Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พยายามหาสมมติฐานว่าทำไมกลุ่มเยาวชนนิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่และประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน ที่ออกมาขณะนี้นั้น อะไรคือสิ่งที่ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่ภายหลังยกระดับเป็นประชาชนปลดแอก คับข้องหมองใจจนเกิด 1 ความฝัน อันเป็นความฝันที่หลายคนหวั่นวิตกจนเกรงว่าจะเลยเพดานของการเคลื่อนไหว

ย้อนนึกกลับไปเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่งตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ต่อมาวันที่ 25 ก.ค. 62 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.อนาคตใหม่ ได้จุดประเด็นโดยการขอหารือกรณีคลิปข่าวพระราชสำนัก ปรากฏถ้อยคำที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ใน ม.161 ของรัฐธรรมนูญ จนเป็นประเด็นที่ถูกจับจ้อง และวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม อย่างคลุมเครือ เพราะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญจริงๆ จนหลายฝ่ายได้ยื่นเรื่องตามขั้นตอน เพื่อส่งให้องค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยในเรื่องรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ทำการวินิจฉัย

กระทั่งวันที่ 11 ก.ย. 62 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดี จนได้ข้อยุติและได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 อันเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของ ครม. ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นายกฯนำ ครม.เข้าเฝ้าทูลละออง ธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ

เอกสารยังระบุอีกว่า หลังกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกฯและ ครม.ได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน ต่อมาวันที่ 27 ส.ค. นายกฯพร้อม ครม.เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาส เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย โดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบ–รัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด และมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ที่ขอให้พิจารณาว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณดังกล่าว ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161

นี่คือปมประเด็นมูลเหตุที่สำคัญ

ทุกคนรู้ ทุกคนเห็นกันในวงกว้างว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณตนดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อความที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 161 อย่างจริงแท้แน่นอน

ทุกคนรู้ ทุกคนเห็นกันในวงกว้างว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณตนดังกล่าวขาดสาระสำคัญของคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

และทุกคนรู้ ทุกคนเห็นกันในวงกว้างว่า นี่คือถ้อยคำในบทบัญญัติตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ดังนั้นทุกคนจึงรู้ และเห็นกันในวงกว้างว่า เมื่อมีข้อสงสัย ข้อสังเกต หรืออื่นใดที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ องค์กรที่ต้องชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อมีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แต่การที่องค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวกลับไม่ทำหน้า กลับไม่รับคำร้อง โดยบอกว่า

"ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของ ครม. ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์"

หลังจากนั้นทุกคนที่รู้ ทุกคนที่เห็น จึงตั้งคำถามว่า ครม. ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ สามารถไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็ได้เหรอ ดังนั้นถ้า ครม. ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ จะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ ก็ย่อมต้องทำได้น่ะสิ

แสดงว่า ขณะที่ทุกคนในประเทศนี้ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ ครม. ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ สามารถไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เท่ากับว่าอยู่เหนือรัฐธรรมนูญนั่นเอง

ดังนั้นการที่องค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมรับคำร้องในการกระทำผิดรัฐธรรมนูญที่เห็นกันอย่างชัดแจ้งในสังคมนั้น เท่ากับว่าเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบไปให้ ครม. ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกคนที่รู้ ทุกคนที่เห็นกันในวงกว้างในวันนั้น คือกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง 1 ความฝันในวันนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดูจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ผู้คนออกมาร่วมชุมนุมเรียกร้องอย่างมากมายอย่างไม่เคยปรากฏ ทั้งๆ ที่มีประเด็นร้อนๆ จากการชุมนุมของกลุ่ม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมก็ตาม

เพราะความดันทุรังแท้ๆ ที่ทำให้ 1 ความฝันที่ต้องการให้ทุกคนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน กลายเป็นปรากฏการณ์สร้างความชอบธรรมในการกวักเรียกมวลชนให้เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้อง

ถ้าในวันนั้นองค์กรที่มีหน้าที่สร้างความชัดเจนในเรื่องรัฐธรรมนูญ เห็นคนทำผิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แล้ววินิจฉัยตามความเป็นจริง เรื่องนี้ก็จะไม่เป็นประเด็นให้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นว่าเหนือรัฐธรรมนูญกับใต้รัฐธรรมนูญ

ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ว่า....เมื่อผู้มีหน้าที่ชี้ผิด ไม่ยอมชี้ผิด ก็ทำให้สังคมไทยต้องมองเห็นกันไปเองว่าใครอยู่เหนือหรืออยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และหาก 1 ความฝันของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการให้ทุกคนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน จะถูกมองว่า เลยเพดาน

“ใคร? ล่ะ...ที่เป็นคนต้นเรื่อง”
 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net