Skip to main content
sharethis

ในการเสวนา “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับการเมืองไทยร่วมสมัย” 2 นักวิชาการและ 1 นักศึกษาแลกเปลี่ยนมุมมองต่อการรัฐประหารของ คปค. เมื่อ 19 ก.ย.2549 ที่ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณในเวลานั้นและได้สร้างรอยร้าวลึกในสังคมการเมืองไทยจนนำมาสู่การรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 และสร้างปัญหาตามมามากมายจนนำมาสู่สถานการณ์ที่กำลังจะเกิดความเปลี่ยนโดยคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนกติกาทางการเมืองที่จะไม่นำไปสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้ง

16 ก.ย.2563 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเสวนา “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับการเมืองไทยร่วมสมัย” โดยมีนักวิชาการรัฐและนักศึกษาร่วมเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองต่อการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค.เมื่อ14 ปีที่แล้ว

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ภาคปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ในฐานะผู้ดำเนินรายการกล่าวนำถึงสถานการณ์ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร 2549 ว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่คนเชื่อว่าดีที่สุดและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุด ซึ่งในตอนนั้นก็มีทั้งฝ่ายที่เอากับไม่เอาแต่สุดท้ายก็ผ่านออกมาบังคับใช้ โดยที่รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกร่างมาให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็งและมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะก่อนหน้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นช่วงที่เป็นรัฐบาลผสมจากพรรคการเมืองที่ช่วงชิงแข่งขันแต่ไม่มีพรรคการเมืองใดที่ได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาดทำให้ไม่มีมีการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีกันมากและต้องกระจายที่นั่งให้ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่พึงปราถนา

การขึ้นสู่อำนาจของทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 ก็เป็นช่วงที่ทักษิณตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้แล้วก็มีการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารอย่างกว้างขวาง ซึ่งในขณะเดียวกันก็มีความท้าทายหลายส่วนทั้งการต่อสู้ของ3 จังหวัดชายแดนใต้ สงครามยาเสพติด หลายส่วนก็ทำให้เกิดข้อกังขาต่อการมีรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียว แล้ว 48 ไทยรักไทยก็ตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง แต่ก็มีข้อกังขาทางการเมืองสุดท้ายก็ถูกรัฐประหาร ซึ่งก็มีทั้งคนแปลกใจและไม่แปลกใจเนื่องจากเพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการผ่าทางตันทางการเมืองไทยจะนำไปสู่การรัฐประหารทั้งสิ้น แต่ที่น่าแปลกใจคือคนที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 และผลักดันรัฐธรรมนูญ 2540ก็เป็นคนที่ออกมาพลักดันให้เกิดการรัฐประหาร

รัฐประหาร 2549 จึงมีลักษณะหน้าสนใจที่เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดแล้วก็ซึ่งในมุมของนักรัฐศาสตร์ก็เห็นว่าเป็นการเสื่อมถอยทางการเมืองมากที่สุดครั้งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

ญาณิศา วรารักษพงศ์ นิสิตจากหลักสูตร Political and Global Studies รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าตอนเกิดรัฐประหาร 2549 ตนอายุราว 4-5 ขวบยังไม่รู้เรื่องเท่าไหร่ แต่รัฐประหารไม่ใช่อะไรที่เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วจบแต่ผลพวงของการรัฐประหารกระทบกับเรามาตลอดแต่อาจไม่รู้ตัว โดยเธออธิบายว่า ตอนเธอยังเรียนสมัยประถมที่โรงเรียนราชินีบนก็มีรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตอนอยู่ ป.6 ก้ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วก็มีทหารมาแทน

จนมาถึงมัธยมต้นก็ได้เห็นสิ่งต่างๆ ผ่านทางโซเชียลเนตเวิร์คซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นจากทั้งที่บ้าน โทรทัศน์หรือโรงเรียน ซึ่งก็มีการเซนเซอร์ตั้งแต่อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนทำให้มองไม่เห็นถึงเรื่องของการเมืองร่วมสมัยเลย ซึ่งมีอยู่แค่เรื่องในยุคสุโขทัย อยุธยา แล้วก็จบอยู่แค่ 2475 กว่าจะได้เรียนเรื่องการเมืองร่วมสมัยก็มัธยมปลายแล้ว ซึ่งไมได้มีรายละเอียดอะไรนอกจากบอกว่ามีเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างรู้ชื่อเหตุการณ์ ไม่ได้รู้ว่าแต่ละคนในประวัติศาสตร์มีแนวคิดอย่างไรและส่งผลอย่างไรและได้ทำความเข้าใจกับมัน เราไม่ได้รู้ว่า คณะราษฎรทำไมถึงทำปฏิวัติ ไม่ได้มีโอกาสถกเถียงวิเคราะห์ ทำให้นักเรียนไม่เห็นความสำคัญของประชาธิปไตยและไม่รู้ถึงความร้ายแรงของการรัฐประหารและการละเมิดสิทที่เกิดขึ้นไม่รู้ว่ามีนักกิจกรรมถูกอุ้มหาย ถูกจับ ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาต่างๆ ที่ไม่ชอบธรรม ทำให้เรามองการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวทั้งที่ส่งผลกระทบกับเราโดยตรงทั้งที่เราก็เป็นประชาชนเหมือนกัน

ญาณิศาจากการที่เข้าถึงอินเตอร์เนททำให้เราได้ฟังเสียงจากด้านนอกแล้วก็ได้รู้ว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาในประวัติศาสตร์ไทยไม่ใช่เรื่องปกติแล้วก็เป็นอาการของบางสิ่งที่รุนแรงกว่าเหมือนกับโรคร้าย เท่าที่ฟังเพื่อนและพี่ก็เปิดตามาเพราะการหากันเอาเองจากหนังสือนอกบทเรียนและอินเตอร์เนตไม่ใช่ได้มาจากการศึกษาในระบบ และบวกกับอาการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ระบบอุปถัมป์ ซึ่งเด็กๆ ก็เห็นตั้งแต่ตอนเข้าโรงเรียนเห็นคนที่ได้โอกาสมากกว่าและก็ได้เห็นคนที่ถูกกดทับทำให้เราเอะใจแล้วก็ได้หันมามองที่ค่อยๆกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวทั้งในมหาวิทยาลัยและมัธยม ซึ่งก็ต้องค่อยๆ รักษาอาการของโรคร้าย โรคแห่งความไม่เป็นประชาธิปไตย โรคของการมองเห็นคนไม่เท่ากัน

“ขบวนการของนักเรียนนักศึกษาในช่วงนี้เราไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพราะต้องการเปลี่ยนผู้เล่นในเกม แต่เรากำลังจะเปลี่ยนเกม เราต้องการจะเปลี่ยนเกม ถ้าเราพยายามรักษาแต่อาการเรื่อยๆ โรคก็ไม่หายต้องไปที่ต้นตอ รัฐบาลนี้หรือการรัฐประหารครั้งล่าสุด หรือถ้าเกิดมีการรัฐประหารอีกในอนาคตมันก็เป็นแค่อาการที่มันเกิดจากสิ่งที่ใหญ่กว่า เห็นได้ทั้งจาก3 ข้อเรียกร้องของประชาชนปลดแอกและองค์กรอื่นๆ ที่มาสนับสนุน ที่ให้หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา แก้รัฐธรรมนูญ ตรงนี้คือการพยายามเปิดทางหาวิธีไปเพื่อเปลี่ยนเกมและรักษาตัวโรคไม่ใช่แค่อาการ” ญาณิศากล่าว

ญาณิศากล่าวต่ออีกว่าในการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเห็นมาตรฐานใหม่ๆ ภายในขบวนการ ทั้งเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และชนชั้น จะเห็นตั้งแต่ของเสรีเทยพลัส ผู้หญิงปลดแอก เวทีของฝั่งแรงงาน การสร้างมาตรฐานใหม่เหล่านี้เพื่อเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นจริงๆ ถึงแม้ว่าเยาวชนยุคนี้จะเกิดไม่ทันรู้เรื่องรัฐประหารทั้งรอบ 49 และ 57แต่การมองย้อนกลับไปและมองจากข้างนอกเข้ามาเพราะโลกาภิวัฒน์ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นและหลุดออกไปจากกรอบเดิม

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากภาคปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย นำเสนอข้อมูลการรัฐประหารที่เกิดขึ้นทั้งโลกตั้งแต่ 1946 เป็นต้นมาและชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีการรัฐประหารเป็นระยะและมีเยอะมาก และในการรัฐประหารเมื่อ 2549นอกจากไทยแล้วก็ยังมีความพยายามอยู่หลายที่ ซึ่งในความเห็นของเขาการรัฐประหาร 2549 ได้ทำให้พลเมืองกลายเป็นไพร่

พิชญ์เริ่มเล่าถึงการรัฐประหารครั้งนั้นเริ่มจากเรื่องแรก มันมีการพูดถึงเสมอเหมือนเป็นวันเด็กแห่งชาติซึ่งคำนี้มันใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ถ้าสมมติว่าเกิดรัฐประหารพรุ่งนี้ แล้วการเปรียบเปรยแบบนี้ก็ไม่แน่ใจว่าเด็กสมัยนี้จะยังต้องการวันเด็กแห่งชาติแบบนี้อีกไหม

พิชญ์เล่าย้อนทบทวนถึงเรื่องที่สองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือการคาดการณ์ว่าจะเกิดรัฐประหาร 2549ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เมื่อเปรียบเทียบกับทุกวันนี้เพราะตอนนั้นไทยห่างการรัฐประหารมาเป็นสิบกว่าปีโดยครั้งก่อนหน้าคือปี 2534 ถือเป็นเวลายาวนานมาก จนกระทั่งกลายเป็นประเทศตัวอย่างที่ประชาธิปไตยตั้งมั่นขึ้นมาได้ แต่การรัฐประหารครั้ง 2549 ถูกอธิบายเป็นอุบัติเหตุ

แต่พิชญ์ยืนยันว่าการรัฐประหาร 2549 ไม่ใช่อุบัติเหตุเพราะเสถียรภาพของประเทศสั่นคลอนและมีความขัดแย้งที่ร้าวลึกนับมาตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 มาตลอด จึงไม่สามารถอธิบายด้วยการบอกว่าเป็นเพียงอุบัติเหตุทางการเมืองหรือแม้กระทั่งเป็นความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำคงมีคนน้อยคนที่ปฏิเสธว่าผลพวและเงื่อนไขของการรัฐประหารครั้งนั้นหายไปจากสังคมไทย จึงไม่ซื้อคำอธิบายที่ความขัดแย้งในวันนี้ไม่เกี่ยวข้องหรือพ้นไปจากการรัฐประหาร 2549 แล้ว

พิชญ์เล่าเรื่องที่สามว่าการทำรัฐประหาร 2549เกิดในห้วงที่เศรษฐกิจดี แต่ก็มีหลายครั้งเกิดในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ดังนั้นข้ออ้างของการรัฐประหาร 2549 ว่ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพจึงไม่ใช่เหตุผล ทำให้นำไปสู่เรื่องที่สี่คือการต้านโกงจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ ซึ่งสภาวะที่เรียกว่าระบอบทักษิณส่งผลกว้างขวางในระดับประเทศมีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์ในเหตุการณ์เหล่านั้น แต่กำเนิดของการเมืองคนดีมันมีความชัดเจนมาก การรัฐประหาร 2534ไม่มีวาทกรรมเรื่องคนดี

ต่อมาประเด็นที่ห้าการรัฐประหาร 2549 ถูกขับเคลื่อนและมีการออกบัตรเชิญด้วยจากมวลชนขนาดใหญ่ในสังคมไทยแล้วแย่งชิงความชอบธรรมทางการเมืองจากมวลชนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่วาทกรรมเรื่องเสียงข้างมากมักจะใช้ไม่ได้ในการเมืองจริงๆ เพราะว่ามีงานสังคมวิทยาชิ้นหนึ่งเคยอธิบายไว้ว่าความสำคัญไม่ใช่จำนวนแต่อยู่ที่คุณภาพของกลุ่ม หมายความว่าแข็งแกร่งมากกว่ามีทรัพยากรมากกว่ามีการผนึกเครือข่ายได้ดีกว่ากลุ่มนั้นจะมีอิทธิพลมากกว่า ดังนั้นโดยจำนวนจึงไม่ได้ทำให้มีความชอบธรรมทางการเมือง ไม่ว่าจะนับหัวเสื้อเหลืองหรือ กปปส. ก็จะเห็นว่ามีจำนวนน้อยกว่าจำนวนคนเลือกตั้ง แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้แปลว่าคนที่มีจำนวนมากจะสามารถขับเคลื่อนพลังทางการเมืองจนมีผลกระทบต่อสังคมได้เท่ากับกลุ่มคนที่มีการจัดตั้งมา

พิชญ์อธิบายประเด็นนี้ต่อว่าการรัฐประหาร 2549 จึงกลายเป้นต้นแบบในการรัฐประหารครั้งต่อมา วง่าจะต้องมีการขับเคลื่อนมวลชนจะต้องมีการออกบัตรเชิญ มีเงื่อนไขใหม่ๆ เข้ามาในสังคม เป็นเรื่องที่สำคัญของการรัฐประหารในครั้งนั้น

พิชญ์เล่าถึงข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการรัฐประหาร 2549 คือเรื่องทหารกับพลเรือน หรือที่เรียกว่าทหารอาชีพซึ่งนักวิชาการไทบส่วนใหญ่เชื่อตามฮันติงตันที่ว่าทหารอาชีพจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่แทรกแซงการเมือง การป้องกันไม่ให้ทหารแทรกแซงการเมืองคือการจัดความสัมพันธ์ให้พลเรือนมีอำนาจเหนือทหาร แล้วนักวิชาการไทยก็ออกแบบองค์กรให้ทหารอยู่ใต้พลเรือนแต่ทุกวันนี้ก็ยังพูดไม่ได้ทหารยังอยู่ใต้พลเรือนไม่ได้

พิชญ์ยกประเด็นของไฟเนอร์ ตั้งคำถามต่อแนวคิดของฮันติงตันว่า จริงหรือไม่ว่าความเป็นทหารอาชีพจะทำให้ทหารไม่มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ในขณะที่ไฟเนอร์เสนอคือเมื่อทหารแบ่งแยกความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมืองและต่อรัฐบาลออกจากกันทำให้ทหารเริ่มสถาปนาแนวคิดของตัวเองเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติและเริ่มแทรกแซงการเมือง นอกจากนี้ความเป้นทหารอาชีพนี้ยังทำให้ทหารแทรกแซงทางการเมืองเพราะทหารอาชีพจะมั่นใจในมุมมองของตัวเองในการปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งเชื่อมโยงความเข้าใจของทหารกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้พวกเขาไม่พอใจถ้าการทำงานอิสระของทหารถูกแทรกแซง

“ทหารอาชีพในเมืองไทยคือทหารที่ชำนาญในการทำรัฐประหารเป็นอาชีพ” พิชญ์เสนอและอธิบายต่อว่าหากสังเกตจะเห็นว่าในช่วงแรกก่อนทำรัฐประหารทหารจะพยายามบอกว่าไม่ทำรัฐประหารเพราะเป็นทหารอาชีพและความหวังของประชาชนจะไปอยู่ที่ทหารแล้วหลังจากนั้นทหารก็จะมีความชอบธรรมในฐานะผู้ปกป้องชาติและสถาบัน

พิชญ์อธิบายต่อว่าในการรัฐประหารครั้งใหม่ๆ จะมีบัตรเชิญโดยมวลชนและปัญญาชน และทหารก็ต้องแสดงออกถึงความเป็นทหารอาชีพ คำถามคือจะดูสัญญาณการรัฐประหารอย่างไร พิชญ์กล่าวในประเด็นนี้ว่า “ประยุทธ์บอกแน่นอนว่าไม่ทำรัฐประหาร สนธิก็ไม่ทำแน่ สุจินดาก็หัวเราะเล่นแล้วก็บอกถ้าอยากให้ทำรัฐประหารก็ส่งไปรษณีย์มา ไม่มีใครคิดว่าบิ๊กแดงจะทำรัฐประหาร แต่ในขณะเดียวกันถ้าใช้บทเรียนของสนธิ คุณก็ไม่รู้ว่าบิ๊กแดงจะทำรัฐประหารเนี่ย บิ๊กแดงทำเองหรือว่าพูดไปก็ไม่ได้ แต่สมัยนี้ทุกคนอาจจะบอกว่าไม่ต้องพูดก็รู้”

พิชญ์กล่าวถึงปัจจัยสำคัญของการรัฐประหาร 2549 อีกว่า มีปัญญาชนฝ่ายสนับสนุนออกมาอธิบายและสร้างความชอบธรรมอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าก่อนเกิดการรัฐประหาร 2549 ได้เกิดขบวนการทางปัญญาใหญ่โตขนาดนี้หรือไม่ โดยอธิบายว่าเป็นเงื่อนไขที่ทำได้เพราะไม่ได้เป็นการ รัฐประหาร แต่เป็นการรักษาประชาธิปไตย ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะถูกทักษิณฉีกไปแล้ว และอีกคำอะบายที่สำคัญเปรียบเทียบกับการรัฐประหารของโปรตุเกสเมื่อค.ศ. 1974 เพราะสำหรับนักรัฐศาสตร์แล้วการรัฐประหารครั้งนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสประชาธิปไตยระลอกที่สามซึ่งมันก็จริง

พิชญ์กล่าวว่าเหตุการณ์ของโปรตุเกศเป็น “An Inconvenient Truth” ของนักรัฐศาสตร์ว่าการรัฐประหารทุกครั้งไม่ได้นำไปสู่เผด็จการ การรัฐประหารในโปรตุเกสครั้งเริ่มจากทหารกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาปฏิวัติเผด็จการที่ครองอำนาจมาประมาณ 30-50 ปี และเขาอธิบายในรายละเอียดว่า “มันมีเงื่อนไขมากกว่านั้นเพราะนายพลคนนั้นมันเป็นนายพลฝ่ายก้าวหน้าแล้วถูกส่งไปรบในแอฟริกาแล้วหลังจากนั้นมันก็ถูกปลดเพราะมันวิจารณ์นโยบายของรัฐ หลังจากนั้นกองทัพมันก็ออกมาร่วมกับประชาชนแล้วหลังจากนั้นทหารก็ออกมาปกป้องทำให้การเปลี่ยนแปลงกลับสู่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้แล้วทหารก็ถอย”

พิชญ์กล่าวว่าประเด็นคือมีการพยายามหาตัวอย่างแบบนี้ถึงกระทั่งการย้อนไปวิจารณ์ว่าการปฏิวัติ 2475 ก็เป้นการัฐประหารครั้งแรกของไทย ทำไมถึงจะเป็นไปไม่ได้ที่ทำให้การรัฐประหารจะนำมาสู่ประชาธิปไตยได้

พิชญ์กล่าวถึงประเด็นสุดท้ายว่าในการทำรัฐประหารครั้งนั้นที่คนสนับสนุนเรียกกันว่าเป็นการรัฐประหารที่เสียของ เพราะไม่ได้ปราบปรามนักศึกษาและยังให้ชุมนุมประท้วงการรัฐประหารได้ทันที และไม่มีการจัดการนักศึกษาในมหาวิทยาลัย คือเป็นเงื่อนไขว่าไม่ใช่รัฐประหารเพื่อเป็นเผด็จการเพราะมีเงื่อนไขชัดเจนว่าจะอยู่ไม่นานแล้วก็มีการร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็คืออำนาจภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นรูปแบบปกติของรัฐประหารไทย ไม่ใช่แบบอยู่ยาว

พิชญ์กล่าวถึงงานของ ปิยบุตร แสงกนกกุลที่ศึกษาการรัฐประหาร ที่สถาบันตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องกับ รัฐประหารอย่างชัดเจนและสามารถย้อนไปถึงการรัฐประหารในปี 2490 ที่ไม่ได้ทำสำเร็จด้วยกำลังทหารอย่างเดียวแต่เป็นจุดตั้งต้นที่มีคำพิพากษาหลังการทำรัฐประหารหลายปีว่าการรัฐประหารเบื้องแรกผิดกฎหมาย แต่เมื่อรัฐประหารสำเร็จคณะรัฐประหารจึงกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ทำให้คำสั่งจึงชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารเขียนขึ้นมาใหม่เอง คำอธิบายเรื่องการรัฐประหารจึงมีสถาบันตุลาการเพิ่มเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ทำให้การล้มล้างผลพวงรัฐประหารจนเกิดขึ้นเป็นอเจนด้าของพรรคการเมืองและประชาชนที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่จึงชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าถ้าจะต้องจ่อสู้ทางการเมืองจึงไม่ใช่เฉพาะการตั้งระบอบประชาธิปไตย แต่มันเข้าไปมีเงื่อนไขทางศาลและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาตลอด

พิชญ์จึงตั้งคำถามอีกว่าเมื่อการรัฐประหารเป็นผลสำเร็จแล้วคณะรัฐประหารกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ อะไรคือช่วงเวลาที่คณะรัฐประหารได้ยึดครองอำนาจเป็นผลสำเร็จและสถาปนาอำนาจของตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงต้นของการรัฐประหารปี 2557 พล.อ.ประวิตรมักจะพูดว่าตอนนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว คำถามคือรัฏฐาธิปัตย์คืออะไร มีอะไรที่ทำให้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้บ้าง

สุรชาติ บำรุงสุข ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัยเปรียบเทียบกับการรัฐประหารในประเทศไทยกับสถานการณ์การเมืองโลกในแต่ละยุคสมัยว่าการรัฐประหารของไทยเมื่อ 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งแรกของไทยในยุคสงครามเย็นและการรัฐประหารครั้งแรกหลังสงครามเย็นคือพ.ศ.2534 และขณะเดียวกันการรัฐประหารเมื่อ 2549 ก็เป็นครั้งแรกของการเมืองไทยศตวรรษที่ 21

สุรชาติลำดับเวลาก่อนการรัฐประหาร 2549 ก็จะเห็นช่วงเวลาอีกแบบหนึ่งถ้าตัดช่วงเวลาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 แล้วหลังจากนนั้นก็มีพรรคไทยรักไทย 2544 แล้วปี 2548 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เกิดขึ้น แล้ว 2549 ก็มีการรัฐประหาร พอปี 2554 ก็จะเห็นเห็นกลุ่มอำนาจที่ถูกล้มไปตอนรัฐประหาร 2549 และจากนั้นเราเห็นปี 2556 กปปส.ก็เกิดแล้ว 2557 เกิดรัฐประหารอีกครั้ง จนกระทั่ง 2563ก็ได้เห็นการกำเนิดของม็อบเยาวชน

สุรชาติอธิบายว่าถ้าเอาตารางเวลาการรัฐประหารของไทยเทียบกับเวทีโลกแล้วคู่กับตารางเวลาที่มีเส้นแบ่งอยู่ที่ 2540 จะมีโจทย์ซ้อนกันหลายอย่างคือเป็นการสู้กันระหว่างพลังสองข้างของการเมืองไทยที่สู้กันไม่จบระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม การรัฐประหาร 2549เปิดโจทย์การเมืองอีกแบบหนึ่งและรูปแบบการรัฐประหารที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่แค่เรื่องใครคุมกำลังทหาร

สุรชาติกล่าวต่อว่าการรัฐประหาร 2549 เมื่อทหารไทยได้รับการสนับสนุนจากอนุรักษนิยมแล้วตัดสินใจทำรัฐประหารในศตวรรษนี้โลกเปลี่ยนมากกว่าที่พวกเขาคิดเยอะแล้วถ้าย้อนไปรัฐประหาร 2534 ที่เกิดขึ้นหลังสงครามเย็นจบไปแล้วจึงไม่มีปัจจัยระหว่างประเทศรองรับ แต่ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นจะเห็นว่าข้ออ้างในการรัฐประหารเป็นเรื่องการปราบคอมมิวนิสต์ จึงเป็นคำอธิบายว่าทำไมต้องได้รับการสนับสนุนจากปัญญาชน

สุรชาติกล่าวถึงจุดสังเกตอีกประเด็นคือฝ่ายขวาไทยเริ่มใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่โดยจะเห็นได้จากตัววิ่งในสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งตลอดเวลาซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งในการสร้างแรงกระตุ้นให้ทำรัฐประหาร

สุรชาติอธิบายว่าการรัฐประหาร 2549 ถือเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายอนุรักษนิยม เนื่องจากถ้าย้อนดู ความเห็นของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ2540จะเห็นว่าเขาไม่คิดว่าระบบสองพรรคการเมืองจะเกิดเร็ว คิดว่ารัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสมแบบเบี้ยหัวแตกเหมือนในอดีต แต่พอไทยรักไทยเกิดมันเป้นชัยชนะของการเมืองอีกชุดหนึ่งและการเข้าสู่อำนาจของไทยรักไทยมาพร้อมกับยุทธศาสตร์และนโยบายใหม่ใหม่ และเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองชนะได้เสียงข้างมากในสภา ซึ่งฝ่ายที่รับไม่ได้ก็สร้างวาทกรรมเผด็จการรัฐสภาซึ่งเป็นคำที่ไม่สามรถอธิบายไม่ได้เพราะระบบรัฐสภาเป็นเสียงข้างมาก

สุรชาติกล่าวต่อว่าการรัฐประหาร 2549 ด้านหนึ่งเป็นชัยชนะของอนุรักษนิยมที่ต้องการคุมความเปลี่ยนแปลงหลังจากไทยรักไทยเข้าสู่อำนาจ แต่ในชัยชนะของกลุ่มอนุรักษนิยมชุดนี้กลับสะท้อนความพ่ายแพ้ของอนุรักษนิยมเองที่สู้ในระบบการเมืองรัฐสภาไม่ได้ สุรชาติตั้งสมมติฐานว่าการรัฐประหาร 2549 จะไม่เกิดถ้าพรรคการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมชนะในการเลือกตั้ง 2544 ซึ่งในการเมืองไทยเป็นการสู้กันระหว่างพลังใหม่และพลังเก่าแล้วพลังสองชุดนี้สู้กันด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

สุรชาติกล่าวว่าในขณะที่การรัฐประหาร 2549 ที่ทำแล้วยังไม่สะเด็ดน้ำ พอการเลือกตั้ง 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ชนะเลือกตั้งอีกทำให้คนมีความรู้สึกว่าการรัฐประหาร 2549 นั้นเสียของ แต่จริงๆ ในตอนนั้นมีเงื่อนไขต่างประเทศที่กดดันมากที่ไม่ให้รัฐประหารอยู่นานและต้องออกจากการรัฐประหาร เพราะในช่วงนั้น ตะวันตกประกาศเตรียมจะกดดันรัฐบาลทหารในเมียนมาร์อยู่ด้วยแต่เกิดรัฐประหารในไทยเสียก่อนจะเห็นว่าตะวันตกคาดหวังว่าการรัฐประหาร 2549 จะเป็นครั้งสุดท้ายของไทยได้หรือไม่เพื่อที่รัฐบาลตะวันตกจะไม่ต้องแบกรับภาระที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร เมื่อปีกอนุรักษนิยมคุมการเมืองไม่ได้อีกครั้งในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ทำให้เกิดกลุ่ม กปปส. และการรัฐประหาร 2557 ตามมา

สุรชาติกล่าวว่าการรัฐประหารทั้งสองครั้งจะเห็นว่าพลังที่ทำให้เกิดการรัฐประหารไม่ได้เกิดจากทหารแต่เป็นพลังในสังคม ในเมื่อเป็นแบบนี้การรัฐประหารทั้งสองครั้งล่าสุดเหมือนฝั่งอนุรักษนิยมพยายามควบคุมสังคมไทยให้ได้

สุรชาติเสนอว่าการรัฐประหาร 2549 และ 2557 เป็นการรวมอำนาจในด้านตรงข้ามของฝ่ายประชาธิปไตย เมื่อพูดถึงการตั้งมั่นของประชาธิปไตยจะพูดถึงการสร้างความเข้มแข็งเพื่อทำให้ประชาธิปไตยเป็นกติกาเดียวในการต่อสู้กันของระบบการเมือง แต่ในการเมืองไทยกลับเป็นการสร้างความเข้มแข็งของฝั่งอำนาจนิยมให้เข้มแข็งขึ้นซึ่งการสร้างความเข้มแข็งของฝ่ายอนุรักษนิยมตอนนี้ก็ต่างกับยุคเก่า เพราะการรวมอำนาจในระบบเดิมใช้กองทัพเป็นศูนย์กลาง แต่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้อำนาจทหารเป็นศูนย์กลางทั้งหมด แต่เป็นฝ่ายขวาในการเมืองไทย

สุรชาติยังกล่าวต่ออีกว่าตั้งแต่ 2549 ฝ่ายขวาไทยมีลักษณะจารีตนิยมมากขึ้นแล้วก็อนุรักษนิยมสุดโต่งมากขึ้น เรากำลังเริ่มเห็นการสร้างบ้านของปีกขวาจัดของไทยที่เป็นกลุ่มอำนาจนิยมอีกแบบหนึ่งโดยเปรียบเทียบกับบ้านที่มี 4 เสา 3 จั่ว 2 คาน 1 พื้น โดยเสาทั้งสี่คือ อนุรักษนิยม จารีตนิยม เสนานิยม ทุนนิยม สามจั่วคือ อุดมการณ์ที่เห็นตั้งแต่ 2519 ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สองคานคือ เสนาธิปไตย และตุลาการธิปไตย

สุรชาติยังอธิบายเพิ่มในส่วนของ 2 คานว่า เผด็จการในระบบการเมืองไทยมีลักษณะที่เป็นเสนาธิปไตยและในความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในศตวรรษที่ 21 เรายังเห็นตุลาการธิปไตยเข้ามามีบทบาทด้วย โดยเห็นได้จากวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาคือตุลาการภิวัตน์ ส่วนพื้นบ้านสุรชาติระบุว่าคือกลุ่มชนชั้นกลางที่เป็นปีกขวา

สุรชาติอธิบายต่อว่าการในการรัฐประหาร 2549การไม่ตอบรับของทางตะวันตกอาจจะไม่ชัด แต่กรณีของ 2557 จะเห็นชัดว่าตะวันตกไม่ตอบรับการรัฐประหารที่กรุงเทพแต่เสียงตอบรับกลับมาจากปักกิ่ง หลังพิงของการรัฐประหารในปี 1988 ที่เมียนมาร์คือปักกิ่ง จึงอาจจะต้องกลับไปศึกษาบทเรียนที่เกิดกับกองทัพเมียนมาร์หลังการรัฐประหารในปี 1988

จากนั้นสุรชาติได้กล่าวถึงขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาที่กลับมาอีกครั้งหลังจากหายไปตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970กำลังจะเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทย ซึ่งการเกิดขึ้นครั้งนี้การเมืองไทยกำลังถูกท้าทายใหญ่จากโควิด-19 เราเห็นคนไทยตกงานอย่างเร็วและถาวรซึ่งขึ้นอยู่กับการประเมินของที่ไหน และเศรษฐกิจไทยที่กำลังซบเซามากกว่าที่เห็น และอาจมีการระบาดรอบ 2 เหมือนหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งสถานการณ์นี้ซ้อนอยู่ในการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่

สุรชาติไล่เส้นเวลาการเคลื่อนไหวประท้วงในต่างประเทศตั้งแต่ 2010 คือการประท้วงในตูนิเซีย และ 2011 เห็นการประท้วงใหญ่ในอียิปต์ ทั้งสองครั้งเป็นจุดเริ่มต้นของอาหรับสปริง ซึ่งจะเห็นคนรุ่นใหม่โดยมีคนรุ่นเก่าไปร่วม และจะเห็นการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ด้วย จนสื่อต่างประเทศเรียกการประท้วงที่อียิปต์หรืออาหรับสปริงว่าการปฏิวัติทวิตเตอร์หรือการปฏิวัติเฟซบุ๊ก

สุรชาติกล่าวต่ออีกว่าอาหรับสปริง การเคลื่อนไหวประท้วงในแอฟริกาและบางประเทศในตะวันออกกลางเป็นม็อบทางเศรษฐกิจแต่จะมีแค่ของฮ่องกงที่เป็นเรื่องการเมืองมากๆ ทั้งหมดจะเห็นบทบาทของคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง

สุรชาติได้เปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่รอบนี้ว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างคนรุ่นสองจีกับห้าจี โดยคนสองจีคือกลุ่มรุ่นเก่าที่โปรทหาร กับคนห้าจีที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่เอาทหาร ถ้าดูการชุมนุมเมื่อ 16 สิงหาคมที่คนหลายรุ่นเข้ามารวม และในการชุมนุมครั้งนี้ยังมีประเด็นเรื่องเพศสภาพของคนในโลกที่เปลี่ยนแปลง และในประเด็นความมั่นคงยังมีเรื่อของ 3 จังหวัดชายแดนใต้อีกด้วย

สุรชาติตั้งสองคำถาม คำถามแรก จะทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยโดยไม่มีความรุนแรง และคำถามที่สอง ถ้าการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นได้จริงจะออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร เพราะ รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่มีปัญหาและไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อประชาชน ซึ่งนักการเมืองพรรคพลังประชารัฐก็เป็นคนพูดเรื่องนี้เอง การออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่และการออกแบบกติการทางการเมืองใหม่จึงสำคัญมาก

คำถามที่สามคือแล้วจะออกแบบสถาบันทางการเมืองบางส่วนใหม่อย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด เพราะเป็นโจทย์ที่หนีไม่พ้น ไม่สามารถใช้สถาบันการเมืองเก่ามารองรับต่อสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงชุดใหม่ได้

คำถามที่สี่ทำอย่างไรจึงจะล้างอิทธิพลระบอบเผด็จการในการเมืองไทยที่ตกค้าง เพราะสมัยก่อนรัฐบาลใหม่ก็จะออกกฎหมายมายกเลิกคำสั่งของคณะรัฐประหารทั้งหมด ถ้าไม่ล้างการออกแบบกติกาใหม่ และการสร้างสถาบันการเมืองใหม่จะไม่มีประโยชน์เลยเพราะจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ในการเมืองชุดใหม่

คำถามสุดท้ายคือ ทำอย่างไรให้กลไกทางการเมืองในอนาคตตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชน ซึ่งเห็นได้จากการระบาดของโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบขนาดใหญ่

สุรชาติมีข้อเสนอ สองประเด็น คือ หนึ่ง ต้องตัดสินใจร่วมกันโดยฝ่ายประชาธิปไตยต้องเปิดใจรับฝ่ายขวาที่ไม่ใช่ขวาจัดเข้าร่วมด้วยเพื่อเห็นอนาคตร่วมกัน วันนี้ถึงทุกฝ่ายต้องผลักดันประชาธิปไตยไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยหวังว่าจะเป็นการสร้างการเมืองใหม่ สอง ต้องปฏิรูปสี่อย่าง ทหาร ตำรวจ สถาบันยุติธรรมและองค์กรอิสระ

สุรชาติจึงเห็นว่าข้อเรียกร้องของแนวร่วมปลดแอกคือบานประตูแรกที่เปิดออก ต้องแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะไปอย่างไรไม่ใช่คำตอบแล้ว วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องคิดเรื่องอนาคตของสังคมที่พวกเราต้องอยู่ด้วยกันและต้องกล้าตัดสินใจออกแบบระบอบการเมืองที่เอื้อให้เราอยู่ด้วยกันและเดินไปสู่อนาคตที่ดีกว่า

ในช่วงที่สองของการเสวนา ญาณิศากล่าวว่าแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะเกิดไม่ทันการเมืองสีเสื้อหรือการรัฐประหาร 2549 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่หล่อหลอมคนรุ่นนี้มา เราโตมาเสียงแบ็กกราวด์เป็นช่องการเมือง หรือมีผู้ปครองเป็นเสื้อแดงหรือเสื้อเหลืองหลายคนทัรับข้อมูลด้านเดียวตลอด หรือคนแม้แต่คนที่ไม่อินการเมืองเท่าไหร่ก็หนีวาทกรรมชุดหนึ่งที่สร้างมาตั้งแต่การชุมนุมของพันธมิตรฯ หรือหลังการรัฐประหาร 2549 แล้วก็เข้ามาอยู่ในโรงเรียนทั้งในหลักสูตรหรือความคิดเห็นของครู ซึ่งสำหรับเด็กก็ที่น่าเชื่อถือและมีอำนาจมากๆ และจมกับอยู่สิ่งนี้

นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมและค่านิยมที่ตกค้างที่อยู่เป็นบรรทัดฐานที่ถูกสร้างมาจากอำนาจนิยมที่มากับเผด็จการและการรัฐประหารต่างๆ ขนาดรัฐยังละเมิดสิทธิมุนษยชนได้ พอมันย้อนกลับมาในบ้านหรือโรงเรียนการละเมิดสิทธิต่างๆ ยังถูกทำให้เป็นเรื่องปกติยอมรับได้และควรทำด้วยซ้ำ สำหรับคนที่เกิดปี 2000หรืออาจย้อนได้ถึงปีช่วงปี 1990 เราโดนกดทับมาตลอดทั้งสิทธิร่างกายทั่วไป แสดงออกหรือเสรีภาพความเท่าเทียมมทางเพศ เป็นสิ่งที่เราถูกกดทับโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นสิ่งที่มาจากการเมืองภาพใหญ่

ญาณิศากล่าวว่าตามที่สุรชาติกล่าวถึงการต่อสู้ของคนยุคห้าจีมันไม่ใช่มีแค่เด็กรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า แต่เป็นการต่อสู้ของฝ่ายเสรีนิยมกว่าและอนุรักษนิยม แต่ก่อนหน้านี้คืออนุรักษนิมผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ แล้วมาบังคับปลูกฝังเด็กที่เกิดขึ้นมาแล้วใส่ความอนุรักษนิยมลงไปเลย ทำให้พอเด็กโตมาขั้นหนึ่งแล้วรู้ตัวทำให้โมเมนตัมมันเหวี่ยงกลับมาแรงขึ้นทำให้เขาออกมาเคลื่อนไหว แล้วพอเขาเหวี่ยงกลับมาเขาก็เริ่มไปจับมือกับผู้ใหญ่ที่เป็นเสรีนิยมกลุ่มเดิมที่เคยไม่ได้รับการสนับสนุนหรือเคยต้องหลบไป

ญาณิศาอธิบายว่า แม้ว่าเด็กหลายคนจะพูดว่าการเมืองสีเสื้อมันเก่าไปแล้ว แต่ก็ยังมีความเกี่ยวข้องอยู่ดีไม่ว่าคนเสื้อแดงเองที่เยาวชนเริ่มเปิดใจแล้วก็พูดถึงมากขึ้นกันในโลกออนไลน์ว่ามันมีคนที่มาก่อนและโดนมาก่อน อย่างคนเสื้อแดงที่เราจะเห็นในการชุมนุมที่อนุสรณ์สถาน 14ตุลาฯ ก็มีคนเสื้อแดงออกมาพูดสื่อสารกับเยาวชนโดยตรงที่ขอโทษว่าเคยดูถูกเยาวชนที่ไม่สนใจการเมือง จะเห็นว่าสุดท้ายคนก็มาบรรจบกัน คนจากการเมืองสีเสื้อก็มาหาเยาวชน เยาวชนเองก็กลับไปหาคนจากยุคนั้นซึ่งแยกกันไม่ออก

ญาณิศาเล่าถึงความเคลื่อนไหวของนักเรียนว่าจริงๆ แล้วมีความเคลื่อนไหวต่อต้านตั้งแต่เริ่มมีการนำค่านิยม 12 ประการเข้ามาในโรงเรียนแล้วแต่ยังไม่ได้มีเสียงสนับสนุนมากเท่าไหร่แต่เป็นการค่อยๆ ขยับ จะเห็นคนที่ต่อต้านค่านิยมสิบสองประการ มีคนที่ส่งกระดาษเปล่าในวิชาหน้าที่พลเมือง แม้ว่าจะยังไม่เยอะเท่าเวลานี้แต่ก็มีการสะสมมาเรื่อยๆ และแม้ว่าเด็กยุคนี้จะเป็นผลผลิตจากการเมืองยุคสีเสื้อหรือตอน กปปส. ที่เด็กถูกบังคับให้ไปชุมนุมแม้ว่าจะยังไม่มีความรู้ทางการเมือง แต่การรับข่าวสารเกี่ยวกับการเมืองของต่างประเทศก็มีการแลกเปลี่ยนกันมีการรับความคิดจากข้างนอกมาด้วยซึ่งเห็นว่าส่งผลมากๆ กับเยาวชน เธอยกตัวอย่างกรณีพันธมิตรชานม ที่เริ่มมาจากเพียงแค่แฟนคลับละครวาย(ชายรักชาย) ทะเลาะกัน จึงกลายเป็นเรื่องหนีไม่พ้นเพราะว่าเขาดูละครกันอยู่ดีๆ ก็มีการเมืองเข้ามา ความคิดจากข้างนอกทำให้เขาแข็งแรงขึ้นด้วยทำให้พวกเขามีอุดมการณ์และหลายเรื่องที่คุยกันก็ถึงรากมากขึ้น มีการพูดถึงสังคมนิยม เรื่องเพศ ชนชั้น เชื้อชาติ

ญาณิศามันถึงจุดนึงที่เราจะต้องประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษนิยมที่พูดคุยได้ แต่ส่วนตัวแล้วถ้าดูจากหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวตอนนี้มันยังมีการทะเลาะกันในฝ่ายประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเยาวชนหรือคนทั่วไปเองด้วยหัวข้อที่หลากหลายมากขึ้นมีเรื่องที่ขัดแย้งกันมากขึ้น หลายคนก็รู้สึกว่าถ้าไปไม่สุดทางแล้วยังยอมประนีประนอมแม้แต่กับคนที่ตกลงกันเรื่องประชาธิปไตยแต่ในมิติอื่นยังไม่ตรงกันเสียทีเดียว หลายคนก็มองว่าถึงจะไปถึงจุดหมายได้ก็ย้อนกลับมาที่เดิมอยู่ดี จึงมองว่าการตกลงกันอะไรหลายอย่างอาจจะยากขึ้นแต่ว่าอาจจะต้องรอดูว่าแนวโน้มจะไปทางไหน การเคลื่อนไหวครั้งนี้มันมีประเด็นหลากหลายและหลายมิติมาก จึงยังไม่รู้จะไปทางไหน คนจะไปสุดแค่ไหน หรือว่าจะยอมหยุดอยู่แค่ไหน เพราะบางคนก็อยากประนีประนอมเอาแค่ส่วนหนึ่งก่อนแต่บางคนก็อยากให้ได้อย่างอื่นมาด้วยทั้งหมด เพราะไม่อย่างนั้นพอได้ถึงจุดหนึ่งแล้วก็จะย้อนกลับไปอยู่ดี

พิชญ์อธิบายว่าวาทกรรมที่ว่าการรัฐประหารไม่มีความรุนแรงนั้นไม่จริง แต่มันมีลักษณะพิเศษอยู่เพราะการรัฐประหารส่วนใหญ่มีการใช้ความรุนแรงหลังการรัฐประหารคือมีทั้งการจับกุม ยิงคน ประกาศใช้เคอร์ฟิว แต่จุดสำคัญคือสำหรับ 6 ตุลา 2519มีการใช้ความรุนแรงก่อนรัฐประหารอย่างเป็นระบบ แล้วถ้าดูในรายละเอียดแล้วทั้งการรัฐประหาร 2549 และ 2557 มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงก่อนรัฐประหารด้วยซ้ำ ถ้าเรียนรู้จาก 6 ตุลาฯ จะเห็นว่ามีทั้งการระดมคน มีความขัดแย้งที่กระจายตัว จะเห็นว่า 1 ใน ข้ออ้างของคณะรัฐประหารคือจะเข้ามารักษาความสงบ

พิชญ์ตั้งข้อสังเกตว่าในการรัฐประหาร 2549 มีการอ้างอิงถึงพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมากโดยนิยามคณะรัฐประหารลงไปในชื่อคือ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) แต่ปัญหาคือเมื่อแปลชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchyแต่ว่ายังมีการใช้อีกชื่อ Council of Democratic Reform under The King as Head of The State ด้วย ซึ่งในความเห็นเขามันจินตนาการทางการเมืองของผู้ที่ทำรัฐประหารในตอนนั้นเองว่ากำลังใช้คำว่าอะไรเพราะคำนี้ถ้าจะต้องแปลควรจะต้องแปลว่า Constitutional Monarchy ซึ่งคำนี้ก็เป็นประเด็นหลักในการถกเถียงทุกวันนี้ว่าอะไรคือที่เรียกว่า Constitutional Monarchy

พิชญ์กล่าวต่อว่าสิ่งสำคัญในตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่การร่างรัฐธรรมนูญแบบเดิมแล้วแต่เป็นการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้ความเข้าใจหรือการค้นหาสิ่งที่จะไปได้ไกลที่สุด คือคำถามว่า Constitutional Monarchy คืออะไรกันแน่ ซึ่งเป็นคำถาามมาตั้งแต่คำกราบบังคมทูลของบรรดาเจ้านายที่มีต่อรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยยังไม่เคยไปพ้นจากเงื่อนไขนั้นเลยว่าอะไรคือความเจริญอะไรคือความเหมาะสมกับประเทศในห้วงสภาวะหนึ่งๆ จึงเป็นโครงการทำให้เป็นสมัยใหม่ของไทยที่ยังไม่สำเร็จและไม่เคยสำเร็จอยู่แล้ว

พิชญ์ชี้ความสำคัญของเรื่องนี้ว่าในตอนนั้นสำนักข่าวบางแห่งแปลชื่อ “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ว่า The King as Head of The State บางสำนักก็แปล Constitutional Monarchy จนภายหลังกระทรวงต่างประเทศต้องแก้เหลือแค่ Council for Democratic Reform โดยที่ในภาษาไทยยังใช้ชื่อเดิมราวกับว่าคนไทยเข้าใจตรงกัน ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับภาษาอังกฤษที่แปลอย่างไม่เป็นทางการก็ใช้คำว่า Democratic Regime of Government with the king as The Head of The State เหมือนกัน ในแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศอธิบายเรื่องการเปลี่ยนชื่อด้วยเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับต่างประเทศว่าคณะรัฐประหารไม่มีความข้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

พิชญ์ขยายประเด็นที่ว่าทำไมการรัฐประหารจึงทำให้พลเมืองกลายเป็นไพร่ว่า ในระบอบประขาธิปไตยคนทุกคนเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเชื่อว่าพลเมืองดูแลตัวเองได้ แต่การรัฐประหารทุกครั้งคือทำให้คนกลับไปเป็นไพร่ที่ขึ้นตรงต่ออะไรบางอย่าง ไม่สามารถมีเสรีภาพหรือขับเคลื่อนอะไรในสังคมได้จะต้องมีสังกัดหรือผู้ใหญ่ ซึ่งในการถกเถียงทางรัฐสมัยหนึ่งคือปัญหาของประชาธิปไตยและการมีรัฐประหารบ่อยๆ คือเกิดจากวัฒนธรรมการเมืองแบบไพร่ฟ้า ซึ่งเป็นการโทษเหยื่อว่าที่ต้องมีการรัฐประหารเพราะประชาชนมีกำพืดแบบนี้ แต่ที่ตนเสนอคือการทำรัฐประหารมีการทำอย่างเป็นขบวนการและทำให้ประชาชนเป็นไพร่ ไม่ใช่เพราะประชาชนเป็นอยู่แล้ว

พิชญ์อธิบายถึงเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการรัฐประหารอีกว่า ความคาดหวังของกลุ่มบางกลุ่มที่มีต่อบทบาทของสถาบันกษัตริย์ต่อการเมือง มีมาโดยตลอดจนถึงวันนี้ก็ยังไม่สิ้นสุดลง ข้อถกเถียงที่มีต่อบาทของกษัตริย์ในทางการเมืองนั้นสำคัญไม่ว่าจะอยู่ในเฉดสีใด เฉดสีหนึ่งก็เชื่อว่ากษัตริย์ต้องไม่ยุ่งการเมือง แต่อีกสีหนึ่งก็เชื่อว่ามีบทบาทของตัวเองได้หรือการออกแบบกลไกพิเศษให้เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นการตีความกฎหมายบางประการการเรียกร้องบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้เกี่ยวข้องกับการเมือง คือจะเห็นว่ามีความคาดหวังจากสังคมไม่ว่าสถาบันกษัตริย์จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ก็ตาม หรือการที่กษัตริย์ไม่มีบทบาททางการเมืองก็เป็นบทบาทของกษัตริย์ต่อการเมืองแบบหนึ่งคือการที่ไม่ยุ่งเกี่ยวแต่เป็นประมุขของประเทศก็เป็นความคาดหวังที่จะรักษาสมดุลบางประการอยู่ดี

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเงื่อนไขที่เรียกร้องให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 ในเวลานั้นมันเป็นการเรียกร้องบทบาทของสถาบันฯ ซึ่งมันไม่จบหลังจากนั้นก็มีการตีความพระราชดำรัสเรื่อยมาจนถึงคำตัดสินของคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และมาจนถึงร่างแรกรัฐธรรมนูญปี 2560 ของบวรศักดิ์ที่มีความพยายามอย่างชัดเจนมากในการออกแบบสถาบันฯ เพื่อแก้ปัญหา มาตรา 7ให้เป็นระบบมากขึ้นมีทั้งการตั้งคณะกรรมการ ศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรี มีสภา มีอดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นมาเพื่อแก้วิกฤติของสังคม ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวที่นักวิชาการกฎหมายเองก็พยายามคิดค้นสิ่งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการรัฐประหารเหมือนกันเป็นปัญหาที่ตกค้างอยู่ในสังคมไทย

พิชญ์กล่าวต่อว่าการอยู่ในอำนาจของคณะรัฐประหารมีวิธีใหม่เพิ่มขึ้นมาคือการแต่งตั้งประชาสังคมต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบทักษิณให้เข้ามาแบ่งอำนาจซึ่งมีมากขึ้นในการรัฐประหารปี 2557 เป็นการปูนบำเหน็จ ซึ่งเป็นเงินรัฐจ่ายให้กับคนเหล่านี้ ซึ่งทำให้ต้องมาอธิบายใหม่ว่าศัตรูของประชาธิปไตย คือประชาธิปไตยที่ไม่มีคุณภาพไม่ใช่แค่เผด็จการเท่านั้น และที่ประเทศยังอยู่ในวังวนนี้ก็เพราะว่าทางออกทางหนึ่งที่ยังไม่ยอมทำกันคือการพัฒนาประชาธิปไตย แต่การเรียนรู้ข้อจำกัดของประชาธิปไตยไม่เท่ากับการปูทางสู่เผด็จการ และยังมีทางอีกมากมายที่จะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย

พิชญ์ทิ้งท้ายด้วยการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันว่าส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรมาก โดยเขาเล่าว่าจากการที่ต้องไปพูดในสถานที่ที่หนึ่งซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของชนชั้นนำกลุ่มใหญ่ แต่ได้พยายามอธิบายให้เขาเข้าใจถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 ก.ย.นี้ว่าไม่ใช่เป็นแบบที่พวกเขาเข้าใจแต่เป็นการรวมกันของ 4 ประเด็นใหญ่ คือ หนึ่งกลุ่มข้อเสนอ 10 ข้อ คือกลุ่มที่โฟกัสการดันเพดาน คือการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้มากที่สุด กลุ่มสองที่เป็นกลุ่มใหญ่และได้รับการสนับสนุนมากที่สุดคือกลุ่มที่มีข้อเรียกร้องสามข้อคือประชาชนปลดแอก กลุ่มสามคืกลุ่มเด็กมัธยมต่างซึ่งโตมาจากอินเตอร์เนต ปัญหาคือสิ่งเขาเผชิญคือเผด็จการในโรงเรียนและความไม่มีอนาคต ปัญหาการคุกคามในชีวิตประจำวัน และกลุ่มที่สี่คือกลุ่มที่ว่าด้วยของความหลากหลายทางเพศ ซึ่งยังไม่รวมถึงกลุ่มเก่าที่มีความขัดแย้งการเมืองและกลุ่มที่เดือดร้อนจากโควิด-19โดยตรง ซึ่งพิชญ์คิดว่าชนชั้นนำไทยไม่เข้าใจว่าคน 4 กลุ่มนี้เรียกร้องอะไรเพราะพวกเขาไม่ได้ทำอะไรให้คน 4 กลุ่มนี้เข้าใจหรือพอใจได้เลย

พิชญ์กล่าวว่าแม้แต่พรรคการเมืองในสภาเองก็ไม่ได้แตะ 4 ประเด็นนี้เลยตั้งแต่ต้นแม้ว่าตอนนี้จะอ้างว่าเคยพูดถึงประเด็นเหล่านี้ไว้ตอนหาเสียง แต่ถ้าดูความพยายามในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมามันไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแม้ว่าจะมีการตั้งกรรมการถ้าไม่มีพลังพวกนี้ไม่มีทางขยับเร็วแบบนี้แน่นอน ไม่ใช่ว่าไม่ทำแต่ว่าการคิดว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนไม่เท่ากับที่มวลชนรู้สึก

พิชญ์กล่าว่วาความชัดเจนในม็อบรอบนี้คือไม่ใช่ม็อบที่ไล่ผู้นำแต่เขาต้องการเปลี่ยนกฎกติกาให้ผู้นำแบบนี้เข้ามาไม่ได้ จึงรุนแรงในความรู้สึกของผู้คนที่มีความสุขความเจริญในระบอบนี้ เพราะแค่การไล่ผู้นำเขาก็พร้อมหาคนอื่นมาแทนได้ แต่การเปลี่ยนกติกาทำให้เขารู้สึกกังวลเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เป็นฉบับชั่วคราวจริงๆ คณะผู้ร่างถูกดึงเข้าในภารกิจพิเศษแล้วร่างมาก็โดนคำถามพ่วงอัดเข้ามาอีกแล้วร่างนี้ก็มีใบสั่งอ้อมๆ ที่ใครก็รู้ว่าทำให้เขาอยู่ยาว เงื่อนไขการมี สว.ก็ไม่ได้ถึงขั้นที่จะถาวรก็เปิดได้แค่ 5 ปีแรกเท่านั้นให้เขาอยู่ในอำนาจนานที่สุดก็ 8 ปี แต่การที่ให้เอาพล.อ.ประยุทธ์เข้ามาได้เลยถูกใส่เข้ามาในรัฐธรรมนูญหลังจากการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จด้วยซ้ำ

พิชญกล่าวอีกว่า ยังมีความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญนี้คือการสร้างระบบเลือกตั้งใหม่ที่นับทุกเสียงแล้วก็ทำให้คนแบบไพบูลย์ นิติตะวันเข้ามาได้แล้วยังได้เป็นถึงรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แล้วก็ยังเข้ามาเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญได้ด้วย จนคนออกมาเรียกร้องให้ปรับสักทีก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มันมีปัญหาจริงแล้วก็ไม่เป็นธรรมกับอีกหลายกลุ่ม แต่ถ้าเชื่อว่าเป็นการกำกับให้เกิดสิ่งนี้จริงๆ รัฐธรรมนูญนี้มีเพื่อสานอำนาจต่อกับระบอบนี้จริงๆ และที่หนักกว่านั้นยังมีการมาบวกเพิ่มในรัฐธรรมนูญอีกตอนหลังที่เด็กพยายามจะแก้คือเขากำลังจะบอกว่าไม่ต้องการระบอบนี้ต้องมาร่างด้วยกันใหม่

สุรชาติกล่าวว่าโจทย์ที่ถูกทิ้งค้างไว้ตั้งแต่ 2475 เกิดคำถามต่อบางสถาาบันว่าหน้าที่และขอบเขตมีขนาดไหน แล้ว 1 ในนั้น คือสถาบันทหาร ถ้าย้อนกลับไปจะเห็นว่าก่อน 2475 จะเห็นรอยต่อของเหตุการณ์ที่เห็นว่าทหารมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเมืองระดับสูงที่ชัด แต่พอ 2475 ทหารจะมีบทบาทที่นึกไม่ถึงคือเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่พอปี 2490ทหารก็กลายมาเป็นผู้พิทักษ์รัฐชาติในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ แล้วพอถึงการรัฐประหาร 2549 และ 2557 คำถามคือถ้าทหารจะต้องเขามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอะไรเป็นแกนกลางทางความคิด เพราะฉะนั้นถ้าดูปี 2534 ทหารไทยเป็นผู้ต่อต้านการเมืองหรือต่อต้านประชาธิปไตย ไม่รับเรื่องการเลือกตั้ง พรรคการเมือง

สุรชาติจึงตั้งถามว่าบทบาทของกองทัพในสภาวะที่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยขับเคลื่อนไปได้แล้วอนาคตทหารจะอยู่ตรงไหน โจทย์แบบนี้ไม่เคยถูกตอบเท่าไหร่ เราทราบว่าทหารถูกออกแบบเพื่อรบกับภัยจากภายนอก แต่จะเห็นว่าภารกิจของทหารขยายจนถูกถามว่าตกลงทหารจะทำอะไร คำตอบสุดท้ายคือทำรัฐประหาร แล้วในอนาคตจะจำกัดบทบาททหารแค่ไหนเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย จะเห็นได้ว่าการทำรัฐประหารนั้นไม่ยากแต่ที่ยากจริงๆ คือทำแล้วหลังยิดอำนาจจะอยู่ต่ออย่างไรเป็นโจทย์ที่เกิดในทุกประเทศที่มีการรัฐประหาร

สุรชาติกล่าวต่อว่าสิ่งที่ถูกทิ้งค้างไว้และในอนาคตโลกที่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดและภูมิทัศน์การเมืองไทยก็เปลี่ยน วันนี้เห็นคนรุ่นใหม่เติบโตทางความคิดเสมอ ดังนั้นการคิดถึงสถาบันการเมืองจึงไม่ใช่แค่สถาบันทหารแล้วรัฐสภาเองก็ต้องคิด สำหรับคนในกลุ่มเก่าโลกทัศน์เก่าการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ก็คงไม่มีอะไรเท่านั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผลกระทบแน่ๆ และแม้จะไม่ได้คาดหวังว่าจะมีผลกระทบกับคนรุ่นเก่า เพราะส่วนหนึ่งของคนรุ่นเก่าสู้กันในเรื่องเก่าๆ เรื่องอายุขัยของคนเพราะอยู่ในภาวะที่ถดถอยโลกชุดเก่ากำลังถดถอยไปด้วยและเป็นทั่วโลกและในไทยก็ไม่ยกเว้นแม้การถอยชะลอบ้าง แต่การถดถอยต่อเนื่อง

สุรชาติยังยืนยันว่าการรัฐประหารไม่ใช่ชัยชนะแต่เป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายเก่า เพราะถ้าฝ่ายเก่าคุมได้ก็ไม่จำเป็นต้องรัฐประหาร ซึ่งในมุมกลับก็ต้องคิดว่าฝ่ายที่ชนะด้วยการรัฐประหารเขาจะอยู่ตรงไหน โจทยืชุดนี้จึงใหญ่พอๆ กับโจทย์ของประชาธิปไตยที่คิดถึงอนาคตเพราะเชื่อว่าอนาคตคนจะต้องมีเสรีภาพมีสิทธิมีเสียงหรืออย่างน้อยคนต้องมีโอกาสกำหนดชะตากรรมชีวิตของคน ไม่ใช่ถูกกำหนดจากคนบางกลุ่มบางพวก สิ่งที่ต้องคิดต่อข้างหน้าคือความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร

สุรชาติกล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า อย่างน้อยเราเริ่มเห็นพลังของคนรุ่นใหม่และคิดว่าถ้าเด็กคนพูดหน้ากระทรวงศึกษาเข้าเรียนปีหนึ่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ พวกเขาจะทำอะไรต่อ ซึ่งเป็นภาพเดียวกับโจชัว หว่อง แอกเนส โชวในฮ่องกงที่พวกเขาเริ่มสู้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมแล้ววันหนึ่งก็เป็นนักศึกษาแล้ววันหนึ่งพวกเขาก็มาเป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกง เราเห็นภาพการเติบโตของคนรุ่นใหม่บนเส้นทางที่ไม่แตกต่างกันแล้ววันนี้น่าสนใจว่าได้เห็นการเมืองลงไปถึงระดับนักเรียน นักเรียนที่ขึ้นเวทีที่อีสานเป็นคนอายุ 14-15 ปี

สุรชาติกล่าวต่อว่า “ในสภาวะแบบนี้ไม่ใช่แค่เรื่องอายุแต่มีความหมายถึงอายุที่มากับโลกชุดใหม่หรือทัศนะที่เห็นอนาคตอีกมุมหนึ่ง วันนี้เราอยู่ในโลกและช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดของสังคมไทย เราไม่มีคำตอบ แต่ขอให้เชื่อว่าเราทั้งหมดโชคดีที่ได้เป็นพยานของความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในบ้านของเราเอง เหมือนกับคนรุ่นของผมที่เห็น 14 ตุลาฯ แล้วสามปีต่อมาสุดท้ายเพื่อนของผมหลายคนต้องเดินทางเข้าสู่ชนบท และช่วงหนึ่งเราก็ตื่นเต้นกับเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 และต่อมาเราก็เห็นการถูกปราบที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปักกิ่ง แต่เราต้องไม่ลืมว่าหลังเทียนอันเหมิน เราก็เห็นภาพที่เป็นด้านบวกไม่ว่าจะเป็นในตูนิเซียหรือไคโรห์”

“การเมืองเหมือนขึ้นเหมือนลงแต่ทั้งหมดเป็นความท้าทายที่ความเปลี่ยนแปลงจะไปเคาะประตูหน้าบ้านของผู้ที่มีอำนาจทุกคน และการเดินมาเคาะประตูของความเปลี่ยนแปลงชุดนี้เชื่อว่าไม่ว่าจะมากน้อยจะเริ่มทำให้สังคมไทยเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนไม่รู้ แต่ผมเชื่อวันนี้คนในสังคมไทยคิดมากขึ้นและชัดเจนมากขึ้นกับเรื่องหนึ่ง และผมเห็นวันนี้ถกเถียงกันมากเคลื่อนกำลังแล้วยึดผมว่าไม่ง่ายเหมือนเก่าวันนี้ผมเชื่อว่ายึดก็ยุ่ง เพราะก็ไม่มีคำตอบว่าสุดท้ายยึดเสร็จแล้วจะทำอะไรได้กับโลกที่เปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยในสภาวะปัจจุบันและยึดเสร็จแล้วก็ไม่มีคำตอบว่ารัฐไทยจะอยู่อย่างไรกับเวทีโลกที่ก็มีความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน” สุรชาติทิ้งท้ายไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net