'ปิยบุตร' ย้ำ สสร.ร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับกับแก้รายมาตราทำพร้อมกันได้ ยันข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์พูดในสภาได้

สสร.ร่างใหม่ทั้งฉบับกับแก้รายมาตราทำพร้อมกันได้ 'ปิยบุตร' ชี้ประเด็นสำคัญต้องแก้ไขใน รธน.60 หนุนเรื่องสภาเดี่ยว - แก้ที่มาองค์กรอิสระ - ตั้งผู้ตรวจการกองทัพและศาล ยันข้อเสนอ 'นักศึกษา' เรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์  สามารถพูดในสภาได้ - ลั่นหากรัฐประหารเกิดขึ้นอีกพร้อมต้านถึงที่สุด

 

10 ก.ย.2563 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่า วันนี้ (10 ก.ย.63) อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมนำเสนอรายงานการศึกษาของ กมธ. ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า สำหรับในส่วนของตนเองนั้นได้ทำความเห็นส่วนตัวโดยสังเขปไว้ 25 หน้า ซึ่งมีอยู่หลายประเด็น โดยบางประเด็นเห็นตรงกันกับ กมธ.เสียงส่วนใหญ่ ขณะที่บางประเด็นก็เห็นค้าน ซึ่งในหลายๆ ประเด็นเหล่านี้ อาทิ หมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญที่เห็นว่าสามารถแก้ไขได้ ไม่ได้ต้องห้าม และบางกรณีในอดีตก็มีการแก้ไขมาแล้ว และถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยก็ต้องแก้ได้ ทั้งนี้ภายใต้กรอบระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเด็นต่อมาคือเรื่องสภาเดี่ยว ตนสนับสนุนให้ต่อไปนี้ประเทศไทยควรมีสภาเดี่ยวได้แล้ว ประเด็นเรื่องเพิ่มเติมบทบัญญัติการลบล้างผลพวงรัฐประหารเข้าไปในรัฐธรรมนูญ เรื่องการแก้ไขที่มาขององค์กรอิสระและองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลย์การทำงานขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการแก้ไขระบบกระบวนการนิติบัญญัติที่จะเพิ่มอำนาจให้กับสภามากขึ้น เพิ่มบทบาทให้กับฝ่ายค้านมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการสร้างหน่วยงานใหม่ๆ เช่น ผู้ตรวจการกองทัพ ผู้ตรวจการศาล ความเห็นเหล่านี้อยู่ในความเห็นส่วนตน และถ้าหากมีโอกาสก็จะขออภิปรายในประเด็นเหล่านี้

"การแก้ไขแบบยกร่างใหม่ทั้งฉบับและแบบรายมาตรานั้น สามารถทำพร้อมๆ กันได้ทั้ง 2 แบบ เช่น คาดว่าอีก 2 สัปดาห์ร่างแก้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะเข้าสภา ก็ต้องถกเถียงกันว่าจะเอารูปแบบที่พรรคฝ่ายรัฐบาลหรือแบบที่พรรคฝ่ายค้านเสนอ แต่กว่าจะมีประชามติให้มี สสร. กว่าจะเลือกตั้ง สสร.  กว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กว่าจะผ่านสภาพิจารณา กว่าจะผ่านประชามติ กว่าจะออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ กว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แบบ คิดว่ารัฐบาลชุดนี้คงอยู่ครบ 4 ปีไปแล้ว ดังนั้น ระหว่างทางก่อนไปถึงวันนั้น เราสามารถแก้ไขรายมาตราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตราที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 279 ที่รับรองประกาศคำสั่ง คสช.ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดกาล  มาตรา 269 -272 ต้องยกเลิกเรื่อง ส.ว. 250 คน แล้วกลับไปใช้ระบบปกติ ให้ ส.ว. มีอำนาจตามระบบปกติ ไม่ต้องมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องมีอำนาจเกี่ยวกับกฎหมายการปฏิรูปประเทศ หรือไม่ว่าเรื่องเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมืองต่างๆ  และที่ไปไกลกว่านั้นก็ควรปรับปรุงแก้ไขการได้มาซึ่งองค์กรอิสระด้วย ดังนั้น ระหว่างทางการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราสามารถทำการแก้ไขรายมาตราในสิ่งที่จำเป็นได้ เพื่อให้บรรยกาศทางการเมืองไทยดีขึ้นด้วย และทยอยกลับเข้าสู่ระบอบปกติ" ปิยบุตร กล่าว

ต่อกรณีคำถามที่ว่าข้อเสนอนักเรียนนักศึกษาควรมีการพูดถึงในสภาด้วยหรือไม่นั้น ปิยบุตร กล่าวว่า หน้าที่หลักของสภานั้นเป็นตัวแทนประชาชน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า นักเรียนนิสิตนักศึกษาและพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ชุมนุมกันทั่วประเทศ และจะมากขึ้นอีกในวันที่ 19 กันยายน และเดือนถัดๆ ไปนั้น ประเด็นหนึ่งที่เขาพูดกันคือเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เมื่อนอกสภาพูดแล้ว ในสภา ในฐานะผู้แทนประชาชน ก็เป็นสิทธิและตนเห็นว่าเป็นหน้าที่ด้วยที่จำเป็นจะต้องพูด และทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใดๆ ทั้งหมดนี้ยังอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ต่อคำถามกรณีข่าวลือรัฐประหารนั้น ปิยบุตร กล่าวว่า การรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549 เขาได้เอาอำนาจประชาชนไป แล้วพอประชาชนจะเริ่มได้อำนาจกลับคืนก็มาเอาไปอีก ผ่านกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ผ่านการยุบพรรคการเมือง ผ่านการรัฐประหารซ้ำในปี 2557 ผ่านการสลายการชุมนุมต่างๆ  ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้เริ่มต้นติดกระดุมเม็ดแรกผิดตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 ดังนั้น ถ้าหากวันนี้จะหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยการรัฐประหารอีกรอบ คิดว่าจะเป็นการทำผิดซ้ำไปกันใหญ่ ซึ่งจริงๆ วิธีการแก้ปัญหาง่ายมาก คือทำรัฐธรรมนูญให้เป็นปกติ บทเรียนที่ผ่านมาเรามีแล้ว คือกว่าที่รัฐธรรมนูญ 2521 รัฐธรรมนูญ 2534 จะปรับเป็นประชาธิปไตยได้ เราต้องเสียเลือดเนื้อจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ในเมื่อบทเรียนมีอยู่แล้ว ทำไมยังเดินหน้าไปสู่การเสียเลือดเสียเนื้อ ทำไมยังจะเดินหน้าไปสู่การรัฐประหาร ทำไมถึงไม่แก้กันในกติกา คิดว่าวันนี้ ส.ว.หลายท่านก็ส่งสัญญาณมาแล้วว่าพร้อมจะแก้ไข อยากให้หันมาให้ความสำคัญกับการแก้รัฐธรรมนูญ อย่าใช้อำนาจนอกระบบ และถ้ามีรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขอยืนยันตรงนี้ว่า ตนและนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะออกไปต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างถึงที่สุดแน่นอน

ปิยบุตร กล่าวถึง กระแสข่าวว่าจะไปเป็นแกนนำการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.นี้ โดยระบุว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่งก็เอาใจช่วยผู้ชุมนุม เราต้องพยายามมองนิสิตนักศึกษาเยาวชนว่าเขาเป็นตัวของเขาเอง เขามีความรู้ความสามารถ เขามีเสรีภาพในการเลือกที่จะแสดงออกแบบใด อย่าคิดว่ามีใครอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลัง ถ้าตนเป็นนิสิตนักศึกษาก็คงเสียใจ ที่คนมักจะมองว่ามีใครอยู่เบื้องหลังตลอด ทั้งๆ ที่เขามีวิจารณญาณ สามารถครุ่นคิดของเขาได้เอง ตนเองก็รอดูอยู่ ถ้าวันนั้นไม่มีอะไร ก็เป็นพลเมืองไทยที่จะไปร่วมชุมนุมด้วยคนหนึ่ง ส่วนกรณีที่มีการเป็นห่วงเรื่องมือที่สามในการชุมนุมนั้น เราต้องคิดใหม่ว่า มีเหตุการณ์ความรุนแรง มีมือที่สาม มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุม แทนที่จะชี้นิ้วไปที่ผู้ชุมนุม มันต้องชี้นิ้วกลับไปที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะว่าการชุมนุมเป็นตามหลักเสรีภาพอยู่แล้ว ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรงจากมือที่สามเกิดขึ้น ไม่ใช่หน้าที่ประชาชนที่จะต้องถ้าไม่อยากเจอมือที่สาม ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงก็กลับไปอยู่บ้านเฉยๆ อย่างนี้ไม่ถูก หลักที่ถูกต้องคือ เป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องควบคุม ตนคิดว่าไม่น่ามีบรรยากาศอะไรแบบนั้น สำหรับมือที่สาม รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ อยากให้มองเข้าไปว่าทุกคนเป็นลูกหลาน เป็นอนาคตของชาติ อย่าสร้างสถานการณ์จนบานปลายไปสู่จุดที่เราควบคุมไม่ได้

ยันแก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา ย้ำ อย่าสร้างความเข้าใจผิดว่าแตะต้องไม่ได้ จนอาจกลายเป็นวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญในอนาคต

จากนั้น ปิยบุตร  อภิปรายตอบคำถามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่อกรณีที่ผลการศึกษาของ กมธ.ที่รายงานต่อสภาไม่มีการพูดถึงการศึกษาหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 เรื่องพระมหากษัตริย์ แต่อย่างใด โดยระบุว่า ในเรื่องนี้ตนมีความเห็นต่างจากกรรมาธิการส่วนใหญ่ ต้องเรียนว่าข้อจำกัดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนไว้ใน มาตรา 255 คือห้ามเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐและห้ามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้อยความนี้หมายความว่า สามารถแก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา แต่ห้ามแก้จนเปลี่ยนให้ประเทศไทยเป็น สหพันธรัฐ เปลี่ยนเป็นเผด็จการ หรือเปลี่ยนให้มีประธานาธิบดีเป็นประมุขเป็นอันขาด และในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมวด 1 และหมวด 2 มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตรต่อเนื่องตามยุค แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 50 ก็มีการเพิ่มหลักเรื่องนิติธรรมลงไปในหมวด 1 หรือในปี 60 ก็มีการเพิ่มเรื่องการใช้อำนาจนั้นต้องคำนึงถึงเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน 

“ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างนัยยะสำคัญเช่นเดียวกัน ปี 2492 เพิ่มให้มีองคมนตรีอยู่ในรัฐธรรมนูญและยังอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ ปี 2534 มีการเปลี่ยนว่าการเข้าสู่ประมุขของรัฐหรือการเข้าสู่ตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ จากเดิมให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบได้เปลี่ยนเป็นการรับทราบเฉยๆ ซึ่งเราเห็นในข้อเท็จจริงได้ตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ รัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ ในเวลานั้นรัฐสภาเป็นผู้ลงมติให้ความเห็นชอบ แต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน ในวันนั้นรัฐสภาทำหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น นั่นคือความเปลี่ยนแปลงในหมวด 2”

ปิยบุตร ยังกล่าวต่อไปว่า ในหมวด 2 ยังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปลี่ยนแปลงว่าในกรณีพระมหากษัตริย์ไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรอาจจะตั้งผู้สำเร็จราชการแทนหรือไม่ก็ได้ จึงเห็นว่าอาจมีหลายเรื่องในหมวด 1 และ 2 ที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ดังนั้น อย่าสร้างความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจผิดๆ ว่าสองหมวดนี้แตะต้องไม่ได้ 

“คำว่าแตะต้องไม่ได้ คำว่าเปิดทางให้มีการแก้ คำว่าจะแก้หรือไม่แก้ เป็นคนละประเด็นกันหมดเลย การเขียนว่าทบทวนแก้ไขได้เสมอ ไม่ได้หมายความว่าอยากแก้ แต่ถ้าจำเป็นต้องแก้ก็ต้องแก้ ถ้าบอกว่าหมวด 1 และ 2  แตะต้องอะไรไม่ได้เลย แล้ววันหนึ่งหากมีความจำเป็นต้องแก้จริงๆ มันจะเกิด Deathlock เกิดวิกฤตการณ์ในทางรัฐธรรมนูญ ดังนั้น อย่าอธิบายหรือพยายามทำความเข้าใจผิดจนเกินตัวบทรัฐธรรมนูญซึ่งยืนยันชัดเจนว่า หมวด 1 และ 2 แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ สมาชิกสภา วุฒิสภา หรือประชาชนก็ควรสามารถพูดคุยถกเถียงกันเรื่องนี้ได้  ”

ในช่วงท้าย ปิยบุตร กล่าวว่า สำหรับหมวด 1 หากมีการทำรัฐธรรมนูญกันใหม่ หรือหากจะแก้ไขเพิ่มเติมในฉบับนี้ ก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญของประเทศลงไปอีกก็ได้ ในทางทฤษฎีเราเรียกว่าบทบัญญัตินิรันดร หรืออาจเรียกว่าอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญ หมายความว่า ใครจะมาเปลี่ยนแปลงแตะต้องไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยควรสถาปนาหลักการพื้นฐานลงไป เพื่อยืนยันว่าไม่ว่าจะมีการยึดอำนาจ มีการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกี่ฉบับก็ตาม แต่ประเทศไทยจะต้องเป็นแบบนี้ตลอดกาล นั่นคือ หลักการเรื่องของรูปของรัฐคือความเป็นรัฐเดี่ยว เป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สืบทอดทางสายโลหิต เรื่องของระบอบประชาธิปไตย หลักการนิติรัฐ หลักการเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักการสถาปนารัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งอยู่เหนือกองทัพ รวมไปถึงหลักการกระจายอำนาจ เพื่อให้หลักการเหล่านี้เป็นกระดูกสันหลังของประเทศไทย และไม่น่าแปลกอะไรหากจะบรรจุหลักเหล่านี้ลงไปในหมวดหนึ่ง เช่นเดียวกัน ในหมวดที่ 2  หากพิจารณาแล้วว่าต้องแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย เป็นคุณต่อบ้านเมือง ธำรงค์ไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันเป็นประมุขได้ ก็จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงซึ่ง ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุขอยู่แล้ว ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของรัฐ สืบทอดทางสายโลหิต เป็นสัญลักษณ์ศูนย์รวมจิตใจของราชอาณาจักรไทย พูดง่ายๆ เวลาเราพูดว่ารัฐเป็นนิติบุคคล เราไม่เห็นหน้าตาว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น มนุษย์จึงต้องสร้างตำแหน่งประมุขแห่งรัฐขึ้นมาเพื่อบอกว่า ถ้าพูดถึงรัฐนี้ต้องคิดถึงคนๆนี้ นี่คือที่มาของประมุขแห่งรัฐ ตำแหน่งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร เขาจึงต้องเขียนในรัฐธรรมนูญว่า ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะประเทศไม่สามารถขาดประมุขของรัฐได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่้ต้องนำมาพิจารณาเหมือนกันว่า ท้ายที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 2  ต้องแก้ไขเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท