตรเข้ามาด้วย ผลการปฏิบัติไม่พบการกระทำผิดกฎหมายใดๆ

กองทัพบก โดยกองกำลังนเรศวร ได้สั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่ ทำการป้องกันและปราบปรามกลุ่มขบวนการที่ลักลอบกระทำผิดกฎหมาย ตลอดจนแรงงานต่างด้าว ซึ่งอาจเป็นพาหะในการแพร่เชื้อ COVID-19 เข้ามาภายในประเทศ ซึ่ง กรมทหารพรานที่36 รับผิดชอบพื้นที่ 4 อำเภอตอนล่างของจังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ อ.ขุนยวม , อ.แม่ลาน้อย ,อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย


ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ส่วนที่จุดคัดกรองด่านตรวจถาวรแม่สวด บ้านแม่สวด หมู่ที่ 8 ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าที่ ร.ต.อัสชล บุญมาดำ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ทีมตระหนักรู้สถานการณ์ กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน รายงานสถานการณ์คัดกรองโรคไวรัสโค โรนา 2019 (COVID-19) จากการบูรณาการกำลังร่วมกับหลายหน่วยงาน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรสบเมย 4 นาย ฝ่ายปกครองอำเภอสบเมย 2 นาย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอสบเมย 1 นาย เจ้าหน้าที่ขนส่งแม่สะเรียง 2 นาย ชุดรักษาความสงบบ้านแม่สวด 1 นาย ร่วมกันคัดกรองผู้สัญจรเข้าพื้นที่ เป็นคนไทย 57 ราย ต่างชาติ (สหรัฐอเมริกา) 1 ราย ไม่มีไข้ เหตุการณ์ทั่วไปปกติ ไม่พบสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเร่งด่วน

สำหรับสถานการณ์ COVID-19 แม่ฮ่องสอน วันที่ 6 ก.ย. 2563 เวลา 16.00 น. ไม่พบผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 158 ราย ผู้ที่ได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สะสม 84 ราย ไม่พบเชื้อ 79 ราย พบเชื้อ 5 ราย รักษาหายหมดแล้ว ไม่มีผู้รอผลตรวจ การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก(RTD) จำนวน 515 ราย การตรวจน้ำลายในกลุ่มเสี่ยง 426 ราย การตรวจน้ำลายกลุ่มแรงงานต่างด้าว 248 ราย ผลลบ 248 ราย จำนวนผู้กักกันใน Local Quarantine 0 ราย

             

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net