Skip to main content
sharethis

ส.ส.ก้าวไกล ย้ำแก้ไข รธน. หมวด 1 และ หมวด 2 สามารถทำได้อย่างมีเหตุผลและมีวุฒิภาวะ ควรเปิดทางให้ประชาชนได้เป็นผู้ตัดสินผ่านกลไก ส.ส.ร. และการลงประชามติ 'ปิยบุตร' ยัน รธน. 60 แก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา ย้ำอย่าสร้างความเข้าใจผิดจนอาจกลายเป็นวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญในอนาคต

10 ก.ย.2563 ในญัตติรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.เขต 3 จังหวัดนครปฐม พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตต่อรายงานฉบับนี้ว่า ไม่มีการพูดถึงการศึกษาหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 เรื่องพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ทั้งที่รายงานแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจำนวนหลายหน้า แต่ไม่มีตรงไหนเลยที่มีการพูดถึงสองหมวดนี้ และในรายงานยังไม่มีประเด็นใดเลยที่จะศึกษาเพื่อที่จะแก้ไขในเรื่องดังกล่าว

ส.ส.เขต 3 จังหวัดนครปฐม พรรคก้าวไกล อภิปรายต่อว่า การศึกษาแนวทางการแก้ไขไม่ได้หมายความเท่ากับการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือเป็นการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด ตนเองมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และอยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่มั่นคง สง่างาม และสมพระเกียรติ อีกทั้งในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 หลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2492 ที่มีการเพิ่มบทบัญญัติเรื่ององคมนตรี รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ที่มีการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ จากที่รัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบเปลี่ยนเป็นรัฐสภาเพียงแค่รับทราบเท่านั้น รวมทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็เคยมีการแก้ไข หมวด 2 ภายหลังจากการลงประชามติไปแล้ว ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่าสามารถแก้ไขในหมวดดังกล่าวได้ปกติตราบเท่าที่ไม่มีการล้มล้างการปกครองและไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบแห่งรัฐตามมาตรา 255

“ปัจจุบันมีนักเรียนนักศึกษาและประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้กันเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อพวกเขาพูดก็ถูกกล่าวหาว่าคิดร้าย ถูกจับกุมดำเนินคดีมากมาย แม้ว่าจะพูดด้วยความหวังดีต่อประเทศชาติก็ตาม นอกจากนี้ ข้อเรียกร้องของพวกเขายังไม่ได้รับการตอบสนองจึงทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการทางรัฐสภาจึงต้องออกไปบนท้องถนน ด้วยเหตุนี้จึงอยากตั้งคำถามว่า เหตุใดกรรมาธิการจึงไม่ใช้โอกาสนี้พิจารณาหมวด 1 และ หมวด 2 และการไปตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดดังกล่าวเป็นการไปสร้างเงื่อนไข จะส่งผลให้ประเทศเกิดทางตัน คิดว่าเป็นการดีด้วยซ้ำ หากต่อไปมีการไปตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน แล้วเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกความคิด ไม่ปิดกั้นใคร สามารถรับข้อเสนอเข้ามาก่อนแล้วค่อยนำมาพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ ในท้ายที่สุดเสียงของประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ตัดสินเองผ่านกลไกของ ส.ส.ร. และการลงประชามติ"

“สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ เป็นสถาบันของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่สถาบันของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะผูกขาดความจงรักภักดีและใส่ร้ายป้ายสีให้คนที่เห็นต่างเป็นคนทำลายชาติ การพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างมีเหตุมีผล มีวุฒิภาวะ และจะเป็นการคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุมที่มีนิสิต นักศึกษา ประชาชนที่ออกมายื่นข้อเรียกร้องต่างๆมากมายอยู่นอกสภา และนี่เป็นการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมือง” สุทธวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

'ปิยบุตร' ยัน รธน. 60 แก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา ย้ำอย่าสร้างความเข้าใจผิดจนอาจกลายเป็นวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญในอนาคต

ขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ สัดส่วนพรรคพรรคก้าวไกล อภิปรายตอบคำถามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่อกรณีที่ผลการศึกษาของ กมธ. ที่รายงานต่อสภาไม่มีการพูดถึงการศึกษาหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 เรื่องพระมหากษัตริย์ แต่อย่างใด

ปิยบุตร ระบุว่าในเรื่องนี้ตนมีความเห็นต่าง ข้อจำกัดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนไว้ในมาตรา 255 คือห้ามเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐและห้ามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้อยความนี้หมายความว่า สามารถแก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา แต่ห้ามแก้จนเปลี่ยนให้ประเทศไทยเป็นสหพันธรัฐ เปลี่ยนเป็นเผด็จการ หรือเปลี่ยนให้มีประธานาธิบดีเป็นประมุขเป็นอันขาด และในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมวด 1 และหมวด 2 มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตรต่อเนื่องตามยุค แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 50 ก็มีการเพิ่มหลักเรื่องนิติธรรมลงไปในหมวด 1 หรือในปี 60 ก็มีการเพิ่มเรื่องการใช้อำนาจนั้นต้องคำนึงถึงเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

“ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างนัยยะสำคัญเช่นเดียวกัน ปี 2492 เพิ่มให้มีองคมนตรีอยู่ในรัฐธรรมนูญและยังอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ปี 2534 มีการเปลี่ยนว่าการเข้าสู่ประมุขของรัฐหรือการเข้าสู่ตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ จากเดิมให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบได้เปลี่ยนเป็นการรับทราบเฉยๆ ซึ่งเราเห็นในข้อเท็จจริงได้ตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ในเวลานั้น รัฐสภาเป็นผู้ลงมติให้ความเห็นชอบ แต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน ในวันนั้นรัฐสภาทำหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น นั่นคือความเปลี่ยนแปลงในหมวด 2”

ปิยบุตร ยังกล่าวต่อไปว่า ในหมวด 2 ยังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปลี่ยนแปลงว่าในกรณีพระมหากษัตริย์ไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรอาจจะตั้งผู้สำเร็จราชการแทนหรือไม่ก็ได้ จึงเห็นว่าอาจมีหลายเรื่องในหมวด 1 และ 2 ที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ดังนั้นอย่าสร้างความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจผิดๆ ว่าสองหมวดนี้แตะต้องไม่ได้

“คำว่าแตะต้องไม่ได้ คำว่าเปิดทางให้มีการแก้ คำว่าจะแก้หรือไม่แก้ เป็นคนละประเด็นกันหมดเลย การเขียนว่าทบทวนแก้ไขได้เสมอ ไม่ได้หมายความว่าอยากแก้ แต่ถ้าจำเป็นต้องแก้ก็ต้องแก้ ถ้าบอกว่าหมวด 1 และ 2 แตะต้องอะไรไม่ได้เลย แล้ววันหนึ่งหากมีความจำเป็นต้องแก้จริงๆ จะเกิดสภาวะ Deadlock เกิดวิกฤตการณ์ในทางรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอย่าอธิบายหรือพยายามทำความเข้าใจผิดจนเกินตัวบทรัฐธรรมนูญซึ่งยืนยันชัดเจนว่า หมวด 1 และ 2 แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ สมาชิกสภา วุฒิสภา หรือประชาชนก็ควรสามารถพูดคุยถกเถียงกันเรื่องนี้ได้" ปิยบุตร อภิปราย

ในช่วงท้าย ปิยบุตร กล่าวว่า สำหรับหมวด 1 หากมีการทำรัฐธรรมนูญกันใหม่ หรือหากจะแก้ไขเพิ่มเติมในฉบับนี้ ก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญของประเทศลงไปอีกก็ได้ ในทางทฤษฎีเราเรียกว่าบทบัญญัตินิรันดร หรืออาจเรียกว่าอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญ หมายความว่าใครจะมาเปลี่ยนแปลงแตะต้องไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยควรสถาปนาหลักการพื้นฐานลงไป เพื่อยืนยันว่าไม่ว่าจะมีการยึดอำนาจ มีการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกี่ฉบับก็ตาม แต่ประเทศไทยจะต้องเป็นแบบนี้ตลอดกาล นั่นคือหลักการเรื่องของรูปของรัฐคือความเป็นรัฐเดี่ยว เป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สืบทอดทางสายโลหิต เรื่องของระบอบประชาธิปไตย หลักการนิติรัฐ หลักการเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักการสถาปนารัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งอยู่เหนือกองทัพ รวมไปถึงหลักการกระจายอำนาจ เพื่อให้หลักการเหล่านี้เป็นกระดูกสันหลังของประเทศไทย และไม่น่าแปลกอะไรหากจะบรรจุหลักเหล่านี้ลงไปในหมวด 1

“เช่นเดียวกัน ในหมวดที่ 2 หากพิจารณาแล้วว่าต้องแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย เป็นคุณต่อบ้านเมือง ธำรงค์ไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันเป็นประมุขได้ ก็จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุขอยู่แล้ว ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของรัฐ สืบทอดทางสายโลหิต เป็นสัญลักษณ์ศูนย์รวมจิตใจของราชอาณาจักรไทย พูดง่ายๆ เวลาเราพูดว่ารัฐเป็นนิติบุคคล เราไม่เห็นหน้าตาว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นมนุษย์จึงต้องสร้างตำแหน่งประมุขแห่งรัฐขึ้นมาเพื่อบอกว่า ถ้าพูดถึงรัฐนี้ต้องคิดถึงคนๆ นี้ นี่คือที่มาของประมุขแห่งรัฐ ตำแหน่งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร เขาจึงต้องเขียนในรัฐธรรมนูญว่าต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะประเทศไม่สามารถขาดประมุขของรัฐได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่้ต้องนำมาพิจารณาเหมือนกันว่า ท้ายที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 2 ต้องแก้ไขเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร”  ปิยบุตร กล่าว

ที่มา : เฟซบุ๊กเพจ พรรคก้าวไกล - Move Forward Party และ คณะก้าวหน้า - Progressive Movement

 

.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net