Skip to main content
sharethis

20 ก.ย. 2563 ไทยติดเชื้อเพิ่ม 6 คน เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ สะสม 3,506 คน พม่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 393 คน ดันยอดรวมแตะ 5,263 คนแล้ว

20 ก.ย. 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติมอีก 6 ราย โดยเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศซาอุดีอาระเบีย 2 ราย คูเวต 1 ราย และโมร็อกโก 3 ราย

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,506 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 2,445 ราย และผู้ป่วยที่ตรวจพบในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 568 ราย และวันนี้มีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 2 ราย รวมเป็น 3,340 ราย ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 107 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 59 ราย

รายละเอียดของผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 รายที่เดินทางมาจากซาอุดีอาระเบีย เป็นนักเรียนชาวไทย อายุ 8 ปี และหญิงไทย อายุ 35 ปีอาชีพแม่บ้าน โดยทั้งสองรายเดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 5 ก.ย. เข้าพักใน State Quarantine กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 17 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ,ผู้ที่เดินทางมาจากคูเวต เป็นชายไทย อายุ 38 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 13 ก.ย. เข้าพักใน State Quarantine จ.ชลบุรี ในวันที่ 18 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ และผู้ที่เดินทางมาจากโมร็อกโก 3 ราย โดย 2 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 21 ปี และอีก 1 ราย เป็นนักศึกษาหญิงไทย อายุ 22 ปี เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค วันที่ 18 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดมียอดผู้ติดเชื้อรวม 30,981,830 ราย เสียชีวิต 961,337 ราย โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรก คือสหรัฐอเมริกา จำนวน 6,967,403 ราย , อินเดีย จำนวน 5,398,230 ราย , บราซิล จำนวน 4,528,347 ราย , รัสเซีย จำนวน 1,097,251 ราย และเปรู จำนวน 762,865 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 132

ไทยยังใช้การตรวจวินิจฉัย PCR หาเชื้อโควิด

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ว่า โควิด-19 กับการตรวจวินิจฉัย ด้วย PCR กับการติดเชื้อหรือความรุนแรงของโรคหรือไม่

ทุกวันนี้เราตรวจวินิจฉัยหาผู้ติดเชื้อด้วยวิธี real time PCR เป็นวิธีการตรวจที่มีความละเอียดและความไวสูงมาก เป็นการตรวจหา RNA ส่วนหนึ่งของไวรัสเท่านั้น ไม่ได้ตรวจไวรัสทั้งตัว

การตรวจพบ จึงแยกไม่ได้ว่าไวรัสนั้นยังมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต สามารถแพร่กระจายโรคได้หรือไม่ได้ และไม่ได้บอกความรุนแรงของโรค

โดยทั่วไปการจะบอกว่าไวรัสมีชีวิต จะทำได้โดยเพาะเชื้อ culture ดูว่าไวรัสแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้หรือไม่ ส่วนใหญ่ไวรัสจะยังมีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนมีอาการ และหลังมีอาการแล้วระยะหนึ่งอาจจะเป็น 7-10 วัน หลังจากนั้นโอกาสที่จะแพร่กระจายโรคก็จะเริ่มลดลง แต่จะยังตรวจพบ RNA ของไวรัสอยู่ได้อีกระยะหนึ่ง ในบางรายอาจอยู่นานเป็นเดือน หลายคนเรียกว่า ซากไวรัส

ในการตรวจการติดเชื้อ โควิด-19 ในปัจจุบันยังใช้ PCR เพราะถือเป็นวิธีที่ไวที่สุดและง่ายกว่าการเพาะเชื้อเลี้ยงไวรัส

การตรวจด้วย PCR สามารถบอกเชิงปริมาณ โดยดูค่า Ct หรือ cycle threshold เป็นตัวเลขที่บอกถึงการขยายปริมาณ virus ไปกี่รอบแล้วจึงจะตรวจพบ

ถ้ามีไวรัสน้อย ต้องขยายจำนวนมากจึงจะตรวจพบ Ct ก็จะสูง ทั่วไปแล้ว ขยายเกิน 30 รอบหรือค่า CT เกินกว่า 30 จะมีไวรัสจำนวนน้อยโอกาส แพร่กระจายโรคก็น้อย ถ้าขยายถึง 40 รอบแล้วยังตรวจไม่พบ ก็ถือว่าไม่มีไวรัส หรือผลเป็นลบ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อยู่ใน state quarantine จะมีปริมาณไวรัสค่อนข้างน้อย และไม่ค่อยมีอาการของโรค

อย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่มีอาการแต่มีปริมาณไวรัสมากหรือมีค่า Ct ต่ำ บุคคลเหล่านี้จะมีโอกาสแพร่เชื้อได้สูงดังที่เราเห็นใน super spreader

การตรวจด้วย PCR เมื่อมีความไวสูงก็มีโอกาสที่จะเกิดผลบวกปลอมได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีค่า Ct ใกล้ 40 หรือมากกว่า 35 เช่นผู้ป่วยรายหนึ่งการตรวจ 3 ห้องปฏิบัติการ 4 วิธีให้ผลลบ แต่อีกห้องปฏิบัติการ 1 ให้ผลบวก จะแปลผลอย่างไร ในทางปฏิบัติจะเอาแอนติบอดีมาช่วย และวิธีติดตามคนไข้ มากกว่ายึดถือกระดาษแผ่นเดียว

พม่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 393 คน ดันยอดรวมแตะ 5,263 คน

กระทรวงสาธารณสุขและกีฬาของพม่าแถลงว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 393 ราย ส่งผลให้ขณะนี้พม่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 5,263 ราย เสียชีวิต 81 ราย ขณะผู้ที่รักษาหายจนสามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้วอยู่ที่ 1,188 ราย

หลังจากที่เกิดการระบาดรอบ 2 ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 2563 ตัวเลขของผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกวัน โดยเฉพาะในย่างกุ้ง


ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ [1] [2] | สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net