Skip to main content
sharethis

พีมูฟจัดเสวนาชำแหละกระบวนการยุติธรรมไทยในคดีที่ดินป่าไม้ จากกรณีทวงคืนผืนป่า 'แสงเดือน ตินยอด' พร้อมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงประธานศาลฎีกา ประกาศสนับสนุนและเข้าร่วมชุมนุมขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียน และศึกษา และประชาชนปลดแอก

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2563 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ จัดเวทีเสวนา “คดีแสงเดือน จากชั้นต้นยกฟ้อง สู่อุทธรณ์ลงโทษ บรรทัดฐานกระบวนการยุติธรรมอยู่ตรงไหน” ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ เพื่อชำแหละกระบวนการยุติธรรมไทยในคดีที่เกี่ยวข้องกับที่ดินป่าไม้ของคนจน สืบเนื่องจากกรณี แสงเดือน ตินยอด หรือ วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง หญิงวัย 53 ปี ชาวบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ถูกดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง แม้ปรากฏร่องรอยทำกินจากภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่ปี 2497
    
แสงเดือนถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทข่มขู่ให้ตัดฟันยางพาราในแปลงทำกิน 10 ไร่ของตนเองในปี 2556 และ 2558 หลังจากออกมาต่อสู้ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เรียกร้องให้ตรวจสอบแนวเขต พบว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานฯ แต่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง เจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ จึงแจ้งความดำเนินคดีในปี 2561 ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องด้วยหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ ตลอดจนการเป็นผู้ยากจนยากไร้ที่ได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ได้พิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี เรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่ปี 2561 รวมถึงให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ ก่อนจะได้รับการประกันตัวด้วยการซื้อหลักทรัพย์ 4 หมื่นบาท

ย้อนรอยคดี ‘ทวงคืนผืนป่าบ้านแม่กวัก’ เมื่อมาตรการอนุรักษ์ มีไว้รังแกประชาชน
คดีทวงคืนผืนป่า 'แสงเดือน' จากชั้นต้นยกฟ้อง สู่อุทธรณ์ลงโทษ กับคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม

“มันมีที่ไหนล่ะคะความยุติธรรมกับคนจน ทีคนรวยไม่เห็นเขาไปทำ มีเยอะแยะเลยสวนยางของนายทุน ป่าไม้ไม่เคยไปดูเลย ไปไล่จับแต่คนจน ให้เขาโค่นต้นยางตัวเอง ทั้งๆ ที่ความหวังเขามีอยู่แค่นั้น ไม่มีเลยอย่างอื่นที่เราจะไปทำมาหากินได้ ส่งลูกเรียนได้ พืชล้มลุก ข้าวโพด สี่เดือนได้ครั้งหนึ่ง แล้วได้แค่พันสองพัน มันไม่มีหรอกค่ะที่ว่าจะให้เราดำเนินชีวิตส่งลูกส่งหลานให้เรียนหนังสือได้ เรามีแต่ต้นยาง พอโตขึ้นมาให้เราไปตัด เราตัดไปทั้งน้ำตา ใช้มีดตัดวันละ 3-5 ต้น เท่าที่จะทำได้ เรารู้สึกท้อแท้ ทำไมเราทำมาหากินสุจริต ทำไมเราต้องโดนแบบนี้ด้วย” แสงเดือน หรือ วันหนึ่ง กล่าว
 

เวทีเสวนา “คดีแสงเดือน จากชั้นต้นยกฟ้อง สู่อุทธรณ์ลงโทษ บรรทัดฐานกระบวนการยุติธรรมอยู่ตรงไหน”

ด้าน สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ประโยคที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในสังคมนี้ งานวิจัยที่ตนเคยทำกับผู้ต้องขังก็พบว่า คนที่ติดคุกส่วนใหญ่เป็นคนที่นามสกุลไทยๆ ธรรมดา แม้จะมีความพยายามลบล้างข้อกล่าวหานี้จากประธานศาลฎีกาคนใหม่ แต่คดีแสงเดือนพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคำนี้ยังใช้ได้ในสังคมไทยปัจจุบัน
    
“ก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่ รัฐบาล จะบอกให้คนในสังคมเคารพในกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ทำตามหน้าที่ของความเป็นรัฐแล้วหรือยัง ดูแลรักษาสิทธิของคนในสังคมแล้วหรือยัง เพราะเงินงบประมาณที่ได้มาจากภาษีประชาชน ก็เป็นเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น คือเจ้าหน้าที่รัฐมาไล่จับคนยากคนจน อันนี้ใช่หน้าที่หรือไม่ หรือเจ้าหน้าที่ต้องคอยดูแลและคุ้มครองพวกเขาใช่หรือไม่” ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว
    
สมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความสิทธิมนุษยชน มองว่า ยุคก่อนปี 40 ชาวบ้านถูกทำให้คิดว่าที่ดินเป็นของรัฐ และถูกกล่อมว่าเราสู้รัฐไม่ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในกรณีแสงเดือนทำให้เราเห็นว่า ศาลยังยึดมั่นในกฎหมาย โดยไม่สนใจบริบทอื่นๆ เช่นเดียวกับ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ที่กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไทยแย่ที่สุดในโลก เพราะเป็นระบบที่ขังจำเลยก่อนแล้วค่อยมาตีความทีหลังว่าผิดไหม กระบวนการยุติธรรมไทยไม่มีเรื่องของมนุษยธรรมในการตัดสินวินิจฉัยใดๆ    

ส่วน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการที่ดินฯ เห็นว่าถึงที่สุดระบบเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นหน้าที่เราที่ต้องทำให้มันดีขึ้น เพราะมันเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐกับการปฏิบัติ ประเด็นปัญหาของนโยบายคือ เปิดโอกาสให้คนปฏิบัติการใช้ดุลยพินิจในการตัดสิน เป็นปัญหาของคดี เรื่องนี้จึงกลับไปสู่การออกนโยบาย ดุลยพินิจในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่แฝงไปด้วยอคติ ที่มองว่าที่ดินนี้เป็นของรัฐและประชาชนไม่ควรเข้ามาใช้ ซึ่งสิ่งนี้เองคือปัญหา  

  
พีมูฟเดินเท้าไปยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา

ด้าน รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง กล่าวว่า คดีแสงเดือนไม่ใช่เป็นเรื่องการเรียกร้องให้ใช้หลักรัฐศาสตร์โดยไม่ใช้หลักนิติศาสตร์ ไม่ใช่เป็นเรื่องมาขอความเมตตาจากใคร ผู้ใด องค์กรใด แต่เป็นปัญหาระบอบ ความคิดเก่าที่ล้าหลัง ตามไม่ทันกระบวนการเรียนรู้ และการสั่งสมองค์ความรู้ของสังคมร่วมกันมายาวนานระหว่างชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ จนเกิดฐานคิดยอมรับเรื่องสิทธิชุมชน เกิดมติ ครม. คำสั่งต่างๆ รองรับฐานคิดใหม่ดังกล่าว แต่ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความมืดบอดและการไม่เรียนรู้ของกระบวนการยุติธรรม ตนจึงเรียกร้องให้ปลดแอกกระบวนการยุติธรรม และทะลุเพดานความมืดบอดของระบบคิดเก่าไปให้ได้

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ชี้ว่า การตัดสินคดีต้องไม่เพียงใช้กฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องใช้หลักมนุษยธรรมด้วย หรือเราต้องให้คนเหล่านี้ลงมาดูบริบทอื่นๆ ประกอบด้วย คดีนี้ได้ตอกย้ำว่า การดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า ต้องการทวงคืนกับใคร ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนจนต้องติดคุกจากนโยบายนี้ รัฐบาลควรรับผิดชอบโดยการลาออก เพราะนโยบายนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้และไม่มีความชอบธรรม คนไม่ผิดก็จะทำให้ผิด สร้างความเจ็บปวดให้กับประชาชน

หลังเสร็จสิ้นเวทีเสวนา พีมูฟได้แถลงการณ์สนับสนุนและเข้าร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนปลดแอกอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งเดินเท้าไปที่สำนักงานศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยให้นำมิติด้านวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่พึ่งพิงทรัพยากร รวมทั้งนโยบายของรัฐที่ผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำกินอยู่ในป่าได้มาประกอบด้วย มิใช่เพียงใช้ตัวบทกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพียงอย่างเดียว

หนังสือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ถึงประธานศาลฎีกา

เรื่อง ขอความเป็นธรรมกรณีคดีนางแสงเดือน  ตินยอด และกรณีคดีของ ขปส. ขอให้ศาลมีแนวปฏิบัติ
ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินที่อยู่ในเขตป่า  

กราบเรียนประธานศาลฎีกา
    
ด้วยนางแสงเดือน  ตินยอด หรือ วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนามเครือข่ายของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กับนายแก้ว  ตินยอด จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดลำปาง ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.319/2562 หมายเลขแดงที่ อ.757/2562 ข้อหาความผิดพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ และพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ โดยกล่าวหาว่า ระหว่างปี 2556 ถึงวันที่ 6 กันยายน 2561 จำเลยทั้งสองบุกรุกยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 14 ไร่เศษ ศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 โดยให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 400,000 บาท 
    
ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาดังกล่าว ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐที่ผ่านมา ได้ใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยมานำเสนอปัญหาให้รัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานต่างๆ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนทั้งระดับพื้นที่และเชิงนโยบาย อันเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ต้องแก้ไขไปพร้อมๆ กันนั้น
    
ขปส. ขอกราบเรียนมายังท่านว่า คดีที่เกิดจากการข้อพิพาทในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินที่อยู่ในเขตป่าของรัฐในพื้นที่สมาชิกของ ขปส.กว่า 22 คดี รัฐบาลได้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 รับทราบและเห็นชอบหลักการแนวทางแก้ปัญหาของ ขปส. 6 ประการประกอบด้วย (1) ต้องยุติการคุกคามพื้นที่สมาชิกของ ขปส. ยุติการแจ้งความดำเนินคดีในทุกพื้นที่ทุกกรณี คดีเก่าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมให้มีมาตรการจำหน่าย หรือชะลอการดำเนินคดีเอาไว้ก่อน (2) ในการแก้ปัญหาของ ขปส. รัฐบาลต้องยึดปัญหาความเดือดร้อน ข้อมูลและข้อเท็จจริงของประชาชนเป็นหลัก ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ มติครม.และนโยบายที่เป็นอุปสรรคให้สอดคล้อง (3) กรณีชุมชนของ ขปส. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล ต้องให้ชุมชนเข้าถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และซ่อมแซม บ้านเรือน และเข้าถึงโครงการพัฒนาของรัฐต่าง ๆ ได้ (4) ปัญหารายกรณีและเร่งด่วนให้มีการเจรจาหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกับภาครัฐ และเมื่อได้แนวทางหรือข้อตกลงร่วมกัน ให้จัดทำแผนแก้ไขปัญหารายกรณี ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม (5) ให้มีแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ในสัดส่วนระหว่างภาครัฐกับตัวแทนภาคประชาชนที่เท่ากัน โดยให้มีอำนาจหน้าที่แก้ปัญหาสั่งการในทุกรายกรณี และ (6) ให้มีการนำข้อเสนอเชิงนโยบายของ ขปส.9 ประการไปดำเนินการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอแต่ละกรณีเป็นเจ้าภาพ รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2, 3 นั้น 
    
ดังนั้น เมื่อรัฐมีนโยบายแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องที่ดินที่ทำกินที่อยู่ในเขตป่าตามนโยบายข้างต้น ซึ่งได้ยึดโยงและให้คุณค่าต่อวิถีชีวิตและการผลิตในระดับท้องถิ่นโดยทั่วไป ทั้งด้านความมั่นคงในการดำรงชีวิต สิทธิในการแสวงหาหรือเลือกถิ่นฐานที่อยู่ อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนทุกเหล่าจึงเป็นสิทธิที่มนุษย์พึ่งมีโดยธรรมชาติ มิได้เบียดเบียนเกินวิถีตามธรรมชาติแต่อย่างใด  
    
ดังนั้น ข้อพิพาทในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติระหว่างรัฐกับประชาชน ส่วนหนึ่งจึงเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเข้ามาเยียวยาแก้ไขปัญหา เพื่อลดปัญหาอุปสรรคและความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ขปส.ขอนำเรียนว่า มิติวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นที่ต้องอาศัยพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งนโยบายแห่งรัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตของประชาชน จึงเป็นประเด็นที่ควรนำประกอบในการวินิจฉัยเพื่อสร้างความสมดุลในกระบวนการยุติธรรม แม้แต่รัฐบาลเอง ก็มิอาจเพิกเฉย หรือละเลยที่จะต้องมีนโยบายแก้ไขปัญหาทางสังคมเพื่อความสงบสุข ดังปรากฏ ในคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ได้สะท้อนมุมมองของรัฐบาลที่พยายามแก้ไขปัญหาในที่ดินป่าไม้ จึงน่าจะเป็นแนวทางในการพิจารณาที่จะนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมทางสังคม และขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในทรัพยากรของชุมชนได้ 

เพื่ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรมถึงที่สุด ขปส. จึงขอความเป็นธรรมมายังท่านในกรณีคดีนางแสงเดือน ตินยอด และกรณีคดีของ ขปส.ทั้งหมด ขอให้ศาลมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินที่อยู่ในเขตป่า ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net