โพลระบุ 61.27% เห็นด้วยอย่างมากแก้ รธน. ไม่ให้ ส.ว.เลือกนายก

'นิด้าโพล' สำรวจความเห็นประชาชน 1,317 ตัวอย่าง พบ 61.27% ระบุว่าเห็นด้วยมากแก้ไข รธน. ยกเลิกอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

13 ก.ย. 2563 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “จะมี ส.ว. ต่อไป ดีไหม?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-10 ก.ย. 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอำนาจ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอำนาจ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่า ร้อยละ 61.27 ระบุว่าเห็นด้วยมาก ร้อยละ 16.48 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 8.96 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 13.21 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 0.08 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของผู้ที่ตอบเห็นด้วยมากและค่อนข้างเห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแค่มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และหลังจากนั้นให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ พบว่า ร้อยละ 69.27 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 15.90 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 6.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 7.22 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 1.37 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับสิ่งที่ ส.ว. ควรดำเนินการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.75 ระบุว่า ควรสนับสนุน การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา รองลงมา ร้อยละ 30.37 ระบุว่า ควรสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ร้อยละ 10.70 ระบุว่า ไม่ควรสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบ และร้อยละ 4.18 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความจำเป็นต้องมี ส.ว. ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.27 ระบุว่า จำเป็นต้องมี ส.ว. เพราะเพื่อเป็นการถ่วงดุลทางการเมือง ควบคุม/ตรวจสอบการทำงานของ ส.ส. กลั่นกรองกฎหมายสำคัญ ๆ ต่าง ๆ และ การได้มาของ ส.ว. ต้องเป็นการเลือกตั้งจากประชาชนเพื่อเข้ามาเป็น ส.ว. เท่านั้น ขณะที่ ร้อยละ 31.66 ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมี ส.ว. เพราะ ไม่มีผลงานที่เด่นชัด ไม่มีบทบาทการทำงานที่ชัดเจน สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน และมี ส.ส. ก็เพียงพอกับประชาชนแล้วจึงไม่จำเป็นต้องมี ส.ว.และร้อยละ 30.07 ระบุว่า มีหรือไม่มี ส.ว. ก็ได้ เพราะ ประชาชนยังไม่เห็นการทำหน้าที่และผลงานของ ส.ว. ที่ชัดเจน

ซูเปอร์โพลชี้การชุมนุมมีนักการเมือง-ต่างชาติหนุนหลัง

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง หยุดแกนนำม็อบ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,575 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 9-12 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.1 เชื่อว่า ม็อบต่าง ๆ มีขบวนการนักการเมืองและต่างชาติหนุนอยู่เบื้องหลัง ในขณะที่ร้อยละ 14.9 เชื่อว่าไม่มี

ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาพลักษณ์ของเพนกวิน แกนนำม็อบ ที่เคยนั่งทาน ชีสเค้ก กับ เจ้าหน้าที่รัฐของต่างชาติ สร้างความเสื่อมเสียต่อตัวเองและประเทศชาติ ร้อยละ 85.2 ในขณะที่ร้อยละ 14.8 ระบุไม่เสื่อมเสีย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.1 ระบุ ภาพลักษณ์ของ เพนกวิน ไมค์ระยอง แกนนำม็อบ ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ทำงานให้ใครบางคน ฝ่ายการเมืองเบื้องหลัง หรือ ทำงานให้ต่างชาติผู้หนุนเบื้องหลัง ในขณะที่ร้อยละ 36.9 ระบุทำเพื่อผลประโยชน์ชาติ

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.1 เชื่อว่ามีขบวนการต่างชาติจริงที่จ้องทำลายเสาหลักของประเทศไทยให้อ่อนแอ สั่นคลอน ไร้ระเบียบ จลาจล ควบคุมไม่ได้ เพื่ออ้างเข้ามาจัดระเบียบใหม่ หวังกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศไทย โดยมีนักการเมืองไทยและแกนนำม็อบร่วมมือกับต่างชาติ ในขณะที่ร้อยละ 24.9 ไม่เชื่อว่ามี

ที่น่าสงสารคนไทยเกือบทั้งประเทศเป็นส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.2 ระบุความเครียดว่า ม็อบต่าง ๆ จะซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจ ในขณะที่เพียงร้อยละ 7.8 ไม่เครียด

นักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา วัย 16 ปี นาย กฤตัชญ์ กรรณิกา ผู้เคยเรียนวิชารัฐศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัยในเกรด 10 ณ โรงเรียนรัฐบาลของสหรัฐฯ มองว่าวัฒนธรรมการเมืองของคนไทยแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ หลายประเทศ ถ้าต่างชาติเข้าไม่ถึงและไม่เข้าใจวัฒนธรรมการเมืองและหัวใจของคนไทยก็จะล้มเหลวในยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศได้ ยิ่งไปกว่านั้น จากผลโพลนี้ชี้ชัดว่า ถ้าแกนนำม็อบและกลุ่มนักการเมืองไทยมีภาพลักษณ์ตกเป็นหุ่นเชิดของต่างชาติ ผลที่ตามมาคือ แกนนำม็อบกลุ่มนั้นก็จะเสียหาย และต่างชาติประเทศนั้น ๆ ก็เสียหายเช่นกัน

ในขณะที่ ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลนี้ชี้ให้เห็นด้วยว่า คนไทยส่วนใหญ่กำลังเครียดว่า ม็อบต่าง ๆ จะเป็นอีกเหตุปัจจัยสำคัญที่ซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดจากโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศให้หนักขึ้นไปอีก การขยายผลความขัดแย้งรุนแรงบานปลายจึงไม่ส่งผลดีต่อทุกคนในชาติ ที่คนไทยส่วนใหญ่กำลังเชื่อว่า ขบวนการต่างชาติและนักการเมืองไทยบางคนและแกนนำม็อบกำลังทำให้เสาหลักของชาติ เช่น กระบวนการยุติธรรม สถาบันหลักของชาติ กองทัพ สั่นคลอน อ่อนแอ จนควบคุมไม่อยู่และฝ่ายตรงข้ามกำลังยั่วยุให้เกิดเสียงปืนแตก ชีวิตเด็กและเยาวชนสูญเสีย มือที่สามก็จะเข้ามาซ้ำเติมให้บ้านเมืองหยุดเติบโต จึงน่าจะช่วยกันหยุดแกนนำม็อบ โดยประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศควรรู้เท่าทันเป้าหมายของขบวนการต่างชาติที่จะทำให้ประเทศไทยอ่อนแอและถือโอกาสเข้ามาเอาประเทศไทยเป็นประเทศคานงัดชนะสงครามการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้

ดุสิตโพลเผยคนไม่เชื่อกระแสข่าวรัฐประหารตอนนี้ ชี้ไม่มีความจำเป็น มองรัฐบาลแห่งชาติไม่มีโอกาสเกิดขึ้น

"สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่มีต่อ "ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ณ วันนี้" โดยเมื่อถามว่าประชาชนเชื่อหรือไม่กับกระแสข่าว "การทำรัฐประหาร" ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 58.08% ตอบว่าไม่เชื่อ เพราะมองว่าต้องการปล่อยข่าว สร้างกระแส ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำถึงขนาดนั้น ปัจจุบันก็อยู่ภายใต้กำลังทหารอยู่แล้ว ส่วนอีก 41.92% ตอบว่าเชื่อ เพราะทางทหารมีการเคลื่อนไหว ปัญหาบ้านเมืองสะสมจนมากเกินไป ต้องการปฏิรูปการเมือง เป็นทางออกที่ไม่ควรมองข้าม ฯลฯ

เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานี้ "การทำรัฐประหาร" มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 46.67% ระบุว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ รองลงมา 40.61% ระบุว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ และเมื่อถามว่าประชาชนคิดว่า "การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ" มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 41.79% ระบุว่าไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ส่วนอีก 33.29% ระบุว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้

เมื่อถามประชาชนถึงผลดี-ผลเสียของ "การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ" พบว่าในส่วนของผลดี อันดับ 1 มองว่าช่วยลดความขัดแย้ง อันดับ 2 ทำให้มีความเป็นกลาง และอันดับ 3 มีความมั่นคง ส่วนของผลเสีย อันดับ 1 มองว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อันดับ 2 เห็นว่าจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น/ไม่ยอมรับ และอันดับ 3 ไม่เป็นประชาธิปไตย

สุดท้าย เมื่อถามถึง "รมว.คลัง คนใหม่" ว่าควรมีคุณสมบัติแบบใดจึงจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้นั้น อันดับ 1 ประชาชน 81.72% ระบุว่าต้องมีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐกิจ อันดับ 2 ประชาชน 75.20% ระบุว่าต้องซื่อสัตย์ โปร่งใส ไม่ทุจริต อันดับ 3 ประชาชน 65.12% ระบุว่าต้องเน้นประโยชน์ของบ้านเมือง อันดับ 4 ประชาชน 56.99% ระบุว่าต้องมีประสบการณ์/มีผลงาน และอันดับ 5 ประชาชน 54.50% ระบุว่าต้องไม่ยอมให้ถูกแทรกแซง

"จากผลการสำรวจ ถึงแม้ประชาชนจะไม่เชื่อกระแสการทำรัฐประหาร แต่ก็ยังมองว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ แสดงให้เห็นว่าประชาชนได้เรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมาว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งและมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น การทำรัฐประหารมักจะตามมาเสมอ ทั้งนี้เห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติยังไม่ใช่ทางออก ถึงจะช่วยลดความขัดแย้ง มีความเป็นกลาง แต่ก็อาจไม่ได้รับการยอมรับ" นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุ

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 1,517 คน โดยสำรวจทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ย. 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท