Skip to main content
sharethis

กสม. ชี้ การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลฯ หาดมหาราช จ.สงขลา ไม่สอดคล้องกับสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แนะรัฐบาลแก้ปัญหาที่สาเหตุ ให้การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลต้องจัดทำรายงาน EIA

10 ก.ย.2563 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า วันนี้ (10 ก.ย.63) วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้พิจารณารายงานผลการตรวจสอบ เรื่อง สิทธิชุมชน กรณีกล่าวอ้างว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตามที่ตัวแทนเครือข่ายประชาชนรักษ์หาดสทิงพระ ร้องเรียนมายัง กสม. เมื่อเดือนมีนาคม 2563 โดยประชาชนมีข้อห่วงกังวลต่อการดำเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ชายหาดมหาราชไม่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง และการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล อาจทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น และมีผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดของประชาชน เช่น กลุ่มประมงพื้นบ้าน จึงขอให้ตรวจสอบ

วัส กล่าวต่อไปว่า กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย รวมทั้งบทบัญญัติของกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วสรุปได้ว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่หาดมหาราช เทศบาลตำบลสทิงพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างในระยะที่ 2 และแม้โครงการไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) แต่กรมโยธาธิการฯ ได้จัดให้มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) ควบคู่ไปกับการสำรวจออกแบบรายละเอียดเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล และจัดให้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

จากการตรวจสอบพบว่า โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล เดิมเคยถูกกำหนดให้เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA แต่เมื่อปี 2556 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติให้ยกเลิกการจัดทำรายงาน EIA เพื่อให้สามารถแก้ไขและป้องกันปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างรวดเร็ว แต่การที่เคยถูกกำหนดให้เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA ย่อมแสดงว่า โครงการประเภทดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดทำโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล จึงควรดำเนินการเพียงเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับสภาพชายฝั่งในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงในการกัดเซาะหรือพังทลายระดับวิกฤตรุนแรง อันสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2560 – 2579 ที่ได้กำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไว้ว่า การแก้ไขปัญหาโดยใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมเหมาะสำหรับบริเวณชายฝั่งที่มีปัญหาการถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง ตามคำชี้แจงของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปรากฏว่า ในช่วง 3 - 5 ปีที่ผ่านมาไม่พบปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งบริเวณหาดมหาราช และเป็นชายหาดที่มีสภาพสมดุล มีความสำคัญด้านชีวภาพที่ควรแก่การอนุรักษ์ เช่น จักจั่นทะเล และมีทรัพยากรหอยเสียบซึ่งเป็นแหล่งการทำประมงชายฝั่งของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน หากมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล อาจเป็นการตัดความเชื่อมโยงของระบบนิเวศชายหาด การดำเนินโครงการดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับมาตรการการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบัน

ประการสำคัญ ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็เน้นให้ประชาชนเลือกรูปแบบเขื่อนตั้งแต่การประชุมใหญ่ครั้งแรก ซึ่งควรเป็นการรับฟังสภาพปัญหาและข้อห่วงกังวลของประชาชน และยังขาดการให้ข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการตัดสินใจตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของชาวบ้าน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง อีกทั้งประชาชนบางส่วนอาจได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่อยู่ติดหาดมหาราช ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และไม่ได้รับทราบถึงผลกระทบต่อจุดที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้เป็นที่จอดเรือและตากสัตว์น้ำที่จับได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง

“จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น กสม. จึงเห็นว่าการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลฯ หาดมหาราช จึงยังไม่สอดคล้องกับสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่สอดคล้องกับการทำหน้าที่ของรัฐในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งผู้ดำเนินการจะต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวตามสิทธิที่ได้มีการรับรองและคุ้มครองไว้” ประธาน กสม. กล่าว

วัสกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องร้องเรียนดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในชั้นการตรวจสอบได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากเรื่องร้องเรียนที่ขอให้ กสม. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น และเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในพื้นที่อีกหลายแห่ง รวมทั้งเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลปกครองแล้วพบว่า สาเหตุสำคัญคือการเพิกถอนโครงการก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล ประเภทกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวฝั่งที่มีความยาวตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป ออกจากโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA การเพิกถอนนี้ นอกจากจะลดทอนสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว การตรวจทานผลการศึกษาโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ รวมถึงความเหมาะสมในการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมก็ลดทอนลงไปด้วยเช่นกัน ย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการและการยอมรับจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นอีก ตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้มาตรา 34 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560  กสม. จึงมีมติในคราวประชุม กสม. ด้านคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 เห็นควรเสนอแนะมาตรการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนรวมทั้งการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  ต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้เป็น 2 ส่วนที่สำคัญดังนี้

“ส่วนที่ 1 ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามข้อร้องเรียนนี้ เห็นควรให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ชะลอโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลฯ หาดมหาราช ระยะที่ 2 และหารือร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อประเมินผลกระทบจากโครงการดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมกับสภาพปัญหาในพื้นที่และควรดำเนินการต่อไปหรือไม่ ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างครบถ้วน ส่วนการดำเนินโครงการในระยะที่ 3 และโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ในพื้นที่อื่น ควรชะลอไปก่อนจนกว่าจะมีกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลใช้บังคับ

ส่วนที่ 2 ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว เห็นควรให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการพิจารณาทบทวนให้โครงการก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล ได้แก่ กำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ให้ต้องจัดทำรายงาน EIA รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งให้เกิดกลไกการปฏิบัติงานแบบบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม และเร่งรัดการพิจารณาออกกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลต่อไป” ประธาน กสม. กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net