พนัส ทัศนียานนท์: ยุยงปลุกปั่นโดยสุจริตภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากการที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาต้องออกมาแถลงกรณีตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ขอฝากขังทนายอานนท์ นำภา เมื่อ 8 สิงหาคม 2563 โดยท่านอธิบดีฯ ปรารภในทำนองว่าหากใช้หลักรัฐศาสตร์กับกรณีนี้น่าจะดีกว่าใช้หลักนิติศาสตร์ดังที่ปรากฏในรายงานข่าวของสื่อเกือบทุกสำนักนั้น เชื่อว่ามีคนมิใช่น้อยไม่ค่อยจะเข้าใจความหมายที่ท่านอธิบดีฯ ต้องการสื่อให้สาธารณชนรับรู้เท่าไหร่นัก สำหรับผมเองตีความหมายคำพูดของท่านว่า ท่านไม่ค่อยจะเต็มใจออกหมายขังให้ตามที่ตำรวจมาร้องขอเท่าไหร่ เพราะตามความเข้าใจจากประสบการณ์การทำงานเป็นอัยการของผมในอดีต ที่ท่านอธิบดีฯ บอกว่าทำไมไม่ใช้หลักรัฐศาสตร์ มันมีความหมายว่าแทนที่จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดก็น่าจะหาทางอะลุ่มอล่วยกันเพี่อหาทางออกอย่างอื่นที่ดีกว่าได้ ซึ่งก็มีนัยต่อไปที่ทำให้เข้าใจได้ด้วยว่าตำรวจไม่น่ามายืมมือศาลให้จัดการเรื่องนี้แทน

แต่ที่ผมค่อนข้างจะรู้สึกแปลกใจเอามากๆ ก็คือในเมื่อท่านอธิบดีฯ เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรใช้หลักนิติศาสตร์ด้วยการดำเนินคดีกับทนายอานนท์และคนอื่นๆ ที่ออกมาร่วมชุมนุมกันเพราะอาจอาศัยหลักรัฐศาสตร์แก้ปัญหาได้ ทำไมท่านถึงไม่แนะนำให้ตำรวจถอนคำร้องขอฝากขังไปเสียเลยเล่า แถมเมื่อให้ทนายอานนท์ได้ประกันตัวออกไป ไม่ต้องเข้าไปนอนอยู่ในคุก ท่านก็กำหนดเงื่อนไขด้วยว่าทนายอานนท์จะต้องไม่ไปทำเรื่องอย่างเดียวกันกับที่ถูกตำรวจกล่าวหาซ้ำอีก ซึ่งก็เท่ากับมีนัยว่าท่านเห็นด้วยกับตำรวจผู้กล่าวหาว่าการกระทำของทนายอานนท์ที่ตำรวจนำมาร้องขอให้ท่านออกคำสั่งขังนั้นเป็นความผิดที่สมควรถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งดูจะย้อนแย้งกันเองอยู่ในตัว

วาทะช็อคชาติ

ประเด็นควรใช้หลักรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ที่เกริ่นนำไว้ข้างต้นสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 จากการจัดชุมนุมแที่มีชื่อกิจกรรมว่า #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยมีธีมเรื่องของการชุมนุมครั้งนี้ว่า แฮรี่ พอตเตอร์ มีอานนท์ นำภา ทนายหนุ่มนักสิทธิมนุษยชนเป็นไคลแมกซ์ของอีเว้นต์ การปราศรัยของอานนท์ครั้งนี้ทำให้คนไทยแทบทั้งชาติเกิดอาการช็อคตื่นตะลีงแต่ก็เต็มตื้นไปด้วยปิติ ที่มีผู้กล้าแอ่นอกออกมาพูดแทนตัวเองในเรื่องที่ไม่เคยมีใครหน้าไหนบังอาจแม้แต่จะเพียงเอ่ยถึงมานานหลายชั่วคนแล้ว สาระสำคัญที่เขาพูดปราศรัยกับผู้ร่วมชุมนุมต่อหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันนั้น โดยมีการไล้ฟ์สดสะท้อนสะเทือนไปทั่วทั้งโลกไซเบอร์โซเชียลมีเดีย คือเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้นั่นเอง

หมายจับข้อหาม. 116 “ยุยงปลุกปั่น”

หลังการปราศรัยช็อคชาติครั้งนี้เพียง 3 วันก็ได้มี การออกหมายจับทนายอานนท์และผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ รวมทั้งหมด 31 คนและต่อมาได้นำไปสู่การขอฝากขังบุคคลดังกล่าวต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563

ตามหมายจับทนายอานนท์ นำภา ในฐานะผู้ต้องหาที่ 7 ซึ่งออกโดยศาลอาญาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 โดยมี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ (พันตำรวจโทหญิงจิตติมา ธงไชย) เป็นผู้ร้องขอให้ออกหมาย ปรากฏว่าหมายจับดังกล่าว มีข้อกล่าวหารวมทั้งหมด 7 ข้อ โดยมีข้อกล่าวหาฐาน “ยุยงปลุกปั่น” ตามป.อาญา ม.116 เป็นข้อหาหลักที่สำคัญที่สุด ส่วนข้อหาฐานความผิดระดับรองลงไปได้แก่ ข้อกล่าวหาฐานก่อการจลาจลตาม ป.อาญา ม.215 และข้อกล่าวหาฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ,ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโรคโควิด-19  ส่วนข้อกล่าวหาฐานอื่นอีก 4 ข้อเป็นความผิดเล็กน้อยตามกฎหมายอื่น

องค์ประกอบความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่น”

สำหรับความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 บัญญัติว่า

“มาตรา 116 ผู้ใดกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอัน มิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กําลังข่มขืน
ใจ หรือใช้กําลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อ
ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 
ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี”

พิจารณาจากองค์ประกอบความผิดของการกระทำอันจะเข้าลักษณะเป็นการ “ยุยงปลุกปั่น”ตามมาตรา 116 นี้ได้ จะต้องมีพยานหลักฐานยืนยันว่า

ตาม (1) มีการยุยงให้ใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย “เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล

ตาม (2) การยุยงปลุกปั่นนั้นทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร 

ตาม (3) เกิดมีการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามการยุยงปลุกปั่นนั้น จะเห็นได้ว่า ในแต่ละองค์ประกอบความผิดจะต้องมีลักษณะของความเป็นอันตรายร้ายแรง และมีขอบเขตกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีความ “ชัดเจน” “ใกล้จะถึง” “ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แน่นอน”หรือ “เป็นปัจจุบัน”

ยิ่งไปกว่านั้นหากมีเจตนาพิเศษเป็น “การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ” หรือ “เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต” การกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดเช่นว่านั้นย่อมไม่เข้าลักษณะเป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตาม ป.อาญา มาตรา 116 นี้

กลไกตรวจสอบกลั่นกรองการออกหมายจับและหมายขัง

จากการตรวจสอบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีกลไกการตรวจสอบกลั่นกรองการออกหมายจับ ดังต่อไปนี้

1.รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 28 วรรคสอง “การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีคําสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
 
2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 59  ศาลจะออกคำสั่งหรือหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง ตามที่ศาลเห็นสมควรหรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้

มาตรา 59/1 ก่อนออกหมาย จะต้องปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่ามีเหตุที่จะออกหมายตามมาตรา 66 มาตรา 69 หรือมาตรา 71 คำสั่งศาลให้ออกหมายหรือยกคำร้อง จะต้องระบุเหตุผลของคำสั่งนั้นด้วยหลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องขอ การพิจารณา รวมทั้งการออกคำสั่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

มาตรา 66 เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ

(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

มาตรา 71 เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

3. ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. 2548

ข้อ 14 การร้องขอให้ออกหมายจับ ผู้ร้องขอต้องเสนอพยานหลักฐานตามสมควรว่า ผู้จะถูกจับน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุอย่างสูงเกินสามปี หรือน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ข้อ 18 ในการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ออกหมายจับหรือหมายค้น ผู้พิพากษาไม่จำต้องถือเคร่งครัดเช่นเดียวกับการรับฟังพยานหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลย

ข้อ 43 ก่อนที่ศาลจะออกหมายขังตามข้อ 39 หรือกรณีที่ศาลจะขังจำเลยไว้ ระหว่างพิจารณาจะต้องปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะ ได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะได้ กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

สำหรับในกรณีนี้พยานหลักฐานที่ศาลจะต้องพิจารณาว่ามีตามสมควรหรือไม่ คือ คำปราศรัยของทนายอานนท์ ซึ่งเป็นการแน่นอนว่าพนักงานสอบสวนต้องได้ทำการบันทึกไว้ทุกถ้อยคำและนำเสนอต่อศาลพร้อมกับคำร้องขอให้ออกหมายจับ กรณีจึงเป็นการมีพยานหลักฐานเต็มเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ มิใช่เป็นเพียงมีตามสมควรเท่านั้น ศาลย่อมสามารถวินิจฉัยได้ในเบื้องต้นเลยว่าคำปราศรัยดังกล่าวมีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่นตามความหมายของป.อาญา มาตรา 116 หรือไม่ การพิจารณาพยานหลักฐานอื่นประกอบคงมีเพียงการพิจารณาว่าคำปราศรัยดังกล่าวทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อ ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตาม 116(2) หรือเกิดมีการละเมิดกฎหมายแผ่นดินขึ้นตามคำยุยงปลุกปั่น ตาม 116 (3) ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาในหมายจับหรือไม่เท่านั้น

อนึ่ง ในการพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานตามสมควรให้ออกหมายจับหรือไม่ ศาลจะต้องพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายด้วยว่า จากพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนเสนอมานั้น การกระทำของผู้ที่จะถูกจับมีลักษณะครบองค์ประกอบความผิดตามข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนร้องขอให้ออกหมายจับหรือไม่

บทวิเคราะห์

พิจารณาจากคำพูดปราศรัยของทนายอานนท์ เมื่อ 3 สิงหาคม 2563 ปรากฏว่า ไม่ได้มีความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนเกิดขึ้นถึงขนาดเป็นการก่อความไม่สงบในวงกว้างไปทั่วประเทศแต่อย่างใด มีแต่เพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนนับพันเป็นอย่างมากซึ่งฟังการปราศรัยอยู่โดยสงบและปราศจากอาวุธหรือใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งมิได้มีการยุยงให้ผู้ใดทำผิดกฎหมายในเรื่องใด ๆ เลยทั้งสิ้น หากแต่เป็นเพียงการเรียกร้องและเสนอแนะให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความสอดคล้องและส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่นานาอารยะประเทศประพฤติปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น การปราศรัยดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ประชาชนชาวไทยทุกคนพึงมีพึงใช้ได้ตามรัฐธรรมนูญ ถือได้ว่าเป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต 

ดังนั้น กรณีจึงน่าจะสรุปได้ว่า การปราศรัยของทนายอานนท์ตามทางการไต่สวนของศาลไม่ปรากฏหลักฐานตามสมควรว่าการกระทำดังกล่าวของทนายอานนท์เป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 116 แต่อย่างใด ชอบที่ศาลจะยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจสำราญราษฎร์เสียได้ แต่ศาลอาญาหาได้กระทำเช่นนั้นไม่ 

จะเห็นได้ว่า ในมุมกลับของการใช้ข้อหายุยงปลุกปั่นตาม ป.อาญา มาตรา 116 ดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง หรือประท้วงต่อต้านคัดค้านการใช้อำนาจรัฐในเรื่องใดๆ จะมีความสุ่มเสี่ยงต่อการใช้กฎหมายนี้ที่มีผลกลายเป็นการละเมิดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยได้เสมอ เพราะการออกมาชุมนุมสาธารณก็ดี การแสดงความคิดเห็นโดยเปิดเผยต่อสาธารณก็ดี หากกระทำโดยสงบ ปราศจากการใช้อาวุธหรือความรุนแรง และไม่เป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ล้วนเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอันถือได้ว่าเป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการที่ต่อมาได้มีการเพิกถอนการประกันตัวทนายอานนท์ โดยพนักงานสอบสวนร้องกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการประกันเนื่องจากได้มีการฝ่าฝืนกระทำการซึ่งศาลกำหนดเป็นข้อห้ามไว้ โดยศาลได้ทำการไต่สวนและมีคำสั่งให้ขังทนายอานนท์ไว้มีกำหนดเวลาตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวน

โดยเหตุที่การคุมขังทนายอานนท์ตามคำสั่งศาลดังกล่าว เป็นผลโดยตรงจากการจับและควบคุมโดยไม่ขอบด้วยกฎหมายของพนักงานสอบสวน การคุมขังทนายอานนท์ไว้ในเรือนจำจึงเป็นการคุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามบทบัญญัติ ป.วิอาญา มาตรา 90 แม้จะเป็นการคุมขังตามคำสั่งหรือหมายขังของศาลก็ตาม (ฎีกาที่ 466/2541) และกรณีถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในร่างกายของทนายอานนท์ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ซึ่งทนายอานนท์มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 25 และมาตรา 213 ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคําวินิจฉัยว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7(11), มาตรา41 และ มาตรา 46-48

ท้ายที่สุด มีข้อสังเกตว่า นอกจากการกระทำของทนายอานนท์ไม่น่าจะเป็นความผิดฐาน ยุยงปลุกปั่นตาม ป.อาญา มาตรา 116 เพราะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญดังที่ได้ชี้ให้เห็นข้างต้นแล้ว การที่พนักงานสอบสวนนำคัวทนายอานนท์กับผู้ถูกกล่าวหาอื่นอีกเพียงคนเดียวมาขอฝากขังในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันสุดสัปดาห์ ทั้ง ๆ ที่มีผู้ถูกกล่าวหารายอื่น ๆ อีกหลายรายที่พนักงานสอบสวนได้ขอหมายจับไว้แล้วเช่นเดียวกัน จึงย่อมเป็นการเล็งเห็นได้ว่า ศาลอาจไม่สามารถพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ทันภายในเวลาราชการของศาล ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นทนายอานนท์และเพื่อนผู้ถูกกล่าวหาอีกคนหนึ่งซึ่งถูกนำมาฝากขังพร้อมกัน ก็จะต้องถูกส่งตัวไปคุมขังไว้ในเรือนจำ และจะไม่สามารถร้องขอให้ศาลปล่อยชั่วคราวได้ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เสาร์อาทิตย์อีกอย่างน้อยสองวัน การปฏิบัติเช่นนี้ของพนักงานสอบสวนแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาที่ไม่สุจริตในการใช้อำนาจจับกุมคุมขังทนายอานนท์ โดยอาศัยศาลเป็นเครื่องมือในการปิดปากและขัดขวางทนายอานนท์ในการแสดงความคิดเห็นที่มีผลกระทบโดยตรงต่อรัฐบาลและสถาบันการเมืองที่ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท