Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากไม่กล่าวถึงการโจมตีองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอที่เกิดขึ้นในขณะนี้คงจะดูกระไรอยู่ เพราะในระยะหลังการติติงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีมาจากทุกทิศทุกทางเหมือนเป็นการประสานเสียงกันของภาคประชาสังคมที่มีเอ็นจีโอ สื่อมวลชน นักวิชาการ นักเรียน และนักศึกษาดังที่เป็นข่าว ซึ่งบางครั้งเอ็นจีโอเองก็ถูกตอบโต้จากฝ่ายรัฐหรือฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลในรูปแบบต่างๆด้วยเช่นกัน  

นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้ภายใต้การปกป้องหนุนหลังของ 4 เหล่าทัพ ได้เปิดทางให้ฝ่ายสนับสนุนมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งในสภาและนอกสภา ทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ ออกมาทำหน้าที่พิทักษ์นายกฯจนเกินบทบาทข้าราชการที่ควรจะเป็น การใช้อำนาจของข้าราชการจาก 4 เหล่าทัพอย่างไม่ระมัดระวัง คงจะเห็นว่าผู้นำหลักที่เป็นทหารเก่าน่าจะยังมีอำนาจอยู่ได้ต่อไปเพราะตราบใดที่ยังมีประชาชนกลุ่มใหญ่ (ที่ชิงชังอดีตนายกทักษิณ) สนับสนุนนายกรัฐมนตรีอยู่ ความเกรงใจกันทางการเมืองหรือทำตามอำเภอใจก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามยุคนี้เป็นยุคที่มีการตอบโต้กันอย่างดุเดือดทั้งฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายตรงข้าม ผ่านสื่อโซเชียลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

แต่อีกฝ่ายหนึ่งที่ต้องการการแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างแท้จริงคือกลุ่มเอ็นจีโอซึ่งถูกผนวกว่าเป็นฝ่ายค้านในทุกรัฐบาล หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพัวพันกับการเมืองที่มีมักจะส่งผลต่องานพัฒนาทุกด้านที่ตนกำลังผลักดันกันอยู่ เมื่อมีความขัดแย้งกันทางการเมืองเอ็นจีโอที่ทำงานส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ปกป้องคุ้มครองสิทธิพลเมืองและการเมือง จะมีบทบาทมากกว่าองค์กรด้านอื่น และจะถูกผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลขณะนี้โจมตีมากกว่ากลุ่มอื่น หากการวิวาทะเป็นไปด้วยเหตุและผลก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าแต่งเติมจนเกินจริง ประกอบการผลิตข่าวปล่อย ข่าวปลอม (fake news) เพื่อให้สังคมเข้าใจผิด จะยิ่งเพิ่มความแตกแยกมากขึ้น การทำงานของเอ็นจีโอจะลำบากมากขึ้น  โดยเฉพาะกับผู้นำที่ไม่เข้าใจรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง ไม่เร่งแก้ปัญหาตามที่รับปากไว้ และยังลากให้คนทั้งสองฝ่ายเข้าสู่สนามรบ ทิ่มแทงกัน

NGO หรือ Non-Governmental Organization คือองค์กรเอกชน ที่ไม่ได้อยู่ในวงจรของราชการ หรือได้รับเงินจากรัฐ ไม่แสวงหาผลกำไร มีอิสระทางการเมือง บางองค์กรได้รับเงินสนับสนุนจากสมาชิกล้วนๆอย่างที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีสมาชิกทั่วโลกบริจาคเงิน บางองค์กรได้การสนับสนุนจากทั้งสมาชิกและเงินสนับสนุนทั้งในและนอกประเทศ ดังเช่นองค์กรเด็ก สตรี ผู้บริโภค และหลายองค์กรได้รับทุนจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ  สถานทูต สหภาพยุโรป สหประชาชาติ หรือจากการมอบทุนในนามบุคคล โดยทั้งหมดนั้นไม่ต้องเรียกร้องตัดงบประมาณจากงบของรัฐ หรือภาษีจากประชาชน

ประเทศไทยที่ยังถือว่าเป็นชาติที่กำลังพัฒนา (Developing Country) มักมีปัญหามากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) ปัญหาด้านต่างๆจำเป็นต้องมีเอ็นจีโอตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของรัฐ การมีเอ็นจีโอมากเท่าใดแสดงว่าสังคมนั้นยังมีปัญหามากเท่านั้น เป็นตัวชี้วัดทางสังคม (Social Indicator) อย่างหนึ่ง สังคมที่มีปัญหาเรื้อรังมากๆ ประชาชนจะยิ่งทุกข์ยาก ไม่สงบ ไม่มีสันติ ที่หนักกว่านั้น ถ้ามีการใช้ความรุนแรงกันมากๆ อาจเข้าขั้นความเป็นสังคมหรือรัฐที่ล้มเหลว (fail state) ในที่สุด


รับเงินต่างชาติเข้ามาบ่อนทำลายประเทศชาติ

นับเป็นข้อกล่าวหาที่ปล่อยออกมาโจมตีเอ็นจีโออย่างเป็นระบบ ของผู้ที่เสียประโยชน์ทางการเมือง และทางธุรกิจ อาจเป็นผู้ที่ฝักใฝ่ขั้วการเมืองหนึ่งใดที่ไม่ต้องการให้ผู้อื่นขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลของผู้มีอำนาจปัจจุบัน การโจมตีเอ็นจีโอที่เป็นปฏิบัติการข่าวสาร หรือ IO (Information Operation) กับฝ่ายความมั่นคง มีการเชื่อมโยงใส่สีตีไข่เกินจริงสร้างความเข้าใจผิดให้กับคนในประเทศ แต่หารู้ไม่ว่ามัน ทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลไทยในสายตานานาชาติเสียหายไปด้วยเพราะทุกประเทศรู้ว่าเอ็นจีโอไม่ใช่พวกบ่อนทำลายประเทศ ผู้ก่อความไม่สงบ หรือผู้ก่อการร้ายตามที่พยายามให้เป็นกัน


นานาชาติสนับสนุนทุนให้ เอ็นจีโอ และให้รัฐด้วย เพื่ออะไร

ต่างประเทศให้การสนับสนุนทั้งรัฐและเอกชนมาเป็นเวลานานไม่ใช่ว่าประเทศนั้นมีเงินเหลือใช้หรือแก้ปัญหาภายในของเขาได้แล้ว แม้ในประเทศจะยังมีปัญหาภายในอยู่บ้าง แต่ประชาชนของประเทศนั้นๆยังคงต้องไปมาหาสู่ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน การสนับสนุนประเทศอื่นเท่ากับเป็นการช่วยคนของชาติเขาด้วย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล 1. เพื่อความร่วมมือทางธุรกิจ 2. เพื่อความร่วมมือทางทหาร และความมั่นคงในภูมิภาค 3. เพื่อการศึกษาและการแพทย์ 4. เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย 5. ส่งเสริมวัฒนธรรม 6. เพื่อการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 7. เพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ  และอื่นๆนานัปการ   งานหลายด้านสนับสนุนเอ็นจีโอได้ผลรับเร็วกว่าการสนับสนุนรัฐ ใช้เงินน้อยกว่า และเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลหน่วยงานรัฐที่ตนสนับสนุนในเวลาเดียวกัน

เมื่อการสนับสนุนดังกล่าวถูกฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลหยิบยกมาเพียงด้านเดียว เสมือนเอ็นจีโอรับเงินต่างชาติมาฝ่ายเดียวเพื่อสร้างความวุ่นวาย ทำลายชาติ  โดยหวังระงับการกดดันที่เกิดจากฝ่ายเอ็นจีโอ ตีวงแคบพรรคฝ่ายค้านให้เหลือแนวร่วมอยู่ที่นักศึกษา นักเรียน และยังพยายามเบี่ยงเบนความน่าเชื่อถือเอ็นจีโอโดยไม่พูดถึงฝ่ายรัฐบาลกับองค์กรอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศใหญ่ๆและองค์กรสำคัญๆ เช่น อเมริกา แคนาดา จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหประชาชาติ เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ยังได้ให้ทุนการจัดอบรม ทุนการศึกษา (scholarship) แลกเปลี่ยนดูงาน ทุนการพัฒนาด้านต่างๆ

รัฐบาลไทยพบปะเอกอัครราชทูตประเทศใหญ่ๆ (รวมทั้งประเทศจีน รัสเซีย) ทั้งเปิดเผย และในทางลับ โดยประชาชนไม่ทราบบ่อยครั้งที่ไม่เป็นข่าวและไม่ถูกนำภาพมาตีแผ่ให้เห็น ไม่เปิดเผยยอดเงินที่สนับสนุนทั้งที่ลับและที่แจ้งให้ทราบ ที่น่าจับตามองคือการสนับสนุนด้านการทหาร ด้านความมั่นคง 

การนำภาพเก่าของผู้นำนักศึกษาเมื่อครั้งมีการพบปะเอกอัครราชทูตอเมริกันคนเก่าเมื่อสี่ปีที่แล้วเสมือนเป็นการพบกันเพื่อพูดคุยวางแผนกัน รับเงิน “ไอ้กัน” มาบ่อนทำลายชาติไทย หรือการนำข้อมูลที่องค์กรเงินทุนอเมริกันสนับสนุนการทำงานเอ็นจีโอด้านต่างๆ 6 ด้าน บวกสถาบันอบรม 1 สถาบัน (7 หน่วยงาน) สร้างภาพความน่ากลัว (evil) ปั้นน้ำเป็นตัวได้อย่างน่าประหลาดใจ การบิดเบือนดังกล่าวเป็นการหวังผลระยะสั้น ไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาว ทำให้ทุกอย่างเป็นการเมืองทั้งที่บางครั้งรัฐเองก็ขอข้อมูลและใช้บริการอบรมขององค์กรเหล่านั้นด้วย

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าประเทศที่สนับสนุนงบประมาณ ย่อมหวังให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังเช่นการสนับสนุนทางทหารเพื่อเสถียรภาพในภูมิภาคทะเลจีนใต้ เป็นการถ่วงดุลกับมหาอำนาจจีน ส่วนการสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ เป็นไปอย่างเปิดเผยมีข่าวสารรายงานผ่านเว็บไซด์ของทุกองค์กร เป็นงานส่งเสริมให้ไทยบรรลุมาตรฐานทางสังคม การเมือง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนา ผ่านการสนับสนุนมูลนิธิ ผ่านองค์กรที่ส่งเสริมประชาธิปไตย พิทักษ์ปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือองค์กรที่ถูกโจมตีก็รับงบมาพัฒนาคนรุ่นใหม่ผ่านงานอาสาสมัคร  ส่งเสริมนักกฎหมาย ทนายเพื่อสร้างมาตรฐานทางกระบวนการยุติธรรม ล้วนแล้วแต่ทำเพื่อคนทุกฝ่ายดังที่เป็นข่าว แต่หากทำไปเพื่อแทรกแซงอำนาจอธิปไตยในดินแดน หรือเพื่อการก่อการร้าย บ่อนทำลายประเทศ คงถูกลงโทษไปนานแล้ว สมควรต้องตัดความสัมพันธ์ sanction หรือ boycott ประเทศดังกล่าว เพราะถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง 

แต่เมื่อลงรายละเอียดงานที่องค์กรต่างๆทำ และคนส่วนใหญ่ไม่ได้ติดตาม จะเห็นว่าล้วนแล้วแต่มีคุณูปการกับประเทศชาติอย่างยิ่ง ควรที่ประเทศไทยจะมีองค์กรเหล่านี้ช่วยรัฐตรวจสอบมากขึ้น และเมื่อรัฐบาลไทยไม่มีงบประมาณสำหรับองค์กรที่ทำงานด้านต่างๆดังกล่าว ก็ควรแนะนำองค์กรนานาชาติที่มีทุนอยู่แล้วช่วยรับแบกภาระค่าใช้จ่ายจ้างบุคลากร ผู้ชำนาญการ จัดกิจกรรมที่มีคุณค่าทั้งหลายในประเทศเรา ในอนาคตเมื่อประเทศไทยมีกำลังทรัพย์มากพอก็ควรจะสนับสนุนเงินให้ประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะนี้ได้เช่นกัน   


ความมั่นคงปลอดภัยของคนต่างชาติในไทย

เป้าหมายของความพยายามยกระดับประเทศกำลังพัฒนาให้มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยังมีมากกว่านั้น โดยเฉพาะในประเทศที่คนของเขามาเยือน มาทำงาน มาลงทุน มาท่องเที่ยว ปีละหลายล้านคน เมื่อมาแล้วมีความปลอดภัย มีกระบวนการยุติธรรมน่าเชื่อถือ มีเสรีภาพ ไม่มีลักษณะอำนาจนิยม  ไม่คอรัปชั่น และหน่วยงานรัฐมีความเป็นมืออาชีพบริการคนต่างชาติรวดเร็ว เป็นธรรม สถานทูตต่างๆก็สบายใจ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่คนชาติของเขามาเยือนมาก ต้องมีหลักประกันความปลอดภัย น่าลงทุน น่าท่องเที่ยวได้ระดับหนึ่ง 

รัฐบาลที่ฉลาดจะไม่กลัวเอ็นจีโอ  รัฐบาลในสายเสรีนิยมยังรู้จักใช้ประโยชน์ของการประท้วง คัดค้านของเอ็นจีโอ เพื่อเป็นข้อชี้แจงทางการทูตเมื่อมีปัญหากรณีใดที่ตนไม่สามารถจะเจรจายอมความกับประเทศใดได้ สามารถใช้แรงกดดันภายในประเทศ ความไม่พอใจของประชาชน และการไม่ยินยอมของเอ็นจีโอ สร้างขอแลกเปลี่ยนทางการทูต พลิกเกมส์การเมืองระหว่างประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ สำหรับรัฐบาลที่อนุรักษ์นิยมมักจะใช้วิธีเดินหน้าชนทุกคนที่ค้าน บ้างครั้งก็ทำเพื่อเอาใจนายทุน เห็นเอ็นจีโอเป็นฝ่ายตรงข้ามแล้วตามเล่นงานผู้นำในภายหลัง แยกแยะไม่ออก เหมารวม และ “ยอมทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้ข้างหลัง” จนขาดสติ 


ถ้ากำจัดเอ็นจีโอให้หมดไป การประท้วงจะหายไปด้วยหรือไม่ ?

คำถามที่ตามมา และอดสงสัยไม่ได้ก็คือ ถ้าไม่มีเงินจากต่างประเทศให้มาทำงานพัฒนา ปกป้องพิทักษ์สิทธิแล้วจะไม่มีการประท้วง คัดค้าน ขุดคุ้ยรัฐบาลกระนั้นหรือ?  เอ็นจีโอเกิดมาเพื่อประท้วงเท่านั้นหรือ ที่ผ่านมารัฐทำโครงการรับเงินกันไปได้มากมาย ไม่เห็นมีการประท้วงในหลายโครงการ ต้องระบุด้วยหรือไม่ หากไม่เห็นคุณค่าความรู้ความสามารถของเขาแล้ว เหตุใดต้องเชิญพวกเขาเป็นวิทยากรในหลายๆงาน เชิญเอ็นจีโอเข้าร่วมให้ข้อมูลรับฟังความคิดเห็นด้วยเพื่ออะไร หรือทำไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น  

6 ปีที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามาบริหารประเทศ ไม่ปฏิรูปประเทศตามที่สัญญาไว้ จะทำให้เอ็นจีโออดทนดูลีลา “ซื้อเวลา” ของท่านต่อไปได้เรื่อยๆอย่างนั้นหรือ?  สื่อมวลชนไทยต้องทนการตะคอกใส่ อารมณ์บูด โป้ปด หลีกเลี่ยง สะบัดก้นหนี มา 6 ปี ท่านคิดว่าทุกคนต้องเอาท่านเป็นศูนย์กลางต่อไปเรื่อยๆได้อย่างไร ประเทศไม่ก้าวไปข้างหน้า แต่ถอยหลังเข้าคลองเป็นความผิดที่เอ็นจีโอหรือ?

สุดท้ายนี้ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี กองทัพ และผู้สนับสนุนทหาร ทบทวนความคิด ดูประสบการณ์จากสิ่งที่ทหารเรียกว่า “ความวุ่นวาย หรือบ่อนทำลาย” ในช่วง 14 ตุลา 2516 ไปถึง 6 ตุลา 2519 หรือ เหตุการณ์พฤษภา 2535 ว่าเป็นเพราะต่างชาติให้เงินมาแทรกแซงสร้างความวุ่นวายหรือไม่ ยุคนั้นมีองค์กรเอ็นจีโอ แค่ไหน ทำไมเด็กไทยจะลุกขึ้นมาส่งเสียงเองไม่ได้
                             

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net