Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทะเลสาบน้ำตา เป็นผลงานลำดับที่ 3 ของวีรพร นิติประภา นักเขียนหญิงคนแรกของไทยที่ได้รางวัลซีไรต์สองสมัย แม้ว่าภาษาในเล่มนี้ไม่ลื่นไหลเหมือนอย่างสองเล่มก่อน และเส้นเรื่องซับซ้อนน้อยกว่าอีกสองเล่มมาก แต่งานของวีรพรก็ยังคงจุดเด่นไว้คือ ตัวอักษรที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึก ... จมจ่อมกับความคิดและความรู้สึกบางอย่าง 

ทะเลสาบน้ำตา เป็นเรื่องราวของเด็กไร้บ้านสองคน ยิหวากับอนิล เด็กเหงาๆ สองคนที่ไม่ได้รับความอบอุ่นและการปกป้องจากพ่อแม่อย่างที่เด็กสมควรจะได้  แทรกสอดไปด้วยการเติบโตด้วยจินตนาการ ท่ามกลางสังคมที่ไม่เคารพความเป็นปัจเจกของเด็ก สังคมที่ใครก็ตามสามารถเดินเข้ามาถามเรื่องส่วนตัว วิจารณ์เรื่องเพศสภาพ ทรงผม การแต่งตัว ได้ปกติ เป็นสังคมที่เหมือนจะมองเห็นคนทุกคน แต่ในขณะเดียวกันก็มองไม่เป็นคนเป็นคนอย่างเท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กๆ

ผลงานชิ้นที่ 3 ของวีรพรเศร้าได้ไม่สุดเหมือนอย่างสองเล่มก่อนหน้าที่ผ่านมา แต่ก็สุขไม่สุดเหมือนกัน หรือนี่อาจเป็นธรรมชาติของเด็กที่ขาดความรักจากคนที่ควรทำหน้าที่พ่อแม่?

ฉันไม่สามารถอ่านทะเลสาบน้ำตารวดเดียวจบ.. หลังจากอ่านความเป็นมาของอนิล ฉันต้องปิดหนังสือ เอามันไปวางไว้ไกลๆ มือ นั่งนิ่งๆ รอให้จังหวะการหายใจกลับมาเป็นปกติ .. 
โกรธ ... คือความรู้สึกที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ 
โกรธที่ชีวิต ศักดิ์ศรี และคุณค่าของเด็กในประเทศคนบ้านี้มีราคาถูกเหลือเกิน

จนต้องหยุดอ่านนิยายและไปอ่านเรื่องสิทธิเด็ก แล้วตระหนักว่า สังคมไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยเสียยิ่งกว่าน้อย ฉันพยายามนึกย้อนไปถึงสมัยเรียนตั้งแต่อนุบาล-มัธยมว่ามีครูในโรงเรียนรัฐคนไหนปฏิบัติกับเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไหม? ...ไม่
สื่อกระแสหลัก ละคร โฆษณา สังคม ค่านิยม วัฒนธรรม เคยสะท้อนสิทธิเด็กตามอนุสัญญานี้ไหม? ...ไม่
แต่กลับทำให้ความเป็นพ่อแม่นั้นยิ่งใหญ่อลังการเหนือจริง อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย.. แต่หากใครสักคนไปอ่านอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ไทยเคยลงนามไว้ในปี 2535 [1] จะรู้สึกว่า มันน่าทุเรศมากที่เราทุ่มทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้เด็กซาบซึ้งบุญคุณพ่อแม่จนเกินจริง  ทั้งที่การเลี้ยงดูลูกทั้งกายใจ ให้ที่อยู่ ดูแลยามเจ็บป่วย ให้อาหารตามโภชนาการ ให้การศึกษา ให้ความรัก และรับฟัง คือ หน้าที่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำ ..ตามอนุสัญญา 4 ข้อ (สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง  สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และสิทธิที่จะมีส่วนร่วม) ..แล้วทำไมเราต้องมาซาบซึ้งกับการเลี้ยงดูเด็กจนเกินจริง ทั้งที่นี่เป็นสิ่งที่น้อยที่สุดที่ผู้ใหญ่ต้องทำ?     

ในประเทศนี้ เรายังมีใบอนุญาตทางสังคมให้ผู้ใหญ่ทำอะไรกับชีวิตเด็กก็ได้  ราวกับเด็กเกิดมาเพื่อรับใช้ความต้องการของพ่อแม่ คล้ายเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นแรงงาน เป็นสมบัติที่พ่อแม่มีไว้อวดและโชว์คนอื่น ไม่ได้เป็นคนที่มีความรู้สึกนึกคิด-มีความต้องการเป็นของตัวเอง

ตั้งแต่เหล่าศิลปินดาราถ่ายรูปลูกตัวน้อยลงโซเซียลมีเดียให้คนทั้งประเทศรู้ทุกมิติชีวิตของเด็ก  ก่อนที่ลูกจะโตพอและรู้จักคำว่า อนุญาต ด้วยซ้ำ ราวกับว่าความเป็นส่วนตัวของเด็กไม่มีค่า ราวกับว่าการยินยอม (consent) ของเด็กไร้ความหมาย  เคยคิดไหมว่าเด็กเหล่านั้นต้องการมีชื่อเสียงไหม? หรือการเป็นที่รู้จักทุกซอกทุกมุมตั้งแต่เกิดจะส่งผลต่อบุคลิกภาพ-พฤติกรรมแบบไหน? หรือเขาจะชอบไหมที่มีคนนำรูปที่เขาไม่เคยอนุญาตไปสร้างความตลกผ่านมีมต่างๆ? การที่พ่อแม่คนดังทั้งหลายสามารถทำแบบนี้ได้อย่างครึกโครม โดยไม่ถูกห้ามปรามจากกระแสสังคม นั่นก็บอกอะไรได้หลายอย่างเกี่ยวกับการให้คุณค่าในสิทธิ ศักดิ์ศรี และความเป็นส่วนตัวของเด็กในประเทศนี้ 

การไม่เคารพสิทธิเด็กยังลุกลามไปถึงเด็กโตในโรงเรียนมัธยม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด คือ นักเรียนออกมาแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการด้วยการผูกโบว์ขาวโชว์ 3 นิ้ว แล้วถูกครูในโรงเรียนปิดกั้นและคุกคาม [2] ทั้งที่ตามอนุสัญญาสิทธิเด็กข้อที่ 4 เด็กมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี 

ฉันนึกไปถึงน้องกานต์ เด็กชายตัวน้อยที่อาศัยกับญาติของพ่อ นอนในเต้นท์นอกบ้าน และตาย... “ไม่ได้เกิดจากการฆาตกรรม แต่เป็นการเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติจากสาเหตุอื่น แต่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน โดยไม่รู้สาเหตุ [3]” เรื่องราวของน้องกานต์มีบางอย่างซ้อนทับกับอนิลในหนังสือทะเลสาบน้ำตาเหลือเกิน อนิลเป็นเด็กที่ต้องเป็นพยานความรุนแรงในบ้าน ร้องไห้แตกสลายกับความรุนแรงตรงหน้า
เป็นเด็กชายที่ไม่มีใครมองเห็น ท่องไปในโลกกว้างพร้อมมีความเหงาและโดดเดี่ยวเป็นเพื่อน

แต่วีรพรก็ใจดีพอที่เขียนให้อนิลได้มาเจอกับยิหวา และเป็นเพื่อนรักกัน
สำหรับเด็กที่เติบโตมาโดยปราศจากความรัก ไม่มีอะไรวิเศษไปกว่าการได้เจอใครสักคนในชีวิตที่จะรักและกอดเขาอย่างสุดหัวใจ ยิหวาและอนิลโชคดีที่ได้เจอกันเร็วเหลือเกิน 

ในโลกนอกทะเลสาบน้ำตา ยังมีเด็กขาดความรักอีกหลายคนที่อาจต้องใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตหรือมากกว่า เพื่อจะเจอใครคนนั้น โหยหาความรักหรือบางทีก็แค่ใครสักคนที่จะสนใจ จนบางทีก็หลงเข้าใจไปว่าบางอย่างระหว่างทางคือความรัก ทั้งที่ไม่ใช่ ก็เพราะไม่เคยรู้ว่าความรักที่แท้จริงมันควรอบอุ่น-ปลอดภัย-ให้เกียรติเราแค่ไหน หรือมันควรทำให้เรารู้สึกมีค่า-กล้าหาญเพียงใด 

ส่วนยิหวานั้นอาจเป็นตัวแทนของลูกสาวที่แม่ไม่รัก
ความเป็นแม่ไม่ใช่สัญชาตญาณที่มาพร้อมกับอวัยวะเพศหญิง แต่คือการกระทำ
ไม่เป็นความจริงที่ว่า แม่ทุกคนรักลูก แต่วัฒนธรรมมนุษย์โดยเฉพาะสังคมไทยมักห้ามเราตั้งคำถามในความรักของแม่  ในโลกนี้มีแม่ที่ไม่สามารถรักลูกตัวเองได้ [4] และบางครั้งแม่ที่รักไม่เป็นก็ไม่ได้ทิ้งลูกไปง่ายๆ เหมือนอย่างแม่ของยิหวา แต่เป็นแม่ที่อยู่บ้านเดียวกัน แม่ที่ไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกรัก อบอุ่น ปลอดภัย แม่ที่ไม่กอด ไม่ฟัง ไม่มองตา ไม่เห็นว่าความคิด-ความรู้สึกของลูกเป็นเรื่องสำคัญ แม่ที่ปล้นเอาความนับถือตัวเอง (self-esteem) ไปจากลูก

ลูกสาวที่แม่ไม่รักจะโตมากับความเชื่อเกี่ยวกับตัวเองผิดๆ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมตอนโต 
จิตใต้สำนึกจะคอยกระซิบบอกพวกเขาว่า เขาไม่คู่ควรกับความรัก เขาดีไม่พอ และเขาต้องสละความต้องการของตัวเองให้กับผู้อื่นเพียงเพื่อจะได้เป็นที่รักและได้รับการยอมรับ พวกเขาอาจเลือกคู่รักที่เข้ากันไม่ได้หรือไม่เหมาะสมกับตัวเอง พวกเขาอาจสร้างรอยยิ้มปลอมๆ เพื่อซ่อนความโกรธเวลาที่ถูกทำให้เป็นของตาย ไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร หลีกเลี่ยงความขัดแย้งทั้งปวง และที่แย่ที่สุดคือ ไม่รู้จักความฝันของตัวเอง [4]

เราไม่ควรเมินเฉยต่อการเลี้ยงลูกเชิงลบด้วยการบอกให้คนเป็นลูกลืมๆ มันไป หรือ สั่งให้อภัยโดยที่ลูกไม่เคยได้รับคำขอโทษ  หรือยกความเป็นพ่อแม่มาสร้างความชอบธรรมให้กับการเลี้ยงลูกเชิงลบ
เพราะการบอกให้ลืม การสั่งให้รู้จักอภัย หรือการอ้างความเป็นพ่อแม่ ไม่ใช่การแก้ปัญหา 
ไม่ช่วยเยียวยาบาดแผลที่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ปราศจากความรัก บาดแผลที่อาจติดตัวลูกไปตลอดชีวิต 
ไม่ช่วยปกป้องเด็กที่กำลังเติบโตหรือกำลังจะเกิดมา.. จากการได้รับบาดแผลเดิมๆ นี้
เราต้องสร้างวัฒนธรรมที่เชิดชูการเลี้ยงลูกเชิงบวกและสิทธิของเด็ก และในขณะเดียวกันต้องยกเลิกการสอนให้เด็กกตัญญู-ซาบซึ้งในบุญคุณพ่อแม่อย่างมืดบอด เพราะสายใยแห่งความรักสร้างได้ด้วยการกระทำแห่งความรัก รับรู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องสอนอย่างยัดเยียด 
.........
แด่เด็กๆ แห่งสยาม 
ขอให้การเลี้ยงลูกเชิงบวกและสิทธิเด็กถูกสอนในโรงเรียน ถูกพูดถึงในสื่อกระหลักมากกว่าบุญคุณพ่อแม่
ขอให้ทุกคนมองเข้าไปในตาของเธอ ฟังเสียงของเธอ นั่งเสมอพวกเธอให้สมกับที่เราเป็นคนเสมอกัน

 

อ้างอิง
[1] https://news.thaipbs.or.th/content/294559
[2] https://www.bbc.com/thai/thailand-53886779 
[3] https://www.unicef.org/thailand/th/what-is-crc
[4] Forward, Susan; Glynn, Donna Frazier. Mothers Who Can't Love (p. 144-146). Harper. Kindle Edition.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net