สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 13-19 ก.ย. 2563

JobThai ระบุช่วง COVID-19 ระบาด ตลาดแรงงานต้องการ 'ฟรีแลนซ์-แพทย์-ครู'

จ๊อบไทย (JobThai) ผู้ให้บริการหางาน สมัครงาน ออนไลน์อันดับ 1 ของประเทศไทยเปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงานขององค์กรในจ๊อบไทยแพลตฟอร์มพบว่า องค์กรมีความต้องการแรงงานในช่วงครึ่งปีแรกรวมกันอยู่ที่ 303,776 อัตรา (เป็นการนับจำนวนอัตราแบบไม่ซ้ำกัน) ซึ่งมีการเปิดรับสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 124,629 อัตรา แต่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน การจ้างงานลดลง 16.5%เทียบกับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563

ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นและกระจายวงกว้างมากขึ้น จนทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนด้านผู้ใช้งาน หางาน สมัครงานมีการใช้งานมากกว่า 11 ล้านคน เติบโตขึ้น7.5% ซึ่งมีการสมัครงาน 8,876,727 ครั้งเติบโตขึ้น 31.0% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย (JobThai) กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับภาพรวมตลาดแรงงาน จากการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลงานในจ๊อบไทยแพลตฟอร์ม เพื่อรายงานสถานการณ์ความต้องการแรงงาน และพฤติกรรมความต้องการของผู้สมัครงานทั่วประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ปรากฏว่ามี 5 ประเภทธุรกิจมีความต้องการแรงงานมากที่สุด

1.อาหาร-เครื่องดื่ม 58,724 อัตรา แม้การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 1 ปี 2563 จะปรับตัวลดลง (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม) แต่ผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่ายในหมวดสินค้า และบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน จึงทำให้ประเภทธุรกิจนี้ยังคงมีความต้องการแรงงานมาเป็นอันดับแรก ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 22.9%

2.บริการ 44,750 อัตรา ความต้องการแรงงานในธุรกิจประเภทนี้จะเป็นธุรกิจบริการที่นอกเหนือจากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาคท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจบริการทำความสะอาด, ธุรกิจบริการด้านระบบ, ธุรกิจบริการฝึกอบรม

3.ก่อสร้าง 41,353 อัตรา SCB EICประเมินว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีแนวโน้มหดตัวตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางส่วนเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป แต่การก่อสร้างโครงการภาครัฐยังคงมีแรงขับเคลื่อนจากโครงการเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม เช่น โครงการรถไฟฟ้า, โครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงการสนามบิน, โครงการท่าเรือ, โครงการมอเตอร์เวย์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

4.ยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ 39,883 อัตรา ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อยอดการจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ในประเทศและการส่งออกให้ชะลอตัวลง ทั้งยังกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งภายในรถยนต์ รวมถึงตัวแทนจำหน่าย (ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) แม้ธุรกิจนี้จะอยู่ใน 5 อันดับแรกที่ต้องการแรงงานมาก แต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า ความต้องการแรงงานลดลงถึง 31.8%

5.ค้าปลีก 37,482 อัตรา ธุรกิจค้าปลีกโดยรวมมีผลกระทบค่อนข้างมาก ยกเว้นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต เช่น อาหารและของใช้ส่วนตัว ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ยังคงมีความต้องการแรงงาน

ขณะที่ 5 สายงานที่องค์กรเปิดรับมากที่สุด อันดับ 1 ขาย คิดเป็น 19.9% อันดับ 2 ช่างเทคนิค คิดเป็น 10.3% อันดับ 3 ผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 7.9% อันดับ 4 วิศวกร คิดเป็น 5.8% อันดับ 5 ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 5.7%

ส่วน 5 สายงานที่คนสมัครมากที่สุด อันดับ 1 ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 12.7% อันดับ 2 ขาย คิดเป็น 9.5% อันดับ 3 ผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 9.1% อันดับ 4 งานบุคคล/ฝึกอบรม คิดเป็น 6.2% อันดับ 5 ขนส่ง-คลังสินค้าคิดเป็น 6.1%

สำหรับ 5 นิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากที่สุด อันดับ 1 นิคมอมตะซิตี้จังหวัดระยอง 3,374 อัตรา อันดับ 2 นิคมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี 3,140 อัตรา อันดับ 3 นิคมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี 2,789 อัตรา อันดับ 4 สวนอุตสาหกรรมโรจนะ พระนครศรีอยุธยา 2,339 อัตรา อันดับ 5 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี 2,264 อัตรา

“แสงเดือน” กล่าวต่อว่า ส่วนนักศึกษาจบใหม่ในปีนี้ต้องเผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือกับอนาคต

สำหรับสายงานที่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่โดยมี 5 สายงานที่องค์กรเปิดรับนักศึกษาจบใหม่ปริญญาตรีมากที่สุด อันดับ 1 ขาย คิดเป็น 23.3% อันดับ 2 บริการ คิดเป็น 11.8% อันดับ 3 ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 9.0% อันดับ 4 วิศวกร คิดเป็น 7.2% อันดับ 5 ช่างเทคนิค คิดเป็น 7.1%

“ขณะที่ 5 สายงานที่นักศึกษาจบใหม่ปริญญาตรีสมัครมากที่สุด อันดับ 1 ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 15.8% อันดับ 2 วิศวกร คิดเป็น 10.3% อันดับ 3 ขาย คิดเป็น 9.5% อันดับ 4 ผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 8.0% อันดับ 5 บริการ คิดเป็น 7.1%”

“ดังนั้น หากแบ่งข้อมูลออกเป็น3 ช่วง คือ ช่วงก่อนระบาดหนัก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ช่วงระบาดหนักและล็อกดาวน์ (มีนาคม-เมษายน) และช่วงคลายล็อกดาวน์ (พฤษภาคม-มิถุนายน) พบว่า ช่วงระบาดหนักและล็อกดาวน์ มีสายงานเดียวที่เปิดรับคนเพิ่มขึ้น คือแพทย์/เภสัชกร/สาธารณสุข เพิ่มขึ้น 0.5% ส่วนช่วงคลายล็อกดาวน์ มีการเปิดรับ freelance เพิ่มขึ้น 36.4%”

“แสงเดือน” กล่าวต่อว่า ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านตลาดแรงงานมีความผันผวนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์กรต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอคนทำงานเองต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเองอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาทักษะอยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องสำคัญมากในการทำงานยุคนี้

“สำหรับทิศทางของตลาดแรงงานจากนี้ไป คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเราดูสถิติช่วงต้นเดือนกรกฎาคมพบว่า สายอาชีพที่มีแนวโน้มเปิดรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ freelance, อาจารย์/ครู, แพทย์/เภสัชกร/สาธารณสุขสำหรับการหางาน สมัครงานในจ๊อบไทยมีการเติบโตขึ้นมาก ซึ่งจ๊อบไทยได้ออกฟีเจอร์การค้นหางานที่ให้ทำงานที่บ้านได้(work from home) และค้นหางานที่เปิดรับสัมภาษณ์ออนไลน์ เพื่อสร้างความสะดวก ทั้งยังตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ และคนหางานด้วย”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/9/2563

เปิดตัว www.ไทยมีงานทำ.com เริ่มประกาศรับสมัครงานแล้ว

17 ก.ย. 2563 เว็บไซต์ www.ไทยมีงานทำ.com สามารถเข้าใช้งานได้แล้ว โดยสำรวจพบว่า ภาคเอกชนเริ่มลงประกาศรับสมัครพนักงานในตำแหน่งต่างๆ ทั้งแบบรายวันและรายเดือน

จากการสำรวจพบว่า บริษัทในหลายอุตสาหกรรม ได้เริ่มลงประกาศรับสมัครงานในหลายตำแหน่ง อาทิ พนักงานฝ่ายผลิต พนักงานฝ่ายผลิต พนักงานการตลาด ในหลายจังหวัด เช่น ชลบุรี สมุทรสาคร และ กทม. ขณะที่ในสายงานด้านไอที-เทคโนโลยี พบว่า ธนาคารทหารไทย ประกาศรับสมัครหลายอัตรา โดยระบุว่าเงินเดือนตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป

ก่อนหน้านี้ นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. เปิดเผยว่า สศช. ได้ร่วมมือกับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. จัดทำแพลทฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน โดยจะมีการออกแบบให้รองรับการลงทะเบียนผู้ว่างงานจากทุกภาคธุรกิจ

“แพลตฟอร์มดังกล่าวจะทำหน้าที่คล้ายกับ Jobs.DB ของภาครัฐ ขณะนี้มีการเร่งดำเนินการทำแพลตฟอร์มดังกล่าวให้เรียบร้อยภายในกลางเดือนสิงหาคม เพื่อให้ทันการณ์กับการจ้างงานของกระทรวง หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่ได้งบประมาณเงินกู้ 4 แสนล้าน และปีงบประมาณใหม่” นายดนุชากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพลตฟอร์มที่แบงก์ชาติและสภาพัฒน์จะทำร่วมกัน อาจจะใช้ชื่อภายใต้คอนเซ็ปต์ว่า “ไทยมีงานทำ” ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ว่างงานที่รัฐใช้เป็นฐานข้อมูลในการแก้ปัญหาปัจจุบัน ใช้ตัวเลขผู้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งล่าสุด ณ เดือน พ.ค. 2563 มีผู้ว่างงาน 3 แสนราย

www.ไทยมีงานทำ.com ระบุว่าโครงการมีตำแหน่งงานที่เปิดรับบนแพลตฟอร์มมากกว่า 5 หมื่นตำแหน่ง จากกว่า 2.8 หมื่นหน่วยงาน/บริษัท ตามข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ย. 2563

ทั้งนี้ เว็บไซต์ไทยมีงาน ระบุว่าจะปิดปรับปรุงระบบชั่วคราวในวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 โดยข้อมูลของผู้ใช้งานและบริษัทยังคงใช้งานได้ตามปกหลังกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 17/9/2563

สรส. ร้องนายกฯ เร่งเยียวยาพนักงานบริษัทเครือการบินไทย โดนลอยแพกว่า 2 พันราย

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2563 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล (สำนักงาน กพ.)สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และกลุ่มสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย จำนวน 150 คนนำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และนางสาวอำไพ วิวัฒนสถาปัตย์ ประธานสหภาพแรงงานฯ รวมตัวยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ที่ถูกเลิกจ้างเป็นการเร่งด่วน

โดยระบุว่า บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการบินไทย มีพนักงานกว่า 3,320 คนได้รับผลกระทบโดยตรงจากการหยุดบิน ชั่วคราวของบริษัทการบินไทย จากสถานการณ์โควิด-19 และบริษัทการบินไทย ได้ออกประกาศหยุดการจ้างงานชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 63 และล่าสุด มีประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 2,598 คนโดยมีผลตั้งแต่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา โดยบริษัทวิงสแปนฯ ไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายในตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดได้เพราะยังไม่มี ความสามารถทางการเงิน และจะทยอยจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานภายในระยะเวลา 1 ปี หรือเมื่อบริษัทฯ มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีแล้ว สร้างผลกระทบให้กับพนักงานและครอบครัว

โดย สรส. ขอเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรี หาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาพนักงานทั้ง 2,598 คน และกระทรวงแรงงานต้องหาทางออกและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเร่งด่วนในประเด็นระยะเวลาการจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง โดยสำนักงานประกันสังคมจะต้องเร่งรัดให้ทางบริษัทส่งรายชื่อพนักงานที่ถูกเลิกจ้างเพื่อให้พนักงานเข้าถึงสิทธิประกันสังคมกรณีการถูกเลิกจ้างอย่างเร่งด่วน

ที่มา: ไทยโพสต์, 17/9/2563

กสร. เตือนทำงานในที่อับอากาศอาจเสียชีวิต หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตือนนายจ้าง ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศต้องปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ เกี่ยวกับการทำงานในที่อับอากาศอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมายและอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวเหตุการณ์เสียชีวิตของลูกจ้างที่ทำงานในพื้นที่อับอากาศตามที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ กสร.ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า สาเหตุใหญ่มาจากการไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อม

ในการทำงาน พ.ศ.2554 รวมทั้งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยไว้อย่างชัดเจน เช่น กำหนดให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีการประเมินสภาพอันตรายในที่อับอากาศ กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล อุปกรณ์ช่วยเหลือ และช่วยชีวิตที่เหมาะสมกับลักษณะงาน กำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศต้องได้รับการอบรมตามที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น กสร.จึงขอเตือนไปยังนายจ้าง ลูกจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งของลูกจ้างและนายจ้าง สำหรับความผิดของนายจ้างที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า อุบัติเหตุจากการทำงานในที่อับอากาศนั้น สามารถป้องกันได้หากทุกฝ่ายตระหนักและคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานสอบถามได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 0 2448 9128-39 ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 1-12 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (อ้างใน RYT9), 16/9/2563

เชฟหนุ่มตกงาน โพสต์ด่าประกันสังคม โดนแจ้งจับ ‘หมิ่นประมาท’

ร.ต.อ.สกลฤทธิ์ ชุติมาปัญญา รองสารวัตรสอบสวน สภ.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เรียกตัวเชฟหนุ่มวัย 35 ปี มารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” พร้อมส่งตัวพิมพ์ลายนิ้วมือดำเนินคดี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวด่าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ จนทำให้ทางสำนักงานได้รับความเสียหายและส่งตัวแทนนำหลักฐานเข้าแจ้งความดำเนินคดี

ผู้ต้องหาให้การสารภาพว่า ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นเชฟในโรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.เมืองเชียงใหม่ ต่อมาในช่วงเดือน มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา ต้องตกงานจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 จากนั้นทราบว่าสำนักงานประกันสังคมมีมาตรการจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือผู้ประกันตน แต่รอนานก็ยังไม่ได้รับเงิน เมื่อไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมที่อยู่ภายในศูนย์ราชการจังหวัด ก็ปิดทำการ ติดต่อทางโทรศัพท์ก็ไม่มีคนรับสาย ส่งข้อความสอบถามไปที่เพจของสำนักงานก็ไม่มีใครตอบ จึงเกิดความโมโห โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวด่าสำนักงานประกันสังคม ข้อความทำนองว่าเป็นหน่วยงานห่วยแตก ช่วยเหลือประชาชนไม่ได้ ทั้งที่มีงบประมาณมากมาย แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นถูกแจ้งความดำเนินคดี

ขณะที่ตัวแทนของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดให้ข้อมูลว่าในช่วงเวลาดังกล่าวทางสำนักงานได้ปิดให้บริการ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนที่ได้รับเงินช่วยเหลือช้า เป็นเพราะในช่วงนั้นระเบียบการจ่ายเงินต่าง ๆ ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้ยังไม่มีหลักเกณฑ์ให้จ่ายเงินได้ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวทางสำนักงานได้เปิดให้บริการประชาชนในส่วนที่จำเป็นเท่านั้น ต่อมาทราบว่าเชฟคนดังกล่าวได้โพสต์ต่อว่าซึ่งเป็นข้อมูลเท็จและทำให้ทางสำนักงานประกันสังคมจังหวัดได้รับความเสียหาย จึงเข้าแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยกันผู้ต้องหาได้สำนึกผิดในการกระทำของตัวเอง โดยบอกว่าเป็นเพราะความเครียดที่ตกงาน ไม่มีเงินใช้จ่าย แถมบิดาก็ยังป่วยหนัก พร้อมยกมือไหว้ขอโทษเจ้าหน้าที่ต่อหน้าร้อยเวร บอกว่าเป็นบทเรียนล้ำค่าในการโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย โดยในวันที่ 16 ก.ย. จะเข้าไปขอโทษหัวหน้าสำนักงานด้วยตัวเอง ส่วนคดีที่ถูกแจ้งข้อหาก็พร้อมรับโทษ ด้าน ร.ต.อ.สกลฤทธิ์ เปิดเผยว่า ได้แจ้งข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหา หลังจากนี้จะสรุปสำนวนและเรียกตัวมาส่งฟ้องตามขั้นตอน

ที่มา: one31, 15/9/2563

สมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการพบ 'เลขาฯ รมว.แรงงาน' เสนอ 'โครงการนำร่อง 1 ตำบล 1 คนพิการ'

วันที่ 14 ก.ย. 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับนายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการ และคณะขอเข้าพบหารือประเด็น "สถานการณ์แรงงานคนพิการไทย" ณ ห้องมิตรไมตรี 1 ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน พร้อมเสนอประเด็นสนับสนุนการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ ตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการ และ "โครงการนำร่อง 1 ตำบล 1 คนพิการ” ซึ่งประเทศไทยมีตำบลมากกว่า 9,652 แห่ง ทั่วประเทศ และหากภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานคนพิการจะสามารถเพิ่มแรงงานให้คนพิการได้กว่า 9,652 อัตรา ทั้งนี้ การที่สมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการ และคณะมาขอเข้าพบในวันนี้ ทำให้ทางกระทรวงแรงงานได้รับทราบสภาพปัญหาและร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันของทุกฝ่าย อีกทั้งได้ให้ความช่วยเหลือตามเป้าหมาย โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อคนพิการไทย

ที่มา: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 14/9/2563

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท