Skip to main content
sharethis

เสวนา สสร.แบบไหนที่คนไทยต้องการ 'พนัส' ระบุ รธน. 2560 ทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจ 'พงษ์เทพ' ชี้คนนั่ง สสร.ต้องมีจิตวิญญานเป็นนักประชาธิปไตย 'เลขาธิการพรรคก้าวไกล' ย้ำอำนาจสถาปนา รธน.ต้องเป็นของประชาชน

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2563 ที่ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตึกคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีเวทีเสวนา และระดมความเห็น “สสร. แบบไหน ที่คนไทยต้องการ” จัดโดย คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) มีนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2539, นายณรงค์เดช สรุโฆษิต จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณะบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ.2539, นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ร่วมการเสวนา

นายพนัส กล่าวว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ถือว่าเป็นฉบับที่เลวที่สุด ทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจ โดยตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงและหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับแล้ว ซึ่งมีการตั้ง สสร.มาแล้ว 4 ครั้ง พร้อมเห็นด้วยที่ร่าง สสร.ของพรรคร่วมรัฐบาลที่เปิดทางให้มีนิสิต นักศึกษาเข้ามา เป็น สสร.ได้ ส่วน ร่าง สสร.ตามแบบพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอ 200 คนเท่ากัน แต่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด พร้อมยกตัวอย่างข้อเหมือนและข้อแตกต่างกันระหว่าง สสร.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ส่วนตัว เห็นด้วยกับร่าง สสร.ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ให้เลือกตั้งมาทั้งหมด แต่ไม่เห็นด้วยกับร่าง สสร.ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่อาจเป็นการสรรหาคนของตัวเองเข้ามา แม้เปิดให้ตัวแทนนิสิต-นักศึกษา ในสัดส่วน 50 คน ก็ตาม อีกทั้งร่างของรัฐบาล เมื่อร่างเสร็จต้องให้สภาเห็นชอบโดยเสียงเกินกึ่งหนึ่งก่อน หากไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะให้ทำประชามติ ซึ่งตนเองเห็นด้วยกับร่างฝ่ายค้าน คือ ไม่ต้องการให้ร่างผ่านรัฐสภา เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ให้ทำประชามติเลย ประชาชนต้องการแบบไหน ก็ลงประชามติ เพราะสภาเสียงข้างมากเป็นของรัฐบาลอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน นายพนัส ยังเสนอให้ฝ่ายค้านเพิ่มเข้าไปด้วยให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมด้วย โดยกำหนดให้อายุ 30-35 ปี หรืออย่างน้อย ให้มีคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ อย่างละครึ่ง

'พงษ์เทพ' ชี้คนนั่ง สสร.ต้องมีจิตวิญญานเป็นนักประชาธิปไตย

ด้านนายพงษ์เทพ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นฉบับที่โกงมากที่สุด กลไกการตรวจสอบไม่สามารถทำได้ และ ส.ว.เองมาจากกลุ่มบุคคลที่เป็นพรรคพวกเดียวกัน จนทำให้เกิดการยืดโยงไปสู่การสืบทอดอำนาจในที่สุด และรัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนขึ้นมาเพื่อให้แก้ไขยากที่สุดแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะทำให้เกิดการกระตุ้นเพื่อให้เกิดแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 

สำหรับผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.ร.ต้องมีจิตวิญญาณเป็นนักประชาธิปไตย ต้องเปิดกว้างรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และผู้ที่จะเข้ามาเป็น ส.ส.ร.ควรมาจากประชาชน เป็นผู้เลือกตั้งเข้ามาโดยตรงเท่านั้น และจะทำอย่างไรที่การเลือกตั้ง สสร.จะไม่มีนักการเมืองเข้ามาชี้นำ อีกทั้งควรเพิ่มความหลากหลายของ สสร.ที่มาไม่ได้จำกัดแค่นักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ แต่ควรมีทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ ภาคสังคม ทั้งนี้ เมื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. ที่ต้องให้ กกต.ชุดปัจจุบันดำเนินการ เราจะมีความเชื่อมั่นได้มากน้อยแค่ไหน จึงเสนอตั้ง กกต.เฉพาะกิจ โดยเลือกจาก กกต.ชุดปัจจุบัน 2 คน และคนนอกอีก 5 คน อย่างไรก็ตามอยากให้นิสิต นักศึกษา ช่วยกันติดตามแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ 

'เลขาธิการพรรคก้าวไกล' ย้ำอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า  การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ผ่านกลไกรัฐสภา ต้องมีการเสนอเป็นญัตติซึ่งสามารถเสนอได้หลายญัตติแต่ต้องเป็นเนื้อหาที่ไม่ซ้ำกัน ปัจจุบันมีการยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาแล้ว 6 ญัตติ ดังนี้  ญัตติแรก เป็นญัตติที่ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 สาระสำคัญคือ เพื่อให้มี สสร. ซึ่งทางพรรคก้าวไกลเห็นด้วยเกือบทั้งหมด แต่ได้สงวนความเห็นเอาไว้ในการให้ สสร. สามารถแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ได้ และจะสนับสนุนร่างญัตตินี้ให้ผ่านในวาระที่ 1 ในวาระที่ 2 จึงค่อยแปรญัตติแก้ไขในประเด็นข้อสงวนข้างต้น ญัตติที่สอง เป็นร่างญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เช่นเดียวกับของฝ่ายค้าน แต่รูปแบบและรายละเอียดต่างกันมาก เช่น กำหนดที่มาของ สสร. จำนวน 50 คน ให้มาจากการการเลือกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และในส่วนของ สสร.ที่มาจากนิสิตนักศึกษา 10 คนต้องมาจากการรับรองของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) 

ญัตติต่อมาคือญัตติที่พรรคก้าวไกลเชิญชวนให้ ส.ส.จากหลายๆ มาร่วมกันยื่นแก้ไขยกเลิก มาตรา 272 เพราะลำพังเสียงของพรรคก้าวไกลอย่างเดียวไม่พอ ญัตตินี้จะเป็นก้าวแรกของการปิดสวิสต์ ส.ว. ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากเนื่องจากในสถานการณ์ยังไม่รู้ว่า ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อกำเนิด อะไรจะเกิดขึ้นขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการมี ‘นายกคนนอก’ จะเกิดขึ้นได้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ด้วยบทเฉพาะกาล มาตรา 272 นี้เท่านั้น 

“ก้าวแรกของการปิดสวิตช์ ส.ว. ด้วยการยกเลิก ม. 272 นอกจากจะเป็นการยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังจะเป็นการปิดทางไม่ให้มีนายกคนนอกด้วยเช่นกัน แต่ญัตตินี้ ส.ส.ที่มาร่วมลงชื่อจากบางพรรคถูกกดดันให้ไปถอนชื่อ ส่งผลให้เป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะต้องตกไป แต่ทางพรรคก้าวไกลก็ได้ไปร่วมเข้าชื่อกับญัตติที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีญัตติยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 อีก 4 ญัตติ พร้อมกันคือ การยกเลิกมาตรา 272 บวกแก้ไขมาตรา 156 มีสาระสำคัญคือการยกเลิกอำนาจ ส.ว. พร้อมทั้งแก้ไขบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี ที่จะเปิดทางให้เลือกนายกรัฐมนตรีได้จากบัญชีที่เสนอโดยพรรคการเมือง หรือมาจาก ส.ส. เท่านั้น ญัตติต่อมาคือ ยกเลิกมาตรา 270 และ 271 สาระสำคัญคือยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการพิจารณากฎหมายที่ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหามากในเชิงปฏิบัติ ต้องกล่าวเพิ่มเติมว่าประเด็นนี้เป็นคนละเรื่องกับการที่ว่าจะไม่มีกฎหมายปฏิรูปประเทศแต่เป็นการบอกเพียงว่ากฎหมายแต่ละฉบับขอให้ไปใช้กลไกปกติ เพราะเมื่อพูดให้ถึงที่สุดกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอมาทั้งหมดคือการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงให้ประเทศดีขึ้นทั้งนั้น”

อีกหนึ่งญัตติ ชัยธวัช กล่าวว่า คือการยกเลิก มาตรา 279 ซึ่งตั้งแต่สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่มีการเสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก เพราะเป็นมาตราที่รับรองให้ประกาศหรือคำสั่ง คสช. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หมายความว่าจะทำให้ประกาศและคำสั่ง คสช. สามารถถูกตรวจสอบได้ เช่น ข้าราชการที่ถูกโยกย้ายตามมาตรา 44 จะสามารถไปยื่นขอความเป็นธรรมจากศาลได้ และญัตติสุดท้ายคือการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้มีบัตรจำนวน 2 ใบ

“หลายคนเป็นกังวลเรื่องการจะแก้ได้ต้องใช้เสียง ส.ว. จำนวน 1 ใน 3 คือจำนวน 84 เสียง ซึ่งมีเสียงแว่วมาให้ได้ยินว่าตอนนี้ยังมีไม่ถึง และก็ได้ยินมาอีกว่ามีการพูดเปรยๆว่าจะแก้อะไรก็ได้ แต่ขออยู่ครบ 5 ปีได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้คงไม่สามารถตัดสินใจหรือให้คำตอบได้ ต้องถามไปยังประชาชนว่ายอมหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ประชาชนและสังคมนอกสภาอาจต้องส่งเสียงสร้างแรงกดดันไปยัง ส.ว.ให้ยอมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราต้องช่วยกันส่งเสียงว่า อยากเห็น สสร. เป็นอย่างไร ต้องส่งเสียงไปทุกช่องทางไปถึงสภา และต้องลองช่วยกันคิดช่วยกันหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ว่าจะทำอย่างไร และหากญัตติยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการแปรญัตติแล้วแย่หรือไม่ยอมให้แก้ไขอะไรสักอย่างในกระบวนการรัฐสภา เพราะ ส.ว.ขวางไว้ ก็จำเป็นต้องไปล่ารายชื่อจากประชาชนข้างนอกเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่ง” ชัยธวัช กล่าว 

เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยังกล่าวต่อว่า นอกจากการผลักดันเรื่อง สสร. แล้ว ประเด็นที่ต้องผลักดันคู่ขนานไปด้วยคือการปิดสวิสต์ ส.ว. ที่ยังมีอีก 1 มาตรา ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่ได้เสนอยื่นคือ ยกเลิกมาตรา 269 สาระสำคัญของมาตรานี้คือ การให้ ส.ว.250 คน ที่มาจาก คสช. ออกไปเลย แล้วกลับไปใช้ ส.ว. รูปแบบปกติ แต่เรื่องนี้คือการแก้ไขในระดับเฉพาะหน้า เพราะยังมีประเด็นว่า ส.ว. ยังมีความจำเป็นหรือไม่ในสังคมไทยซึ่งสามารถพูดคุยถกเถียงกันต่อได้ใน สสร. เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือทุกฉบับต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ต้องกลับมาที่ฐานคิดในการจัดทำรัฐธรรมนูญ โดยหลักการที่ต้องยึดให้มั่นคืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน แต่เป็นหลักการที่ไม่แน่ใจว่าสามารถเป็นจริงได้ในสังคมที่ผ่านมาในช่วงเวลาใดบ้าง หากไม่นับเหตุการณ์การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 รวมถึงในทางปฏิบัติจะเป็นจริงได้อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน ซึ่งต้องสามารถแก้ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา ตามที่ประชาชนอยากเห็นว่าจะให้สังคมหน้าตาเป็นอย่างไร จะอยู่กันอย่างไร สัมพันธ์กันอย่างไร และอำนาจต่างๆ จะสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไร และผ่านการประชามติในขั้นตอนสุดท้าย ประวัติศาสตร์ของโลกที่ผ่านมาในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย การกำหนดเรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับว่าประชาชนในประเทศนั้นๆเป็นคนกำหนดเอง ไม่ใช่ถูกกำหนดมาจากอาณัติของสวรรค์หรือมาในนามของสมมติเทพองค์ใด และต้องเน้นย้ำตรงนี้เลยว่า หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ประชาชนต้องยืนยันว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน เราจะทำรัฐธรรมนูญแข่งกับคณะรัฐประหาร จะไม่ยอมอีกแล้วเหมือนที่ผ่านมาที่ให้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญกลับไปที่อำนาจอื่นใดที่ไม่ใช่อำนาจของประชาชน ดังนั้น ประชาชนมีโอกาสประกาศใช้รัฐธรรมนูญของตัวเองทันที”

ทั้งนี้ ชัยธวัช กล่าวถึงข้อกังวลว่า จากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของรัฐบาลคือ มีการวางกับดักไว้ เมื่อ สสร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วยังไม่ให้ไปลงประชามติทันที ให้นำไปให้สภาพิจารณาก่อน กลไกนี้แยบยลเพราะตอนนี้ในสภา ฝ่ายรัฐบาลและผู้มีอำนาจสามารถกุมเสียงข้างมากไว้ได้อย่างเด็ดขาด รวมทั้งมีการไปบัญญัตติไว้ด้วยว่าสามารถนำเอาบทบัญญัตติของ รธน. 2560 มาใช้ได้ในประเด็นที่ว่า พระมหากษตริย์สามารถ Veto หรือไม่เห็นด้วยได้ในร่างที่ทูลเกล้าไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้จะอันตรายมาก เพราะหมายความว่าเป็นการทำให้อำนาจของประชาชนที่เห็นชอบแล้วไปปะทะกับอำนาจของพระมหากษัตริย์ ถือเป็นเรื่องที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น [1] [2] | Voice online
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net