Skip to main content
sharethis

คุยกับ 3 นักกิจกรรม 1 นักวิชาการ เมื่อสังคมไม่ต้องการนายกคนนอก รัฐบาลแห่งชาติ ระหว่างประเทศเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดช่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เส้นทางที่ควรจะเป็นคืออะไร ที่มาคุณสมบัติ ส.ส.ร. แบบไหนที่ต้องการ และบทบาทหน้าที่ของ ส.ว. 250 คนควรอยู่ที่ใด

  • เพนกวิ้นเสนอ รัฐบาลประยุทธ์ยุติบทบาท ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ให้รัฐบาลใหม่ทำหน้าที่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
  • PerMAS เสนอปิดสวิตซ์ ส.ว. หยุดโหวตวาระสำคัญก่อนร่างรธน. ชี้นายกฯ คนนอกไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เป็นเพียงการถ่ายโอนอำนาจไปสู่คนกลุ่มเดิมแต่มีภาพลักษณ์ที่ดีกว่า
  • นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามย้ำ รัฐบาลควรยอมรับความจริงถ้าไปต่อแบบนี้มีแต่พัง เสนอ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เรียกร้อง ส.ว. อย่ายุ่งเรื่องแก้ รธน. 
  • 'ยุทธพร อิสรชัย' เสนอ 3 ขั้นตอนเดินสู่ประชาธิปไตย ชี้ถึงเวลาที่สังคมไทยควรทบทวนถึงความจำเป็นของ ส.ว. 

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปธรรมของการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภานั้น เกิดขึ้นจากการสร้างความกดดันของขบวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา อีกทั้งการเคลื่อนไหวชุมนุมในครั้งนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้โดยง่าย

หลายฝ่ายพยายามเสนอทางออกจากวิกฤติการเมืองนี้ แต่หนึ่งในนั้นมีการเสนอให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง โดยอ้างว่าเป็นการให้คนกลางเข้ามาทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านแทนรัฐบาลประยุทธ์ที่หมดความชอบธรรมแล้ว

ทันทีที่ข้อเสนอดังกล่าวเปิดเผยต่อสาธารณะ ในปีกผู้ชุมนุมต่างประสานเสียงไม่รับกับข้อเสนอดังกล่าว ประชาไทสัมภาษณ์ 3 ตัวแทนนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย กับ 1 นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ถึงเส้นทางเดินไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่จำเป็นต้องเปิดทางให้นายกฯ คนนอก คนกลาง หรือรัฐบาลแห่งชาติ สามารถเป็นไปได้หรือไม่ ส.ส.ร. แบบไหนที่สังคมไทยต้องการ และบทบาทหน้าที่รัฐบาล กับ ส.ว. ควรอยู่จุดใด เมื่อเกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

เพนกวิ้นเสนอ รัฐบาลประยุทธ์ยุติบทบาท ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ให้รัฐบาลใหม่ทำหน้าที่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้ำถึง เงื่อนไขสำคัญสองข้อที่เป็นฉันทามติในทุกเวทีชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ทุกอย่างจะต้องเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีกระบวนใดเข้ามาแทรกแซงไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร และการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นายกฯ คนนอก รวมถึงนายกฯ พระราชทาน

พริษฐ์ เชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำได้โดยการเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดย ส.ส.ร. อาจจะเลือกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา 1 ชุด เพื่อยกร่างตามความเห็นของที่ประชุม ส.ส.ร. และกระบวนการทั้งหมดจะต้องเป็นกระบวนการที่ยึดโยงกับประชาชนเท่านั้น ผู้ที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนไม่ควรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น และก่อนที่จะเดินไปถึงจุดที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นต้องจัดการกับองค์กรอิสระต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจากผลพวงของคณะรัฐประหารเพื่อไม่ให้เกิดกระบวนการแทรกแซงการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน

ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครรับเลือกเป็น ส.ส.ร. พริษฐ์คิดว่า บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปเมื่อมีสิทธิเลือกตั้งได้ก็ควรที่จะสมัครรับเลือกเป็น ส.ส.ร. ได้เหมือนกัน และประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องของอายุที่น้อยหรือมาก เพราะหากมองคนเท่ากัน คนทุกช่วงอายุก็มีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตัวเองได้เช่นกัน 

“อย่าไปมองว่าคนอายุน้อยไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ เพราะบางทีคนอายุมากหลายคนก็ใจแคบ โลกแคบ ไม่รับฟังความคิดเห็นคนอื่นก็มีให้เห็นถมไป”

สำหรับเนื้อหาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พริษฐ์ ชี้ว่าจะต้องเป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับไม่มีหมวดใด มาตราใด ที่ได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ ทุกมาตราจะต้องผ่านกระบวนการถกเถียงพูดคุยได้ทั้งหมด โดยเฉพาะหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์

เขาทิ้งท้ายว่า หากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นจริง รัฐบาลประยุทธ์จะต้องยุติบทบาทและเปิดให้มีการโหวตรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดคือการยุติบทบาทของ ส.ว. 250 คนในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนข้อเสนอที่จะให้รัฐสภาลงมติร่วมเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนกลางเข้ามาทำหน้าที่แทนนั้น เห็นว่า เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อฉวยโอกาสการมาควบคุมการเมืองของกลุ่มอนุรักษนิยมเก่าที่หมดบทบาทไปนานแล้ว 

“เรื่องนายกคนนอก หรือคนกลาง เป็นเรื่องที่ผมชัดเจนว่าไม่เอาแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นใครเพราะไม่ได้มีที่มาที่ยึดโยงกับการเลือกตั้ง และโดยส่วนตัวเชื่อว่า คนกลางไม่เคยมีอยู่จริง”

PerMAS เสนอปิดสวิตช์ ส.ว. หยุดโหวตวาระสำคัญก่อนร่างรธน. ชี้นายกฯ คนนอกไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เป็นเพียงการถ่ายโอนอำนาจไปสู่คนกลุ่มเดิมแต่มีภาพลักษณ์ที่ดีกว่า 

ซูกริฟฟี ลาเต๊ะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี หรือเปอร์มาส (PerMAS) ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีปัญหาทั้งในแง่กระบวนการร่าง และเนื้อหา และข้อเสนอของกลุ่มเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ ก็ชัดเจนแล้วว่าต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 

“เมื่อเราเสนอให้มี ส.ส.ร. ก็มีคนเสนอต่ออีกว่าถ้าจะมี ส.ส.ร. งั้นระหว่างนี้ ให้มีการเลือกนายกคนนอก คนกลาง คนดี มาทำหน้าที่แทนไหม เรามองว่ามันไม่ควร และยิ่งถ้าพรรคการเมืองยอมให้มีนายกคนนอกเข้ามา มันก็คือการประนีประนอมกับเผด็จการ และประชาชนพร้อมจะลงโทษพวกท่านในการเลือกตั้งเสมอ ดังนั้นเราไม่เห็นด้วยเด็ดขาดกับการมีนายกคนนอก นายกพระราชทาน หรืออะไรก็แล้วแต่”

ซูกริฟฟี กล่าวย้ำถึงที่มาของ ส.ส.ร. ต่อว่า หากจะเรียกได้ว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนต้องเป็นผู้เลือก ส.ส.ร. ด้วยตัวเองทั้งหมด เพราะการยึดโยงกับประชาชนเท่านั้นที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญได้รับความชอบธรรม ที่ผ่านมา ส.ว. 250 คนเป็นภาพสะท้อนที่ชัดที่สุดของกลุ่มคนที่มาจากการแต่งตั้งว่า พวกเขาไม่พร้อมที่จะเคารพเสียงประชาชน เช่นเดียวกับ ส.ส.ร. หากมีการแต่งตั้งไม่ว่าจะด้วยกลไกใดก็ตาม ก็ถือว่านั่นไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน 

“การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะต้องใช้เสียง ส.ว. ด้วย ฉะนั้นอันดับแรกเราต้องปิดสวิตช์ ส.ว. เพื่อไม่ให้มีส่วนร่วมในการโหวตในวาระสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีกระแสข่าวว่าอาจจะไม่การยุบสภา หากมีการยุบสภาเกิดขึ้นก็จะมีการเลือกตั้งและโหวตนายกฯ ใหม่ การที่ ส.ว. ยังมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ อยู่ก็เท่ากับว่าเราจะวนอยู่ที่เดิม ฉะนั้นการเส้นทางที่ควรจะเป็นคือ เอา ส.ว.ออกไปก่อน จากนั้นเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เมื่อได้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว รัฐบาลก็ควรยุบสภา”

ซูกริฟฟี กล่าวต่อถึงข้อเสนอเรื่องนายกฯ คนกลางว่า ผู้เสนอเองก็น่าจะเจนจัดในเรื่องทางการเมืองดี ฉะนั้นก็น่าจะรู้ว่าอะไรที่ไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชน สิ่งนั้นไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย และการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดช่องให้รัฐสภาสามารถเลือกนายกฯ โดยเป็นบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่ได้อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา อีกทั้งพรรคการเมืองเองก็ควรยืนยันหลักการประชาธิปไตย ไม่เปิดช่องให้กับอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน 

“การเสนอนายกคนนอกมันไม่ใช่การหาทางออกให้ประเทศนี้ มันเป็นเเค่โอนอำนาจจากคนกลุ่มหนึ่งไปสู่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาเห็นว่ามีภาพลักษณ์ที่ดีกว่า หรือเชื่อว่าเป็นคนดีกว่า”

นิสิต ม.สารคามย้ำ รัฐบาลควรยอมรับความจริงถ้าไปต่อแบบนี้มีแต่พัง เสนอ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เรียกร้อง ส.ว. อย่ายุ่งเรื่องแก้ รธน. 

พงศธรณ์ ตันเจริญ นิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาชิกแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า อันดับแรกรัฐบาลต้องยอมรับความเป็นจริงให้ได้ก่อนว่า การบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นอยู่ในเวลานี้ไม่สามารถไปต่อได้แล้ว รัฐบาลไม่มีศักยภาพในการประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ประเทศเผชิญกับภัยคุกคามโควิด-19 ขณะที่ประชาชนก็เริ่มหมดความศรัทธารัฐบาล หากประเทศยังเดินหน้าต่อไปภายใต้รัฐบาลชุดนี้ และภายใต้โครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะพังลง

“ชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองควรจะถอยลงมาก้าวหนึ่งเพื่อที่จะยอมรับข้อเสนอของประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมา ไม่อย่างนั้น ปัญหาที่สะสมไว้ก็จะปะทุเป็นไฟ เป็นระเบิด และกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้แล้ว”

พงศธรณ์ กล่าวต่อด้วยว่า หากมีการตั้ง ส.ส.ร. ในช่วงเวลาที่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น รัฐบาลควรยุติบทบาทโดยทำหน้าที่เพียงแค่เป็นรัฐบาลรักษาการณ์เท่านั้น ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องช่วยกันจับตาว่า กระบวนยกร่างรัฐธรรมนูญจะถูกเข้าแทรกแซงหรือไม่ สำหรับการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. จะต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเท่านั้น

ส่วนบทบาทหน้าที่ของ ส.ว. ในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พงศธรณ์ เห็นว่าควรยุติบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีความชอบธรรมใดที่จะเข้ามามีส่วนร่วมเนื่องจากไม่ได้เป็นผู้แทนของประชาชน ซึ่งนี่เป็นเพียงข้อเรียกร้องขั้นต่ำ ส่วนข้อเรียกร้องขั้นสูงคือ ส.ว. 250 คนต้องลาออกทันที

'ยุทธพร อิสรชัย' เสนอ 3 ขั้นตอนเดินสู่ประชาธิปไตย ชี้ถึงเวลาที่สังคมไทยควรทบทวนถึงความจำเป็นของ ส.ว. 

รองศาสตราจารย์ ยุทธพร อิสรชัย อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ประเด็นเรื่องนายกคนนอก และรัฐบาลแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาเป็นวาทกรรมเสมอเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมือง ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ไม่มีความยั่งยืน และไม่ใช่ทางออกจากปัญหา โดยทางออกที่สำคัญในเวลานี้คือควรเปิดโอกาสให้คนได้พูดคุยกันว่าจากนี้จะอยู่ร่วมกันอย่างไร ภายใต้กติกาใหม่ หรือรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่ทุกคนมีส่วนร่วม

ยุทธพร เสนอทางเดินออกจากวิกฤติการเมืองครั้งนี้ว่า ในระยะสั้นควรตั้งเวทีพูดคุยระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม และฝ่ายรัฐ ซึ่งเวทีดังกล่าวไม่ควรเป็นเวทีที่รัฐเป็นผู้จัด แต่ควรเป็นเวทีที่เกิดขึ้นโดยภาคประชาสังคม หน่วยงานที่น่าจะเหมาะสมมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัย เพราะมีความพร้อมทั้งวิทยากร สถานที่ หากมีการพูดคุยกันครั้งแรกแล้วบรรยากาศสถานการณ์ที่ตึงเครียดอยู่ก็อาจจะผ่อนคลายลงได้บ้าง

ต่อมาในระยะที่ 2 ยุทธพรเสนอว่า ต้องเป็นช่วงที่มีการตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งและดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อย่างไรก็ตาม ส.ส.ร. ที่จะเกิดขึ้นนี้เราไม่ควรให้เป็นตัวแทนของพรรคการเมือง แต่ต้องเป็นตัวแทนของประชาชน และควรมี ส.ส.ร. แค่จังหวัดละ 1 คน เพื่อไม่ให้เกิดการเป็นฐานของพรรคการเมือง โดยเข้ามาออกแบบกติกาในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมซึ่งจะต้องเปิดเวทีต่างๆ ให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อให้เกิดความรู้สึกในการเป็นเจ้าของร่วม และจะนำมาซึ่งความยั่งยืน 

ส่วนในระยะที่ 3 ยุทธพร เห็นว่าอาจจะเป็นช่วงที่ต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 5 ปีเพื่อที่จะวางรากฐานประธิปไตยที่ตั้งมั่น โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมต่างๆ ให้เอื้ออำนวยต่อกระบวนการประชาธิปไตยมากขึ้น 

“ทั้งหมดนี้เป็นเส้นทางปกติที่เราเดินไปได้โดยไม่จำเป็นต้องไปอาศัยนายกคนนอก หรือรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งต้องเรียกร้องทั้งรัฐบาล และรัฐสภา ให้เร่งทำกลไกอย่างนี้ให้เสร็จ”

ยุทธพร กล่าวต่อถึงการทำงานในการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า จะต้องสร้างสมดุลทั้งหมด 3 ส่วน ส่วนแรกคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งจากการเลือกตั้ง การทำประชามติ หรือการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความเห็น ส่วนที่สอง คือ บทบาทหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา อย่างไรก็ตามกลไกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังเป็นกลไกที่มีปัญหาหลายประการ ฉะนั้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกรัฐสภานั้น อาจจะไม่จำเป็นที่จะตั้งแต่คนเข้ามาเป็น ส.ส.ร. แต่สามารถให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร. ลงมติมาแล้วได้เมื่อตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ในส่วนที่ 3 คือบทบาทหน้าที่ของนักกฎหมายนักวิชาการ ซึ่งส่วนนี้เองก็ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.ร.ด้วยตัวเอง แต่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามเจตนารมย์ของประชาชนที่สะท้อนผ่าน ส.ส.ร. 

“ในประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา เราร่างรัฐธรรมนูญโดยองค์กรในลักษณะใดบ้าง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เรามีองค์กรร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเลย อย่างเช่น รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมันก็สะท้อนว่าเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ยึดโยงกับประชาชนก็จะมาซึ่งปัญหาอีกหลายประการ”

ต่อบทบาทหน้าที่ของ ส.ว. นั้น ยุทธพร มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้จุดแรกที่ต้องทำคือการเปิดประตูบานใหญ่ มาตรา 256 ให้ได้ก่อนคือ การเปิดช่องให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อทำในส่วนนี้สำเร็จประเด็นที่ต้องมาคุยกันต่อคือ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมี ส.ว. อยู่หรือไม่

“บทบาทหน้าที่ของ ส.ว. ในต่างประเทศในเป็นตำแหน่งที่มีไว้เพื่อเป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อย คนท้องถิ่น หรือบรรดาผู้ด้อยสิทธิ ด้อยโอกาส แต่ ส.ว. ในประเทศไทยเราไม่เคยวางจุดประสงค์ของการมี ส.ว. ที่ชัดเจนเลย”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net