Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ไว้ 2 จุด

จุดแรก คือ มาตรา 272 วรรค 2 ในกรณีไม่มีผู้ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองคนใดได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา จึงให้ปลดล๊อค ด้วยเสียงกึ่งหนึ่ง และโหวตเห็นชอบด้วยเสียง 2 ใน 3 คือ 500 เสียง

ถ้ามองดุลอำนาจทางการเมืองในสภาตอนนี้ การจะได้นายกรัฐมนตรีคนนอกรายชื่อที่เสนอโดยพรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะพรรคร่วมรัฐบาลมีประมาณ 270+ (+ส.ส.ฝากเลี้ยงตามคำเล่าลือ ซึ่งมีอยู่จริง) และ สว. 250 คน ก็โหวตชนะแล้ว

จุดที่สอง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมองข้าม คือ การให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 

หลังเลือกตั้งรัฐสภามีตัวเลือก 7 คน จากพรรคที่ได้ส.ส.อย่างน้อย 25 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  จากพรรคพลังประชารัฐ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย 3 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ 

หากจะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ขณะนี้จะมีเพียง 6 ตัวเลือกนี้เท่านั้น ไม่นับนายธนาธร เพราะถูกตัดสิทธิทางการเมือง

โดยหลักการแล้วพลเอกประยุทธ์ ก็เป็น “นายกรัฐมนตรีคนนอก” เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เราไม่สามารถอนุมานได้ว่า คนเลือกพลังประชารัฐทั้งหมดคือคนที่ต้องการให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี 

นี่คือความหมายพื้นฐานของการไม่มีความยึดโยงกับประชาชน การมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ยังเป็นบ่อเกิดของคณะรัฐมนตรีที่ขาดประสิทธิภาพ ดังจะเห็นว่านายกรัฐนตรีที่ไม่ได้มีฐานเสียงในพรรคการเมือง ไม่สามารถคุมเกมส์การเมืองในพรรค จน รมต.คลังที่ตัวเองเลือกมาด้วยโควต้าส่วนตัว ต้องลาออกไปในเวลาไม่ถึง 1 เดือน 

การชูประเด็นแก้มาตรา 272 เพื่อปลดอำนาจ สว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ในขณะนี้ มีข้อดีเพื่อตอกย้ำว่าการให้ สว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ได้การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีขาดความชอบธรรม และไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป

แต่ในท่วงทำนองทางการเมืองปัจจุบัน การแก้รัฐธรรมนูญเฉพาะมาตรา 272 เพียงมาตราเดียวเพียงพอหรือไม่ และจะ "รอ" ให้มี สสร.อีกประมาณ 2 ปี ไหวไหม

ขณะนี้ พรรคร่วมรัฐบาลมี 270 เสียง++ หากยุบสภาเลือกตั้งใหม่ หรือ นายกรัฐมนตรีลาออก เอาเฉพาะเสียง ส.ส. ในสภา ก็ได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม หรือ คนที่เครือข่ายอำนาจเดิมเห็นชอบอยู่ดี โดยไม่ต้องอาศัยเสียง สว. 250 คน 

บางท่านอาจเถียงว่า พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะก้าวไกลจะได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น ก็อาจเป็นได้ แต่ฝ่ายค้านที่เห็น ๆ กันอยู่ในปัจจุบันรวมกันอย่างไร ก็ยากที่จะได้เกิน 250 เสียง เมื่อพิจารณาระบบและกติกาเลือกตั้ง ร่วมกับกลไกอำนาจรัฐ และงบประมาณที่พลังประชารัฐถือครอง

การแก้มาตรา 272 ว่าด้วยวุฒิสภาอย่างเดียว จะกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์บางเบาของการต่อสู้ ที่ไม่ช่วยให้ประเทศรอดพ้นจากทางตันทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น

การแก้รัฐธรรมนูญที่จะช่วยเปิดช่องทางออกจากปัญหาก่อนจะมีการยุบสภา หรือ ความพลิกผันทางการเมืองใด ๆ คือ แก้ระบบเลือกตั้ง มาตรา 83-94 แก้ให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. มาตรา 159 และแก้ มาตรา 272 ปลดอำนาจ สว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี 

ทั้งหมดนี้แก้ได้โดยไม่ต้องทำประชามติ จึงสามารถทำได้โดยเร็วหากมีฉันทามติในประเด็นเหล่านี้ร่วมกัน หรือมีแรงกดดันจากสังคมมากพอ

ส่วนการแก้มาตรา 256 เพื่อแก้ไขวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ จะโดยให้มี สสร. หรือด้วยกระบวนการอื่น ก็ควรทำควบคู่กันไป เพราะเมื่อเข้าสู่การพิจารณาแล้ว ต้องทำประชามติก่อนจะขับเคลื่อนการสรรหา สสร. ร่างรัฐธรรมนูญ และ กฎหมายลูก ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีก 2 ปี 

แต่ก็ต้องทำ และเร่งทำเพื่อให้การรับหลักการวาระ 1 ทันก่อนปิดประชุมสภาในวันที่ 25 กันยายน และเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 เมื่อเปิดสมัยประชุมในเดือนพฤศจิกายน 

บรรยากาศของการถกเถียง ทะเลาะกันบ้าง แซะกันบ้าง นั้นเป็นธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย และช่วยให้เกิด “ห้วงเวลาแห่งรัฐธรรมนูญ” ที่สาธารณชนสนใจติดตาม ทำความเข้าใจ ออกความเห็น รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 

แต่ถึงคราวลงมติ ขอให้ลืมความบาดหมางชั่วขณะ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือประมาณ 375 เสียง

สมมุติว่าได้ สว.มาเพียง 84 เสียง ตามขั้นต่ำของ สว. 1 ใน 3 ก็ยังต้องการเสียง ส.ส. อีก 291 คน 
ดังนั้นจะขาดฝ่ายค้านซึ่งมีอยู่ร่วมกัน 212 เสียง พรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้ และยังต้องได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้อีก เกือบ 80 คน 

ถ้าไม่ร่วมมือกัน การแก้รัฐธรรมนูญที่จะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ จะไม่มีทางสำเร็จ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Siripan Nogsuan Sawasdee

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net