Skip to main content
sharethis

19 ก.ย. 2563 ผู้ชุมนุม '19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร' เข้าสู่สนามหลวงสำเร็จ เต็มพื้นที่จากฝั่งทิศเหนือไปจนถึงบริเวณกลางสนามหญ้า เวทีประกาศผู้ชุมนุมเกิน 2 แสน

ประมาณ 16.51 น. พาเหรดละครหุ่นยักษ์จากกลุ่ม B-floor เข้ามาในสนามหลวง เตรียมการแสดงชักชวนคนเข้ามารอดู

17.10 น. กลุ่มสวมเสื้อแดงและหน้ากากประมาณ 7 คน ยืนชู 3 นิ้ว พร้อมเปิดเพลงปลดปล่อย เปลี่ยนแปลง (Let it Change!) บริเวณแนวกั้นของตำรวจ สนามหลวงฝั่งใต้

17.30 น. ผู้ชุมนุมแห่เรือดำน้ำจำลองเข้ามาในสนามหลวง

18.00 น. บริเวณข้างหอประชุม ผู้ชุมนุมยืนถือป้ายตามหาคนหาย เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้ถูกบังคับสูญหายและให้ประชาชนร่วมกันสนับสนุน พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย

ด้านจุดลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ เวลา 18.15 น. ยังมีประชาชนมาเข้าแถวอย่างหนาแน่น ยอดรวม ณ เวลาดังกล่าว คือ 87,843 รายชื่อ และจะนำไปยื่นต่อรัฐสภาวันที่ 22 ก.ย. 2563

19.10 น. มีผู้พบสติกเกอร์ข้อความ "กูkult" ติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ฯ ด้านข้างอาคารศาลฎีกา ตรงข้ามสนามหลวง

19.38 น. สติกเกอร์ดังกล่าวถูกนำออกแล้วโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจในพื้นดังกล่าว โดยผู้ประสานงานผู้ชุมนุมบริเวณดังกล่าวแจ้งว่า ตำรวจเป็นผู้นำสติกเกอร์ออก และกำลังรอเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานมาตรวจสอบลายนิ้วมือ พร้อมกันผู้ที่มุงดูออกและขอร้องผู้ชุมนุมหากพบสิ่งที่มีลักษณะดังกล่าวให้รีบแจ้งพวกตนโดยเร็ว

นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบยังมีซุ้มปาสี 'ครม.ตู่' โดยสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก ระบุว่า ต้องการให้คนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์กับคณะรัฐมนตรีชุดนี้

"เหมือนกับที่เขาป้ายสีสี สาดคดีใส่เรา กลุ่มเราเราสนับสนุนข้อเรียกร้องของประชาชนปลดแอก และ 10 ข้อของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นอย่างยิ่ง" สมาชิกสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกกล่าว

ด้านสหายแสงจันทร์ พาเพื่อนฝูงนำเงินลงขันกันมาทำข้าวไข่เจียวแจกที่บริเวณกองสลากเก่า ถ.ราชดำเนินเวลา 20.00 น. ไข่หมดไปแล้วกว่า 2,000 ฟอง และมีแนวโน้มจะหมดมากกว่านี้จากแถวต่อคิวที่ยาวเหยียด

สหายแสงจันทร์ กล่าวว่า อยากมาให้กำลังใจน้องๆ ที่ออกมาต่อสู้ เขาฝากให้กำลังใจให้ทุกคนสู้ๆ ลุงป้าก็มีหน้าที่ช่วยเหลือด้านอาหารการกิน

"ดีใจที่คนรุ่นใหม่ออกมา คนรุ่นเก่าก็หมดสภาพไป ดีใจที่เด็กรุ่นใหม่สืบทอดอุดมการณ์ ดีใจที่เด็กๆ ตาสว่าง รับช่วงต่อ"

"ส่วนตะหลิวตอนนี้ไม่มีคนรับไม้ต่อ เหนื่อยมาก" สหายแสงจันทร์กล่าว

ชักว่าวขึ้นฟ้า เรียกร้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116

ไชยวัฒน์ อัศวเบ็ญจาง อายุ 29 ปี พนักงานบริษัทเอกชนกล่าวถึงเหตุผลของการมาทำกิจกรรมดังกล่าวว่า สนามหลวงกับว่าวเป็นสิ่งที่คู่กันมาตั้งแต่ตนเด็กๆ เมื่อ 20 กว่าปีแล้ว ทุกคนสามารถใช้พื้นที่สนามหลวงเพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้ จึงเห็นว่ามันควรจะกลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะเช่นเคยหลังถูกยึดไป

"ว่าวนี่เราสามารถเขียนคำต่างๆ ได้ แล้วเมื่อข้อความเหล่านี้อยู่บนท้องฟ้า มันก็เหมือนว่าเราต้องการสื่อสารไปยังผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย"

เกี่ยวกับมาตรา 112 และ 116 นั้นเป็นปัญหาค่อนข้างมากเพราะถูกใช้ในการดำเนินคดี และขาดความโปร่งใส รวมทั้งใช้เป็นข้ออ้างที่จะจัดการกับคนทุกคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ส่วนมาตรา 6 ตามรัฐธรรมนูญก็ควรยกเลิกเช่นกัน

สู่สุขติ

ไข่ต้ม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยการออกแบบ สาขาศิลปภาพถ่าย มหาวิทยาลัยรังสิต ยืนถือพวงหรีดไว้อาลัยให้กับผู้เสียประโยชน์จากการชุมนุมเรียกร้องของขบวนนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ขณะที่ข้อความ “สู่สุขคติ” นั้นถือว่าเป็นการอวยพรให้ประชาชนได้รับชัยชนะ มีสิทธิเสรีภาพ และมีความสุขในเร็ววัน

นอกจากนี้ เขายังเล่าว่า ที่มาร่วมชุมนุมวันนี้ เพราะอยากเปลี่ยนนายก

"มัน 5 ปีแล้ว ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย" ไข่ต้มกล่าว

ถือถุงขยะคนละใบไปร่วมชุมนุม

คริส โปตระนันทน์ และกลุ่มเพื่อนตั้งบูธแจกถุงขยะอยู่บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ เขาเล่าว่า คราวที่แล้วไปร่วมชุมนุม 16 ส.ค. 2563 แล้วไม่มีที่ทิ้งขยะเลย มีแค่ถุงขยะตามเสาซึ่งไม่พอ วันนั้นเลยซื้อถุงขยะมาช่วยกันเก็บกับกลุ่มเพื่อนประมาณ 10 คน ก็เก็บได้ไม่หมด วันนี้เลยคิดใหม่

"ถ้าเราเก็บคนเดียวเราเก็บได้ไม่หมด แต่ถ้าเราซื้อถุงขยะมาแจกแล้วช่วยกันเก็บมันน่าจะหมด และน่าจะสวยงาม เราไม่อยากให้ใครมาดูถูกว่าม็อบนี้ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เราเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วต้องรับผิดต่อสังคมด้วย" คริสกล่าว

คริสประเมินว่า คนที่มาร่วมชุมนุมอาจสร้างขยะไม่ต่ำกว่า 7 ชิ้น มีทั้งขวดน้ำ หลอดพลาสติก ถุงลูกชิ้น ไม้ลูกชิ้น เลยรวมเงินกับเพื่อนๆ แล้วทำโปรเจคต์นี้ขึ้นมา แต่ก็ยังไม่ยั่งยืนนัก เพราะยังต้องใช้เงินส่วนตัวอยู่ แต่ถ้าคราวหน้ามีคนมาช่วยกันคิดก็อาจจะจัดการเรื่องขยะได้ดียิ่งขึ้น

 

รัญ แม่ค้าขายแผ่นปูรองนั่ง เล่าว่า วันนี้เธอรับสินค้าจำพวกพัดกระดาษ ร่ม เสื้อกันฝน และแผ่นปูรองนั่ง มาขายกับทีมอีกประมาณ 20 คน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เธอได้เข้ามาขายของภายในสนามหลวง "ขายได้ประมาณ 3,000 บาท"

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net