นักวิเคราะห์ชี้ปัญหาที่แท้จริงสำหรับไทยคือพิษเศรษฐกิจจาก COVID-19 มากกว่าจะเป็นวิกฤตโรคติดต่อ

โทมัส ปาร์คส์ ผู้แทนประเทศไทยจากมูลนิธิเอเชียวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ประเทศไทยในนิคเคดิเอเซียนรีวิวเอาไว้ว่า ประเทศไทยอาจจะทำได้ดีในเรื่องการควบคุมผลกระทบจาก COVID-19 ที่ระบาดหนักไปทั่วโลก แต่วิกฤตที่แท้จริงที่ประเทศไทยต้องเผชิญคือวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ประเมินว่าเศรษฐกิจจะส่งผลต่อการประท้วงที่นำโดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษาซึ่งกำลังดำเนินต่อเนื่องได้อย่างไร

โทมัส ปาร์คส์ ผู้แทนประเทศไทยจากมูลนิธิเอเชีย(The Asia Foundation) วิเคราะห์เหตุการณ์ในไทยว่า ในช่วงที่มีการประท้วงอย่างต่อเนื่องนำโดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษาหลังจากที่ประเทศไทยทำได้ดีในการจัดการปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในประเทศตัวเอง สิ่งที่จะเป็นปัญหาจริงๆ สำหรับประเทศไทยคือวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตนี้จะยาวนาน

อย่างไรก็ตามปาร์คส์มองว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นมีต้นสายปลายเหตุมาตั้งแต่ประเด็นความไม่พอใจต่างๆ ในหมู่ประชาชนก่อนหน้าเรื่อง COVID-19 และเรื่องเศรษฐกิจแล้ว แต่ถ้าหากเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ในแนวนี้จนเกิดวิกฤตก็จะทำให้คนไทยหลายล้านคนที่กลายเป็นคนยากจนเริ่มมีเหตุปัจจัยให้เข้าร่วมการประท้วงของนักเรียนนักศึกษามากขึ้น

นักวิเคราะห์ยังเล็งเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้คือการลาออกของยกทีมของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลไทยในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงการลาออกหลังเข้ารับตำแหน่ง 26 วันของ รมต. การคลัง ปรีดี ดาวฉาย ก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครจะคอยกุมบังเหียนในช่วงที่เศรษฐกิจไทยต้องฝ่าคลื่นลมมรสุม

ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลจะมีโครงการในทำนองแจกเงินจุนเจือคนไทยที่ถูกให้ออกจากงานและแรงงานนอกระบบประมาณร้อยละ 20 ของทั้งหมดแต่โครงการนี้ก็หยุดลงกระทันหันเมื่อหมดเดือน ก.ค. ทำให้ผู้รับเงินตรงนี้ไม่มีรายได้ ในตอนนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาการแจกเงิน 3,000 บาทต่อเดือนซึ่งจะเน้นให้ผู้รับเงินต้องใช้งานแอพพลิเคชันออนไลน์ที่จะจำกัดการใช้เงินอยู่เพียง 100-200 บาทต่อวันเท่านั้น

จากการที่มาตรการเกี่ยวกับ COVID-19 ส่งผลทำให้มีการปิดด่านอย่างไม่มีกำหนด ทำให้การท่องเที่ยวของไทยซึ่งนับเป็นร้อยละ 15 ของจีดีพีไทยทรุดหนัก ยูเอ็นประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงเหลือ 6 ล้านคนจากเดิม 40 ล้านคน ทำให้ไทยสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจราว 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.46 ล้านล้านบาท)

ขณะเดียวกันมูลนิธิเอเชียและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ต่างก็ทำการสำรวจทั่วประเทศไทยพบว่ายังมีสัญญาณที่ไม่ดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยอีกประการหนึ่งคือเรื่องการที่รายได้ของผู้คนทั่วไปหดตัวลดลงในระดับที่น่าตระหนก ถึงแม้ว่าชีวิตจะเริ่มดูเหมือนกลับมาปกติในฉากหน้าแต่ถ้าหากไทยต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งก็จะกลายเป็นหายนะได้ ธุรกิจในภาคส่วนการท่องเที่ยวร้อยละ 60 บอกว่าพวกเขาไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นเลยนับตั้งแต่ที่มีการล็อกดาวน์ในครั้งแรก ขณะที่ภาคส่วนการผลิตมีร้อยละ 12 เท่านั้นที่บอกว่าพวกเขาเริ่มฟื้นตัวได้จนถึงระดับก่อนการระบาด

ทั้งนี้ยังมีปัญหาที่คนไทยที่ขาดรายได้จำนวนมากไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย มีโครงการช่วยเหลือเงินกู้กับธุรกิจขนาดเล็กก็มีผู้ได้รับเพียงร้อยละ 15 ขณะที่โครงการแจก 5,000 บาท ก็มีแรงงานนอกระบบที่เป็นเป้าหมายของโครงการนี้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ได้รับ สาเหตุเพราะมีการใช้ช่องทางหลายอย่างเกินไปแต่ไม่มีช่องทางศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสาร ถึงแม้ธุรกิจค้าขายบางส่วนจะปรับตัวเข้าสู่การขายออนไลน์มากขึ้นแต่ภาคส่วนการผลิตและการท่องเที่ยวก็ไม่ใช่ภาคส่วนที่จะทำแบบนี้ได้

ปาร์คส์ชี้ว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการหดตัวลงคือการขาดความเชื่อมั่นในเรื่องที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นฟู มีเจ้าของธึรกิจจำนวนมากที่บอกว่าขอแค่พยุงตัวไม่เป็นหนี้มากขึ้นในช่วงที่ยังไม่แน่ไม่นอนแบบนี้ แต่ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากก็เลือกที่จะปิดตัวลงเพราะพวกเขามองว่าอนาคตจะมีแต่หนี้สินเพิ่มขึ้นและมีแต่ความสูญเสีย

บทวิเคราะห์ในนิคเคอิเอเซียนรีวิวเสนอว่ารัฐบาลไทยควรจะแสดงให้เห็นแนวทางไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังต้องพยายามหาวิธธีการหยุดยั้งปัญหารายได้ของประชาชนและอุปสงค์ของประชาชนหดตัวลงเรื่อยๆทำให้สิ่งที่ควรเสริมเพิ่มเติมจากโครงการแจกเงินแล้วควรจะทำแบบรัฐบาลประเทศอื่นๆ ด้วยการกระตุ้นภาคธุรกิจเพื่อให้ลูกจ้างยังคงมีรายได้อยู่ด้วย

เรียบเรียงจาก : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท