'Unmute Project' นิทรรศการศิลปะต่อต้านเผด็จการในชุมนุม 19 ก.ย. เปิดพื้นที่ให้งานที่โดนเซ็นเซอร์

นิทรรศการศิลปะต่อต้านเผด็จการ เปิดพื้นที่ให้งานที่โดนแบน-เซ็นเซอร์-สุ่มเสี่ยง ส่งเสียงว่าศิลปินก็เป็นวิชาชีพหนึ่ง


จากซ้ายไปขวา ขนิษฐา อิ่มลิ้มทาน, เอมรินทร์ อุ่นในชน, คัทลียา เผ่าศรีเจริญ

 

“ในฐานะที่วิชาชีพเรามันเหมือนวิชาชีพที่ตกหล่น ทำยังไงให้ถูกเข้าใจด้วยนิยามแบบใหม่ ว่าเป็นวิชาชีพหนึ่งในสังคม มีตัวตนอยู่ เพราะอย่างช่วงโควิด พวกเราตกสำรวจกันหมด ไม่รู้จะไปกรอกในช่องไหน ส่วนใหญ่ต้องไปกรอกในช่องรับจ้าง ทั้งที่ก็มีกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว เราก็ยังเป็นอาชีพรับจ้างอยู่ มันไม่ได้ถูกจัดอยู่ในประเภทอะไรเลย” คัทลียา เผ่าศรีเจริญกล่าว

นิทรรศการ ‘Unmute Project’ คือหนึ่งในซุ้มของ ศิลปะปลดแอก หรือ FreeArts ในงานชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งมีการจัดฉายภาพเคลื่อนไหวของหลากหลายศิลปิน เราพูดคุยถึงที่มาที่ไปกับสามผู้จัด คัทลียา เผ่าศรีเจริญ, เอมรินทร์ อุ่นในชน และ ขนิษฐา อิ่มลิ้มทาน

 

ที่มาของนิทรรศการคืออะไร?

เอมรินทร์: เริ่มจาก #ไอเดียออกม็อบ ในทวิตเตอร์  มันมีคนพูดว่าอยากพูดม็อบที่เป็นงานศิลปะ แล้วเราเรียนศิลปะ เลยรู้สึกว่าเราทำได้ เรามีส่วนร่วมตรงนี้ได้ ไอเดียส่วนตัวของเราคือการลดกำแพงบางอย่างของศิลปะด้วย ศิลปะไปไม่ถึงคน การที่ศิลปะไปกระจุกอยู่ที่คนกลุ่มเดียว เราอยากให้ศิลปะเข้าถึงทุกคน

 

เนื้อหางานที่มาแสดงครั้งนี้คืออะไร?

เอมรินทร์: เป็นงานวิดีโอของศิลปินจากหลากหลายกลุ่มที่เราร่วมกันทำกับวงการภาพยนตร์ที่อาจจะมีความหมิ่นเหม่ สุ่มเสี่ยง โดนแบน โดนเซ็นเซอร์ ทั้งที่มันไม่ได้มีอะไรเลย ศิลปินชอบโดนเซ็นเซอร์เนื้อหา โดนปลดภาพออกจากแกลอรี่ ทั้งหมดเราก็เอามาฉายที่นี่

 

ไอเดียของ Unmute Project คืออะไร?

ขนิษฐา: Unmute มันคือการไม่ปิดกั้น เราโดนปิดกั้นในหลายๆ ทางในรัฐบาลสุดนี้ สิ่งที่เราอยากส่งเสียงมากๆ ในมุมของเราคือศิลปะ เราก็เลยจัดนิทรรศการศิลปะเพื่อต่อต้านเผด็จการ ซึ่งเราก็จะรวบรวมงานของศิลปินที่สื่อสารเกี่ยวกับการเมืองมาแสดง ครั้งแรกที่เราจัดแสดงก็คือที่สวนครูองุ่น เมื่อวันที่ 29 พ.ค.-5 มิ.ย. ที่ผ่านมา

คัทลียา: เวลามีกิจกรรมทางการเมืองแล้วเปิดให้ศิลปินเข้าร่วมส่วนใหญ่จะเป็นแอคชั่นทางกายภาพ หรือเป็นดนตรี เพราะมันเข้าถึงคนง่าย สื่อสารง่าย เราก็คิดว่าทำยังไงให้ศิลปินที่ด้านวิดีโอและภาพยนตร์ งานของเขามันคือผี มันคือเมมโมรี่ คือการฉายแสงโปรเจ็กภาพและเสียง เราเลยพยายามรวบรวมนำงานของศิลปินเหล่านี้มาฉาย ทั้งงานวิชวล ภาพถ่าย สารคดี

เรารู้สึกว่ากระบวนการของภาพถ่ายในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมันสำคัญมาก เพราะมันเป็นบันทึกทางสังคม ทั้งในเรื่องคุณภาพของภาพ และตัวเขาเองก็เข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นด้วย เพราะฉะนั้นเราเลยรู้สึกว่ามันมีพื้นที่ในการทำ

โจทย์ของเราวันนี้คือ ฉายยังไงให้คนได้เห็นงานของพวกเขา วันนี้มีทั้งงานที่เคยอยู่ในแกลลอรี่ งานที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน เพราะมันไม่สามารถจัดความสัมพันธ์ของมันกับพื้นที่อื่นๆได้ เช่น เขาอาจคิดว่าเขาไม่ใช่ศิลปินเผยแพร่แค่ในออนไลน์ แต่เราคิดว่าในออนไลน์ก็ไม่เท่ากับมันมาปฏิสัมพันธ์กับคน เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นวิธีเรียกร้องให้ศิลปินที่ทำงานด้านนี้ลองหาทางที่จะเผยแพร่งานของตัวเองดูในพื้นที่การชุมนุม ครั้งต่อไปเราก็หวังว่าจะมีศิลปิน หรือเราสามารถเชิญคิวเรเตอร์เข้ามาทำงานในพื้นที่สาธารณะแบบนี้ได้

วันนี้เรามาในฐานะแค่คนเตรียมพื้นที่ให้คนทำงานเข้ามาแสดงงานได้ แล้วเราก็เห็นว่าคนให้ความสนใจเยอะมาก ดังนั้นสมมติฐานที่ว่าคนไม่เข้าแกลลอรี่มันต้องจัดความสัมพันธ์ให้มันถูก ทำให้มันเห็นมากขึ้น เรามีนักข่าวด้านศิลปวัฒนธรรมมากขึ้น เราก็สามารถเผยแพร่งานให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น

ส่วนหนึ่งเราอยากท้าทายศิลปินในแง่ที่ว่า ตอนนี้เราพูดกันว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมันทะลุเพดาน แต่อย่างคนทำหนังหรือภาพเคลื่อนไหวมันก็ยังอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ มีกฎหมายเรตติ้ง มีการแบน เพราะฉะนั้นเราอยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาทำงาน และเผยแพร่งาน เพื่อบริหารแรงเสียดทานแบบนี้ รวมทั้งงานศิลปินคนอื่นๆด้วย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท