รัฐบาลห้ามขายเหล้าออนไลน์มีผลในอีก 90 วัน 'ประชาชนเบียร์' เตรียมฟ้องศาลปกครอง

รัฐบาลห้ามขายเหล้าออนไลน์จะมีผลในอีก 90 วัน 'ประชาชนเบียร์' กำลังรวมผู้ได้รับผลกระทบเตรียมฟ้องศาลปกครอง แอดมินชี้ประกาศที่ออกมาเป็นการดูถูกประชาชน ประชาชนควรมีสิทธิคิดเองได้ว่าอะไรควรไม่ควรและมีแต่ผู้ผลิตรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามขายออนไลน์

วานนี้ (8 ก.ย.63) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 โดยมีผลการบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในประกาศระบุเหตุผลว่าการขายสุราทางออนไลน์ทำให้ควบคุมอายุผู้ซื้อและเวลาในการขายให้เป็นไปตามกฎหมายได้ยาก ตามประกาศระบุว่าข้อห้ามนี้อาศัยอำนาจตามมาตรา 4 และ มาตรา 30 (6) พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  พ.ศ.2551 ซึ่งการฝ่าฝืนตามมาตรา 30 (6) นั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทตามมาตรา 41

หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศดังกล่าว เพจ “ประชาชนเบียร์” โพสต์ชักชวนคนที่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าวร่วมกันฟ้องศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ ธนากร ท้วมเสงี่ยม แอดมินเพจประชาชนเบียร์ต่อประเด็นนี้ เขากล่าวว่าขณะนี้กำลังรวบรวมผู้ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าวและกำลังร่างคำฟ้องอยู่ ซึ่งคาดว่าอีก 2-3 วันจะมีความคืบหน้า ก่อนที่ประกาศนี้จะออกมาทางกลุ่มเคยไปยื่นร้องเรียนว่าไม่เห็นด้วยที่จะออกประกาศนี้โดยไม่มีการฟังความคิดเห็นจากประชาชน และจะมีผลกระทบอย่างไรบ้างกับผู้ประกอบการ

ธนากรแสดงความเห็นว่า เขาคิดว่าการออกประกาศฉบับนี้มาเหมือนเป็นการตีกรอบและดูถูกประชาชนว่าประชาชนไม่มีสิทธิคิดเองได้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร เขากีดกันทุกอย่างเหมือนที่เขาเคยทำกับระบบประชาธิปไตยในบ้านเรา พวกเราควรจะมีสิทธิในการพูด เชื่อว่าคนที่ดื่มกว่า 16 ล้านคน ทุกคนควรยืนยันในสิ่งที่ตัวเองคิดสิ่งที่ตัวเองทำว่าไม่ได้เดือดร้อนใครเขาควรได้พูดถึงผลกระทบที่เกิดกับตัวเขาเอง ก็อยากให้คนมองภาพในมุมที่กว้างขึ้นและคิดว่าเรามีสิทธิที่จะพูดเรื่องนี้

กลุ่มสนับสนุนการเปิดเสรีการผลิตเบียร์นำคราฟเบียร์ที่ผลิตในไทยมาเรียงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในการชุมนุมประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2563

แอดมินเพจประชาชนเบียร์ให้ข้อมูลว่าถ้ามองในมุมธุรกิจผู้ผลิตรายเล็กก็เสียเปรียบรายใหญ่อยู่แล้ว กว่าจะนำสินค้าเข้าไปวางขายในห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อแบบเซเว่นอีเลฟเว่นได้ต้องมีการผลิตในปริมาณที่เยอะมาก คนที่มีเงินทุนทำในปริมาณมากก็ไม่ได้มีเยอะ กลุ่มคนที่ทำเครื่องดื่มลักษณะนี้ 90 เปอร์เซ็นต์เลยสามารถทำออกมาได้น้อย ถ้าจะทำให้สินค้าของตัวเองเข้าถึงลูกค้าได้ก็ต้องขายทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นคนที่มีหน้าร้านของตัวเองมีน้อยมาก อย่างมากก็ฝากร้านขายแล้วทางร้านก็ไม่ได้มีคนเข้าเยอะอีกก็ต้องใช้ทางออนไลน์หมด มันก็กระทบไปหมดเลยทั้งผู้ผลิตและร้านค้า จนถึงผู้บริโภคที่บริโภคของที่พิเศษกว่าของที่ขายในท้องตลาดก็ไม่สามารถเข้าถึงของที่ดีได้ ก็เท่ากับว่าเขาตีกรอบสิทธิในการเลือกของเราไม่ให้เราได้เลือกเลย ก็เท่ากับบังคับให้เรากินแต่ของที่หาได้จากร้านอย่างเซเว่นฯ ซึ่งรายใหญ่ก็ได้เปรียบอยู่ดี

กลุ่มผู้ผลิต-ขายสุรา ล่าชื่อยกเลิกกฎหมายห้ามโฆษณาขายเหล้า

ส่วนเรื่องความคืบหน้าในการแก้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ที่ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ธนากรบอกว่าตอนนี้มีคนร่วมลงชื่อเสนอแก้กฎหมายยังไม่ถึงสองพัน ตอนนี้พยายามไปตามจุดต่างๆ ที่มีคนสนใจเช่นตามร้านคราฟท์เบียร์ หรืออาจจะลองไปตั้งโต๊ะตามม็อบและยังมีประเด็นที่กฎหมายล็อคกำลังการผลิตขั้นต่ำเอาไว้ทำให้ไม่สามารถทำธุรกิจขนาดเล็กได้

ธนากรกล่าวว่าที่ตั้งเพจประชาชนเบียร์ขึ้นมาเพราะคิดว่าการทำเบียร์ที่บ้านควรเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไทยที่จะสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายก็เลยเริ่มมาจากการทำเบียร์ที่บ้านก่อนที่จะขยับขยายมาเคลื่อนไหวเรื่องกฎหมายที่ใหญ่ขึ้น แต่ก็ยังทำเรื่องการต้มเบียร์ในบ้านอยู่ ก่อนหน้านี้ก็เคยเชิญคนต้มเบียร์ที่บ้านมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างสังคมคนดื่มที่มากกว่าแค่ดื่มแล้วก็เมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท