โพลชี้คนมองโยกย้ายข้าราชการยังไม่เป็นธรรม ใช้ระบบอุปถัมภ์-เส้นสาย

20 ก.ย. 2563 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 17 กันยายน 2563 จากประชาชนที่เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของรัฐและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,343 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และความเป็นธรรมการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.57 ระบุว่า ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับตำแหน่งใหม่ รองลงมา ร้อยละ 24.80 ระบุว่า ความสามารถและผลงาน ที่ผ่านมา ร้อยละ 14.37 ระบุว่า ความอาวุโสในตำแหน่ง ร้อยละ 8.19 ระบุว่า ความรู้ (เช่น ระดับการศึกษา การเข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ เป็นต้น) ร้อยละ 7.22 ระบุว่า วิสัยทัศน์ในการทำงานตำแหน่งใหม่ ร้อยละ 5.58 ระบุว่า ระเบียบ วินัยและความประพฤติที่ผ่านมา ร้อยละ 0.67 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การใช้เส้นสายของที่ผู้พิจารณา เอาพรรคพวกเดียวกัน และร้อยละ 0.60 ไม่มีความเห็น/ไม่แน่ใจ/ไม่สนใจ

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2562 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.95 ระบุว่า ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับตำแหน่งใหม่ รองลงมา ร้อยละ 24.36 ระบุว่า ความสามารถและผลงานที่ผ่านมา ร้อยละ 16.93 ระบุว่า ความอาวุโสในตำแหน่ง ร้อยละ 12.54 ระบุว่า ความรู้ (เช่น ระดับการศึกษา การเข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ เป็นต้น) ร้อยละ 6.23 ระบุว่า วิสัยทัศน์ในการทำงานตำแหน่งใหม่ ร้อยละ 5.03 ระบุว่า ระเบียบ วินัยและความประพฤติที่ผ่านมา ร้อยละ 0.72 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การใช้เส้นสายของผู้ที่พิจารณาเอาพรรคพวกเดียวกัน และ ร้อยละ 0.24 ระบุว่า ไม่มีความเห็น/ไม่แน่ใจ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นต่อความเป็นธรรมในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พบว่า ร้อยละ 14.00 ระบุว่า มีความเป็นธรรมมาก ร้อยละ 35.37 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเป็นธรรม ร้อยละ 35.51 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเป็นธรรม ร้อยละ 12.66 ระบุว่า ไม่มีความเป็นธรรมเลย และร้อยละ 2.46 ไม่มีความเห็น/ไม่แน่ใจ/ไม่สนใจ สำหรับผลสำรวจในปี 2562 พบว่า ร้อยละ 13.10 ระบุว่า มีความเป็นธรรมมาก ร้อยละ 32.67 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเป็นธรรม ร้อยละ 37.86 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเป็นธรรม ร้อยละ 12.78 ระบุว่า ไม่มีความเป็นธรรมเลย และร้อยละ 3.59 ระบุว่า ไม่มีความเห็น/ไม่แน่ใจ/ไม่สนใจ

ซูเปอร์โพล เผยหากเลือกตั้งวันนี้ พลังเงียบเทคะแนนให้พรรคการเมืองใหม่

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง พลังเงียบ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,651 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-19 ก.ย. 2563 พบว่าสัดส่วนของผู้สนับสนุนรัฐบาล ไม่สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มพลังเงียบ กระจายตัวแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 33.9 สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 29.6 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 36.5 ระบุว่าตัวเองเป็นพลังเงียบ ขออยู่ตรงกลาง

เมื่อทำการวิเคราะห์แนวโน้มจุดยืนการเมืองของประชาชนตั้งแต่เดือน มีนาคม 2563 ถึง ช่วงม็อบ 19 ก.ย. พบว่าแนวโน้มกลุ่มคนสนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.8 ในช่วงเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 33.9 ในช่วงม็อบ 19 ก.ย. ในขณะที่ กลุ่มคนไม่สนับสนุนรัฐบาลลดน้อยลงจากร้อยละ 57.3 ในการสำรวจช่วงเดือนกรกฎาคม เหลือร้อยละ 29.7 ในการสำรวจล่าสุด และที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มคนที่ระบุเป็นพลังเงียบเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 20.9 ในช่วงเดือน ก.ค. ขึ้นมาอยู่สูงสุดที่ร้อยละ 36.5 ในช่วงม็อบ 19 ก.ย.

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความตั้งใจจะเลือกพรรคการเมืองใด ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า กลุ่มพลังเงียบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.5 จะเลือกพรรคที่เป็นการเมืองใหม่ ไม่สร้างความแตกแยกให้คนในชาติ ไม่โกงกิน มีผลงานลดความเดือดร้อนของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 5.3 จะเลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 4.0 จะเลือกพรรคก้าวไกล ร้อยละ 0.8 เท่านั้นจะเลือกพรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 7.4 จะเลือกพรรคอื่น ๆ

อย่างไรก็ตามในกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลขณะนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 53.5 จะเลือกพรรคพลังประชารัฐ แต่ร้อยละ 30.3 จะเลือกพรรคที่เป็นการเมืองใหม่ ไม่สร้างความแตกแยกให้คนในชาติ ไม่โกงกิน มีผลงานลดความเดือดร้อนของประชาชน ที่น่าสนใจคือในกลุ่มนี้ร้อยละ 5.2 จะเลือกพรรคก้าวไกล ร้อยละ 2.3 จะเลือกพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 8.7 จะเลือกพรรคอื่น ๆ ที่น่าพิจารณาคือ ในกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.7 จะเลือกพรรคที่เป็นการเมืองใหม่ ไม่สร้างความแตกแยกให้คนในชาติ ไม่โกงกิน มีผลงานลดความเดือดร้อนของประชาชน รองลงมาคือร้อยละ 9.2 จะเลือกพรรคก้าวไกล ร้อยละ 9.0 จะเลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 1.4 จะเลือกพรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 5.7 จะเลือกพรรคอื่น ๆ

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่ของกลุ่มพลังเงียบหรือร้อยละ 65.0 เห็นด้วยถ้า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพวก หันหน้ามาร่วมมือกับรัฐบาลแก้วิกฤติชาติและประชาชน กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่เช่นกันหรือร้อยละ 64.0 และกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.7 เห็นด้วยถ้า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพวก หันหน้าเข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลแก้วิกฤติชาติและประชาชนร่วมกัน

ทั้งนี้ ผลโพลชี้ชัดว่า กลุ่มพลังเงียบกำลังเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดในเวลานี้และกำลังต้องการพรรคการเมืองที่เป็นการเมืองใหม่ ไม่สร้างความแตกแยกให้คนในชาติ ไม่โกงกิน และช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชนได้ และกลุ่มอื่น ๆ ก็เช่นกัน จะเหลือกลุ่มที่เป็นแฟนคลับจริง ๆ ที่เป็นตะกอนอยู่เพียงไม่เท่าไหร่ในแต่ละพรรคการเมืองแบบเดิม ๆ แสดงให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายต่อการเมืองแบบเก่า ต้องการการเมืองใหม่และคนรุ่นใหม่ที่น่าไว้วางใจได้เข้ามาแทน แต่ถ้าไม่มีคนแทนประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นกลุ่มการเมืองที่กำลังขัดแย้งกันในเวลานี้หันหน้าเข้าหากันมากกว่าเผชิญหน้ากันในการแก้ไขวิกฤติชาติและวิกฤติของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท