Skip to main content
sharethis

คดีทวงคืนผืนป่าของ แสงเดือน ตินยอด จากชั้นต้นยกฟ้อง สู่อุทธรณ์ลงโทษ  กับคำถามต่อบรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรม พร้อมลำดับเหตุการณ์ทวงคืนผืนป่าบ้านแม่กวัก สู่คดีของ 'แสงเดือน'

 

 

“เขาบอกว่าถ้าเราไม่ตัด เขาจะเอาคดีมาให้ ตอนนั้นยางเราก็ใกล้จะกรีดแล้ว ลูกเราก็เรียนอยู่ ก็ต้องตัดไปทั้งน้ำตา เพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปส่งลูกเรียน” 

วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง” หรือชื่อเดิม “แสงเดือน ตินยอด” หญิงชาวบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง กล่าวอย่างสิ้นหวังเมื่อนึกถึงเหตุการณ์ในปี 2556 ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) บังคับให้ตัดฟันยางพาราของตัวเอง ปัจจุบันเธอถูกดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และมีอาวุธไว้ในครอบครอง แม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเธอไม่ได้บุกรุก และอาวุธนั้นไม่ใช่ของเธอ

วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง” หรือชื่อเดิม “แสงเดือน ตินยอด”

จนเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 อัยการได้แจ้งว่า สั่งฟ้อง 'วันหนึ่ง' เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และให้ 'วันหนึ่ง' ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ศาลจังหวัดลำปาง ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว 1.5 แสนถึง 2 แสนบาท นอกจากนั้นยังถูกคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หรือ คดีโลกร้อน เป็นค่าเสียหายทั้งหมดกว่า 1 ล้านบาท ต่อมาเมื่อช่วงวันที่ 9-12 กันยายน 2562 'วันหนึ่ง' ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ปักหลักชุมนุมอยู่ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ โดยได้เจรจากับรัฐบาลและกองทุนยุติธรรม ได้ข้อสรุปว่า อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้นจะมอบหมายให้ชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำข้อเท็จจริงนั้นขึ้นเบิกความต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดี

คำพิพากษา

หลังจากนั้นวันที่ 18 ธันวาคม 2562 'วันหนึ่ง' เดินทางไปที่ศาลจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และกองเลขานุการประมาณ 20 คนที่ไปร่วมให้กำลังใจ ในวันนั้นศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม พนักงานอัยการได้เป็นโจทย์ยื่นอุทธรณ์ และได้มีการนัดให้ 'วันหนึ่ง' ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ณ ศาลจังหวัดลำปางอีกครั้งในวันที่ 8 กันยายน 2563 ซึ่งปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาจำคุก 'วันหนึ่ง' พร้อมพวก 1 ปี และคิดค่าเสียหาย 4 แสนบาท นอกจากนั้นยังคิดค่าดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 ร้อยละ 7.5 ต่อปี อีกทั้งยังมีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและพืชผลอาศัยออกจากพื้นที่ดังกล่าวด้วย

ป้ายตรวจยึดปักไว้กลางแปลงทำกินของ ’วันหนึ่ง’ ภายหลังถูกดำเนินคดี

ลำดับเหตุการณ์ทวงคืนผืนป่าบ้านแม่กวัก สู่คดี 'วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง'

ชุมชนบ้านแม่กวัก หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านอ้อน อำเภองาว จังหวัดลำปาง ก่อตั้งเป็นชุมชนตั้งแต่ปี 2430 ถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่งในปี 2514  จากประวัติชุมชนและคำบอกเล่าจากชาวบ้านชี้ว่า ชาวบ้านแม่กวักอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนฯ โดยหลังจากนั้นในปี 2528 เจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ ได้ทำโครงการอนุญาตให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ในรูปแบบใบแสดงว่ามีสิทธิ์ทำกิน (สทก.1) ให้ชาวบ้านแม่กวักได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง เรื่อยมาจนถึงการอนุญาตให้ชาวบ้านต่ออายุใบขออนุญาตทำกินในรูปแบบ สทก.2 เมื่อปี 2538 เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงเจตจำนงในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อไป 

หลังจากนั้นในปี 2535 ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาติดป้ายประกาศเป็นพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท โดยชุมชนยืนยันว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่ได้ลงพื้นที่ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการประกาศ และชี้แจงแนวเขตว่าจุดไหน อย่างไร ทำให้ชาวบ้านเริ่มเดือดร้อน ผลพวงหลังจากนั้นคือ ในปี 2540 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เข้ามาชี้แจงชุมชน กำชับไม่ให้เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ จนเกิดการจับกุมดำเนินคดี นายเสาร์แก้ว โพรโส ผู้ครอบครองเนื้อที่ทำกินประมาณ 5 ไร่ ข้อหาบุกรุกพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ แม้เจ้าตัวจะให้การยืนยันว่าได้ทำกินในพื้นที่มาก่อนหน้านั้น

คดีที่สองเกิดขึ้นในปี 2555 นายธงชัย ใจเย็น ถูกตั้งข้อหาบุกรุกพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ แม้จะมีหลักฐานใบ สทก. เพื่อแสดงว่าตนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อยู่ก่อนและทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตามมาด้วยคดีของ แสงเดือน ตินยอด หรือ วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการตัดฟันยางพาราในปี 2556 การดำเนินการกับ 'วันหนึ่ง' มีลักษณะที่แตกต่างจากคดีอื่น เพราะเป็นการบังคับขู่เข็ญจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้เธอตัดฟันยางพาราของตัวเอง อ้างว่า หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกดำเนินคดี ทำให้ 'วันหนึ่ง' ต้องจำใจตัดฟันยางพาราที่อีกไม่นานจะถึงเวลาได้กรีดของตัวเองทั้งน้ำตา

เมื่อความเดือดร้อนเริ่มหนักขึ้น ในปี 2558 ชาวบ้านแม่กวักได้ร่วมมือกันจัดทำแผนที่ชุมชนประกอบการแก้ไขปัญหาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 แต่ถูกนายอำเภอข่มขู่ไม่ให้ชาวบ้านดำเนินการในรูปแบบของโฉนดชุมชน อ้างว่าผิดกฎหมาย และจะยึดคืนข้อมูลทั้งหมดพร้อมทั้งดำเนินคดีชาวบ้าน ซึ่งความเดือดร้อนก็เกิดขึ้นจริงในวันที่ 2 กรกฎคมปีเดียวกัน 'วันหนึ่ง' ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ขู่ให้ตัดยางพาราอีกครั้งในพื้นที่ทำกิน 10 ไร่ จำนวน 760 ต้น หากไม่ดำเนินการจะถูกดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า หากดำเนินการตัดเองแล้วสามารถทำกินได้ดังเดิม 'วันหนึ่ง' จำเป็นต้องดำเนินการ แม้จะยืนยันว่าใช้ประโยชน์ต่อจากบรรพบุรุษมาตั้งแต่ปี 2508 และมีเอกสาร สทก. ตั้งแต่ปี 2537 มายืนยัน

วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ 2560 เจ้าหน้าที่นำเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจและจอดลงในพื้นที่ทำกินบ้านแม่กวักโดยไม่ได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบ ซึ่งชุดปฏิบัติการนั้นประกอบด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ตำรวจ และทหาร โดยได้ชี้แจงว่า ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่สวนป่าเดิม ซึ่งชาวบ้านก็ได้ชี้แจงว่าแนวเขตสวนป่าอยู่ข้างบน ไม่ได้ครอบคลุมที่ทำกินชาวบ้าน แต่ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าเนื้อที่สวนป่าครอบคลุมทั้งหมด

คดีความของ 'วันหนึ่ง' เริ่มขึ้นในวันที่ 8 กันยายน 2561 โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานพิทักษ์ป่าที่ 13 (แม่โป่ง) ได้สนธิกำลังเข้าตรวจยึดแปลงยางพาราของ 'วันหนึ่ง' และแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำไม้ เก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต" 

หลังจากนั้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561 'วันหนึ่ง' ได้เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ระดับจังหวัด ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านอ้อน ซึ่ง 'วันหนึ่ง' ยืนยันว่า ต้องการเงินค่าชดเชยจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมให้เงินชดเชย อ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการตัดฟันด้วยตนเอง แม้ข้อเท็จจริงที่ออกจากปาก 'วันหนึ่ง' จะกล่าวว่าถูกบังคับให้ต้องดำเนินการตัดฟันโดยนำคดีความมาปิดปาก นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังอ้างว่าพื้นที่ของ 'วันหนึ่ง' ถูกกันออกจากพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานฯ แล้ว จึงเป็นพื้นที่ดำเนินการของป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ ที่เข้าไปดำเนินการยืนยันว่า 'วันหนึ่ง' บุกรุกพื้นที่ป่าจริง ต่อมา พนักงานอัยการจังหวัดลำปางได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 'วันหนึ่ง' และพวกรวม 2 คน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 โดยพนักงานอัยการได้ขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้จำเลยออกจากพื้นที่ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายคดีโลกร้อนกว่า 1 ล้านบาท 

เมื่อเป็นเช่นนั้น ‘วันหนึ่ง’จึงเข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่กับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ในระหว่างวันที่ 9-12 กันยายน 2562 ณ หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ได้เข้าเจรจากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้อธิบดีกรมป่าไม้มอบหมายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงนั้นแล้วก็ให้แถลงต่อศาลเป็นพยานของฝ่ายจำเลยด้วย ซึ่งอธิบดีกรมป่าไม้ก็ได้มอบหมายนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ เป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนั้นยังได้ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกาเพื่อร้องขอความเป็นธรรมอีกด้วย

หลังจากผ่านกระบวนการสืบพยานจนครบทุกฝ่าย ศาลจังหวัดลำปางได้มีนัดให้’วันหนึ่ง’เข้ารับฟังคำพิพากษา ณ ศาลจังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 มีคำสั่งให้ยกฟ้อง สรุปความจากคำพิพากษาได้ว่า จำเลยขาดเจตนา การทำกินของจำเลยมีหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2545 โดยมีร่องรอยการทำกินมาตั้งแต่ปี 2497 เข้าหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และเป็นกลุ่มประชาชนที่ได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 จึงไม่ถือเป็นความผิดอาญา เมื่อไม่ผิดอาญา จึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายคดีโลกร้อนกว่า 1 ล้านบาท นอกจากนั้นเรื่องอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ อ้างว่าเป็นของจำเลยนั้นก็ไม่มีหลักฐานประจักษ์ชัดว่าเป็นของจำเลยจริง จึงต้องยกประโยชน์ให้จำเลย

นอกจากนั้น ศาลยังวินิจฉัยว่า การดำเนินการตามแนวทางโฉนดชุมชนของชุมชนบ้านแม่กวักตั้งแต่ปี 2556 นั้น เป็นการดำเนินการไปตามนโยบายของรัฐบาล ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 เป็นนโยบายที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจยึดพื้นที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล มิใช่ปฏิบัติตามดุลยพินิจของตนเอง

แผนที่แปลงตรวจยึด (ขอบสีแดง) ที่มีมากกว่าขอบเขตน้ำชี้ที่’วันหนึ่ง’ใช้ประโยชน์อยู่จริง (ขอบสีน้ำเงิน) ทั้งหมดอยู่นอกขอบเขตการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท

อย่างไรก็ตาม พนักงานอัยการจังหวัดลำปางก็ยังยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น มีจดหมายนัดให้’วันหนึ่ง’เข้ารับฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในวันที่ 8 กันยายน 2563 ณ ศาลจังหวัดลำปาง หลังใช้เวลาอ่านคำพิพากษากว่า 1 ชั่วโมง ศาลได้พิพากษาจำคุก’วันหนึ่ง’กับพวกรวม 2 คน 1 ปี ไม่รอลงอาญา รวมทั้งเรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนา และมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ จำเลยทั้งสองต้องใช้เงิน 48,000 บาท ในการซื้อหลักทรัพย์เพื่อประกันตนเอง โดยไม่รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมเลยแม้แต่น้อย อ้างว่า “คดีทวงคืนผืนป่าเป็นคดีนโยบาย เป็นเรื่องความมั่นคง”

ทั้งนี้ “ทวงคืนผืนป่า” ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2557 ผลกระทบก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ที่ว่า “การดําเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทํากิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดําเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกําหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดําเนินการ ตามขั้นตอนต่อไป” จะเห็นได้ว่า กรณีของบ้านแม่กวักเข้าข่ายการคุ้มครองตามคำสั่ง คสช. ที่ 66 ชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่นำมาปฏิบัติจริง

ใน 5 ปีให้หลัง สถิติคดีเกี่ยวกับการบุกรุกป่าไม้ของกรมป่าไม้และอุทยานแห่งชาติฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายเข้มข้นและไร้การตรวจสอบ โดยมีคดีบุกรุกป่าทั้งสิ้น 46,600 คดี จำแนกเป็นในพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ช่วง ต.ค. 2556 - ก.ย. 2561 จำนวน 34,804 คดี และกรมอุทยานฯ ช่วง ต.ค. 2556 - ก.ย.2562 มีจำนวน 11,796 คดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net