ไอลอว์ยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญ เตรียมหอบ 7 หมื่นชื่อเข้าสภา 22 ก.ย. 2563

16 ก.ย. 2563 ไอลอว์พร้อมเครือข่ายภาคประชาชนหลายกลุ่มราว 30 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา เพื่อแจ้งว่าจะนํารายชื่อประชาชนราว 70,000 คน ซึ่งร่วมเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช มายื่นต่อสภาเพื่อนําไปพิจารณาร่วมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ นัดหมายเดินเท้านำรายชื่อจากรถไฟฟ้าใต้ดินเตาปูนมารัฐสภา วันที่ 22 ก.ย. 2563 เวลา 13.00 น.

ประมาณ 10.00 น. ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ เป็นตัวแทนยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา โดยมีสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับรายชื่อแทนชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

จอนกล่าวว่า เราเป็นตัวแทนภาคประชาชน​ นำรายชื่อ​ 70,276 ชื่อ มายื่นต่อรัฐสภา ​นี่เป็นการแสดงเจตนารมณ์ครั้งสําคัญของประชาชนไทย รายชื่อหลายหมื่นชื่อหลั่งไหลมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือนเศษ เฉลี่ยวันละประมาณ 2,000 รายชื่อ แสดงให้เห็นถึงความต้องการรัฐธรรมนญใหม่ โดยร่างของประชาชนฉบับนี้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะรื้อถอนอํานาจเผด็จการออกไปอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ รีเซ็ตองค์กรอิสระทั้งหมด แล้วกําหนดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน 100% ที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน

“เราหวังว่ารัฐบาลและรัฐสภาจะมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงแก้ครึ่งๆ กลางๆ หวังลด แรงกดดันแต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสาระสําคัญที่ล็อคการเมืองไทยทั้งหมดไว้ ดังนั้น เพื่อพิสูจน์ความจริงใจก็ควรนําร่างนี้ หรือเจตนารมณ์ของประชาชนในการถอนพิษ คสช. อย่างถึงรากเข้าไปพิจารณาควบคู่กับร่างอื่นๆ ด้วย” จอนกล่าว

นอกจากนี้ จอนยังกล่าวว่า นอกจากจะมาเป็นผู้ริเริ่มร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว​ ยังอยากจะมาเรียกร้องให้ร่างของประชาชนได้เข้าพิจารณาร่วมกับ​ร่างของพรรคการเมือง​ต่างๆ​ การละเลยเสียงของปชช​ที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง​ และสัปดาห์​หน้าจะนำ​ 7​ หมื่นกว่ารายชื่อที่กำลังบันทึกและตรวจสอบข้อมูลอยู่​มาเสนอต่อรัฐสภา

ด้านสมบูรณ์​ อุทัยเวียนกุล​ เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า วันนี้ได้รับหนังสือจากคณะผู้ริเริ่มเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ​ ตามสิทธิของประชาชนที่จะเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ​ตามมาตรา​ 256​ โดยรวบรวม​รายชื่อ​ 5 หมื่นรายชื่อ​ ขั้นตอนนี้ประธานสภาจะรับหนังสือของผู้ยื่นริเริ่มและนำไปตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ ​มาตรา 255 ว่า เนื้อหาที่ยื่นแก้ไขนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงการครอง หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่​ หากไม่ขัดมาตรา 255​ ทางสภาจะส่งเรื่องให้ผู้ยื่นริเริ่มไปล่ารายชื่อให้ครบ​ 5 หมื่นชื่อตาม​ 256​ ต่อไป​ และขอเป็นกำลังใจให้ผู้ริเริ่มทุกท่าน​ วันนี้สิทธิ​เป็นของทุกคนตามรัฐธรรมนูญ ขอให้มีสุขภาพ​แข็งแรง​ และดำเนินตามกฎหมาย​ ทางสภาก็​ยินดีดำเนินการอำนวยความสะดวกให้ตามกฎหมาย​เช่นกัน

พริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนจากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า หนึ่งในเครือข่ายยื่นเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของไอลอว์ กล่าวว่า ตอนที่กลุ่มรัฐธรรมนูญเพิ่งมาทำงานรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับไอลอว์และเครือข่ายอื่นๆ เมื่อปีที่แล้ว บทนทนาในสังคมยังถกเถียง​กันอยู่ว่าควรจะแก้หรือไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านมาหนึ่งปี ด้วยกระแสสังคม ด้วยแรงกดดัน ด้วยการเรียกร้องของพี่น้องประชาชน เราได้เห็นถึงวิวัฒนาการ​ของบทสนทนาจากแก้หรือไม่แก้ ไปสู่การถกเถียง​ว่ารัฐธรรมนูญควรต้องแก้ แต่จะแก้อย่างไร เรื่องใดก่อน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของการพัฒนาสังคมประชาธิปไตย

"หลายท่านอาจจะสับสนว่าในเมื่อทางพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านได้มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ทำไมถึงยังมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีเป็นจำนวนมาที่ยังคงต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกรูปแบบหนึ่ง ผมคิดว่านี่แสดงให้เห็นถึงความต้องการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน และความหวาดระแวงถึงความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" พริษฐ์กล่าว

นอกจากนี้ พริษฐ์ยังชี้ให้เห็นว่า สังคมมีข้อถกเถียงว่าจะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือจะแก้ไขทั้งฉบับ แต่ผู้ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้เชื่อว่า เราไม่จำเป็นต้องเลือกทางใดทางหนึ่งในสองทางนี้ แต่ต้องทำทั้งสองทางคู่ขนานกันไป การร่างรัฐธรรมนูญ​ฉบับ​ใหม่มีความจำเป็น​และใช้เวลา​ ไม่ว่าจะเป็นการทำประชามติ การเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และต้องทำประชามติอีกครั้งเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการนี้อาจใช้เวลา 1-2 ปี 

เนื่องจากกระบวนการต้องใช้เวลาดังกล่าว ตัวแทนกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าเห็นว่า ระหว่างที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญใหม่ใหม่​ จำเป็นต้องกำจัดหรือยกเลิกบางมาตราที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน​ เช่น​ การยกเลิกอำนาจ​ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี การเปิดโอกาสให้มีนายกนอกบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง  การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้น ไม่ว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะใช้เวลานานเท่าไร​ แต่บางมาตราที่แก้ไขได้ต้องทำทันที​ สุดท้ายแม้จะกำจัดรายมาตราแล้ว​ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็จำเป็นเช่นกัน​ เพราะสิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาดี เป็นประชาธิปไตย แต่ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วย​ เพื่อให้รู้สึกเป็นเจ้าของและเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้อย่างแท้จริง

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนหลายหน่วยงานที่ต้องการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กล่าวว่า เครือข่ายเคยพูดคุยกันตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ถ้าอยากนำพาประชาธิปไตยกลับคืนสู่สังคม รัฐธรรมนูญเป็นวิถีทางสำคัญที่เราต้องมีส่วนร่วม เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาก็ได้พูดคุยวิเคราะห์สถานการณ์และถอดบทเรียนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่สำคัญ บทเรียนนั้นได้สะท้อนว่าประชาชนควรมีส่วน และมีสิทธิในการร่างรัฐธรรมนูญ

"คิดว่านี่เป็นประวัติศาสร์ของการได้รายชื่อที่รวดเร็วที่สุด ประชาชนมีเจตจำนงอย่างแรงกล้าที่จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งที่เป็นข้อสรุปร่วมกันของภาคประชาสังคม ซึ่งก็เห็นพ้องต้องกันกับทางไอลอว์ด้วยว่า รัฐธรรมนูญ 2560 จำเป็นตองร่างใหม่ทั้งฉบับ แนวทางของการร่างใหม่ทั้งฉบับต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และวิถีทางที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ คือ ผ่าน ส.ส.ร. และต้องไม่ใช่ ส.ส.ร.ปาหี่ แต่ต้องเป็น ส.ส.ร. ที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สะท้อนเสียงผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน" ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญกล่าว

จีรนุชเห็นว่า การรวบรวมรายชื่อเป็นก้าวย่างสำคัญ แต่ก็ไม่สามารถหยุดอยู่แค่นี้ สิ่งที่ภาคประชาชนตั้งใจคือพร้อมเดินทางยาว​ เราพร้อมติดตามให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้รับการพิจารณาและถูกให้ความสำคัญ วันนี้เป็นเพียงก้าวเริ่มต้น และจะมีก้าวต่อไปแน่นอน

ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ตัวแทนจากคณะประชาชนปลดแอก กล่าวว่า คณะประชาชนปลดแอกสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเราขอประกาศสนับสนุนร่างของไอลอว์ ในวันที่ 23-24 ก.ย. นี้จะมีวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เราหวังว่าร่างของประชาชนที่มายื่นวันที่ 22 ก.ย. นี้ จะได้บรรจุเข้าพิจารณาด้วย

"ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนไหวบนท้องถนนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ยาวต่อเนื่องเกือบสองเดือน ข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุดที่เป็นข้อเรียกร้องหลัก คือ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และรักษาอำนาจของชนชั้นนำ" ตัวแทนจากคณะประชาชนปลดแอกกล่าว

ทัตเทพเห็นว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นกุญแจสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนทรงอำนาจอย่างแท้จริง และต้องร่างโดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% และเปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นทำประชามติ

ตัวแทนจากคณะประชาชนปลดแอกฝากถึงสมาชิกรัฐสภาว่า มีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก และเปิดทางให้ประชาชนได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่วมกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรม เพราะประชาชนต้องได้รับสิทธิ ได้อำนาจในการกำหนดรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยเจตจำนงของพวกเขาเอง รัฐธรรมนูญใหม่จะต้องแก้ไข ถกเถียง และร่างใหม่ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา จะต้องไม่มีการล็อกสเปกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น

จากนั้น ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน นัดหมายว่า วันที่ 22 ก.ย. จะยื่นรายชื่อทั้งหมดต่อประธานรัฐสภา โดยเริ่มเดินเท้าสถานี MRT เตาปูน ทางออก 4 เวลา 13.00 น. เป็นระยะทางราว 2.2 กิโลเมตร มายังรัฐสภา

สำหรับผู้ริเริ่ม 20 คนตามกฎหมายกําหนดที่ยื่นร่างดังกล่าวต่อรัฐสภา ประกอบด้วยองค์กรเครือข่าย ได้แก่ คณะประชาชนปลดแอก, กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab), เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ หรือ Constitution Advocacy Aiance (CALL), กลุ่ม People Go Network, และไอลอว์

เนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนญฉบับประชาชนมีประเด็นที่ต้องยกเลิก 5 ประเด็น ได้แก่ ยกเลิกช่องทางในการได้มาซึ่งนายกฯ คนนอก, ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ, ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศ, ยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง, ยกเลิกการรับรองอํานาจและการละเว้นความรับผิดของ คสช.

ส่วนประเด็นที่เสนอให้แก้ไขก็มี 5 ประเด็นเช่นกัน คือ ที่มานายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น ที่มา ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน, รีเซ็ตองค์กรอิสระเพื่อให้มีการสรรหาใหม่, เปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น โดยอาศัยเพียงเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภา ในส่วนของการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอให้มี ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนโดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะสมัครแบบคนเดียวหรือแบบกลุ่มก็ได้ แต่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกได้เพียงกลุ่มเดียวเบอร์เดียว จากนั้นนำคะแนนมาคํานวณที่นั่ง ส.ส.ร. คล้ายกับการ เลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท