ลุ้น iLaw ล่าชื่อแก้ รธน. ทะลุแสน 'ชวน หลีกภัย' นัดรัฐสภาประชุมญัตติแก้ รธน. 23-24 ก.ย.

เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎรเผย 'ชวน หลีกภัย' นัดประชุมร่วมรัฐสภา 23-24 ก.ย. พิจารณา 6 ญัตติแก้รัฐธรรมนูญจากฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล รวมเรื่องตั้ง ส.ส.ร. ตัดอำนาจวุฒิสภาเลือกนายกฯ ยกเลิกคำสั่ง คสช. หันกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ฯลฯ 'คำนูณ สิทธิสมาน' ระบุก่อนประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการหารือกัน 3 วิป ขณะที่ iLaw ปิดโต๊ะล่ารายชื่อแก้รัฐธรรมนูญได้ 96,669 ชื่อ รอลุ้นเอกสารจากไปรษณีย์​อาจได้เกินแสนชื่อ โดยเตรียมยื่นรายชื่อที่รัฐสภาวันที่ 22 ก.ย. นี้

เวลา 22.58 น. วันที่ 19 ก.ย. ที่สนามหลวง iLaw ​ปิดโต๊ะล่ารายชื่อเสนอร่าง​แก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ยอดรวมทั้งสิ้น​ 96,669​ รายชื่อ​ รอลุ้นเอกสารจากไปรษณีย์​อาจได้เกินแสนชื่อ โดยเตรียมยื่นรายชื่อที่รัฐสภาวันที่ 22 ก.ย. นี้

โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 16 ก.ย. ในเพจ iLaw มีการประกาศจุดยืน "เดินไปยื่น 50,000+ รายชื่อ ร่วม “รื้อ-ร่าง-สร้าง” รัฐธรรมนูญประชาชน" โดยประกาศนัดหมาย ผู้เข้าชื่อ และผู้ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกคนพบกันที่สถานีรถไฟฟ้า MRT เตาปูน ทางออก 4 วันที่ 22 ก.ย. เวลา 13.00 น. เพื่อเดินขบวนไปรัฐสภา นำรายชื่อจากการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญไปส่งให้รัฐสภา ยืนยันเจตจำนงประชาชน หลังรัฐสภามีกำหนดวาระพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 ถึง 24 ก.ย. ขณะที่ฝ่ายประชาชนก็กำลังนำเสนอทางออกปัญหาทางการเมืองในปัจจุบัน ผ่านช่องทางการเข้าชื่อร่วมกัน

"เราไม่ต้องการเห็นภาพที่รัฐสภา “ลักไก่” รีบพิจารณาข้อเสนอของรัฐบาลไปก่อน แล้วแกล้งทำเป็นจะแก้ แต่ในเนื้อหาก็ยังคงสร้างกลไกยึดกุมอำนาจอยู่เช่นเดิม ข้อเสนอสำคัญที่มาจากประชาชนจึงจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาโดยรัฐสภาด้วย และนอกจากการเข้าชื่อให้ครบแล้ว การประกาศเจตนารมณ์ให้ชัดโดยอยู่ที่เขาชื่อและท่านเจ้าของร่างด้วยกันทุกคนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน" ตอนหนึ่งของประกาศระบุ

เผย 'ชวน หลีกภัย' บรรจุ 6 ญัตติแก้รัฐธรรมนูญเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภา

ส่วนความเคลื่อนไหวเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. เรื่องการตรวจสอบญัตติการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของฝ่ายค้าน จำนวน 4 ญัตติว่า ได้ตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยทั้ง 4 ฉบับ แล้ว พบว่ามีความถูกต้อง และครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงบรรจุญัตติทั้ง 4 ญัตติ เข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย.นี้เรียบร้อยแล้ว

ในรายงานของผู้จัดการระบุว่า ทำให้ระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย. จะมีวาระการพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 ญัตติ ประกอบด้วย 1. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เสนอโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย 2. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เสนอโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ 3. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 270 และมาตรา 271 ในเรื่องการปฏิรูปประเทศ 4. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 และยกเลิก มาตรา 272 เรื่องยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี 5. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้ยกเลิก มาตรา279 ที่ให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 6. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้ยกเลิกมาตรา 93 และ มาตรา 101 (4) เรื่องให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. 2 ใบตามรัฐธรรมนูญปี 2540

คำนูณชี้ ส.ว. ตัดสินใจญัตติแก้ รธน. ต้องคำนึงถึงผู้ชุมนุม

ในรายงานข่าวสดเมื่อวันที่ 19 ก.ย. คำนูณ สิทธิสมาน วุฒิสมาชิกในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวว่า ก่อนการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านรวม 6 ฉบับ จะมีการประชุมเพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจถึงทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับตัวแทนวิป 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้านและวุฒิสภา

โดยขณะนี้ตามระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาวันที่ 23-24 ก.ย. ได้บรรจุญัตติที่เสนอให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรวม 6 ญัตติ โดย 2 ญัตติของทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอแก้ไข มาตรา 256 มีหลักการที่คล้ายกันคือ ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนการพิจารณาและลงมติในแต่ละญัตติคงต้องหารือกันในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย และคงต้องให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ชี้ขาด ว่าจะต้องลงมติกันแบบใด เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าให้สมาชิกรัฐสภาขานชื่อและลงมติ คาดว่าแต่ละญัตติจะใช้เวลาลงมติประมาณ 3 ชั่วโมง เพราะมีสมาชิกรัฐสภาเกือบ 750 คนที่จะต้องลงมติ

คำนูณกล่าวว่าส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวทางในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจของ ส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และเชื่อว่า ส.ว.แต่ละท่านจะใช้ดุลพินิจพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเป็นทางออกหนึ่งให้กับประเทศไทย การพิจารณาและการตัดสินใจของ ส.ว.คงต้องคำนึงถึงสถานการณ์และปัจจัยภายนอกสภาที่มีการชุมนุม ซึ่งมีหนึ่งในข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท