"ทิศทางและอนาคตธุรกิจสุราไทย" จะเป็นอย่างไรภายใต้เงื่อนไขที่เอื้อเจ้าตลาดในไทย

นักวิชาการและผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใต้กฎหมายและข้อจำกัดที่เข้มงวดจนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยมาตลอด ทั้งการตั้งปริมาณขั้นต่ำของการผลิตที่และภาษีที่สูงจนทำให้ผู้ที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจนี้ได้ยาก อีกทั้งข้อกฎหมายการห้ามโฆษณาที่กินความกว้างจนแม้กระทั่งการให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้บริโภคก็ทำไม่ได้ โดยในการเสวนาช่วงเช้าได้มีข้อเสนอต่อการแก้ไขกฎหมายสรรพสามิต ภาษีและพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

12 ก.ย.2563 ที่โรงแรมเอเชีย คณะอนุกรรมาธิการศึกษาพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสุราจัดสัมมนา "ทิศทางและอนาคตธุรกิจสุราไทย" เพื่อรวบรวมความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจนี้ สืบเนื่องมาจากปัญหาอุปสรรคทางกฎหมายที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการรายย่อยในหลายประเด็นทั้งเงื่อนไขปริมาณการผลิตขั้นต่ำที่และการใช้กฎหมายในการปิดกั้นช่องทางการขายและการให้ข้อมูลสินค้าที่เกินไปกว่าการห้ามโฆษณา โดยในช่วงเช้าของการสัมมนากันในหัวข้อ "สุนทรียะเสวนาหาทางออกและจุดร่วมในการขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมสุราไทย"

เท่าพิภพ ลิ้มจิตกรกล่าวถึงที่มาของการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่าอุตสาหกรรมสุรากำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่มีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่เจ้าครองตลาดอยู่ ซึ่งมีสองปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาวะเช่นนี้คือการต้องใช้เงินทุนจำนวนมากและเทคโนโลยีที่สูงทำให้มีผู้ประกอบการบางรายเท่านั้นที่ทำได้ และสองคือกฎระเบียบของทางราชการที่มีข้อจำกัดสำคัญบางอย่างที่ทำให้มีผู้ที่สนใจอุตสาหกรรมนี้เข้ามาสู่ธุรกิจนี้ได้ยาก

ทั้งนี้ในปัจจุบัน การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมากและไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงมากก็สามารถผลิตเครื่องดื่มที่มีความปลอดภัย เช่นสุราชุมชนและคราฟท์เบียร์ เป็นต้น แต่เนื่องจากยังมีกฎหมายที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เช่นการกำหนดทุนจดทะเบียนไว้สูง ข้อกำหนดกำลังของเครื่องจักร รวมไปถึงปริมาณการผลิตขั้นต่ำ จึงมีการศึกษาการใช้กฎหมายและข้อมูลทางวิชาการเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงในการส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมในธุรกิจนี้

เจริญ เจริญชัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และแอดมินเพจ “Surathai” กล่าวว่าอุตสาหกรรมนี้ที่ช่วยเรื่องภาษีให้กับรัฐบาล แต่ก็มีมุมที่เห็นว่าสร้างปัญหาสังคม แต่มีบทบาทกับวัฒนธรรมเพราะอยู่คู่กับสังคมและอารยธรรมมานาน บางศาสนาก็ก็มีข้อห้ามแต่บางศาสนาก็นำมาใช้ในพิธีทางศาสนาซึ่งก็เป็นเรื่องความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่ในทางวัฒนธรรมแล้วแต่ละพื้นที่ก็มีสุราที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเหมือนอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งมนุษย์พบว่าเมื่อดื่มเข้าไปแล้วก็รู้สึกมึนเมาผ่อนคลาย ในประเทศไทยถ้าหากไปเดินดูที่งานโอทอปก็จะเห็นว่าแต่ละเจ้าที่เป็นเหล้าท้องถิ่นก็จะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง

เจริญเล่าต่อว่าประเทศไทยมีการทำเหล้าด้วยน้ำตาลชนิดต่างๆ แต่ในอดีตก็มีการจับกุมผู้ผลิตในอดีตแต่ทุกวันนี้สิ่งเหล้านี้ก็ถูกกฎหมายแล้วก็ตามแต่ก็มีการดำเนินคดีด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แทน ซึ่งจริงแล้วอุตสาหกรรมสุราของไทยก็ยังสามารถไปได้อีกไกล ล่าสุดเบียร์แบรนด์ที่มีเจ้าของเป็นคนไทยไปได้รางวัลมา แต่ไปผลิตในเวียดนาม ซึ่งทางผู้ให้รางวัลก็ให้รางวัลในฐานะเป็นเบียร์ของเวียดนามแทน

นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่ามูลนิธิที่ตนทำไม่ได้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมโดยตรงแต่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดื่มมาก อะไรที่กินเยอะเกินไปมันก็ไม่ดีแต่สินค้าบางอย่างเวลาจะให้เขาไปคุมตัวเองมันลำบากก็ต้องใช้กฎหมายมาคุมซึ่งกฎหมายของไทยดี แต่มีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม อุตสาหกรรมสุราก็โดนกระทบเหมือนกันคือพอบังคับไม่ได้ก็ไม่ให้ขาย ซึ่งตนเห็นว่าเป็นไปไม่ได้  

นพ.แท้จริงกล่าวต่อว่า สุราอยู่กับสังคมไทยมานานแล้ว แต่ในต่างประเทศที่เขามีปัญหาน้อยกว่าเพราะสามารถควบคุมได้ดีมีการดำเนินการกับผู้ที่ดื่มแล้วขับจริงจังกว่าและไม่สามารถติดสินบนได้ เช่น มาเลเซีย รวมถึงการมีขั้นตอนที่มากขึ้นในการซื้อโดยเขาเปรียบเทียบกับการซื้ออาวุธปืนที่มีขั้นตอนเอกสารหลายอย่างในการซื้อ

นิสิต อินทมโน ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่าก็ต้องมาคุยกันว่าจะยังให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่อย่างเช่นประเทศบรูไนคือไม่ให้ขายเลย แต่ถ้ายังขายแบบมาเลเซียก็ยังพอซื้อได้ หรือในกรณีที่รัฐวิสคอนซินที่ตนเคยไปทำงานเป็นบริกรอยู่ตอนเรียนจะมีการตรวจสอบตัวตนผู้ซื้อก่อนและถ้ามีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กจะไม่สามารถแก็ตัวได้เลยโดยจะมีทั้งโทษปรับเงินและสั่งปิดร้าน 7 วัน แต่ถ้าดื่มแล้วขับรถถูกจับได้ก็ไปเจอกันที่ศาลเลย บางประเทศก็ไม่สามารถโฆษณาได้ แต่อย่างญี่ปุ่นก็ยังมีโฆษณาได้

ในอดีตประเทศไทยก่อนพ.ศ. 2493 สุราไทยยังถูกกฎหมายหมด รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังมีการสัมปทานไปให้เอกชนทำได้ แต่วันหนึ่งก็มาบอกว่าทำไม่ได้แล้วทั้งที่บางพื้นที่เขาผลิดตกันมานานมากก็เหมือนกับที่รัฐไทยทำกับประชาชนที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ป่าจนวันหนึ่งรัฐก็มาบอกว่าเป็นเขตอุทยานแล้วก็ไล่เขาออกทั้งที่เขาอยู่ในพื้นที่มาก่อนการประกาศเขตแล้ว จนรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีการกำหนดสิทธิชุมชนทำให้มีสุราพื้นบ้านออกมาได้ แล้วตอนนั้นก็มีการผลักดันจดแจ้งสุราพื้นบ้านแต่ตอนหลังก็ตกไป

ในช่วงนั้นยังมีคดีหนึ่งที่ดังมากคือการขายเหล้าพ่วงเบียร์ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการใช้กฎหมายเรื่องการแข่งขันทางการค้าที่ไม่สามารถให้ทำการขายของสินค้าหนึ่งโดยระบุว่าจะได้สินค้าชิ้นนั้นต้องซื้ออีกชิ้นหนึ่งด้วย เพราะถ้าเป็นต่างประเทศการพ่วงขายลักษณะนี้ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งโครงสร้างทางกฎหมายก็ทำให้เขามีอำนาจผูกขาดมาตั้งแต่อดีตซึ่งเขาก็ทำไปตามที่กฎหมายให้เขาทำได้ ก็เป็นเรื่องทำอย่างไรให้มีการใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม

ในประเด็นกฎหมาย นิสิต ให้ความเห็นว่าด้านที่ตนสนใจในการใช้กฎหมายด้านที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจซึ่งไม่ได้มองแค่เอากฎหมายมาตั้งแล้วบอกว่าอะไรผิดหรือถูกเหมือนข้อหาฆ่าคนตาย แต่กฎหมายนั้นมีไว้เพื่ออะไรและเพราะอะไร ที่ตนกล่าวเริ่มไว้อย่างเรื่องการผูกขาดประเทศไทยปล่อยให้โครงสร้างเป็นแบบนี้มานาน ถ้าตนเป็นรายใหญ่ก็ทำเพราะกฎหมายออกมาแบบนี้

นิสิตเล่าถึงกรณีที่ตนเคยให้นักศึกษาศึกษาเหล้าอุ พบว่าตอนนี้การผลิตลดลงมากเพราะกฎหมายที่มีอยู่ตอนนี้ ทั้งที่เหล้าอุสร้างประโยชน์กับชุมชนมากเพราะเขาใช้สินค้าจากท้องถิ่นตั้งแต่ไห ข้าว กระชายดำ และอื่นๆ แต่ก็ถูกดำเนินคดีจากเหตุที่ข้างไหติดฉลากระบุว่าทำจากอะไรและมีการเขียนสรรพคุณไว้ข้างขวด แล้วชาวบ้านเขาก็แค่เอากระดาษมาเขียนว่าเหล้าทำจากอะไรมีที่มาอย่างไรก็โดนดำเนินคดีว่าเป็นโฆษณา แล้วลองเปรียบเทียบกับงบการตลาดของบริษัทใหญ่ดู ต้องถามว่าอยากจะเห็นอะไรแล้วไปทางไหน ทางเลือกของคนให้คนได้เลือก คุณภาพที่ต้องได้มาตรฐาน การทำให้เกิดสมดุลในการใช้กฎหมายควรเป็นอย่างไร

นพ.แท้จริงกล่าวว่าถ้าตกลงกันว่าให้ดื่มได้ก็ต้องให้ผลิตได้ด้วยแล้วก็มีการส่งเสริมการผลิตได้ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรการทำสุราสามารถใช้วัตถุดิบในไทยมาทำได้ทั้งหมดมันเป็นธุรกิจได้ แต่ก็ต้องควบคุมให้ดีมันก็ต้องออกกฎหมายให้มันเอื้อต่อการทำธุรกิจด้วยแต่ตอนนี้คือมันคุมแต่มันไม่เอื้อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย

นิสิตแสดงความเห็นว่าเรื่องเมาไม่ขับยากตรงที่จะเอาสเกลอะไรมาวัดว่าไม่เมา ถ้าสามารถระบุไปเลยว่าการดื่มเหล้าที่มีดีกรีเท่าไหร่จะสามารถดื่มได้กี่แก็วจะทำเข้าใจได้ง่ายกว่า

เจริญเล่าถึงที่มาของปัญหาที่อยู่ในกฎหมายเรื่องขั้นต่ำของปริมาณในการผลิตว่า เมื่อปี 2493 เมื่อเปิดเสรีสุราขึ้นรัฐก็ขายโรงเหล้าที่เป็นของรัฐให้กับเอกชนไปพอขายไปแล้วก็เปิดให้มีเอกชนรายอื่นทำได้ด้วย แล้วก็มีประกาศกระทรวงการคลังออกมาที่อนุญาตให้เปิดโรงเหล้าโรงเบียร์ได้แต่ต้องมีปริมาณการผลิตขั้นต่ำที่สูงมาก ใครที่อยากจะทำธุรกิจขนาดเล็กถึงปานกลางก็ทำไม่ได้ ภายหลังผู้ประกอบการที่ไปฟ้องศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนประกาศ

เจริญเล่าต่อว่าในการฟ้องเป็นคดีเพิกถอนประกาศครั้งนั้นทางสรรพสามิตก็มาให้ข้อมูลว่า สำหรับเหล้าขาวที่ต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำอยู่ที่ 90,000 ลิตรต่อปีทางสรรพสามติไปเอาตัวเลขนี้มาจากกำลังการผลิตสูงสุดของโรงสุราฉะเชิงเทรา ส่วนการทำสุราสี 28 ดีกรี ต้องผลิตได้มี 30,000 ลิตรต่อวัน สรรพสามิตก็ให้ข้อมูลว่าเป็นข้อมูลการผลิตสูงสุดของบริษัทประมวลที่ตอนนั้นให้สัมปทานกับเอกชนไป ซึ่งการเอาขั้นสูงสุดของโรงหนึ่งมากำหนดเป็นขั้นต่ำสุดก็เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น แต่ตอนนั้นการฟ้องศาลปกครองเป็นเรื่องของผู้ผลิตเหล้าขาวทำให้สรรพสามิตไม่ได้ให้ข้อมูลส่วนของการกำลังการผลิตขั้นต่ำเบียร์ที่จะต้องมีสิบล้านลิตรต่อปีก็เลยไม่รู้ว่าเป็นข้อมูลของที่ไหน ซงก็น่าจะเป็นขั้นต่ำของรายใหญ่ซักเจ้าในเวลานั้น ซึ่งตอนนั้นเขาก็ไม่ได้ผูกขาดเพราะกฎหมายมันก็ออกมาแบบนี้ข้าราชการก็ได้ตัวเลขจากบริษัทเอกชนถ้าคิดแบบบริสุทธิ์ใจ 

เจริญบอกว่า สุดท้ายศาลปกครองก็มีคำสั่งเพิกถอนประกาศแต่เหตุผลในคำสั่งศาลไม่ใช่เรื่องกำลังการผลิตขั้นต่ำแต่เป็นเรื่องการออกกฎหมายผิดประเภท ศาลระบุว่าต้องออกเป็นกฎกระทรวง พอปี 2560 ก็ออกกฎกระทรวงมากำหนดให้ต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำเท่าเดิม

เจริญกล่าวว่าเพราะฉะนั้นการส่งเสริมการผลิตก็ต้องแก็กฎกระทรวงนี้ ซึ่งตอนนี้ทาง กมธ.อุตสาหกรรมสุราฯ กำลังทำ พ.ร.บ.สรรพสามิตมาแก็ไขตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และมีการไปยื่นกฤษฎีกาขอให้มีการแก็ไขเรื่องนี้ กฤษฎีกาก็ให้สรรพสามิตไปแก้ภายในสามเดือนแต่ตอนนี้ก็เลยเวลามาแล้ว สรรพสามิตก็แจ้งว่าจะส่งกลับมาในเดือนพฤศจิกายนนี้

เจริญกล่าวถึงเรื่องการออกกฎหมายว่าตอนนี้มีความซ้ำซ้อน แล้วการบังคับใช้กฎหมายของเรามันไม่ได้ผลแต่การที่กฎหมายหนึ่งใช้ไม่ได้ผลแล้วก็ไปออกกฎหมายอื่นมาก็กลายเป็นภาระของประชาชน ดังนั้นก็ควรทำให้กฎหมายมันใช้งานได้ เช่นเรื่องของการจับปรับจริง แต่ทุกวันนี้เมื่อเจอด่านทีไรก็สามารถยัดเงินที่ด่านได้ อยากเสนอให้ สสส.ที่มีงบมหาศาลมีเงินเข้าปีละสี่พันล้านโดยประมาณแล้วถ้าเก็บภาษีสุราได้มากก็เข้ามากไม่รู้ว่าสะสมมาเป็นแสนล้านหรือยัง ก็แทนที่จะโฆษณาเรื่องไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ไม่มีการรณรงค์เชิงบวกหรือเชิงรุกให้การดื่มสุราอย่างมีความรับผิดชอบเลย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนใหญ่มีการดื่มกันอย่างไม่มีคุณภาพคือดื่มเอาเมา ทำไมไม่ใช้วิธีการสื่อสารว่ามันมีการบอกว่าการดื่มมาตราฐานว่าดื่มกี่กระป๋องที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เท่าไหร่ยังขับรถได้

ในส่วนประเด็นกฎหมายห้ามโฆษณา ห้ามให้ข้อมูลประกอบสรรพคุณ และห้ามขายวันและเวลาที่กำหนด เช่นวันหยุดทางศาสนา มันเป็นอุปสรรคทางธุรกิจหรือไม่

เจริญมีความเห็นในประเด็นนี้ว่าใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาหลายปีแล้วก็พบว่ามันมีโทษมากกว่าประโยชน์ทั้งกับผู้ประกอบการและประชาชน เพราะประชาชนถูกดำเนินคดีไปด้วยทั้งที่เป็นการโพสต์ที่ไม่ได้ตั้งใจจะโฆษณา ซึ่งในกฎหมายก็บอกว่าต้องมีการอวดอ้างซึ่งคำว่าอวดอ้างต้องเป็นการพูดที่เกินความเป็นจริงแต่แค่บอกว่าอร่อยมันก็ไม่ใช่อวดอ้างเขาก็ใช้ว่าชักจูงซึ่งแค่บอกว่าอร่อยดีก็เหมือนเป็นการชักชวนแล้ว คือกฎหมายมันมีปัญหาก็ต้องแก้ไข ซึ่งตอนนี้ยื่นเรื่องแก้ไขกฎหมายให้กฤษฎีกาแล้ว แล้วก็ทำพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขปรับปรุงส่งให้ประธานสภาเพื่อให้นำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้วก็วุฒิสภา ซึ่งก็มีการแก้ไขหลายมาตรา ไม่ใช่แค่มาตรา 32 มาตราเดียว และยังมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องห้ามขายทางออนไลน์ที่ออกมาตามมาตรา 30 ทั้งที่ทางเครือข่ายก็เคยไปยื่นคัดค้านซึ่งเรื่องก็ถูกส่งจากสำนักนายกฯ ไปที่กระทรวงสาธารณสุขแล้วแต่สุดท้ายก็ประกาศใช้ออกมา ตอนนี้ก็ไปฟ้องศาลปกครองอยู่เพราะไม่เหลือทางอื่นสู้แล้ว

นิสิตกล่าวว่าประเทศอื่นเขาก็มีการโฆษณาได้ แต่ที่อื่นเขามีการแข่งขันที่สมบูรณ์แต่การที่เรายังมีกฎหมายแบบนี้อยู่แต่ก็ให้มีการผลิตได้มันเอื้อประโยชน์อยู่กับแค่ไม่กี่คนตั้งแต่อดีต ในมิติทางเศรษฐศาสตร์มันมีผลที่เชื่อมโยงเพราะมันมูลค่ามหาศาล แล้วหลายกฎหมายไทยก็ชอบสีเทาๆ ไม่อยากให้มันชัดเจนเท่าไหร่ ทั้งที่การตีความกฎหมายก็ตีความได้สองแบบคือ ตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายกับตีความตามลายลักษณ์อักษร

ถ้าดูตามมาตรา 32 ที่ไม่ให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม เฉพาะวรรคแรกนี้ก็มีการตีความไม่เหมือนกัน เดิมกฎหมายตัวนี้คือต้องการห้ามโฆษณาทั้งหมดเลยแต่มันบังคับใช้ยาก  ส่วนคำว่า “อันเป็นการ” เป็นภาษากฎหมายคือต้องเล็งเห็นผลให้เกิดเป็นการชักจูงใจหรือเป็นการโฆษณาอวดอ้างถึงจะเข้าองค์ประกอบความผิดซึ่งการตีความของเขาไม่เหมือนกับทางกระทรวงสาธารณสุข  ทั้งนี้เขาเห็นว่าถ้ากระทรวงไม่อยากให้มีเลยก็กำหนดให้มีบรรจุภัณฑ์เหมือนบุหรี่ที่ลดสีลดขนาดสัญลักษณ์ใส่คำเตือนลงไป

นิสิตเห็นว่าแต่ถ้าปลายทางไม่ใช่แบบนั้นก็ต้องคุยกันว่าอะไรที่เหมาะสม แล้วก็ต้องชัดเจนว่าอะไรคือการอวดอ้างอะไรคือการชักจูงใจแล้วจะได้รู้ว่าอันไหนที่ควรจะวางกรอบให้เหมาะสม อะไรคือการส่งเสริมการขาย ซึ่งก็มีอยู่ในมาตรา 3 ระบุว่าอะไรคือการโฆษณาอะไรคือการให้ข้อมูลส่งเสริมการขาย ไม่เช่นนั้นก็ผู้ประกอบการก็เลี่ยงได้ พอบอกว่าห้ามลดราคาผู้ผลิตทำก็บอกว่าวันนี้ไม่ได้ลดก็แค่เปลี่ยนเมนูใหม่ว่าช่วงนี้ขายราคานี้ หรือมีการไปทำโฆษณาจากต่างประเทศแล้วส่งกลับเข้ามาในไทยเพราะในกฎหมายให้ทำได้ ซึ่งเขาเห็นว่ามันไม่ควรจะเป็นแบบนี้

นิสิตกล่าวต่อว่าแล้วถ้าคิดระหว่างกฎหมายกับเศรษฐศาสตร์ทุกวันนี้ผู้ประกอบการหลายเจ้าเขาเป็นสปอนเซอร์ให้กับหลายอย่างที่สำคัญและเป็นประโยชน์ ถึงอย่างไรเขาก็ได้เงินแล้วถ้าถอนพวกเขาออกไปหมดเลยแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมผู้ประกอบการก็จะบอกว่าตัวเองไม่เดือดร้อนเหมือนกับที่ไปบอกเขาว่าไม่ให้จัดลานเบียร์ผู้ประกอบการก็ชอบเลยเพราะเขาลดค่าใช้จ่ายได้เพราะเป็นกิจกรรมที่ต้นทุนสูงมาก แล้วเขาก็ไปตามร้านแทนเอานักร้องไปลงแล้วก็ให้ร้านขายบัตรเข้างานซึ่งทุกบริษัทเขาก็ทำหมด ซึ่งจุดนี้ก็ต้องมาคุยกันว่ารายใหญ่ต้องทำอะไรถึงเหมาะสมแล้วรายย่อยจะต้องทำอะไรเขาถึงอยู่รอดได้และเหมาะสม

นิสิตยกตัวอย่างว่าอย่างที่ญี่ปุ่นก็มีการเล่าเรื่องราวของเหล้าที่ผลิตในท้องถิ่นอยู่ว่าผลิตจากอะไรด้วยขั้นตอนอย่างไรบ้าง แต่ตนก็ไม่ได้บอกว่าต้องปล่อยให้มีการโฆษณาไปเลยจนทำให้เป็นเรื่องปกติ ถ้าเห็นว่าแบบนี้ไม่เหมาะสมก็ไม่ควรมี ซึ่งก็ต้องไม่ทำให้เรื่องนี้เป็นสีเทาอีกแล้วเพราะปัญหาจะไม่จบ รายใหญ่ก็จะใช้อำนาจเหนือตลาดทั้งเศรษฐกิจการเมืองทำให้ระบบนิเวศของธุรกิจนี้ไม่เกิดสุดท้ายก็เกิดปัญหากับเศรษฐกิจแล้วก็ผู้บริโภค

นพ.แท้จริงแสดงความเห็นว่าต้องมีการควบคุมเพราะว่าในความคิดส่วนตัวแล้วสุราเป็นสินค้าที่มีอันตราย ถ้าใช้ไม่ถูกต้องเหมือนกับอาวุธปืนแต่ปืนก็ไม่ได้ซื้อขายกันง่ายหาได้จากเซเว่น เขายังยืนยันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าอันตรายเพราะหากเมาแล้วขับก็สามารถทำให้คนตายทีละมากๆ ได้ และการให้ความรู้ว่าดื่มได้มากน้อยแค่ไหนถึงจะขับรถได้หรือไม่ สำหรับสังคมไทยแล้วก็ไม่ใช่ว่าคนทำไม่รู้ แต่รู้แล้วก็ยังทำปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า  และเขายังมองว่าการรณรงค์ให้ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ นั้นเป็นไปไม่ได้เพราะขนาดรณรงค์ว่าการกินหวานมากส่งผลเสียต่อร่างกายก็ยังทำไม่ได้ทั้งที่กินแล้วก็ยังมีสติรับรู้ แต่การดื่มเหล้าทำให้มึนเมาไม่มีสติแล้วจะทำให้มีสติพอรู้ว่าต้องดื่มอย่างมีความรับผิดชอบอย่างไร

ส่วนประเด็นเรื่องการควบคุมการโฆษณา นพ.แท้จริงเห็นด้วยว่าต้องมีการคุม แต่ก็อยากให้ศาลตัดสินว่าการโฆษณาแบบไหนทำได้หรือไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเป็นคดีก็มักจะจบลงที่การไกล่เกลี่ยไม่เคยไปถึงที่สุดจนศาลมีคำพิพากษาทำให้ไม่เกิดความชัดเจน

นิสิตเสริมว่าโดยขั้นตอนแล้วมันไม่ควรไปเปรียบเทียบปรับแล้วมีประเด็นเพราะมันมีเกณฑ์การปรับอยู่แล้วว่าต้องปรับเท่าไหร่ ปัญหาในทางปฏิบัติคือมันจะทำอย่างไรไม่ให้มีอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมท่านควรจะเข้าจะเข้าไปแล้วทำแบบนี้ไม่ได้แต่ปัญหาคือพอมันไปไม่สุดทางแล้วมันทำให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ประโยชน์ เปรียบเทียบกับคดีลิขสิทธิ์ที่ผู้ทรงสิทธิให้อำนาจกับคนหนึ่งไปล่าเลยแล้วก็แบ่งส่วนแบ่งตนเข้าใจว่าก็มีในวงการนี้ด้วยเช่นกันซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง คือกฎหมายไม่ใช่ให้เกิดการล่าแต่มีเพื่อให้รู้ว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้ เขาจะได้โฆษณาได้อย่างเหมาะสม

นพ.แท้จริงกล่าวในประเด็นการโฆษณาต่อว่าแม้โฆษณาจะไม่มีผลกับผู้ใหญ่เพราะอยากเลือกกินอะไรก็เลือกเองได้แต่การโฆษณาจะมีผลกับเด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอเห็นโฆษณาถึงอย่างไรก็ต้องมีกฎหมายควบคุม

ส่วนประเด็นการควบคุมโดยใช้โครงสร้างภาษี แสดงความเห็นว่ารัฐเก็บภาษีเพื่อเอารายได้เข้ารัฐเพราะฉะนั้นก็ควรจะถูกเก็บภาษีเรื่องภาษี ก็ต้องใช้ภาษีให้ดีเพราะการเก็บภาษีสามารถยกเว้นได้เช่นเดียวกับมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี แล้วถ้าจะส่งเสริมให้มีการผลิตก็สามารถกำหนดเกณฑ์การเก็บภาษีได้ถ้าการผลิตไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียภาษีก็ได้ การบังคับใช้กฎหมายและภาษีก็ต้องทำให้มันยุติธรรม

นิสิตตั้งข้อสังเกตว่าการเก็บภาษีเพื่ออะไร ถ้าเพื่อเอาเงินเข้ารัฐก็ประเด็นหนึ่ง แต่ถ้าตั้งไว้เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าก็ต้องถามว่าคนที่จ่ายภาษีส่วนนี้คือใคร ชัดเจนในการเก็บเพื่ออะไรนอกจากนั้นการเก็บภาษีอัตราเดียวกันมันยุติธรรมหรือไม่ อย่างเช่นมีกรณียายคนหนึ่งที่ขายขนมข้าวหมากและส่วนที่เป็นน้ำข้าวหมากเหลือออกมาขาย  ถ้าถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ก็ผิดเพราะตั้งใจขายแต่เป้าหมายหลักของยายคนนี้ต้องการขายของหวานแต่มันมีผลิตภัณฑ์อีกส่วนที่เกิดออกมาเขาต้องทิ้งใช่ไหม

เจริญกล่าวว่าโครงสร้างภาษีนี้ทำให้เหล้าแพงมาก แนวของสรรพสามิตเขาต้องการเก็บไปบำรุงรัฐบาล ดังนั้นเขาก็มีบทบาทหนึ่งคือจัดเก็บภาษีให้ได้เต็มเม็ดก็ต้องไม่มีใครที่ทำธุรกิจแล้วไม่เสียภาษีซึ่งในธุรกิจสุราคือต้องเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้ข้าวหมากทั้งหลายที่ขายกันอยู่ในห้างสรรพสินค้ามีแอลกอฮอล์ 3-9 เปอร์เซ็นต์ก็มีสิทธิที่องค์กรอาหารและยาไปเอาลงได้ แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังเมตตากับผู้ผลิตอยู่ที่เขายังไม่ไปตรวจสอบจริงจัง แต่การที่รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังจะปล่อยให้ทำเครื่องดื่มกินที่บ้านได้ก็ต้องสู้กันต่อไป

เจริญเห็นว่าการเก็บภาษีของสรรพสามิตก็เป็นการตั้งมาเพื่อควบคุมการบริโภคอยู่แล้วเขาก็ได้รายได้เข้าเข้ารัฐ แต่การเก็บนี้มันไม่ยุติธรรมกับเครื่องดื่มบางชนิด อย่างเช่น ไวน์ผลไม้ สาโถ เหล้าอุหรือกระแช่เก็บ 150 บาทต่อดีกรี แต่พอเป็นไวน์องุ่นไม่ว่าจะเป็นของต่างประเทศหรือผลิตภายในประเทศเก็บ 1,500 บาทตามดีกรี ส่วนภาษีเบียร์ก็เก็บตามดีกรี 430 บาทต่อดีกรี จะเห็นว่าไม่มีความสม่ำเสมอกันเลยแต่พอคำนวนออกมาแล้วปรากฏว่าสินค้าแต่ละตัวก็จะเสียภาษีเท่ากันหมดซึ่งก้จะทำให้เหล้าขาวก็จะสามารถขายในราคาถูกได้เหมือนเดิม

โอกาสเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย

ในช่วงที่สองของการสัมมนาถกกันในประเด็นโอกาสเติบโตและอุปสรรคในการทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย โดยเริ่มจาก สุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ผู้ประกอบการผลิตไวน์ กรานมอนเต้ กล่าวว่าเธอสนใจในมุมของการเติบโตของวงการที่หมายถึงมีคนมาร่วมกันมากมีความหลากหลายมากขึ้น ตอนนี้เป็นยุคของธุรกิจรายย่อย (SME) แล้ว คือประชาชนก็เป็นทั้งผู้ประกอบการและเป็นผู้บริโภคด้วย ประชาชนควรจะเข้าถึงเครื่องมือการส่งเสริมต่างๆ ที่ประชาชนจะแปลงตัวเป็นผู้ประกอบการได้ถ้าต้องการไม่ว่าจะกลายมาเป็นรายเล็ก กลางหรือใหญ่ก็ได้ คือมันมาจากเรื่องความสนใจส่วนตัวด้วยไม่ใช่แค่เรื่องเงินทำกำไรอย่างเดียว

ธีรวุฒิ แก้วฟอง เล่าถึงการทำแบรนด์มานะมานีปิติชูใจ คนแถวบ้านก็ทำสาโทกินกันเรียกว่าน้ำขาว ก็มีไว้ฉลองกินกัน ใครทำอร่อยก็ทำเยอะบางคนก็ไปซื้อของคนข้างบ้านเพราะทำอร่อยกว่าจนกลายเป็นอาชีพขึ้นมากรอกใส่ขวดขายแล้วสุดท้ายก็โดนจับ ก็ทำให้ตัวเองสนใจขึ้นมาว่าต้องทำอย่างไรให้มันถูกต้องเขาเปิดโอกาสให้ทำบ้างก็จดทะเบียน แล้วก็คิดว่าต้องทำอะไรให้มันจับต้องได้ ก็เลยเอามานะมานีปิติชูใจที่เคยเรียนมาใช้ทำแบรนด์แล้วก็เอาความรู้ในการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ มาใช้ทำผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ก็ทำเป็นธุรกิจเล็กๆ ซึ่งก็ใช้ข้าวแค่ลิตรเดียวทำออกมาได้สามพันกว่าขวด สุดท้ายก็เอาเข้าไปขายในห้างหรือร้านของฝากในเชียงใหม่ ซึ่งเขาก็เห็นว่าถ้าตั้งใจทำหรือยุทธศาสตร์

ธีรวุฒิเล่าถึงปัญหาที่ตัวเองเจอว่าถูกขอให้เลิกทำเพราะการนำตัวละครจากแบบเรียนสมัยเด็กมาใช้ในการทำแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ไว้ตั้งแต่ปี 2550 ก่อนที่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกมา 1 ปี ซึ่งพอเขาจัดการด้วยเรื่องนี้ไม่ได้ เขาก็ไปจับผิดแกล้งเรื่องอื่นเช่นกำลังแรงม้าเรื่องน้ำเสียแล้วก็ถูกบอกให้เลิกทำ สุดท้ายก็เลยต้องออกสินค้าตัวอื่นมาคือเก้าชีวิต   

ธิปไตร แสละวงศ์ จาก TDRI เสนอว่าส่วนของกฎระเบียบเมื่อเทียบกับบริการโรงแรมจะมีรายใหญ่กับเกสต์เฮ้าส์คือเหมือนกันเลย เรื่องกฎหมายก็จะมีการกำหนดคุณสมบัติที่มาตรฐานสูงคือห้ามนำตึกเก่ามาทำโรงแรม แล้วตึกเก่าจะเอาไปทำอะไรถ้าไม่เอามาทำโรงแรมเพราะตรงนั้นก็มีนักท่องเที่ยว คำถามก็คือกฎหมายจะกำหนดคุณสมบัติให้สูงเอาไว้เพื่ออะไร แต่สิ่งที่ตามมาก้คือทำให้รายย่อยเข้าระบบไม่ได้ แต่พอรายย่อยอยู่นอกระบบรัฐก็เข้าไปกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานไม่ได้ซึ่งทำให้เป็นอันตรายกว่าเดิม นอกจากนั้นยังลดการแข่งขันเกิดการผูกขาด ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันเชิงคุณภาพแล้วก็ทำให้ราคาแพง แล้วมันก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านภาษีแล้วก็การส่งเสริมจากภาครัฐ คือ เขาเสียภาษีมากกว่าได้ใบประกอบการโรงแรมอีกแต่พอจะปราบก็โดนปราบหมด แล้วพอรัฐมีโครงการลดหย่อนภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวคนไปพักที่เกสต์เอาส์ก็เอาไปลดหย่อนไม่ได้ คือเกิดผลค้างเคียงจากการใช้กฎหมายที่ไม่สมเหตุผล

ธิปไตรกล่าวต่อว่ารัฐเองก็ตามไม่ทันเวลาเกิดธุรกิจประเภทใหม่ๆ ไปถึงไหนแล้ว อย่างกรณีกฎหมายโรงแรมก็จะมีแค่โรงแรมกับที่พักที่ไม่ใช่โรงแรมแล้วก็จะไม่รู้จักเกสต์เฮ้าส์ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่ของกฎหมายไทยหลายฉบับ เช่น แท็กซี่ก็จะมี Grab Car ที่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมาขับ หรือทางการแพทย์เกิดเทเลเมดิซีน ก็เกิดปัญหาว่าพอหมอจะทำหมอก็จะงงว่าทำแล้วแพทยสภาจะว่าหรือเปล่า ปัญหากฎหมายไทยคือปรับไม่ทันเมื่อเกิดธุรกิจชนิดใหม่ก็จะส่งเสริมไม่ถูกจุด ผู้ประกอบการก็จะไม่กล้าเริ่มธุรกิจใหม่ๆ เพราะไม่รู้ว่าจะผิดกฎหมายหรือเปล่า หรือกรณีเครื่องปรินท์สามมิติรัฐก็กลัวว่าจะเอามาผลิตปืนแต่ในเทางเทคนิกแล้วเครื่องปรินท์เล็กๆ พิมพ์ออกมาได้แต่เอามายิงไม่ได้เพราะถ้ายิงปืนก็จะระเบิด ซึ่งรัฐเองก่อนจะห้ามก็ไม่ได้มีข้อมูลว่ามันเป็นอันตรายจริงหรือเปล่า

ธิปไตรจึงเสนอว่าต้องมีการปรับนิยามในกฎหมาย ให้ท้องถิ่นเป็นคนอนุญาตแทนเป้นการกระจายอำนาจ เหมือนกับกรณี แล้วถ้าต้องกำกับดูแลกันจริงๆ ก็มีวิธีหนึ่งคือกระบะทรายกฎระเบียบ คือให้ทำไปก่อนแล้วถ้าเกิดอันตรายแล้วค่อยห้ามหรือเข้มงวดขึ้น แล้วก้ให้ท้องถิ่นเป็นคนติดตามอุตสาหกรรมพื้นบ้านเพราะท้องถิ่นจะรู้ดีว่าพื้นที่ไหนมีปัญหาอะไร

สาม ตลาดเสรีก็เปิดไปเลยแล้วก็มีวิธีจัดการ ถ้าห่วงเยาวชนกรณีของเมืองนอกเขาก็จะดูว่าเครื่องดื่มตัวไหนมันดึงดูดเยาวชนเช่นเหล้าพร้อมดื่ม เด็กจะไม่ดื่มเหล้าแรงๆ แต่จะเริ่มจากอะไรหวาน การทำโฆษณาก็ต้องตั้งเป้าชัดเจนไปเลยว่าจะทำโฆษณาผ่านช่องทางไหนช่วงเวลาใดไม่ใช่หวานแห ที่จะดึงดูดคน อย่างเรื่องเด็กเชียร์เบียร์ สำหรับคนดื่มเหล้าที่ตั้งใจจะไปกินเหล้าอยู่แล้วมันถูกเลือกอยู่แล้วว่าเป็นใครไม่ใช่เยาวชน ฉะนั้นการจะไปห้ามเด็กเชียร์เบียร์ว่าผิดกฎหมายก็ต้องถามว่าเป็นเหตุจูงใจจริงหรือไม่ให้เด็กเข้ามาดื่มแอลกอฮอล์ กรณีที่จะมีการส่งเสริมก็ยังมีหลายวิธีไม่ใช่แค่เรื่องใบอนุญาตอย่างเดียว กฎหมายหลายเรื่องที่มันซ้ำซ้อนกันอย่างเช่นการทำธุรกิจโรงแรมก็จะต้องขอใบอนุญาตหลายอย่างมากก็รวบเป็นใบเดียวได้หรือไม่  

ธิปไตรเสนออีกว่า ในเมืองนอกเอกชนก็ร่วมกันทำรณรงค์การดื่มอย่างรับผิดชอบเองได้การขายเหล้าให้เยาวชน และการรวมกลุ่มกันเองของรายย่อยแต่ต้องเหนียวแน่นเพราะว่ารายย่อยไม่สามารถสู้กับรายใหญ่ได้ เรื่องกฎหมายก็มีการให้ความรู้กับผู้ประกอบการ เมื่อรอรัฐอย่างเดียวก็เสียเปรียบคิดว่าสามารถทำกลไกคู่ขนานกันไปได้

ธีรวุฒิกล่าวถึงประเด็นระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการผลิตสุราว่า ด้านวัตถุดิบของไทยไม่เป็นรองใคร การทำเหล้าสาโทก็มีพันธุ์ข้าวให้เลือกเยอะ ความรู้ของคนทำสุราก็มีเยอะทุกภูมิภาคมีท้องถิ่นของใครของมัน ก็เหลือเพียงแต่ข้อจำกัดสำคัญก็คือรัฐ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนมีแต่การพยายามควบคุมจนรัฐลืมเรื่องการสนับสนุนไป เขามองว่าเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยเป็นรายได้ของ คือมันก็น่าจะต้องมีการคุมที่พอเหมาะเอากฎหมายที่ใช้บังคับกับเจ้าตลาดมาใช้กับรายย่อยมันก็ไม่เป็นธรรม รายย่อยจะมาขายออนไลน์ก็ถูกห้ามแต่รายใหญ่มีโครงสร้างการทำธุรกิจแข็งแรงกว่าในด้านการขนส่ง

ธิปไตรกล่าวต่อว่าธุรกิจหลายอย่างที่มีธุรกิจรายย่อยมันดีกับเศรษฐกิจเพราะมันกระจายรายได้ เช่นถ้าดูจากวัตถุดิบก็ต้องซื้อจากรายย่อย ในเชิงเศรษฐกิจคงไม่มีใครเถียงว่ามันมีประโยชน์ คือถ้ามองรัฐในมุมที่หวังดีเป็นห่วงประชาชน สิ่งที่ผู้ประกอบการจะทำให้รัฐไว้ใจได้ก็คือสร้างมาตรฐานของตัวเองขึ้นมาเพื่อทำให้รัฐเห็นว่ามันทำได้และเป็นมาตรฐานที่ดีทั้งตัวสินค้าและมาตรฐานการดื่มอย่างไรให้มีความรับผิดชอบ

ธิปไตรยกตัวอย่างของฝรั่งเศสว่าถึงจะเป็นประเทศที่ดื่มกันหนักแต่พอไปดูก็จะเห็นว่าไม่มีโฆษณาเหมือนกันและมีกฎหมายห้ามด้วย แล้วในฝรั่งเศสก็มีธุรกิจ SME เหมือนกันเขาก็มีการตั้งมาตรฐานขึ้นมาเองถ้าไปดูประวัติศาสตร์การผลิตก็จะเห็นว่ารัฐเข้ามาทีหลัง ซึ่งผุ้ประกอบการได้สร้างมาตรฐานเอาไว้ก่อนแล้วมีการตั้งสมาคมขึ้นมามีอะไรบางอย่างขึ้นมาที่จะทำให้รัฐไว้ใจว่านี่แหละคือของดี แล้วถ้าผู้ประกอบการทำขึ้นมาเองรัฐก็ไม่เข้าใจเพราะรัฐไม่ได้เป็นคนประกอบธุรกิจ ซึ่งอะไรที่เป็นของใหม่ๆ แล้วรัฐตามไม่ทันก็สร้างมาตรฐานขึ้นมาเองให้รัฐเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่ดี แล้วเมื่อรัฐที่หวังดีกับเราก็จะเชื่อเอง

สุวิสุทธิ์มองว่าระบบนิเวศของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยเป็นระบบที่ต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือเมื่อคุยกับตัวแทนจากหน่วยงานรัฐต่างๆ แล้วเหมือนจะเข้าใจกัน แต่พอตัวแทนเหล้านี้กลับเข้าไปในระบบก็หายไปในระบบจะเปลี่ยนแปลงก็ยากเหลือเกิน ซึ่งระบบที่ต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายแต่เป็นเรื่องทัศนคติของรัฐเรื่องนโยบายอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่เขาไม่สนับสนุนต่างๆ หรือเรื่องการโฆษณาที่เป็นการต่อต้านแอลกอฮอล์ เช่น โฆษณา จน เครียด กินเหล้า ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ซึ่งมีอะไรหลายอย่างทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ที่รวมกันจนเป็นระบบต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่แค่ต้องเปลี่ยนกฎหมายข้อใดข้อหนึ่ง

สุวิสุทธิ์เสนอว่าก็ต้องทำเรื่องการศึกษา ทางผู้ผลิตก็พยายามเอาเรื่องที่ถูกกฎหมายเล่นงาน เรื่องที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และข้อจำกัดหลายอย่าง อยากให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของระบบ แล้วถ้าไม่เผาทิ้งทั้งอันจะต้องแก้อย่างไร

บนเวทีได้ตั้งคำถามที่ว่าธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตอนนี้มีมูลค่ารวมทั้งหมด 370,000 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นมูลค่าสูงถึง 65 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่ารวมทั้งหมดของเครื่องดื่มทุกประเภท ถ้าปลดล็อกการผลิตและความรู้ทั้งหมดของอุตสาหกรรมนี้จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อีกเท่าไหร่

ธิปไตรมองว่าประโยชน์ทางธุรกิจมันมีศักยภาพ แต่ก็ต้องยอมรับว่าธุรกิจทุกธุรกิจมันมีผลกระทบทางอ้อมกับสังคม ที่ไม่ค่อยตั้งคำถามคือว่ามันมีการประเมินผลจากการนำภาษีไปช่วยเหลือผลกระทบกับผู้เสียประโยชน์แค่ไหน เช่นการเก็บภาษีไปรณรงค์เมาไม่ขับมีหลักฐานชัดเจนหรือไม่ว่าการรณรงค์นี้ลดอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับได้จริงหรือไม่แค่ไหน ซึ่งที่ต้องกังวลคือเก็บภาษีเอาไปใช้แล้วไม่มีการประเมินผลเลยว่าทำได้จริงหรือเปล่าสุดที่เสียประโยชน์ก็ไม่ได้รับการชดเชย เช่น ภาษีที่เก็บจากธุรกิจนี้ไปช่วยเหลือคนพิการก็ไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานจริงซึ่งมีหลักฐานอยู่เยอะ

ธิปไตรยังเชื่ออีกว่าควรต้องให้การศึกษาแต่การปิดหูปิดตาจะไม่เกิดการเรียนรู้แล้วก็เป็นได้แค่การกดปัญหาเอาไว้ แล้วการดื่มเมาแล้วขับเกิดปัญหาก็ให้คคนได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ไม่ดีคืออะไรแล้วก็ให้คนปรับตัวให้ดีขึ้น แล้วก็ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าทำแล้วมันดีจริงๆ

สุวิสุทธิ์คิดว่าในสถานการณ์ตอนนี้ต่อให้ปลดล็อกแล้วตัวเลขเศรษฐกิจก็น่าจะขึ้นไม่มากเนื่องจากถสานการณ์ที่ซับซ้อนเพราะท่องเที่ยวก็ไม่มีแล้วก็การค้าซบเซา ก็บอกไม่ได้จริงๆ ว่าจะสามารถเติบโตขึ้นได้มากแค่ไหน แต่ที่จะได้จากการปลดล็อกนี้มันเป็นเรื่องเสรีภาพของประชาชนและผู้ประกอบการได้สิทธิในการประกอบธุรกิจและประชาชนก็ได้ความรู้มากขึ้นว่าสิ่งที่ตัวเองกินคืออะไรและจะกินมันอย่างไร

ธีรวุฒิ มองว่า เมื่อดูจากตัวเลขทั้งหมดถึงจะใหญ่ขนาดไหน แต่มีผู้ได้ประโยชน์ไม่กี่เจ้าที่เป็นรายใหญ่ ขณะที่รายย่อยก็มีส่วนแบ่งไม่เท่าไหร่ การปลดล็อกบางเรื่องก็อาจจะทำให้รายใหญ่เขาสะดวกขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งเขามองว่าก็ต้องสนับสนุนรายย่อยด้วยเพราะเศรษฐกิจฐานรากก็มีส่วนสำคัญ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท