Skip to main content
sharethis

สื่อเจแปนไทม์แจงการวิเคราะห์ว่าที่นายกฯคนใหม่ของญี่ปุ่น หลายคนมองว่าที่นายกฯคนนี้มีจุดเด่น เช่น การเป็นคนมีภาพลักษณ์ติดดิน พูดตามสคริปต์ มีพรรคพวกน้อย เน้นนโยบายเอียงไปในทางประชานิยม แต่บางคนวิเคราะห์ว่าเรื่องเหล่านี้ก็อาจจะกลายมาเป็นจุดอ่อนของเขาได้เช่นกัน


ภาพจาก wikimedia commons

โยชิฮิเดะ ซุงะ ได้รับการวางตัวให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ในฐานะที่โยชิฮิเดะดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกของรัฐบาลญี่ปุ่นและปรากฏตัวต่อหน้าสื่อมาโดยตลอดทำให้ถูกมองเป็นตัวเต็งในการรับตำแหน่งต่อจากชินโซ อาเบะ ผู้ที่ประกาศลาออกเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สื่อเจแปนไทม์ก็วิเคราะห์ว่าสิ่งที่สร้างภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นต่อวิชาชีพการเมืองของซุงะนั้น ก่อรูปมาจากพันธกิจของเขาในการทำงานเบื้องหลังมากกว่า

เจแปนไทม์ระบุว่า "ร้อยโทแห่งห้องประชุมผู้มีอำนาจ นักประสานงานจัดการวิกฤตผู้ช่ำชอง และ ผู้ชี้นำระบบราชการ เรื่องเหล่านี้เป็นจุดยืนหลักทางการเมืองของซุงะ ในฐานะนักการเมืองมาโดยตลอด หายากที่เขาจะเป็นที่รับรู้ในเรื่องความสามารถทางการนำ"

ในวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมาสภาญี่ปุ่นโหวตลงมติให้ซุงะขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วยคะแนนเสียง 377 โหวต จากทั้งหมด 534 โหวต ในสภาซุงะได้เน้นเรื่องนโยบายของเขาในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ผ่อนปรนการควบคุมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ซุงะที่ปัจจุบันอายุ 71 ปี เคยได้รับเลือกให้ดำรงตำแแหน่งเป็นประธานพรรคจิยูมินชูโต (LDP) พรรคสายอนุรักษ์นิยมที่มีอำนาจในญี่ปุ่นมายาวนาน การที่เขาได้รับช่วงต่อจากอาเบะจึงไม่ใช่เรื่องน่ากังขา แต่เขาต้องเผชิญกับบททดสอบความสามารถมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าเขาจะเป็นผู้นำญี่ปุ่นที่ดีได้หรือไม่ 

นอกจากนี้ยังมีการคาดเดาเกี่ยวกับไหวพริบของซุงะในฐานะที่เป็นนักการเมืองที่ไม่ได้สืบทอดผ่านสายเลือด ซึ่งทำให้เขาต่างออกไปจากคู่แข่งคนอื่นๆ ที่เป็นทายาททางการเมืองผู้ถือตำแหน่งนำในพรรค การที่ซุงะขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่อจึงกลายเป็นครั้งแรกในการเมืองสมัยใหม่ของญี่ปุ่นที่ผู้แทนผู้ไม่ได้มาจากระบบการเมืองแบบสืบทอดทายาทสามารถกุมตำแหน่งนำเอาไว้ได้

อย่างไรก็ตามมีข้อวิจารณ์ในแง่อุดมการณ์ทางการเมืองของซุงะว่า เขาเป็นคนที่ไม่มีจุดยืนทางการเมืองใดๆ ทำให้นักวิจารณ์มองว่าเขาปราศจากวิสัยทัศน์ใหญ่ๆ ต่อญี่ปุ่น จากการพิจารณาช่วงที่เขาทำงานเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซุงะเป็นคนที่เน้นท่องสคริปต์คำแถลงและบอกปัดคำถามจากผู้สื่อข่าว ขณะเดียวกันก็ชวนให้สงสัยว่าซุงะมีทักษะในแง่การเป็นโฆษกจริงหรือไม่และมีความสามารถขนาดไหนในการปฏิสัมพันธ์กับคนที่โต้ตอบกับเขานอกสคริปต์ ซึ่งรวมทั้งประชาชนทั่วไป สื่อและเหล่าผู้นำโลกด้วย

ในบทวิเคราะห์ระบุว่าการที่ซุงะมีประวัติในการรับบทเชิงผู้นำน้อยครั้งและมีพื้นเพเน้นทำงานเบื้องหลังจะกลายมาเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนสำหรับเขาได้ เททสึโอะ ซูซุกิ นักข่าวอิสระที่ติดตามเรื่องราวของซุงะกล่าวว่า ในแง่หนึ่ง การที่ซุงะหลีกเลี่ยงระบบพรรคพวกทางการเมืองในพรรค LDP ก็ทำให้เขากลายเป็น "ผู้สันโดษ" มีกลุ่มผู้ช่วยรอบตัวที่เชื่อใจได้อยู่ไม่กี่คน และตัวซุงะเองก็เป็นคนที่เปลี่ยนย้ายมุ้งการไปเรื่อยๆ โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนับตั้งแต่เข้าสู่วงการการเมืองในสภาปี 2539 หลังจากที่ดำรงตำแหน่งในสภาเทศบาลท้องถิ่นโยโกฮามะมาเกือบทศวรรษ และไม่ร่วมความขัดแย้งระดับชักเย่อกันภายในพรรค LDP ในช่วงปี 2552

ซูซุกิบอกว่าการวางตัวออกห่างจากความขัดแย้งนี้เองทำให้เขากลายเป็น "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" มีคนคอยเลือกมาช่วยเหลือเขาได้น้อย การที่เขาจะสามารถตั้ง "ทีมซุงะ" ของตัวเองได้หรือไม่นั้นจะเป็นตัวตัดสินชะตากรรมการเป็นผู้นำของเขา

ซุงะมีพื้นเพเป็นลูกของเจ้าของฟาร์มสตรอวเบอร์รีในจังหวัดอะกิตะ มีกิตติศัพท์ในด้านความสามารถบริหารจัดการวิกฤตได้อย่างช่ำชอง ขณะเดียวกันการที่เขาเป็นนักการเมืองแบบไม่ได้มาจากการสืบทอดทางสายเลือดทำให้ถูกเปรียบเทียบกับนักการเมืองอีกรายคือ คาคุเอย์ ทานากะ ผู้ที่ได้ฉายาว่า "นายกฯ ของประชาชน" ที่เคยฝ่าฟันความยากจนมาก่อนในวัยเด็ก แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือถึงแม้ว่าซุงะจะพูดโฆษณาตัวเองว่าเป็นคนที่ปีนป่ายทางการเมืองด้วยตัวเองมาตั้งแต่ยังไม่มีอะไร แต่พื้นเพของซุงะเองก็ไม่ได้ถือว่าเป็นคนขาดแคลนมากเท่าทานากะ เพราะพ่อของซุงะดูจะเป็นผู้ประกอบการฟาร์มที่ประสบความสำเร็จ

นักวิจารณ์ระบุว่าเรื่องที่ซุงะมักจะพูดถึงสถานะทางสังคมตัวเองในฐานะคนที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยลำแข้งตัวเอง ซึ่งมีส่วนจริงอยู่บ้างในสมัยที่เขาสามารถเอาชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นโยโกฮามะได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งใบบุญของพ่อหรือจากนักการเมืองตามเชื้อสายอื่นๆ ที่มักจะมีในญี่ปุ่น และตัวซุงะเองก็มีความดึงดูดแบบเดียวกับทานากะผู้ที่ใช้ความรุ่มรวยทางความรู้และความกล้าบ้าบิ่นในการออกนโยบายแบบไม่เกรงกลัวทำให้เขาได้ฉายาว่าเป็น "รถไถสมองกล"

ขณะเดียวกัน การที่ซุงะมีภาพลักษณ์ว่ามาจากพื้นเพติดดินก็อาจจะทำให้ได้ใจจากประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังมีการวิเคราะห์ว่าซุงะเป็นคนที่่มีจุดยืนโน้มเอียงไปทางประชานิยมเสมอมาตั้งแต่ในการทำงานก่อนหน้านี้ และหลังจากที่เขาได้รับเลือกเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนถัดไปเขาก็พูดถึงนโยบายที่นับว่าเป็นการเอาใจประชาชนได้ เช่น การสัญญาว่าจะลดค่าโทรศัพท์ในญี่ปุ่นซึ่งซุงะบอกว่าค่าโทรฯ ในญี่ปุ่นแพงที่สุดในโลก ในอดีตซุงะเองก็เป็นคนที่เน้นนโยบายแบบลดราคาค่าใช้จ่ายต่างๆ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นค่าทางด่วน หรือค่าสมาชิกโทรทัศน์ช่อง NHK

อิซาโอะ โมริ คนเขียนชีวประวัติของซุงะกล่าวว่า ซุงะเป็นคนที่เก่งในเรื่องการหานโยบายแบบที่จะทำให้ตัวเองได้รับความนิยมได้ แต่การเอาแต่ใช้นโยบายเชิงเอาใจประชาชนเช่นนี้ทำให้เขาขาดวิสัยทัศน์ขนาดใหญ่ในการขับเคลื่อนประเทศ ซุงะเองก็เคยยอมรับในเรื่องจุดอ่อนของตัวเองนี้ผ่านบทสัมภาษณ์ว่าในขณะที่เขาชื่นชมอาเบะจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเรื่องเกี่ยวกับการที่เกาหลีเหนือลักพาตัวชาวญี่ปุ่นในช่วงสมัย 40-50 ปีที่แล้วได้ และจากการที่อาเบะมีวิสัยทัศน์ต่ออนาคตของประเทศแบบอนุรักษ์นิยมได้ แต่ซุงะไม่มีวิสัยทัศน์ในแบบที่อาเบะมีในเวลานั้น

ทาเคชิ นากาจิมา ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาการเมืองร่วมสมัยจากสถาบันเทคโนโลยีโตเกียวอธิบายว่าซุงะเป็นนักการเมืองในแบบที่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ นากาจิมาเป็นนักวิเคราะห์ในเรื่องเกี่ยวกับแถลงการณ์และคำปราศรัยของนักการเมืองอย่างใกล้ชิด เขาอธิบายต่อไปว่าเมื่อเทียบกับอาเบะแล้ว อาเบะเป็นคนที่มีความอยากเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นให้เป็นไปในทางเอนขวาแบบที่เขาอยากให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นการปรับแก้รัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีเนื้อหาสนับสนุนสันติภาพให้กลายเป็นอีกแบบหนึ่ง ขณะที่ซุกะไม่ได้แสดงตัวว่าอยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้นัก และไม่คิดจะไปเยี่ยมศาลเจ้ายาสุคุนิ ซึ่งเป็นศาลเจ้าบูชาดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่มักจะกลายเป็นประเด็นถูกกล่าวหาว่าผู้นำคนใดก็ตามที่เข้าไปสักการะศาลเจ้านี้เป็นคนที่ยอมรับทหารญี่ปุ่นที่เคยก่อความโหดร้ายในสงครามโลกครั้งที่ 2 และประเทศที่มักจะประณามการกระทำนี้คือเกาหลีและจีน

การขาดภาพรวมใหญ่ๆ เป็นข้อด้อยของซุงะในสายตาของนักเขียนชีวประวัติ โมริกล่าวว่าซุงะอาจจะมีนโยบายในเชิงแยกส่วนเป็นชิ้นๆ ไปเช่นการส่งเสริมการลดการควบคุมจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ซุงะก็ทำได้ไม่ดีพอในแง่ของการอธิบายว่าทำไมนโยบายเหล่านั้นถึงสำคัญต่อประเทศญี่ปุ่น โมริมองว่าการที่ซุงะจะรณรงค์หาเสียงให้ตัวเองได้นั้นต้องมีการจูงใจคนมีสิทธิเลือกตั้งและเพื่อนนักการเมืองด้วยวิสัยทัศน์ของตัวเองให้ได้

โมริวิเคราะห์อีกว่าจากวาทะที่ซุงะใช้ ดูเหมือนว่าเขาจะเชื่อในแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ซุงะเน้นพูดถึงเรื่องสังคมที่เน้น "การช่วยเหลือตัวเอง" หรือที่ใช้คำในภาษาญี่ปุ่นว่า "จิโจ" ซึ่งเข้ากับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ตรงที่ให้รัฐบาลลดการแทรกแซงและส่งเสริมการแข่งขันในหมู่ภาคเอกชนรวมถึงส่งเสริมทุนนิยมตลาดเสรี

จากคำแถลงที่ซุงะเคยแถลงไว้ระบุว่า "อย่างแรกที่สำคัญที่สุดเลยคือ การที่คุณมีภาระในการที่จะปฏิบัติตามหน้าที่ของตัวเอง ... ถ้าคุณทำไม่ได้มันก็จะเป็นงานของครอบครัวและของสังคมคุณที่จะสนับสนุนส่งเสริมคุณ และถ้านั่นยังไม่สำเร็จอีกก็จะเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลในการที่จะคุ้มครองคุณ"

แต่ซูซุกินักข่าวที่ติดตามซุงะมองต่างออกไปจากโมริ เขามองว่าซุงะเป็นนักการเมืองที่ต้องการเน้นการส่งเสริมภาคส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่น มีนโยบายริเริ่มของเขาหลายอย่างที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย "ฟุรุซาโตะ โนเซย์" หรือระบบ "ภาษีบ้านเกิดในเชิงบริจาค" ที่เน้นให้คนบริจาคเงินแก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแลกกับของตอบแทนและการลดหย่อนภาษี อีกนโยบายหนึ่งคือการปรับปรุงกฎหมายควเข้าเมืองเพื่อรับเอาแรงงานจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมการสร้างคาสิโนรีสอร์ตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาการขาดแคลนประชากรในพื้นที่ชนบทของญี่ปุ่นด้วย 

กระนั้นซูซุกิก็ยังย้ำว่าการที่โดดเดี่ยวและมีคลังสมองยู่ข้างเคียงเขาไม่กี่คนก็ทำให้ซุงะทำให้วิสัยทัศน์ของเขากลายเป็นรูปเป็นร่างและเป็นฐานการบริหารงานของเขาได้

สิ่งที่ผู้คนกังวลอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับซูงะคือการที่เขาผันตัวจากคนทำงานเบื้องหลังมาเป็นคนที่ต้องเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ซุงะจะมีไหวพริบหรือโวหารความคมคายในการแสดงออกของเขามากน้อยเพียงใด ท่าทีที่ผ่านมาของซูงะคือการเน้นพูดตามสคริปต์อย่างเข้มงวดและไม่ค่อยสนใจแลกเปลี่ยนกับนักข่าวอยางฉับพลันตนทำให้เขาถูกขนานนามว่าเป็น "เทปเปกิ" หรือ "กำแพงเหล็ก" ที่ยากจะฝ่าเข้าไป โมริบอกว่านั่นไม่ได้หมายความว่าซูงะมีความหนักแน่นในการแถลงข่าวคนไร้ที่ติแต่หมายความว่าเขาปฏิเสธจะตอบคำถามอยู่เสมอ หรือไม่ก็ตอบปัดเช่นการบอกกับนักข่าวว่าข้อกล่าวหา "ไม่เป็นความจริง" โดยไม่อธิบายเพิ่ม หรือใช้คำเชิงเลี่ยงบาลีอย่าง "ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม"

ถึงแม้นักวิเคราะห์จะกังวลเรื่องความสามารถของซุงะในฐานะนักพูดต่อหน้าสาธารณชน แต่ก็มีนักให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ คาซุโยชิ โคมิยะ กล่าวว่าการที่ซูงะไม่ใช่คนพูดมากก็มีผลดีในตัวเองเพราะอย่างน้อยก็ไม่ทำให้เขาเสี่ยงกระทำผิดมารยาท โคมิยะผู้ที่เคยเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักธุรกิจระดับท็อปหลายคนบอกว่า ซุงะมีบุคลิกตรงข้ามกับอดีตนายกฯ ทาโร อาโสะ ที่มักจะโพลงอะไรออกมาโดยไม่คิดจนมักจะทำให้เกิดเรื่องพูดถึงในสื่อแพร่ไปทั่วและกลายเป็นภาระของรัฐบาลเขาเอง

โคมิยะบอกว่า "ต่างจากอาโสะนักการเมืองเลือดอำมาตย์ที่เติบโตมาในแบบคนร่ำรวย ซุงะมีความใกล้ชิดกับการคิดแบบของประชาชนทั่วไปมากกว่า และผมก็ไม่คิดว่าเขาจะพูดหลุดคำแย่ๆ ออกมาแบบอาโสะที่จะทำให้เขาเหินห่างจากประชาชนและทำให้เกิดความไม่พอใจ ... แต่ว่าซุงะจะปรากฏตัวได้อย่างน่าดึงดูดและมีอารมณ์ขันได้หรือไม่นั้น ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน"

 

เรียบเรียงจาก

Can behind-the-scenes operator Suga excel as Japan’s prime minister?, Japan Times, 15-09-2020

https://en.wikipedia.org/wiki/Yoshihide_Suga


https://en.wikipedia.org/wiki/Controversies_surrounding_Yasukuni_Shrine

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net