Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจความคิดเห็นโดยบีบีซี COVID-19 ทำคนไทย 81% ได้รับผลกระทบด้านการเงิน

ผลสำรวจความคิดเห็นโดยบีบีซีพบว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบต่อประเทศยากจนรุนแรงกว่าใคร และทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแผ่ขยายไปทั่วโลก โดยพบว่า คนไทย 81% ได้รับผลกระทบด้านการเงิน

ผลสำรวจที่บีบีซี เวิลด์เซอร์วิส มอบหมายให้ โกลบสแกน (GlobeScan) บริษัทผู้ให้บริการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะจัดทำขึ้นใน 27 ประเทศ เมื่อเดือน มิ.ย.2020 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายประเทศกำลังเผชิญการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง การสำรวจครั้งนี้ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนกว่า 27,000 คนถึงผลกระทบที่โรคระบาดครั้งนี้มีต่อชีวิตของพวกเขา

โดยพบว่า 69% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศยากจนซึ่งอยู่นอกกลุ่ม OECD มีรายได้ลดลงเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ขณะที่มีผู้ตอบแบบสอบถามจากประเทศกลุ่ม OECD ที่ร่ำรวยกว่าราว 45% ที่มีปัญหานี้ ผลสำรวจยังพบว่าผู้คนในประเทศแถบลาตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา มีแนวโน้มมากกว่าที่จะระบุว่าพวกเขาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาดครั้งนี้ เมื่อเทียบกับคนในยุโรปและอเมริกาเหนือ

โดยคนในเคนยา (91%), ไทย (81%), ไนจีเรีย (80%), แอฟริกาใต้ (77%), อินโดนีเซีย (76%), และเวียดนาม (74%) มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะได้รับผลกระทบทางด้านการเงิน

ที่มา: BBC Thai, 12/9/2563

ลูกจ้างโรงงานอริยะการทอฯ 140 คน ไม่ได้ค่าจ้าง นายจ้างอ้างขายของไม่ได้

น.ส.เบ็ญจมาศ พุ่มช้าง เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน น.ส.พัชริทร์ ถิ่นสันติสุข เจ้าหน้าที่จัดหางาน และนางรัสสุณี วิสัชนาสาร เจ้าหน้าที่ประกันสังคม ได้ให้การช่วยเหลือลูกจ้างโรงงานอริยะการทอฯ จำนวน 140 คน หลังจากนายจ้างยังไม่จ่ายเงินค่าจ้างอ้างขายของไม่ได้

นายหาญ ดอระวงษ์ กล่าวว่าโรงงานดังกล่าวผลิตกางเกงยีน แบรนด์เนมยี่ห้อดังส่งขายโซนยุโรปเพียงแห่งเดียว ตนเองทำงานทีนี้มาเกือบ 20 ปี ซึ่งโรงงานนี้ก็จ่ายเงินระบบ ทยอยจ่ายมาตลอด มาในช่วงของโควิดปีนี้ พวกตนยังไม่ได้รับเงินเดือดร้อนมาก สอบถามทางเจ้าของโรงงานก็บอกว่าให้หาคนมาซื้อโรงงานให้ได้ก่อนจะได้มีเงินมาจ่ายพนักงานทุกคน เพราะโรงงานไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ขาดสภาพคล่องสินค้าส่งออกไม่ได้ จึงปิดโรงงานลงเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ทำให้พวกคนงานทั้งหมด 140 คนต้องตกงานทันที

น.ส.เบ็ญจมาศ พุ่มช้าง สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่าวันนี้พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มาให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างทั้งหมด 140 คน ว่าเขาจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง หลังจากที่ไม่ได้กลับเข้าไปทำงาน โดยได้ชี้แจงถึงขั้นตอนทางด้านกฎหมายแรงงานให้กับลูกจ้างได้เข้าใจ และนำเเบบฟอร์มการว่างงานมาให้ลูกจ้างกรอก เพื่อยื่นคำร้องต่อกรมสวัสดิการของจังหวัดปทุมธานีต่อไป และจะได้ประสานกับนายจ้างเข้ามาพูดคุยถึงขั้นตอนของกฎหมายในการเลิกจ้างคนงานหลังจากที่ปิดกิจการไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 11/9/2563

กฟผ.เล็งจ้างงาน นศ.จบใหม่ 1 หมื่นราย พร้อมมองโอกาสต่อยอดให้ทำงานต่อเนื่อง

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงพลังงาน ถึงแนวทางการจ้างนักศึกษาจบใหม่ ประมาณ 1 หมื่นรายเพื่อให้เข้ามาช่วยงาน กฟผ. และมองโอกาสที่จะต่อยอดให้เกิดการทำงานต่อเนื่องหลังจากจ้างงานมาแล้วประมาณ 1 ปีด้วย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือจ้างงานแก่นักศึกษาจบใหม่ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกฟผ.จะลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เขื่อนและชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เพื่อกำหนดขอบเขตของการจ้างงานต่อไป สำหรับงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการการจะมาจากกฟผ.และงบสมทบจากรัฐบาล

ทั้งนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ซึ่ง กฟผ. พร้อมเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่จะร่วมช่วยเหลือประชาชน โดยล่าสุด กฟผ.ได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในโครงการ "พลังงานสร้างไทย กฟผ.สร้างพลังงานชุมชน" โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชนรอบเขตเขื่อนและโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั่วประเทศ ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนจากการท่องเที่ยวและการจำหน่ายสินค้าชุมชน

กฟผ. ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด และในปีนี้ กฟผ. จะจัดทริปนำร่องเส้นทางท่องเที่ยวใน 4 เส้นทาง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก, เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ ใน จ.กาญจนบุรี และโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา ควบคู่กับการจัดหาช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชนทั้งในส่วนของร้านค้าภายในเขตเขื่อน โรงไฟฟ้า การจัดตลาดนัดสินค้าชุมชนในพื้นที่ กฟผ. สำนักงานใหญ่ นำชุมชนร่วมจัดแสดงสินค้ากับเครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงช่องทางออนไลน์ในกลุ่มบนเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่มีชื่อว่า "ตลาดนัดเอนจี้ ของดีทั่วไทย"

โดยมีจิตอาสา กฟผ. คอยดูแลช่วยเหลือชุมชนในการโพสต์สินค้าให้น่าสนใจ ช่องทางการจัดส่งสินค้า กฎหมายการค้าขายออนไลน์ จัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นยอดขาย ตลอดจนการจัดเวที EGAT Guru Talk "ขายไฟแลบ" สอนเทคนิคการเพิ่มยอดขายในตลาดออนไลน์แก่ชุมชนต่าง ๆ รวมถึงการจ้างแรงงานงานในพื้นที่และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อชุมชนผ่านร้านกาแฟคุณสายชลที่ตั้งอยู่ในเขตเขื่อน โรงไฟฟ้า พร้อมทั้งนำเมล็ดกาแฟของชุมชนรอบ กฟผ. และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาจำหน่าย ซึ่งในวันนี้ยังเป็นวันแรกที่เปิดให้บริการร้านกาแฟคุณสายชล ณ กฟผ. สำนักงานใหญ่ อีกด้วย

กฟผ.คาดว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวรอบโรงไฟฟ้าและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านช่องทางต่าง ๆ จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้โดยเร็วที่สุด

ด้านนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมของ "โครงการพลังงานสร้างไทย กฟผ. สร้างพลังชุมชน" ททท. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว จะร่วมประชาสัมพันธ์โครงการ ฯ และกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้าน กฟผ. ก็มีฐานทรัพยากรที่ทรงคุณค่ามากมาย สามารถนำมาสร้างสรรค์และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม พร้อมยังสามารถกระจายประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นใกล้เคียงบริเวณเขื่อนและโรงไฟฟ้า

โครงการดังกล่าวนับเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น การนำสินค้าที่เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านมาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว จะช่วยให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน โดย ททท. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวชุมชน พร้อมสร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในมิติการท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้นอย่างยั่งยืน ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาสินค้าสินค้าท่องเที่ยวชุมชนให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย คาดว่าการดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันนี้จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 10/9/2563

‘ก.แรงงาน’ เปิด ‘โครงการเผยแพร่ความรู้อนุสัญญาฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันสำหรับคนงานชายและหญิงในงานที่ค่าเท่ากัน ค.ศ. 1951 และอนุสัญญาฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ. 1958’

วันที่ 10 กันยายน 2563 เวลา 13.30 น. นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการเผยแพร่ความรู้อนุสัญญาฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันสำหรับคนงานชายและหญิงในงานที่ค่าเท่ากัน ค.ศ. 1951 และอนุสัญญาฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ. 1958 พร้อมด้วย นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

โดยการจัดโครงการฯ ในครั้งนี้ มีการบรรยายเรื่องการดำเนินงานของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการอนุสัญญา และข้อแนะแนว ในรูปแบบการบรรยายในห้องอบรมและการบรรยายผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันในงานที่มีค่าเท่ากัน รวมถึงการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ให้ทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วน มีความเข้าใจที่ตรงกัน ส่งเสริมให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมในเรื่องค่าตอบแทนในการทำงาน และปราศจากการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ให้ตรงวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรนายจ้าง และองค์กรลูกจ้าง รวมทั้งสิ้นประมาณ 150 คน

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 10/9/2563

ประกันสังคมชี้แจงนายกสมาคมโรงแรมภาคใต้ กรณีขอให้เพิ่มการช่วยเหลือเยียวยานายจ้าง และลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

จากข่าวสื่อมวลชนรายงาน กรณีนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้แจงธุรกิจท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 90 ไม่สามารถเปิดกิจการได้ คาดว่าจะมีแรงงานภาคบริการที่ต้องตกงานประมาณ 50,000 - 60,000 คน บางคนรับเงินจากประกันสังคม หรือบางคนยังไม่ได้รับ หากยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือในช่วง 1-2 เดือน เชื่อว่าจะเกิด คดีฟ้องร้อง ระหว่างลูกจ้าง กับนายจ้าง เป็นจำนวนมาก พร้อมประเมินว่าหากรัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการจะส่งผลต่อการเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2563 นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงต่อประเด็นดังกล่าว ดังนี้

- กรณียังมีผู้ที่ไม่ได้รับเงินว่างงาน ซึ่งข้อมูลการขอรับเงินว่างงาน ณ วันที่ 8 กันยายน 2563 มีผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด -19 เป็นจำนวน 938,893 คน เป็นจำนวนเงิน 14,882.718 ล้านบาท

แต่ยังคงมีผู้ค้างรับอีกเป็นจำนวนกว่า 4,700 ราย อันเกิดจาก หลายสาเหตุ เช่น อยู่ระหว่างติดตามหนังสือรับรองนายจ้าง บางรายพบการใช้สิทธิตาม ม.75 ของ พรบ.คุ้มครองแรงงาน และบางรายนายจ้างมีการนำส่งเงินสมทบในเดือนที่ลูกจ้างขอรับเงินว่างงาน

- กรณีขอให้เพิ่มการช่วยเหลือเยียวยานายจ้าง และลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

สำนักงานประกันสังคมได้มีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้ตามกฎกระทรวงฯ 2 ฉบับ ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ดังนี้

- กรณีเลิกจ้าง จากเดิมจ่ายสิทธิประโยชน์ 50% เป็น 70% ภายในระยะเวลา 180 วัน เพิ่มเป็น 200 วัน

- กรณีลาออก/สิ้นสุดสัญญาจ้าง จากเดิมจ่ายสิทธิประโยชน์ 30% เป็น 45% ภายในระยะเวลา 90 วัน

- กรณีว่างงานอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) จากเดิมจ่ายสิทธิประโยชน์ 50% เพิ่มเป็น 62% ภายในระยะเวลา 90 วัน

และผู้ประกันตนที่ได้ใช้สิทธิกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยฯ แต่ในเวลาต่อมามีการลาออก หรือเลิกจ้าง ยังสามารถยื่นขอใช้สิทธิรับเงินกรณีว่างงานได้อย่างต่อเนื่อง ตามสิทธิที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวง

ทั้งนี้ นายทศพลฯ ยังกล่าวต่ออีกว่า กรณีลูกจ้าง ผู้ประกันตน ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ้างงาน ท่านสามารถร้องทุกข์ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ได้ทุกแห่ง ในวัน เวลาราชการและศูนย์บริการข้อมูล 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: คมชัดลึก, 9/9/2563

สธ.ลุยตรวจหา COVID-19 คนชุมชนชายแดนเมียนมา

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวถึงการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ในพื้นที่เขตฯ จังหวัดตาก ที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา ว่า กรณีที่มีบุคลากรออกมาเปิดรับบริจาคอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ นั้น เข้าใจว่าเป็นความห่วงใย และกังวลว่าอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ในการป้องกันอาจไม่พอ ต้องการขอเพิ่ม อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจครุภัณฑ์ต่าง ทั้งยา และ การป้องกัน มีเพียงพอใช้ได้นาน 2-3 เดือน ยังไม่จำเป็นต้องร้องขอเพิ่ม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันกับบุคลากรในพื้นที่ ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการระบาดไม่จำเป็นต้องร้องขอเพิ่ม และ มีรถชีวนิรภัยพระราชทานลงพื้นที่มาตรวจหาเชื้อโรคโควิดคนในพื้นที่แล้ว

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้ตรวจราชฯ เขตฯ 5 กล่าวว่า เขต 5 มีทั้งหมด 8 จังหวัด ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ติดขอบชายแดนประเทศเมียนมา โดยจังหวัดที่มีความเสี่ยง 4 จังหวัด คือ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ อย่างไรก็ตามจังหวัดที่ไม่ติดขอบชายแดน แต่เป็นเป้าหมายการเดินทางมาทำงานของกลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่เดินทางผ่านจุดข้ามแดนแม่สอดเข้ามา มี 2 จังหวัด คือ นครปฐม กลุ่มแรงงานตลาดปลา สมุทรสาคร ที่มีโรงงานจำนวนมาก และเป็นเมืองหลวงนอกประเทศเมียนมา และอีก 2 จังหวัด ที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ สมุทรสงคราม และ สุพรรณบุรี ขณะนี้ก็มีความร่วมมือกับทางจังหวัดในการเฝ้าระวังกลุ่มแรงงานต่างด้าวอย่างใกล้ชิด ทั้งที่ทำงานในไทยอยู่แล้ว และป้องกันการลักลอบ

“สถานการณ์ในพื้นที่ มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์เต็มที่ทั้งบุคคลากร และอุปกรณ์การแพทย์ และห้องแล็ปตรวจเชื้อ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีแม้จะไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อในประเทศ แต่ในเขตก็มีการสุ่มตรวจหาเชื้อเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งในกลุ่มบุคลากรการแพทย์และกลุ่มผู้ป่วยทั่วไปก่อนเข้ารับการรักษาหัตถการสำคัญ เช่น เดือนเม.ย.ตรวจ 3,446 ตัวอย่าง เดือนมิ.ย. 9,333 ตัวอย่าง ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ และขณะนี้กำลังดำเนินการเก็บสิ่งส่งตรวจในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในพื้นที่อีก 1,000 ตัวอย่าง”พญ.อัมพรกล่าว

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวถึงการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ในพื้นที่เขตฯ 1 ซึ่งมี 3 จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา คือ คือเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ว่า สถานการณ์ใน 3 จังหวัดนี้ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงมากนัก เพราะขณะนี้มีการปิดด่านพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศแล้ว ถ้าจะมีคงเป็นกรณีการลักลอบเข้าประเทศผ่านพรมแดนธรรมชาติ แต่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเฝ้าระวังกันอย่างเข้มงวด มีการเตรียมพร้อมอุปกรณ์การแพทย์ ยาเวชภัณฑ์ต่างๆ พร้อมรับมือประมาณ 3 เดือน

“สิ่งที่มอบให้แต่ละจังหวัดในเขต 1 ทำอยู่คือกำหนดชุมชนเสี่ยงที่มีการข้ามไปมา ระหว่าง 2 ประเทศ หรือชุมชนที่แรงงานมามักจะไปพำนักหรือทำงาน ว่าจะต้องมีการสุ่มเก็บตัวอย่างของคนในชุมชนนั้น ประมาณ 30-40 คน เพื่อตรวจหาเชื้ออยู่สม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการหลุดรอด ถ้าเจอจะได้ควบคุมได้เร็ว”นพ.ธงชัย กล่าว

ด้าน นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ตรวจฯ เขตฯ 11 ที่มี 2 จังหวัดติดชายแดนเมียนมาคือ ชุมพร และระนอง กล่าวว่า จากการตรวจสอบเขตฯ 11 มีความพร้อม ทั้งอุปกรณ์การแพทย์รวมถึงเตียงในการรับมือโควิด-19 มีการประสานผู้ว่าราชการจังหวัดในการเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว ในพื้นที่ที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา ทั้งระนอง จ.ชุมพร รวมถึง จ.ภูเก็ตด้วย แม้ไม่มีพรมแดนติดกับเพื่อนบ้าน แต่ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามา

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/9/2563

กอช.ชี้ COVID-19 กระทบยอดสมาชิกปีนี้เหลือ 2.5 ล้านราย จาก 3 ล้านราย ขณะที่ยอดออมสะสมต่อเนื่องเพิ่ม 30%

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.)เปิดเผยว่า ในปีนี้ ถือเป็นปีที่ยากลำบากในการเพิ่มแรงงานนอกระบบเข้าเป็นสมาชิก กอช.เนื่องจาก สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของแรงงาน ทำให้เป้าหมายจำนวนสมาชิกลดลง 5 แสนรายเหลือ 2.5 ล้านราย จาก 3 ล้านรายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่การใส่เงินออมของสมาชิกเดิม จะพบว่า มีสมาชิกจำนวนหนึ่งที่ใส่เงินออมต่อเนื่อง หรือ คิดเป็น 30% ของยอดสมาชิกทั้งหมด แต่ยอดสมาชิกที่ใส่เงินออมต่อเนื่องนั้น ก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ที่ 50% ของสมาชิกทั้งหมด ปัจจุบัน กอช.มีจำนวนสมาชิก 2.4 ล้านราย มีเงินออมรวมประมาณ 8 พันล้านบาท ตลอดทั้งปีคาดว่า จะมีเงินออมรวมประมาณ 8.5 พันล้านบาท โดยยอดเฉลี่ยการออมในแต่ละเดือนอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน

“ในปีนี้ การเพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่ ไม่ค่อยดีนัก แต่ยอดที่ออมสม่ำเสมอนั้น กลับเพิ่มขึ้น ซึ่งเราวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจที่มีมากขึ้นของสมาชิกเกี่ยวกับการออมผ่านกอช.ซึ่งรัฐจะสมทบเงินให้ทันที ขณะที่ เงินต้นไม่หาย และ ยังได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย”

ปัจจุบัน ผลตอบแทนการลงทุนจากเงินออมทั้งหมดอยู่ที่ 1.3% ถือว่า ชนะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% ต่อปีเท่านั้น ทั้งนี้ กอช.ได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นแรงงานนอกระบบเข้ามาสู่ระบบการออมกับ กอช. โดยสมาชิกสสว.ที่เป็นแรงงานนอกระบบนั้นมีอยู่ประมาณ 7.9 หมื่นราย ในจำนวนนี้ มีเป้าหมายจะดึงเข้ามาเป็นสมาชิกกอช.ทั้งหมดภายในปีนี้

“สมาชิก สสว.3 พันท่านแรกที่สมัครและส่งเงินออมสะสมกับกอช.จำนวน 1.32 หมื่นบาท จะได้รับของที่ระลึกและมีสิทธิเป็นผู้โชคดีรับรางวัลในเดือนธ.ค.นี้รวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท”

เลขาธิการ กอช. กล่าวด้วยว่าเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่สมาชิก เร็วๆนี้ ทางกอช.จะออกสมุดคู่ฝากให้แก่สมาชิก โดยร่วมมือกับธนาคารออมสินในการดำเนินการดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้สมาชิกมีความมั่นใจในการฝากเงินกับกอช.มากขึ้น

สำหรับวัตถุประสงค์ของ กอช. คือเพื่อให้คนไทยมีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณหลัง 60 ปี สำหรับผู้ที่มีอยู่ระหว่าง 15-60 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ 50 บาท สูงสุด 1.32 หมื่นบาทต่อปี ทุกครั้งที่สมาชิกส่งเงินออม รัฐบาลจะเติมเงินสมทบเพิ่มให้ตามช่วงอายุ อาทิ 15-30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสูงสุด 600 บาทต่อปี อายุมากกว่า 35 ปี – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมสูงสุด 960 บาทต่อปี อายุมากกว่า 50-60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมสูงสุด 1.2 พันบาทต่อปี

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/9/2563

เอกชนรายได้หด-เงินขาดมือ พบ 'หยุดสมทบ-ยกเลิก' กองทุนหลายร้อยบริษัท

นางแขขวัญ โรจน์วัฒนกุล ผู้อำนวยการสายการตลาด ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของหลายบริษัทได้รับผลกระทบ ซึ่งยังส่งผลต่อเนื่องถึงความสามารถในการนำจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้าง

โดยหลังจากกระทรวงการคลังได้ประกาศให้ “ลูกจ้าง” รวมทั้ง “นายจ้าง” สามารถหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ธ.ค. 2563 ในส่วนของบลจ.ทิสโก้ พบว่ามีบริษัทที่อยู่ภายใต้การดูแล ขอหยุดนำส่งเงินสมทบชั่วคราวประมาณ 210 บริษัท หรือคิดเป็น 4.5% ของพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด 4,602 บริษัท

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอีกบางส่วนที่ขอลดการจ่ายเงินสมทบให้เหลืออัตราขั้นต่ำประมาณ 110 บริษัท หรือคิดเป็น 2.5%รวมทั้งมีบริษัทที่ขอ “ยกเลิก” กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 30 บริษัท หรือราว 0.65% ของพอร์ต เนื่องจากนายจ้างแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19

นางแขขวัญกล่าวว่า อย่างไรก็ดี บริษัทที่ขอลดหรือหยุดส่งเงินสมทบ รวมถึงบริษัทที่ขอยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก จึงส่งผลให้ปริมาณเงินที่หายไปไม่กระทบต่อภาพรวมของพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท

ขณะเดียวกันยังมีบริษัทขอนำส่งเงินเข้ากองทุนเพิ่มทั้งส่วนของลูกจ้างและนายจ้างประมาณ 180 บริษัท รวมถึงมีบริษัทที่ขอตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มอีกประมาณ 170 บริษัท อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติในปีนี้ คาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ขอจดทะเบียนใหม่รวมประมาณ 200 บริษัท จากปี 2562 ที่บริษัทขอจดทะเบียนกองทุนใหม่ประมาณ 300 บริษัท

“ลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอกชน ขณะที่ บลจ.ที่มีส่วนแบ่งรองลงมาอาทิ บลจ.กสิกรไทย บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.เอ็มเอฟซี และ บลจ.กรุงไทย ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ารัฐวิสาหกิจและบริษัทขนาดใหญ่ จึงได้รับผลกระทบจากการขอเลิกกองทุนน้อยกว่าของทิสโก้” นางแขขวัญกล่าว

ทั้งนี้ บลจ.ทิสโก้มีส่วนแบ่งตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสูงสุด โดยมีบริษัทภายใต้การบริหารจัดการรวมประมาณ 4,600 บริษัท และมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ประมาณ 1.95 แสนล้านบาท

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 8/9/2563

รมว.แรงงาน สั่ง กกจ.เร่งประสาน มท.หาแรงงานจากกลุ่มชาติพันธุ์ มาช่วยชาวสวนลำไยด่วน หลังพบปัญหาขาดแคลนแรงงานเก็บลำไย

8 ก.ย.2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่ เกษตรกรปลูกลำไย ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนแรงงานเพื่อนบ้านเก็บเกี่ยวลำไยในฤดูกาล 2563-2564 จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้มีข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศมาทำงาน ภายหลังได้รับฟังข้อปัญหาจากกลุ่มสหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกลำไยในจังหวัดจันทบุรี เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้ ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน หาแนวทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน แจ้งจัดหางาน โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีเกษตรกรปลูกลำไย เร่งประสานมหาดไทย หาแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ มาทำงานทดแทน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับชาวสวนลำไย

“หลังจากที่ได้รับฟังข้อปัญหาจากกลุ่มสหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกลำไยในจังหวัดจันทบุรี ในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งหาแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสั่งการให้กรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องการทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยหามาตรการที่เหมาะสมทันที โดยความคืบหน้าขณะนี้ กรมการจัดหางานได้ แจ้งจัดหางานจังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีเกษตรกรปลูกลำไยเป็นสินค้าส่งออก เร่งประสานข้อมูลกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาความเป็นไปได้ในการนำแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ มาทำงาน ทดแทนแรงงานเพื่อนบ้าน ที่ประสบปัญหาข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ อย่างไรก็ดี จะอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยของประชาชนจากความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค-19 เป็นสำคัญ” นายสุชาติฯ กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการจัดหางาน ตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไย ในการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เชื่อมโยงถึงการส่งออกของประเทศไทยได้ โดยขณะนี้ ได้กำชับให้จัดหางานจังหวัด ที่มีแรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานแบบไปเช้าเย็นกลับ หรือตามฤดูกาล และมีเกษตรกรปลูกลำไย สำรวจความต้องการแรงงาน เพื่อหาแรงงานกลุ่มอื่นๆมาทำงานทดแทน อย่างไรก็ดี สำหรับการนำเข้าแรงงานต่างด้าวกัมพูชา ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มที่ขาดแคลนนั้น ขณะนี้ อยู่ในระหว่างการหามาตรการที่เหมาะสม ตามมาตรการดูแล ป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เนื่องจากขณะนี้ เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สอง ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย อย่างไรก็ดี จะเร่งหามาตรการและแนวทางที่เหมาะสม ที่ให้ได้ผลดีและช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทย ให้ได้มากที่สุด เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา: คมชัดลึก, 8/9/2563

หนุ่มขี่ จยย.ส่งแกร็บฟู้ด เฉี่ยวรถเก๋งประสานงาแท็กซี่ ดับคาถนน

เวลา 07.00 น. วันที่ 8 ก.ย. 2563 ร.ต.อ.พยุง ตันสอน รองสารวัตร (สอบสวน) สน.เตาปูน รับแจ้งมีอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกับรถจยย.มีผู้เสียชีวิต บริเวณปากซอยประชาชื่น 19 ถนนประชาชื่น แขวงและเขตบางซื่อ กทม. จึงรุดไปตรวจสอบ พร้อมเจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

ที่เกิดเหตุอยู่บนถนนประชาชื่นใกล้ปากซอยประชาชื่น 19 ลักษณะเป็นถนน 4 เลนสวนทางกัน บริเวณเลนที่ 1 ซ้ายสุด ด้านขาออกมุ่งหน้าแยกประชานุกูล พบรถยนต์นิสสัน รุ่นพัลซาร์ สีดำ หมายเลขทะเบียน 3กษ5481 กรุงเทพมหานคร ลักษณะรถย้อนศรหัวรถไปทางด้านขาเข้า สภาพไฟหน้าซ้ายแตก ตัวรถเบียดเฉี่ยวชนกับรถแท็กซี่สาธารณะ สีส้ม หมายเลขทะเบียน ทฬ7204 กรุงเทพมหานคร ทำให้หน้ารถด้านซ้ายพังยุบ ยางล้อหน้าซ้ายแตก

ใกล้กันพบศพนายสิทธิ์ชัย แสงวิจิตร อายุ 45 ปี พนักงานขับรถส่งอาหารแกร็บฟู้ด สภาพศพสวมเสื้อแจ็กเก็ตสีเขียว สวมกางเกงยีนส์ขายาว สีน้ำเงิน มีบาดแผลกะโหลกศีรษะแตก นอนคว่ำหน้าเสียชีวิตจมกองเลือด ห่างออกไปเพียงเล็กน้อยมีรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อยามาฮ่า รุ่นเอ็นแม็ค สีน้ำเงิน หมายเลขทะเบียน 1ขว3489 กรุงเทพมหานคร ล้มอยู่กลางถนน เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรด้านขาออกทั้ง 2 เลนชั่วคราว

จากการสอบถามนายวงเวียน นาชิต อายุ 58 ปี โชเฟอร์รถแท็กซี่ ให้การว่า ตนกำลังขับรถไปส่งผู้โดยสาร ที่สนามบินดอนเมือง โดยใช้ถนนประชาชื่น มุ่งหน้าแยกประชานุกูลในช่องทางซ้ายสุดเพราะเห็นเจ้าหน้าที่กำลังจะเปิดช่องทางพิเศษด้านขาเข้าอีก 1 เลน เมื่อมาถึงช่วงก่อนปากซอยประชาชื่น 19 จู่ๆ มีรถเก๋งสีดำขับเฉี่ยวชนกับจยย.ในช่องเลนทางพิเศษที่เจ้าหน้าที่เปิด ก่อนที่รถเก๋งสีดำ และรถจยย. จะพุ่งเข้ามาหารถตน ทำให้ต้องเบรกแล้วหักพวงมาลัยเพื่อหลบรถทั้ง 2 คัน แต่ไม่พ้นถูกรถยนต์สีดำชนเข้าด้านซ้าย ส่วนจยย.ชนเสยเข้าหน้ารถตนอย่างแรงส่งผลให้คนขับจยย.เสียชีวิตคาที่

ด้าน ร.ต.อ.พยุง กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ใด อยู่ระหว่างสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งคนขับรถเก๋งสีดำ และโชเฟอร์แท็กซี่ พร้อมตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน หากพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความประมาทของผู้ใดก็จะแจ้งข้อหา ส่วนศพผู้เสียชีวิตจะส่งไปชันสูตรที่นิติเวช รพ.รามาธิบดี ก่อนมอบให้ญาติไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 8/9/2563

ปตท.เตรียมจ้างงานปี 2564 กว่า 22,000 อัตรา นศ.จบใหม่ระดับ ปวช.- ปริญญาตรีกว่า 2,630 อัตรานาน 12 เดือน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. พร้อมเร่งเดินหน้าการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ทุกโครงการตามแผนงาน เพื่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง และ เตรียมจ้างแรงงานและนักศึกษาจบใหม่รวมกว่า 25,000 อัตราระหว่างปี 2563 - 2564 ภายใต้ โครงการ “Restart Thailand” เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างทักษะอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ในทุกภูมิภาค พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นและระบบเศรษฐกิจไทย สอดคล้องกับนโยบายของ กลุ่ม ปตท. ในการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เติบโตไปด้วยกัน ประกอบด้วย

· การจ้างแรงงานผ่านเครือข่ายกลุ่ม ปตท. เพื่อการขยายธุรกิจและโครงการก่อสร้างต่างๆ กว่า 22,000 อัตรา จากปัจจุบันที่มีการจ้างแรงงานผ่านผู้รับเหมาในโครงการก่อสร้างอยู่แล้ว 30,000 อัตรา

· การจัดจ้างนักศึกษาจบใหม่ ระดับ ปวช. ปวส. อาชีวศึกษา และปริญญาตรี ที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกและ มีภูมิลำเนาในพื้นที่ปฏิบัติงาน จำนวน 2,630 อัตรา ให้มีรายได้และโอกาสในการฝึกฝนทักษะอาชีพ ภายใต้สัญญาจ้างระยะเวลา 12 เดือน

· การเปิดรับพนักงานเพิ่มเติมในตำแหน่งที่ว่างในช่วงปี 2563 - 2564 ประมาณ 1,000 อัตรา เพื่อผลักดันการดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าตามเป้าหมาย

ในส่วนของการจัดจ้างนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงานเสริมทักษะอาชีพในปี 2564 นั้น กลุ่ม ปตท.จะจัดการอบรมเพื่อเสริมทักษะความรู้ให้กับน้องๆ นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก ก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงานตามภูมิลำเนาของตน ผ่านโครงการพัฒนาสังคมชุมชนท้องถิ่นรวม 3 ด้าน

ด้านพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับเยาวชน ผ่านงานครูผู้ช่วยสอน เพื่อยกระดับการเรียนรู้วิชาสามัญพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ รวมถึงวิชาภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีสารสนเทศ

ด้านพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่น โดยฝึกอบรมผู้เข้าร่วมโครงการ ให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานเพื่อการเกษตร (SMART Farming) และฝึกอบรมทักษะการพัฒนายกระดับเศรษฐกิจชุมชน (SMART Marketing) อาทิ สินค้า แหล่งท่องเที่ยวและการบริการ ผ่านการสำรวจและเก็บข้อมูลศักยภาพพื้นที่และความพร้อมของชุมชน

ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในโครงการ Ocean for Life ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) อาทิ การสร้างศูนย์เพาะพันธุ์ลูกปู การจัดตั้งศูนย์เพื่ออนุรักษ์และเพาะพันธุ์เต่าทะเล รวมทั้ง โครงการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ ผ่านงานพัฒนาและการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการวิจัยป่าไม้และระบบนิเวศ โครงการพัฒนาสวนป่าครัวเรือน เป็นต้น

นอกจากนั้น โครงการ “Restart Thailand” ยังมีโปรแกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยให้หน่วยงานภายในองค์กรจัดกิจกรรมสัมมนานอกสถานที่สำหรับพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า เพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจายเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้ง กำลังจัดทำโครงการให้ ปตท. และพนักงาน ร่วมกันกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง

โดยจะแจ้งรายละเอียดของโปรแกรมให้ทราบต่อไป กลุ่ม ปตท. ขอเป็นอีกหนึ่งพลังสนับสนุนการจ้างงาน ในการช่วยสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้กับคนไทย ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคม เพื่อให้เราทุกคนสามารถข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 7/9/2563

รมว.แรงงาน ร่วมประชุมสหภาพแรงงานมิตซู-เด็นโซ่ กระตุ้นนายจ้าง-ลูกจ้าง รวมพลังฝ่าวิกฤต

6 ก.ย. 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นำคณะผู้บริหาร อาทิ นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เดินทางลงพื้นที่จ.ชลบุรี โดยไปร่วมงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี สหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิ แห่งประเทศไทย ที่สนามกีฬาเทศบาลต.ตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง และการประชุมใหญ่สามัญประจำปีสหภาพแรงงานเด็นโซ่ ประเทศไทย ที่อาคารศาลาประชาคม เทศบาลเมืองบ้านสวน จากนั้นไปเป็นประธานปิดการสัมมนา โครงการผู้บริโภค ฉลาดซื้อ ประหยัดใช้ที่อาคารอเนกประสงค์ เทศบาลเมืองพนัสนิคม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี จัดโดยคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานเปิดเผยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ขยายวงกว้าง รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายลง โดยนำนโยบายรวมไทย สร้างชาติเข้ามาดำเนินการ มีเป้าหมายที่จะผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันวางแผน เพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทย

โดยนับจากนี้ไป กระทรวงแรงงานต้องดำเนินการบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ภายใต้ศูนย์อำนวยการแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นศูนย์ขับเคลื่อนด้านแรงงานทุกมิติ เพื่อร่วมมีบทบาทในการช่วยกันกำหนดอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะการเยียวยาสถานประกอบกิจการและผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงประชาชนในภาคส่วนต่างๆที่ได้รับผลกระทบต้องว่างงานในช่วงที่ผ่านมา ได้กลับสู่ระบบการจ้างงาน ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งให้สถานประกอบกิจการต่างๆ สามารถเผชิญวิกฤติฟันฝ่าอุปสรรค ให้องค์กรสามารถแข่งขันได้ในสภาวะปัจจุบัน พร้อมทั้งเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด โดยยังคงสภาพการจ้างงาน และสภาพการจ้างเดิมไว้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน

ทั้งนี้การร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปีของทั้ง 2 สหภาพแรงงานในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกัน ดังนั้นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในครั้งนี้ จึงเป็นกระบวนการหนึ่งในการบริหารงานตามหลักประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการบริหารงานและรับผิดชอบร่วมกัน เป็นการพิสูจน์ให้องค์กรภายนอกได้เห็นถึงบทบาทที่เข้มแข็ง รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อนายจ้างให้เกิดการยอมรับ และถือเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่สำคัญ อันจะส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศ จึงถือเป็นองค์การแรงงานแห่งหนึ่งที่น่าชื่นชมยกย่องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่องค์กรแรงงานอื่น นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของสมาชิก และส่งต่อความสัมพันธ์อันดีสืบไป

ที่มา: สยามรัฐ, 6/9/2563

สคช.เปิดทาง ทุกอาชีพร่วมจัดทำมาตรฐานอาชีพ ตอบโจทย์ยุคโควิด-19

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. จัดงาน TPQI Seminar 2020 - คุณวุฒิวิชาชีพ ตอบโจทย์อย่างไรในยุค COVID-19 เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากคนในอาชีพครอบคลุมทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ และการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมพร้อมในการจัดทำมาตรฐานอาชีพเพิ่มเติม หลังสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ผลักดัน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกกลุ่มอาชีพได้มีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐานอาชีพมาแล้ว 800 กว่าอาชีพ

ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่าเวทีการสัมมนา TPQI Seminar 2020-คุณวุฒิวิชาชีพ ตอบโจทย์อย่างไรในยุค COVID-19 เกิดขึ้นจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นทั้งจากโรคระบาด ภัยธรรมชาติ แม้กระทั่งพิษเศรษฐกิจ เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ทุกคน ทุกอาชีพต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา มาตรฐานอาชีพเองก็ต้องมีการปรับเสริมเพิ่มเติมเช่นกัน

ดร.นพดล ย้ำว่า ที่ผ่านมา หลายคนมักนึกถึงแต่คุณวุฒิด้านการศึกษา กำลังคนของประเทศที่อยู่ในกำลังแรงงานกว่า 37 ล้านคน ในจำนวนนั้นเป็นผู้ที่อยู่ในระดับประถมศึกษากว่า 14 ล้านคน ระดับมัธยมศึกษาอีกกว่า 11 ล้านคน และจำนวนไม่น้อยต้องการการพัฒนา ซึ่งคุณวุฒิวิชาชีพจะเข้ามารองรับคนเหล่านี้ เพื่อเข้าสู่การพัฒนาอย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐาน มีหน่วยงานภาครัฐให้การรับรอง เนื่องจากการแข่งขันในระดับสากลให้ความสำคัญในเรื่องของคุณวุฒิวิชาชีพ และนี่จะเป็นการพลิกโฉมการพัฒนากำลังคนในประเทศไทย

ตอกย้ำความสำคัญของระบบคุณวุฒิวิชาชีพระหว่างการเสวนา สร้างอาชีพในยุค New Normal ด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยนายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ย้ำว่าพื้นฐานธุรกิจในยุค New Normal ไม่ได้เปลี่ยนไป เพราะกองหลังยังคงเป็นการผลิต และกองหน้าคือการตลาด โดยเฉพาะธุรกิจด้านอาหารที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ สวนทางกันธุรกิจนี้กลับเติบโตขึ้น เพียงแต่คนในอาชีพต้องปรับตัวนำระบบออนไลน์มาใช้ให้เกิดประโยขน์ รวมทั้งค้นหาตัวเองให้เจอว่าเก่งทำหน้าที่ไหน แต่หากยังไม่เก่งแนะนำให้เข้าสู่การพัฒนาตัวเองก่อน เพื่อให้เป็นมืออาชีพก่อนลงสนามแข่งขัน

ขณะที่โค้ชมิ้ม นางสาวเจนจิรา ศรีดี ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Marketing บอกว่าจากนี้ไปอาชีพที่คิดว่ามั่นคง อาจจะไม่มั่นคงอีกต่อไป การปรับตัวในอาชีพยุค New Normal เริ่มได้จากโทรศัพท์มือถือของตัวเอง เพราะเพียงแค่มือถือเครื่องเดียวก็สามารถสร้างอาชีพได้ แต่หัวใจของอาชีพคือการเรียนรู้อย่างมีมาตรฐาน อย่ากลัวที่จะใช้เทคโนโลยี เพราะหากเราใช้เครื่องมือเป็นอย่างมืออาชีพ เราก็สามารถต่อสู้กับคู่แข่งและเพิ่มยอดการขายจากออนไลน์ได้เช่นกัน

ด้านนายสมศักดิ์ บุญคำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด ยอมรับว่าธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ทุกคนต้องปรับตัว สิ่งใดที่ไม่เคยทำ ต้องทำ และทำให้ได้อย่างมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือกระทั่งจำหน่ายอาหารพื้นถิ่นผ่านออนไลน์ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อได้ และสิ่งที่การท่องเที่ยวชุมชนต้องการก็คือทำธุรกิจให้ได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อการก้าวสู่สนามแข่งขันกับทุกประเทศทั่วโลก

ขณะที่การเปิดเวทีรับฟังความเห็นทิศทางการจัดทำมาตรฐานอาชีพให้สอดรับกับยุค New Normal ผู้ร่วมการประชุมมากกว่า 200 คน ได้เสนอแนะให้ สคช. ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจัดทำมาตรฐานอาชีพเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 7 อาชีพ เพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนให้เป็นมืออาชีพต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 6/9/2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net