นักสิทธิฯ ออกแถลงการณ์จี้รัฐบาลต้องยุติการกลั่นแกล้งดำเนินคดีผู้ชุมนุม

องค์กรสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการกลั่นแกล้งดำเนินคดีผู้ชุมนุม และขอให้พนักอัยการและศาล ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระในกระบวนการยุติธรรม ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ใช้อัยการและศาลเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์และการชุมนุมโดยชอบธรรม

 

21 ก.ย.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ออกแถลงการณ์รัฐบาลต้องยุติการกลั่นแกล้งดำเนินคดีผู้ชุมนุม โดยเรียกร้อง ให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง งดเว้นการกลั่นแกล้ง ขัดขวางการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและการชุมนุมอันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย ไม่ว่าจะโดยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคนใช้วิธีการนอกกฎหมาย หรือละเลยให้มีการใช้วิธีการนอกกฎหมาย

ยุติการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งดำเนินคดี (Judicial Harassment) ผู้ที่ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและโดยปราศจากอาวุธวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันทางสังคม การเมือง เช่น การนำมาตรา 112 หรือ มาตรา 116 มาใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง

รวมทั้งขอให้พนักอัยการและศาล ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระในกระบวนการยุติธรรม ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ใช้อัยการและศาลเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์และการชุมนุมโดยชอบธรรม ดังกรณี การพิจารณาอนุญาตให้ออกหมายจับตามคำร้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรพิจารณาโดยรอบคอบภายใต้ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ปรากฏ เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีและยืนยันใช้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างเปิดเผย จึงไม่มีเหตุผลในทางกฎหมายที่จะอนุญาตให้ออกหมายจับได้

โดยมีรายละเอียดดังนี้ :

แถลงการณ์ รัฐบาลต้องยุติการกลั่นแกล้งดำเนินคดีผู้ชุมนุม

จากกรณีที่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อเรียกร้องประชาชาธิปไตย ทั้งในที่สาธารณะและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศต่อเนื่องกันมาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2563 จนมีการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) และสนามหลวง โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมได้แก่ การปราศัย การร้องเพลง การแสดงละคร และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ยุติการคุกคามประชาชน ยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปการปกครองให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงนั้น

          สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) องค์กรสิทธิมนุษยชนท้ายแถลงการณ์นี้ เห็นว่าผู้ชุมนุมได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยพึงกระทำได้ ทั้งนี้เพราะสิทธิในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 44 และมาตรา 34 และถือเป็นเครื่องมือสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถใช้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพและคุ้มครองสิทธิในด้านอื่นๆ ของประชาชนในสังคม อันได้แก่ สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รัฐจึงต้อง เคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าว และจะต้องไม่ยินยอมให้มีการแทรกแซง ลิดรอน หรือขัดขวางการใช้สิทธิของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Right : UDHR) ข้อ 19-20 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (UN International Covenant on Civil and Political Right :ICCPR) ข้อ 21  ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามอย่างที่ให้สัญญาไว้ด้วย

สสส. และองค์กรสิทธิมนุษยชนท้ายแถลงการณ์นี้ ได้ติดตามสถานการณ์ที่ผ่านมาพบว่า รัฐบาลไทยล้มเหลวในการในการ ยอมรับ เคารพและคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่มีความเห็นต่างทางการเมือจากรัฐบาล โดยนอกจากไม่อำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้โดยปราศจากการแทรกแซงตามหน้าที่ที่รัฐบาลพึงกระทำแล้ว กลับปล่อยปละละเลย หรือกระทั่งสั่งการให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐจำกัด ขัดขวาง ข่มขู่ คุกคาม นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนไม่ให้ใช้สิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและชุมนุมอีกด้วย ทั้งในสถานศึกษา ชุมชน และในที่สาธารณะ จนไม่สามารถจัดการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี โดยต้องเผชิญ กับการข่มขู่คุกคามในหลายรูปแบบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร สันติบาล ฝ่ายปกครองในท้องถิ่น และผู้ที่มีความเห็นต่างกันทางการเมือง มีการติดตามนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ไปถึงบ้าน เข้าไปในสถานศึกษา เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่างๆ ขัดขวางไม่ให้ใช้พื้นที่สาธารณะ ไม่อนุญาตให้นำเครื่องเสียงเข้าสถานที่จัดการชุมนุม ไม่อนุญาตให้รถสุขาเข้าไปพื้นที่ที่เตรียมไว้ เป็นต้น

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐยังได้ดำเนินคดีและข่มขู่คุกคามว่าจะดำเนินคดีกับผู้จัดการชุมนุมและผู้ที่ขึ้นปราศัยบนเวทีเป็นจำนวนมาก เช่น ทนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน นายภาณุพงศ์ จาดนอก นายพริษฐ์   ชิวารักษ์ และคนอื่น ๆ อีกรวมกว่า 13 คน โดยมีการตั้งข้อหาทางอาญาหลายข้อหาเช่น ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป  กีดขวางทางสาธารณะ ความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ศ.2535 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 โดยมีการแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำคนอื่นในข้อหาลักษณะเดียวกันนี้อีกหลายคน โดยตำรวจยืนยันว่าได้ออกหมายจับนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยแล้ว 15 คน ซึ่ง สสส. เห็นว่า เป็นการใช้มาตรการทางกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม เป็นเครื่องมือดำเนินคดีเพื่อกลั่นแกล้ง (Judicial Harassment) ผู้ที่มีความเห็นต่าง และคัดค้าน หรือฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชนท้ายแถลงการณ์นี้ จึง ขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.       ขอให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง งดเว้นการกลั่นแกล้ง ขัดขวางการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและการชุมนุมอันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย ไม่ว่าจะโดยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคนใช้วิธีการนอกกฎหมาย หรือละเลยให้มีการใช้วิธีการนอกกฎหมาย

2.       ขอให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ยุติการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งดำเนินคดี (Judicial Harassment) ผู้ที่ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและโดยปราศจากอาวุธวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันทางสังคม การเมือง เช่น การนำมาตรา 112 หรือ มาตรา 116 มาใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง

3.       ขอให้พนักอัยการและศาล ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระในกระบวนการยุติธรรม ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ใช้อัยการและศาลเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์และการชุมนุมโดยชอบธรรม  ดังกรณี การพิจารณาอนุญาตให้ออกหมายจับตามคำร้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรพิจารณาโดยรอบคอบภายใต้ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ปรากฏ เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีและยืนยันใช้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างเปิดเผย จึงไม่มีเหตุผลในทางกฎหมายที่จะอนุญาตให้ออกหมายจับได้

สสส.และองค์กรสิทธิมนุษยชนท้ายแถลงการณ์นี้ เห็นว่าศาล มีหน้าที่ตัดสินคดีระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือระหว่างบุคคลและรัฐ  ให้เป็นไปโดยยุติธรรม จึงต้องตระหนักถึงการใช้อำนาจอย่างเป็นอิสระเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย สสส.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน สถาบันตุลาการจะมีบทบาทในการถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ และไม่ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนผ่านกลไกในกระบวนการยุติธรรม

ด้วยความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

21 กันยายน พ.ศ 2563

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท