วงเสวนา ‘ถ้าการเมืองดีฯ’ เห็นตรงกัน สถาบันกษัตริย์วิพากษ์วิจารณ์ได้

เสวนาถ้าการเมืองดี เราจะคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์กันอย่างไร ตุลย์-ธีรภัทร์ ชี้สถาบันพระมหากษัตริย์วิพากษ์วิจารณ์ได้แต่ต้องสุภาพ และตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนพูด ด้านปนัสยาเห็นว่า ข้อเรียกร้องของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมช่วยเปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนปิยบุตรเห็นว่ายังมีหลายเรื่องในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ควรแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ด้านทนายอานนท์โพสต์เฟซบุ๊กโต้ตุลย์กล่าวหาใช้ชีวิตอากงเป็นเครื่องมือ ยันสู้คดีอากงทุกประเด็นแล้ว แต่ศาลลงโทษทั้งที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด

15 ก.ย. 2563 เสวนาถ้าการเมืองดี เราจะคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์กันอย่างไร ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีผู้ร่วมเสวนา คือ ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตแกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ศ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หัวหน้ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ดำเนินรายการโดย ดร.เอกสิทธิ์ หนุนภักดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างเวลา 14.00-16.30 น.

ตุลย์ - การใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่กรทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมหรือศีลธรรมอันดีงาม

ผศ.ดร.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าการเมืองคงไม่มีวันดี ไม่มีใครที่จะถูกใจการเมืองไปทุกเรื่อง แต่ถ้าจะพูดถึงสถาบันกษัตริย์ก็ขอให้พูดกันด้วยความเคารพ หลายคนก็อาจจะรู้สึกว่าเคารพใครกัน ไม่เห็นน่าเคารพเลย ก็คือเคารพประชาชน อำนาจที่สถาบันกษัตริย์มีก็มาจากประชาชนมอบให้ทั้งสิ้น สถาบันกษัตริย์ไม่ได้เริ่มครั้งแรกที่ประเทศไทยแน่นอน หากดูในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าประเทศไหน ชาติไหนก็เคยมีกษัตริย์ เพียงแต่มีคำเรียกไม่เหมือนกัน ชุมชนในอดีตมีการเลือกผู้นำมาจัดสรรทรัพยากร จัดการกับความขัดแย้ง มีการมอบที่ดินให้จากประชาชนเพื่อให้ไม่ต้องมัวทำมาหากินจนบริหารจัดการกิจการต่างๆ ซึ่งผู้นำลักษณะนี้ ในบางช่วงเวลามักถูกพูดถึงให้เกินจริง มีความเป็นเทพบ้าง บุตรพระอาทิตย์บ้าง ชะตากรรมของประมุขแบบนี้ในที่ต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับคุณงามดี หรือความเลวของสถาบันในประเทศนั้นๆ ที่ทำให้เกิดความรุ่งเรือง ล่มสลาย ไปจนถึงถูกสร้างขึ้นมาใหม่ตามวัฏจักรของอารยธรรม

ตุลย์กล่าวว่า การใช้สิทธิ เสรีภาพที่ได้รับประกันในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR นั้น ต้องดูว่ากระทบต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยหรือไม่ หากการแสดงออกของนักศึกษา หรือกลุ่มประชาชนในกรณีสถาบันกษัตริย์ทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยในสังคม ก็เสนอให้มานั่งอภิปรายกันในห้องแบบนี้ดีกว่า

"ผมห้ามท่านไม่ได้ว่าจะพูดหรือห้ามพูดอะไร แต่ในแม้แต่ ICCPR ข้อ 19 ก็บอกว่า ถ้าการพูดใดๆ ตามข้อ 1 หรือ 2 มีผลเสียต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย อันนี้ให้ตราไว้ ผมก็ขอย้ำว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์หรือสิ่งใดก็ตาม สามารถจะดูวิธีการพูด เนื้อหาที่จะพูด ช่องทางการพูด ยกตัวอย่างเรื่องการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค. การพูดถึงในทางลบแล้วทำให้คนที่ยังชื่นชมและศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ไม่พอใจ เกิดความไม่เรียบร้อยในสังคม ผมก็เสนอว่าเรามาคุยในห้องนี้ นี่คือเหตุผลที่ผมตอบรับ" อดีตแกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสีกล่าว

"แต่ถ้าไปขึ้นเวที ไปพูดด้านลบบนเวทีปาวๆ แบบนั้น ทางรัฐบาลก็คงยอมไม่ได้ คงตรากฎหมายไว้เป็นการเฉพาะ อาจารย์ 105 ท่าน (ในแถลงการณ์สนับสนุนการแสดงออกของนักศึกษาเมื่อ 10 ส.ค.) ให้ไปเปิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 34 ฉบับ 2560 หรือท่านที่ชอบรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 28 ก็เขียนในลักษณะเดียวกันว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพไม่ควรละเมิดผู้อื่น ทำให้เกิดปัญหาต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมหรือศีลธรรมอันดีงาม"

"การพูดถึงสถาบันกษัตริย์สามารถทำได้ตามแต่ความเชื่อของท่าน โดยเนื้อหาที่ท่านเชื่ออยู่ แต่ก็ควรจะตรวจสอบ และวิธีการที่จะพูด บริบท หรือกาลเทศะ อย่างในเวทีหรือการอภิปรายกันในที่นี้ ผมเชื่อว่าเราความเป็นสุภาพชนพอที่จะพูดด้วยเหตุด้วยผล แต่ถ้าขึ้นเวทีหรือออกโซเชียลแล้วมีคนไม่พอใจ ท่านก็ต้องยอมรับผลกระทบตรงนั้นเอง" ตุลย์กล่าว

ปนัสยา - 10 ข้อเรียกร้อง คือ ความคาดหวังเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยั่งยืน

ด้านปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนก็ได้เห็นแล้วว่ามีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์มากขึ้น แม้การเมืองจะยังไม่ดี การพูดเรื่องนี้ก็จะมีคนที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นปกติในสังคมประชาธิปไตย การถกเถียงเป็นเรื่องสวยงาม

แกนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมตั้งคำถามว่า ทำไมสถาบันกษัตริย์ควรต้องปฏิรูป เธอเห็นว่าเพราะในปัจจุบันสถาบันกษัตริย์มีอำนาจล้นเกินไป มากจนเราไม่สามารถควบคุมได้โดยการใช้กฎหมาย เพราะมีกฎหมายหลายข้อที่เอื้อให้กษัตริย์มีอำนาจมาก แต่กฎหมายมีอำนาจด้อยกว่า เห็นได้จากข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 10 ส.ค. แนวคิดของข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ก็เพื่อจะลดอำนาจที่ล้นเกิน ให้สถบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกับประชาชน เพราะเราถือว่าสถาบันกษัตริย์ก็เป็นสถาบันหนึ่งในสังคม ที่ควรจะอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

ปนัสยาอธิบายถึงเบื้องหลังข้อเรียกร้องแต่ละข้อว่า ข้อ 1 ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญว่า ผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ เพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร เพราะเห็นว่ากษัตริย์ก็เป็นคน การกระทำบางอย่างอาจจะผิดได้ แต่ในภาวะที่มีอำนาจล้นเกินเราไม่สามารถก้าวล่วงได้ แต่กฎหมายปัจจุบันไม่สามารถใช้กฎหมายเอาผิดได้ กลายเป็นกษัตริย์มีอำนาจสูงสุดทำอะไรก็ไม่ผิด ไม่แฟร์ และเกิดคำถามว่าทำไมมีคนอยู่เหนือกฎหมาย ไม่ต้องมีความรับผิด ถ้าเขาทำผิดกฎหมายก็ควรได้รับบทลงโทษตามที่กฎหมายกำหนดเหมือนกันกับทุกคน แนวคิดของข้อนี้คือไม่มีใครสามารถอยู่เหนือกฎหมายได้

ข้อ 2 การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนใช้เสรีภาพวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน แนวคิด คือ เปิดให้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ การวิพากษ์วิจารณ์ต้องเกิดขึ้นได้ ถ้าสถาบันกษัตริย์ทำอะไรผิด ต้องปรับปรุง ก็เป็นสิทธิของประชาชนที่จะเตือนว่าคุณทำอะไรผิดมา เพราะหน้าที่ของกษัตริย์ คือ เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย เป็นที่เทิดทูนสักการะ ดังนั้น ต้องแนะนำได้ ถ้าทำผิดต้องปรับปรุงตัวเพื่อเป็นที่เทิดทูนของเราต่อไป เพราะถ้าไปทำอะไรที่แปดเปื้อน มีมลทินมัวหมอง ก็จะทำให้สถาบันเสื่อมเกียรติ ซึ่งเราก็คงไม่อยากให้เป็นแบบนั้น

ข้อ 3 และ 4 คือการทำให้ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์สามารถตรวจสอบได้ เหมือนหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องตรวจสอบงบประมาณได้ เพราะสุดท้ายแล้วเงินที่สถาบันมีไม่ใช่แค่ส่วนที่ทำงานหาเงินมา แต่มีส่วนที่ประชาชนช่วยซัพพอร์ตด้วย จึงต้องตรวสอบได้ว่านำไปใช้ทำอะไร มีส่วนไหนผิดปกติไหม มีการทุจริตไหม เพราะสถาบันกษัตริย์ก็คือสถาบันหนึ่งในสังคมที่ต้องตรวจสอบได้เหมือนกัน

“ต้องปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ตอนนี้สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่ดีเลย เนื่องจากมีโควิดด้วย แต่ก็มาจากการบริหารจัดการของรัฐบาลด้วย ที่ทำให้เศรษฐกิจตอนนี้ค่อนข้างฝืด มีหลายๆ คนที่ต้องฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีเงินกินข้าว ไม่มีงานทำ ถ้ายังมีคนที่ต้องตายเพราะไม่มีข้าวกินอยู่ ทำไมเราถึงต้องเอาเงินส่วนที่สามารถช่วยเขาได้ไปซัพสถาบันขนาดนั้นด้วย ในเมื่อสถาบันกษัตริย์ควรเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย ควรเป็นบุคคลที่เป็นประมุขและดูแลประชาชนด้วย เขาควรต้องนำเงินส่วนนี้มาช่วยประชาชนด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว เหมือนอย่างที่คุณหมอตุลย์บอกว่า ถ้าไม่มีประชาชน กษัตริย์ก็ไม่สามารถมีอำนาจได้” ปนัสยากล่าว

ข้อ 5 ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้นให้ยกเลิกเสีย ไม่ใช่เราไม่ให้มีการรักษาความปลอดภัยต่อสถาบันเลย แต่คณะรักษาความปลอดภัยควรสังกัดกองทัพบก แต่หน่วยมหาดเล็กรักษาพระองค์ของตนเองหมายความว่ากษัตริย์มีกองทัพเป็นของตนเอง สามารถสั่งให้ทำอะไรเมื่อไรก็ได้ โดยไม่ต้องผ่านผู้บัญชาการกองทัพบก รัฐมนตรี หรือสภา ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย เพราะเขารับคำสั่งโดยตรงจากวัง จะทำอะไรก็ได้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้บ้าง เป็นเรื่องของการรักษาความปลอดภัยของพระองค์เอง และของประชาชนด้วย ส่วนนี้คือส่วนหลักที่ทำให้เห็นว่ากษัตริย์มีอำนาจล้นเกิน มีกองทัพเป็นของตนเอง เหมือนมีประเทศเป็นของตนเองกลายๆ ข้อเสนอนี้จึงมีเพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบได้ว่าคำสั่งที่ออกมาเป็นไปตามปกติ ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ

ข้อ 6 ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อให้กำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบ เพราะเงินบริจาคตรวจได้ยาก ว่ามีที่มาจากไหน จากใคร และเอาไปทำอะไร อาจมาจากนายทุนที่ยื่นเงินใต้โต๊ะให้สถาบันแล้วเอาไปใช้อย่างไรก็ได้ ต่อเนื่องจากข้อ 3 และ 4 ถ้าเราปรับลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์แล้ว เขาก็อาจจะเปิดรับบริจาค และการเปิดรับบริจาคนั้น สุดท้ายอาจจะนำเงินไปใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ที่เปิดรับก็ได้ มันคือการวางกรอบว่าถ้าเราอยากให้การตรวจสอบเกิดได้จริง ต้องให้ยกเลิกเงินบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อกำกับการเงินของสถาบันกษัตริย์ได้ 

ข้อ 7 การยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ ปนัสยาเห็นว่า ทุกคนมีสิทธิในการพูด แต่ในฐานะประมุขของประเทศ การแสดงความเห็นทางการเมืองจะเป็นการชี้นำไปโดยปริยาย ถ้ามีการแสดงความเห็นด้วยกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะเป็นการบอกคนทั้งประเทศว่าควรไปฝั่งนี้ ด้วยความที่ประมุขต้องดูแลคนทั้งประเทศ และควรป็นกลางให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการชี้นำก็ต้องคงไว้ซึ่งความเป็นกลาง ดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงจริงๆ ไม่เลือกฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เป็นความคาดหวังของเราที่มีต่อประมุขของประเทศ

ข้อ 8 และ 9 การประชาสัมพันธ์หรือการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงาม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมองว่า การให้ข้อมูลด้านเดียวมากเกินไปแทนที่จะเกิดผลดีกลับเกิดผลเสียไปเลย เพราะประชาชนมองออกว่านี่คือข้อมูลด้านเดียว ทั้งที่ความจริงแล้วทุกคนคือมนุษย์ที่มีทั้งด้านดีและไม่ดี การเสนอข้อมูลที่เป็นกลาง ไม่ได้พยายามโฆษณาชวนเชื่อน่าจะเป็นสิ่งดีกว่าสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์

และข้อ 10 คือ ไม่ต้องการให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหาร

“ทั้งหมดทั้งมวลที่เวทีธรรมศาสตร์กล้าพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในวันนั้น ทั้งที่สถานการณ์ก่อนหน้านี้เราไม่กล้าพูดถึงเรื่องสถาบันกัน เพราะเรากลัว เรากลัวว่าถ้าเราพูดไม่ดีไป เราวิพากษ์วิจารณ์ไป การวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศนี้มันถือเป็นด้านลบเสียแล้ว ทั้งที่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำได้ เพราะสุดท้ายแล้วคนทุกคนมีข้อดีข้อเสีย มีสิ่งที่ทำผิดทำถูก มีสิ่งที่ทำพลาดบ้าง ควรเป็นเรื่องปกติที่คนทุกคนควรมีสิทธิวิพากษ์สถาบันอื่น หรือคนกันเองสามารถวิจารณ์กันเองได้ ซึ่งในสังคมไทย คำว่าวิจารณ์กลายเป็นคำด้านลบไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันทำให้คนกลัว ไม่กล้าพูด กลัวโดน 112 กลัวโดนคนอื่นมาว่ามาทำร้าย วันนั้นเป็นก้าวกระโดดที่ใหญ่มาก แต่เราแลก เหมือนเป็นการพนันกันว่า ถ้าพูดไปคนจะเห็นด้วยจริงไหม เราประเมินมาว่าคนน่าจะเห็นด้วย เพราะเราเห็นจากม็อบหลายๆ ที่ มีการชูป้ายเกี่ยวกับเรื่องสถาบัน แล้วไม่เคยเห็นต่ำกว่า 5 ป้ายในแต่ละม็อบ เราก็เลยมองว่า เรื่องที่มันเคยอยู่ในโลกออนไลน์ เมื่อมันออกมาข้างนอกแล้ว ถ้าคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นแกนนำไม่ยอมออกมาพูดสักทีมันจะทำให้มวลชนได้รับอันตรายเองหรือเปล่า เราก็มองถึงเรื่องนี้ด้วยว่า เหมือนป็นการโดดเดี่ยวมวลชน เราก็เลยลองแลกกันดู ก็เลยพูดในสิ่งที่เราคิดต่อสถาบันกษัตริย์ออกไปในวันนั้น ซึ่งต่อมาเราก็สามารถมีเวทีเสวนาเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้แล้ว ณ ห้องนี้” แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมกล่าว

ปนัสยาคิดว่า นี่เป็นพัฒนาการในทางที่ดีอย่างรวดเร็ว และคาดหวังว่าจะเกิดการพูดคุยในเวทีแบบนี้อีกเรื่อยๆ เพื่อจะได้ถกเถียงกันว่าการปฏิรูปสถาบันต้องเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าต้องเกิดขึ้น ควรเกิดขึ้นอย่างไร

ปนัสยายังยืนยันอีกว่า ข้อเสนอ 10 ข้อนี้ เธอไม่เคยพูดว่าจะต้องทำตาม แต่พยายามให้เป็นตัวตั้งต้นว่า เราคาดหวังสิ่งนี้ ถ้ามีตรงไหนที่ควรแก้ ก็ต้องแก้ได้ เพื่อให้การปฏิรูปสถาบันเป็นไปอย่างเหมาะสมที่สุด มีเสถียรภาพ และยั่งยืนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นี่คือการส่งความคาดหวังไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า โปรดฟังเสียงประชาชนว่าเราคิดอะไร เราคาดหวังให้สถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงไปในแง่ไหนบ้าง เราคาดหวังให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปรับตัวได้ทันยุคสมัยในโลกปัจจุบัน ตามวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เราคาดหวังว่าอาจได้รับการตอบรับจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าได้รับการตอบรับ ในวันนั้นเราคงได้เห็นว่ามีการพัฒนาบ้างแล้ว มีจุดที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงได้บ้างแล้ว ในการพูดวันนี้ อยากย้ำว่ามันคือความคาดหวังอยากให้สถาบันกษัตริย์ปฏิรูป เพื่ออยู่ได้อย่างยั่งยืนในสังคมปัจจุบัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขกับสถาบันราษฎร

ปิยบุตร - สถาบันต่างๆ ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ประชาธิปไตย

รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวว่าถ้าอนุมานว่าการเมืองที่ดีคือการเมืองในสังคมประชาธิปไตยที่ต้องผลักดันเสรีภาพในการคิด การแสดงออก ทำให้แต่ละคนอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งในท้ายที่สุดจะเกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดก่อนที่จะเกิดฉันทามติหรือมติมหาชน ซึ่งมตินั้นวันหน้าก็อาจเปลี่ยนแปลงไปเพราะเรามีเสรีภาพในการรณรงค์ทางความคิด โดยกระบวนการทั้งหมดอยู่บนการถกเถียง แลกเปลี่ยน ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง ดังนั้น ถ้าการเมืองดี ก็สามารถพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดว่าการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์จะเป็นแบบไหน อย่างไร รวมถึงการพูดถึงรูปแบบการปกครองแบบอื่นก็ได้อย่างที่คุยกันอย่างตรงไปตรงมาในอังกฤษหรือสเปนที่ไปถึงขึ้นตั้งพรรคการเมืองที่รณรงค์เรื่องนี้ ก็ต้องทิ้งประเด็นนี้เอาไว้ให้สังคมไทยคิดและตัดสินใจร่วมกันว่าเรามีวุฒิภาวะเพียงพอจะไปถึงจุดนั้นหรือยัง

ก่อนที่จะลงรายละเอียด ในเรื่องการปฏิรูป แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ หรือพูดถึงข้อเสนอ 10 ข้อของนักศึกษา เลขาธิการคณะก้าวหน้าเห็นว่า จำเป็นต้องตั้งหลักว่าเราอยากปกครองกันในระบอบอะไร ถ้าเอาระบอบประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง ก็หมายความว่าสถาบันต่างๆ ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ประชาธิปไตย หากยึดหลักอำนาจสูงสุดต้องเป็นของทุกคนในนาม ‘ประชาชน’ องค์กรที่มาใช้อำนาจรัฐแทนประชาชนก็จะต้องเชื่อมโยงไปที่ประชาชน รับผิดชอบกับการใช้อำนาจนั้น มีหลักการแบ่งแยกอำนาจไม่ให้ใครผูกขาด และปัจเจกชนเป็นผู้ทรงสิทธิ เสรีภาพ หากรัฐจะจำกัดสิทธิ ก็ต้องตรากฎหมายเป็นครั้งๆ ไม่ใช่บอกว่าใครอยากใช้เสรีภาพก็ต้องไปขอทุกครั้งไป 

ปิยบุตรกล่าวว่า การแบ่งแดนเรื่องสาธารณะกับเรื่องเอกชนออกจากกันเป็นเรื่องสำคัญมาก หากรัฐเกิดขึ้นแล้วจะมีอำนาจ ก็ต้องมีคนเข้าไปใช้อำนาจนั้น ซึ่งคนก็มีสองหมวกคือเป็นบุคคลทั่วไปหมวกหนึ่ง และอีกหมวกคือผู้ใช้อำนาจรัฐ พระมหากกษัตริย์เองก็มีสองสถานะเช่นนั้น คือเป็นปัจเจก และเป็นกษัตริย์ ถ้าหากปนกันไปหมด รัฐก็จะย้อนกลับไปเป็นรัฐที่เป็นของคนๆ เดียว ไม่มีการแยกว่าภาษีประชาชนถูกใช้ไปกับเรื่องของตัวเองหรือรัฐกันแน่ โดยยกตัวอย่างว่า ประมุขรัฐของไทยนั้นเป็นกษัตริย์ การได้มาซึ่งตำแหน่งก็ต้องมาตามสายโลหิตตามราชสันตติวงศ์ แต่เมื่อกษัตริย์ก็เป็นประมุขรัฐ จะทำอย่างไรให้การสืบทอดทางสายโลหิตที่เป็นเรื่องส่วนบุคคล ส่วนครอบครัวแต่เกี่ยวพันกับเรื่องของรัฐมาสอดคล้องกับระบบ 

ปิยบุตรกล่าวต่อไปว่า ระบบความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยระบุไว้ว่า การใช้อำนาจที่ชอบธรรมต้องมาจากอำนาจประชาชน เมื่อใช้อำนาจแล้วก็ต้องรับผิดชอบ ต้องยอรับว่าเราไม่ต้องการให้กษัตริย์มาจากการเลือกตั้ง ทรงรับผิดชอบการกระทำต่างๆ ถูกดำเนินคดีหรือฟ้องร้องได้ ถ้าหากยืนยันเช่นนั้นก็ต้องทำให้กษัตริย์ไม่มีพระราขอำนาจโดยแท้ เพราะถ้ามีอำนาจในทางสาธารณะก็ต้องกลับไปถามว่ากษัตริย์มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ใช้อำนาจแล้วจะถูกฟ้อง ถูกกล่าวโทษได้หรือไม่ ถ้าคนไทยทั้งผองบอกว่าไม่ต้องการให้กษัตริย์มาจากการเลือกตั้ง ให้สืบทอดสายโลหิตในราชวงศ์นี้ต่อไป ไม่อยากให้ถูกดำเนินคดี ก็เหลือทางเดียวคือไม่ให้กษัตริย์ใช้พระราชอำนาจทางการเมืองในทางสาธารณะด้วยพระองค์เอง ก็คือหลัก king can do no wrong. King cannot be wrong, because king can do nothing. ต้องถามคนไทยว่าเราอยากปกครองกันด้วยระบอบอะไร แล้วอธิบาย ออกแบบสถาบันต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักนี้ 

เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึง 10 ข้อเสนอของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ให้แก้ไขมาตรา 6 ว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะมีบทบัญญัติที่คล้ายกันอยู่ว่า กษัตริย์อยู่ในฐานะประมุขรัฐ มีเอกสิทธิ์และการคุ้มกัน (Inviolable) คือไม่ถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีใดๆ เลย ซึ่งหากตีความเอาแค่นี้ก็จะสงสัยว่าทำไมคนอื่นถูกดำเนินคดีได้ เป็นอภิสิทธิ์ชนหรือไม่ แต่ถ้าจะอ่านก็ต้องอ่านในฐานะผลลัพธ์บนเงื่อนไขข้างต้นว่ากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจโดยแท้ แต่รัฐมนตรีเป็นคนรับสนองและเป็นคนรับผิดชอบ ในกรณีไทย เรามีถ้อยคำเพิ่มว่ากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ครึ่งแรกเป็นมรดกจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ที่ทั้งในตะวันตกและตะวันออก จะพยายามยึดโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือศาสนา พอรัฐสมัยใหม่ที่ยังอยากให้มีกษัตริย์ก็จะตัดส่วนนี้ออก เท่าที่สำรวจ ในยุโรปก็เหลือแค่ 2 ประเทศที่ยังเหลือถ้อยความนั้นอยู่คือเดนมาร์กและนอร์เวย์ แต่ก็ไม่เคยบังคับผู้คนว่าต้องรักกษัตริย์เหมือนกันหมด แต่ของไทย เมื่อนำมาใช้ตั้งแต่ 10 ธ.ค. 2475 แรกๆ ไม่มีใครสงสัย แต่หลังๆ มีการแปลความว่า ใครจะพูดถึงในทางลบหรือวิจารณ์ไม่ได้เลย จำเป็นต้องมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาขยายความเพื่อให้บังเกิดผลในทางสักการะได้จริง

ธีรภัทร์ - พระมหากษัตริย์ในอดีตก็เปิดโอกาสให้คนวิพากษ์วิจารณ์

ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ กล่าวว่า สิ่งที่คนสนใจหรือเห็นว่าเป็นปัญหาก็คือกรณี มาตรา112 ที่ทำให้ประชาชนกลัวความผิดดังกล่าว ปัญหาอยู่ที่ปฏิบัติ เช่น ผู้ร้องเรียน ผู้กล่าวโทษ เจ้าหน้าที่ บุคลากรทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ ไปวินิจฉัยเอาเอง หรือใช้ใช้ดุลพินิจเกินขอบเขต ทำให้ปัญหาบานปลาย จนทำให้คนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่างๆ สู้ไม่พูดถึง เก็บไว้ในใจ บางคนอาจจะรู้สึกต่อต้านเงียบๆ หรือละเลยไป ซึ่งตนเห็นว่าเป็นความทุกข์ที่มีสาเหตุ ถ้าไม่หาทางแก้ไขก็จะเป็นอันตรายต่อสังคมไทย

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เห็นว่า พอสิ่งที่เกิดขึ้นมีความคลุมเครือ ก็จะมีพวกประจบสอพลอ พวกโหนเจ้า เอาประโยชน์เข้าตัว ใส่ร้ายกล่าวหา จนกระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการมาศึกษาเรื่องนี้ และเสนอทางออกเกี่ยวกับมาตรา 112 แต่เสนอไปแล้วก็ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ตนจึงคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมหน้าไหว้หลังหลอก ไม่ค่อยจริงใจ เหมือนที่มีบันทึกสมัยอยุธยาว่าสังคมไทยเป็นสังคมเอาตัวรอด หน้าไหว้หลังหลอก ไม่ได้มีความจริงใจต่อกัน สิ่งนี้จะเป็นวัฒนธรรมหรือเป็นธรรมชาติของสังคมไทยหรือเปล่า ซึ่งตนคิดว่าไม่น่าจะดี 

"ถ้าเราจะอยู่ในสังคมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมคิดว่าจะต้องต้องหาสาเหตุของปัญหา และจะต้องแก้อย่างตรงจุด ตรงประเด็น” คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองกล่าว

ธีรภัทร์ตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนสงสัยว่าสามารถแสดงความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับความเห็นของพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่ คำตอบอาจต้องย้อนไปดูประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่าเช่น สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีน้ำพระทัยเป็นนักประชาธิปไตยมากทีเดียว เพราะทรงลงมาเล่นกับสื่อมวลชน ทรงเขียนคอลัมน์ วันหนึ่งท่านเขียนคอลัมน์สนับสนุนให้ประเทศไทยมีเรือดำน้ำ ปรากฏว่ามีคอลัมนิสต์ท่านหนึ่งไม่เห็นด้วย และเขียนตอบโต้กับรัชกาลที่ 6 ว่าประเทศไทยยังไม่ควรมีเรือดำน้ำ เพราะประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัชกาลที่ 6 อ่านบทความก็โกรธว่าทำไมมีคนมาคัดค้านความความเห็นของฉัน และทราบภายหลังว่าผู้เขียนนั้นคือพระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล) เคยเป็นนายทหารเรือระดับสูง วันหนึ่งท่านได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระยาวินัยสุนทร ตอนนั้นก็มีคำกราบบังคมทูลว่าพระยาวินัยสุนทรเคยเขียนโจมตีพระองค์ ทำไมตอนนี้จึงยอมมอบเครื่องราชฯ รัชกาลที่ 6 ตอบว่า การเขียนตอบโต้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาเช่นนี้เป็นเรื่องดี เราก็รักชาติ ท่านก็รักชาติ ถ้าท่านไม่เห็นด้วยกับการซื้อเรือดำน้ำก็ไม่เป็นไร การเขียนตอบโต้กันเหมือนเกมกีฬาเทนนิส เราตีแรงไป เขาก็ตีแรงกลับมา จึงจะสนุก

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองกล่าวว่า ตัวอย่างของรัชกาลที่ 6 แสดงให้เห็นว่าในอดีตที่ผ่านมาพระเจ้าแผ่นดินก็ยอมรับการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับพระองค์ท่าน ปัจจุบันถ้าใครติดตามวันที่ 4 ธ.ค. สมัยพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยังมีพระชนมาชีพอยู่ หลายคนอยากกลับบ้านไปฟังกระแสพระราชดำรัส เมื่อปี 2548 รัชกาล 9 ทรงมีพระราชกระแสว่า the king can do no wrong เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่จะให้ใครล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์มิได้ แต่พระองค์ทรงเห็นว่า the king can do wrong เพราะพระมหากษัตริย์ทำผิดได้ ละเมิดได้ การละเมิดนั้นก็อาจจะหมายถึงการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ เพราะในสายตาประชาชนคนธรรมดา พระมหากษัตริย์ก็เหมือนปุถุชนธรรมดา มีโอกาสจะทำผิดได้ แต่อย่าทำผิดบ่อยครั้ง อย่าทำผิดพลาดมากเกินไป จะต้องมีสติ มีความรอบคอบ ในสายตาคนทั่วไปก็จะจับจ้องพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว พระมหากษัตริย์ก็ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะถ้าไม่ระวังก็จะทำสิ่งผิดพลาด เมื่อทำสิ่งผิดพลาดก็ต้องเปิดใจกว้างรับคำวิจารณ์ โดยไม่ถือโทษโกรธเคือง หรือถือสา และไม่จำเป็นต้องแก้ตัวมากมาย

“ทฤษฎีก็มีผู้นำทั้งหลายนำไปใช้ปฏิบัติ ฝึกให้มีใจกว้าง ลดอัตตา เป็นนักประชาธิปไตย รับฟังความเห็นของผู้อื่น มีใจคอหนักแน่น ต่างๆ เหล่านี้เป็นคุณธรรมของผู้ปกครอง เพราะนักปราชญ์สมัยโบราณ เช่น เพลโต บอกว่าผู้นำจะต้องมีปรีชาญาณเป็นคุณธรรมข้อแรกของผู้ปกครอง อริสโตเติลมาเติมว่าจะต้องมีความรอบคอบ ผมก็เอาสองคำ คือ ปรีชาญาณกับความรอบคอบ เวลาผมทำงานจะนึกถึงสองคำนี้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ท่านทรงพูดไว้ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ทำผิดพลาดได้ และควรจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ผมคิดว่าเป็นแนวที่เราสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ นำไปแก้ไขปัญหาได้” ธีรภัทร์กล่าว

ธีรภัทร์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรัชกาลที่10 ทรงมีพระบรมราชโองการตอนขึ้นครองราชย์ว่า เราจะรักษา สืบสาน ต่อยอดจากสมเด็จพระราชบิดา เมื่อนายกรัฐมนตรีพูดว่า พระองค์ไม่ประสงค์จะใช้มาตรา 112 เล่นงานคน ก็เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เป็นแนวทางที่ดี เป็นแนวทางที่เราพูดคุยกันได้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการพูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า  ข้อเรียก10 ข้อ ถือเป็นยุทธวิธี ส่วนตัวเห็นว่าคุยได้ แต่ต้องคุยในเวทีที่ถูกต้อง เพราะมีหลายเรื่องที่ยังจะต้องทำความเข้าใจอยู่ค่อนข้างมาก เช่น ข้อ 10 ต้องไม่ลงพระปรมาภิไธยในการรัฐประหาร ตนมีข้อเสนอมากกว่าที่รุ้งเสนอ ถ้าเราไปค้นประกาศคณะปฏิวัติ หรือคำสั่งคณะปฏิวัติ เขาไม่มีพระบรมราชโองการที่จะต้องทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง จะมีก็แค่ผู้รักษาพระนครสมัยจอมพลสฤษฎิ์

“ประเด็นที่ว่าจะต้องไม่ลงพระปรมาภิไธยผมว่าเป็นประเด็นรอง ประเด็นหลักก็คือพระมหากษัตริย์ไม่ควรเห็นด้วยกับการรัฐประหาร พูดง่ายๆ ว่าถ้ามีการรัฐประหารเมื่อไหร่ พระมหากษัตริย์ต้องทรงคัดค้าน ผมเสนอแบบนั้นด้วยซ้ำไป” คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองกล่าว

ธีรภัทร์ ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ในอดีตที่พระมหากษัตริย์เคยคัดค้านการรัฐประหารอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งไม่เป็นที่เปิดเผย เพราะนายทหารที่ทำการยึดอำนาจตอนนั้นส่งรถถังออกมาแล้ว มี พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นประธาน ผู้บัญชาการทหารบก แต่เมื่อหันซ้ายหันขวาไม่เจอ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ก็ให้ทหารไปตามมา แต่ พล.อ.ยศ กล่าวว่า ท่านสั่งมาแล้วไม่ใช่หรือ ว่าอย่าทำ เมื่อ พล.อ.เสริม ทราบ รถถังก็ต้องกลับกรมหมด เรื่องนี้ไม่เป็นข่าว อีกครั้งที่ชัดเจน คือ กรณีกบฏยังเติร์ก วันที่ 1-3 เม.ย. 2524 ทรงเสด็จไปนครราชสีมาท่ามกลางความพยายามที่จะรัฐประหาร ทำให้ความพยายามรัฐประหารล้มเหลว

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ทำนายว่า ในอนาคตการรัฐประหารเกิดขึ้นยากมาก เพราะเชื่อว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงเห็นด้วย ประการที่สอง คือ กรมทหารราบที่ 1 และกรมทหารราบที่ 11 ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นไม่ต้องวิตกเรื่องการรัฐประหาร เพราะลองคิดดูว่าถ้าเกิดการรัฐประหารขึ้นมาคนจะวิพากษ์วิจารณ์ว่าอย่างไร จึงไม่เชื่อว่าการรัฐประหารจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ตามที่มีข่าวลือ

ตุลย์ แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า การเพิ่มโทษของมาตรา 112 เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2519 ที่มีกระแสเรื่องนักศึกษาหมิ่นสถาบัน แต่น่าสังเกตว่า ประยุทธ์บอกว่าในหลวงรับสั่งให้ไม่ให้ใช้มาตรา 112 มีคำถามทำได้ด้วยหรือ เพราะมาตรา 112 เป็นกฎหมายอาญา ท่านยกเลิกไม่ได้ ท่านสั่งแก้ไม่ได้ แต่ท่านเป็นผู้ถูกละเมิดกลับบอกว่าไม่ให้ใช้มาตรานี้ เลิกยุ่งไปเลย เปรียบเสมือนเป็นการยกเลิกโดยปริยาย ผมคิดว่าตลอดรัชกาลนี้ก็คงไม่มี

ตุลย์ - ก่อนท่านจะวิพากษ์วิจารณ์ใคร ได้โปรดตรวจสอบข้อมูลที่ท่านได้รับมาก่อน

อดีตแกนนำคนเสื้อหลากสีชี้ว่า สมัยรัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสองอย่างที่เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ คือ หนึ่ง ประกาศสงคราม และพระราชทานอภัยโทษตาย นอกจากนั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องขอ เช่นในวาระวันเฉลิมพระชนมพรรษา ก็ให้เป็นครั้งคราว

ตุลย์ กล่าวถึงคดีอากงส่ง sms ว่า ทนายอานนท์เป็นทนายความในคดีนี้ ตนตั้งคำถามว่าทำไมทนายอานนท์ไม่สู้คดีนี้ว่าอากงไม่ได้เป็นคนส่งข้อความ เขาพยายามจะสู้แต่ว่าข้อความที่ส่งไปไม่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผศ.นพ.ตุลย์อ้างว่า ได้รับคำสั่งจากครูของตนเองซึ่งใกล้ชิดในวังว่า ให้ไปดูว่าอากงมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไร เพื่อเตรียมพระราชทานอภัยโทษ แต่ไม่มีใครขอ ทนายอานนท์ไม่เคยขอเอาอากงออกมารักษานอกโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทั้งๆ ที่มีโอกาส การพระราชทานอภัยโทษเกิดขึ้นไม่ทัน เพราะอากงเสียชีวิตไปก่อน 

“ผมเคยไปพูดที่ FCCT เลยว่า ทำไม่มีใครสืบเลยว่า ใครเป็คนเอาโทรศัพท์อากงไปส่งแน่ เพราะอากงใช้ทรู แต่คนที่ส่งถึงสมเกียรติเป็นดีแทค นี่คือความพยายามจะทำอะไรก็ไม่รู้ เอาชีวิตของคนแก่คนหนึ่งมา แล้วศพที่สองที่ควรจะเกิดแต่ไม่เกิด ผมนี่แหละครับที่ร่วมเวทีเสวนากัน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์โคทม อารียา จัดที่จุฬาฯ มีคนท้าทาย วันนั้นพูดเรื่องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของรัชกาลที่ 9 แล้วสมศักดิ์มาโพสต์วันก่อนว่าผมโกหก ผมไม่ได้โกหก เพราะสมศักดิ์เข้าใจผิดมาตลอด มีคนท้าทายว่าสุรชัย แซ่ด่าน ขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ติดอยู่ตรงไหน ก็ผมคนนี้แหละครับที่ไปดูจนกระทั่งเอาหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วสุรชัย แซ่ด่าน จึงออกจากคุกได้ ผมให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม แต่ทำไมถึงไม่ได้ออก เพราะอธิบดีกรมราชทัณฑ์อ้างว่า สุรชัย แซ่ด่าน ติดอีกคดี คือ คดีชุมนุมที่พัทยาโทษสองเดือน ไม่ยอมส่งสื่อพระราชทานอภัยโทษขึ้นมา 112 ทั้งหมด 4 คดี แต่พอส่งถึงปั๊บ ไม่เกินเดือนหนึ่ง สุรชัย แซ่ด่าน ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ทำไมผมทำครับ ทุกคนบอกว่าผมเป็นคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอบอกเลยครับ ท่านไม่ทรงโปรดให้มีใครติดคุกด้วยมาตรา 112 แต่ท่านไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะไปยับยั้งกระบวนการฟ้องร้อง” ตุลย์กล่าว

อดีตแกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี เล่าต่ออีกว่า ทุกครั้งที่มีชาวต่างชาติถูกลงโทษโดยมาตรา 112 แล้วขอพระราชทานอภัยโทษ เวลาจะขึ้นเครื่องบินกลับ มีคนจากสำนักพระราชวังตามไปส่งทุกครั้ง เพื่อแสดงความมีไมตรีต่อกัน เพราะฉะนั้น วันที่ตนปะทะกับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรื่องทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจอะไรเลยในสำนักงานทรัพย์สิน ประธานบอร์ด คือ กระทรวงการคลัง ส่วนกรรมการเป็นฝ่ายการเมือง ผู้อำนวยที่ตั้งก็มาจากการขอความเห็นชอบจากในหลวง หลังมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจเมื่อปี 2475 เงินตรงนี้ก็ไม่ใช่เงินส่วนพระองค์อีกต่อไป ส่วนรัชกาลที่ 10 ต้องขอเวลาศึกษา

ตุลย์ กล่าวว่า ตนติดตามฟังการอภิปราย การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ของคนรุ่นต่างๆ อยากให้ตรวจสอบข้อมูลก่อน เพราะหลายครั้งที่คนรับฟังต่อกันมาแล้วเกิดอคติในการรับข้อมูลเพื่อยืนยันความเชื่อของตนเอง หรือเกิดฟิลเตอร์ขึ้นว่าข้อมูลนี้ตรงกับที่รับรู้มาก่อน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงปรากฏประจักษ์แก่ประชาชน

“ก่อนท่านจะวิพากษ์วิจารณ์ใคร ได้โปรดตรวจสอบข้อมูลที่ท่านได้รับมาก่อนว่ามันจริงหรือเปล่า” ตุลย์กล่าว

อดีตแกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสีตั้งคำถามอีกว่า ทำไมถึงยังมีคนทูลเกล้าฯ ถวายเงินส่วนตัวให้พระองค์ท่านนำไปเสด็จพระราชกุศล เพราะเขามีความศรัทธามากกว่ารัฐบาล ขอย้ำว่า 112 ยังไม่ยกเลิก ถ้าจะพูดอะไรกันต่อไปก็ขอให้ตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อน เพราะในคนไทย 60 กว่าล้านคน ก็ยังแบ่งได้เป็นสามฝ่าย คือ ฝ่ายที่ยังจงรักภักดี ชื่นชม ศรัทธา ฝ่ายกลางๆ เปลี่ยนแปลงก็ได้ และฝ่ายที่อยากให้ยกเลิก เราถกเถียงกันได้ แต่ถ้าปราศรัยบิ๊กเบิ้มแบบพเนกวิน ตนคิดว่าคนไทยคงรับไม่ได้ แต่ถ้าเวทีแบบนี้ตนยินดีจะรับฟัง และเจรจากันอย่างผู้ที่เจริญแล้วด้วยข้อมูล

ธีรภัทร์ - การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ทำได้ แต่ต้องสุภาพ

ด้านธีรภัทร์ เห็นว่า ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลเป็นหลัก ควรไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ได้ เพราะท่านแต่งตั้งคนไปทำอะไรต่างๆ ใช้ไม่ได้เลย ไม่มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล อย่าเพิ่งไปเปิดศึกหลายด้าน สิ่งนี้ควรต้องทำให้ตรงประเด็นว่าปัญหาอยู่ที่รัฐบาล ตนเสนอให้มีรัฐบาลแห่งชาติ นักศึกษาก็ไม่เห็นด้วย แต่มองความเป็นไปได้ว่าถ้าไล่ประยุทธ์ไปแล้ว ต้องมีคนกลางเข้ามา เพราะถ้าได้คนกลางที่เป็นที่ยอมรับจะช่วยจัดการปัญหาขณะนี้ และนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นหัวใจหลัก

นอกจากนี้ ธีรภัทร์ยังเสนอให้นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมถึงอภัยโทษต่อผู้ลี้ภัยทางการเมือง เพราะทุกวันนี้ไปด่ากันอยู่ต่างประเทศ ถ้าไม่อยากให้ด่าก็ต้องอภัยโทษ ต้องมีคำสั่งคล้ายคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ที่เคยใช้แก้ไขกรณีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งร้ายแรงกว่าพวกที่ด่า เพราะ พคท. มีอาวุธ มีกองทัพประชาชน ออกคำสั่งให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่เอาผิด 

“ถ้าเรามัวแต่อาฆาตแค้นกัน เคียดแค้นกัน จะเอาให้ตาย ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไร การเมืองต้องเล่นอย่างสันติ มีคุณธรรม” ธีรภัทร์กล่าว

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองสรุปว่า คิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ทำได้ แต่ต้องสุภาพ มีสติ อย่าใช้อารมณ์ อย่าใช้ข้อมูลที่อาจจะผิดพลาดได้ เพราะหลายเรื่องเราไม่มีข้อเท็จจริง

ปิยบุตร - จำเป็นต้องมีพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์

ส่วนปิยบุตร เห็นว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ควรแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 16 กรณีพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร จะตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ หรือ พ.ร.บ.ราชการส่วนพระองค์ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ส่วนราชการในพระองค์ไม่มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่กลับให้รัฐบาลมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้ และมีการโอนส่วนราชการหน่วยงานต่างๆ ที่ใช้อำนาจในแดนสาธารณะมาไว้กับราชการส่วนพระองค์ หรือ พ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่ทำให้เกิดความคลุมเครือในเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับทรัพย์สินส่วนพระองค์ รวมถึงปัญหาเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ผู้ร่วมเสวนาในวันนี้หลายคนบอกว่าพระมหากษัตริย์ถึงสองรัชกาล ไม่ประสงค์ใช้มาตรานี้แล้ว ดังนั้น ก็ควรที่จะต้องยกเลิกไป เพราะอย่างไรก็ตามยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทในระบบกฎหมายระบบปกติอยู่ ทั้งนี้ ตนเห็นไปไกลกว่านั้นคือว่า การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ศาล ทูต หรือแม้แต่คนคนทั่วไป ก็ไม่ควรมีโทษทางอาญา เพราะในโลกอารยะนั้น การใช้เสรีภาพในการพูด เขียน พิมพ์ ไม่ควรที่จะต้องนำมาซึ่งความผิดอาญาถึงขั้นต้องเข้าคุก คนที่ถูกละเมิดจะร้องเรื่องสินไหมทดแทนก็ว่ากันไป แต่ไม่ควรเอาเข้าคุกเพราะการด่า

"อีกฉบับที่เปลี่ยนจากรัชสมัยที่แล้วอย่างชัดเจนคือ ส่วนราชการในพระองค์ ที่กำหนดไว้ว่าไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐ คำถามคือว่าแล้วเป็นหน่วยงานอะไร ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ไม่มีใครรู้ แต่กฎหมายบังคับให้รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน และที่แน่ชัดคือว่าเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ แต่ที่ผ่านมาก็ปรากฏว่ามีการโอนหน่วยราชการอื่นๆ ที่ใช้อำนาจสาธารณะเข้าไปด้วย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ยังมีความคลุมเครือ" ปิยบุตร กล่าว

เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมา หลายคนอาจไม่สบายใจกรณีการปราศรัยของนักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อ 10 ส.ค. แต่ตนอยากให้พิจารณาแยกแยะเรื่องท่าทีกับเรื่องเนื้อหา ซึ่งตนไม่เห็นว่าเนื้อหานั้นเป็นการยุยงปลุกปั่นแต่อย่างใด จริงอยู่ ท่าทีวันนั้นอาจมีเรื่องแสง สี เสียง การแสดงออกมาอาจทำให้หลายคนไม่สบายใจ ซี่งก็ต้องแยกแยะจากเนื้อหาที่ต้องการสื่อสาร และอยากจะฝากว่า การปฏิรูปเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นจะเกิดขึ้นได้ ปรบมือข้างเดียวไม่มีทางดัง จำเป็นต้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ปัญญาชนฝ่ายรอยัลลิสต์ นักวิชาการ ข้าราชการ รวมถึงคนอื่นๆ เห็นด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องโน้มน้าวให้พวกเขายินยอมปฏิรูปไปด้วยกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยกันในลักษณะนี้ ขอบคุณทนายอานนท์ คุณเพนกวิน คุณรุ้ง และนักศึกษาที่กล้าหาญเป็นผู้นำเสนอ เรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้การพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาเป็นเรื่องปกติอีกครั้ง และต้องขอบคุณฝ่ายรอยัลลิสต์ที่มีเหตุมีผลหลายคน รวมทั้งวิทยากรร่วมเสวนาในวันนี้อย่าง นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ และ ศ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ที่พร้อมพูดคุยเรื่องนี้ด้วยกันเพื่อที่ต่อไป เราจะได้แสวงหาฉันทามติให้กับสังคมไทยในเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

อานนท์ - อยากให้หมอตุลย์ไปคัดสำนวนคดีมาอ่าน ก่อนพูดอะไรต่อสาธารณะ

ด้านอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ถูกตุลย์พาดพิง โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงข้อเท็จจริงคดีอากงว่า ได้ต่อสู้คดีในทุกประเด็นแล้วแต่ศาลกลับพิพากษาว่า “แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนส่งข้อความ แต่เป็นปกติที่คนทำผิดต้องปกปิดการกระทำของตนเอง...” 

นอกจากนี้ ทีมทนายความยังทำหนังสือให้ส่งตัวออกมารักษาหลายครั้ง รวมทั้งยื่นเป็นเหตุผลประกอบการประกันตัวทุกครั้งด้วย แต่ศาลไม่อนุญาต และภายหลังเกิดกระแสต้านในสังคมหลังศาลพิพากษาจำคุกอากง 20 ปี จนมีสัญญาณว่าจะให้อภัยโทษอากง แต่ห้ามจำเลยอุทธรณ์ ต้องทำให้คดีถึงที่สุด จึงตัดสินใจไม่อุทธรณ์ต่อ ทั้งที่อากงเองยังยืนยันจนวาระสุดท้ายว่าไม่ได้ทำผิด และเสียชีวิตก่อนยื่นอภัยโทษไม่กี่วัน

 

ฟังหมอตุลพูดเรื่องคดีอากงว่า ทนายอยากใช้คดีเคลื่อนไหวเลยทำให้อากงติดคุก ก็ได้แต่สมเพชคนประเภทนี้...

Posted by อานนท์ นำภา on Tuesday, 15 September 2020

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท