ประเทศทวยกำลังบอกอะไรในสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

21 พ.ค. 63 พึ่งบุญ ใจเย็น หรือช่างหมุน ช่างสักจากเชียงใหม่ถูกจับกุมข้อหา "ทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับจากกรณีที่เขาเขียนข้อความว่า "ประเทศทวย" บนป้ายสัญญาณจราจรในตัวเมืองเชียงใหม่ เขายืนยันปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี ให้เหตุผลว่าผลงาน "ประเทศทวย" ของเขาเป็นศิลปะประเภท "กราฟฟิตี้" ไม่ได้ทำให้ป้ายจราจรเสียหาย ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Art and Design) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ซึ่งกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกทางด้านมานุษยวิทยาสื่อและทัศนศิลป์ (Doctoral researcher in visual and media anthropology, Free university of Berlin) ที่ Free University of Berlin, Germany ได้ให้ความเห็นทางวิชาการไว้ตามบทความนี้

ประเทศทวยคือกราฟฟิตี้ (Graffiti) ประเภทหนึ่งตามนิยามความหมายของการวาดภาพและเขียนบนพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากเทคนิคของการขูดขีด การสร้างร่องรอย การพ่นสี ตลอดจนการวาด กราฟฟิตี้เป็นที่รู้จักในสังคมไทยโดยทั่วไปในนามของสตรีทอาร์ต (street art) ซึ่งเป็นงานศิลปะที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมเพื่อการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ. ทว่า แท้จริงแล้ว จุดกำเนิดของกราฟฟิตี้คือเจตจำนงในการแสดงออกซึ่งเสรีภาพ จินตนาการต่อชีวิตที่ดำรงอยู่ และความใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ปรารถนา สามสิ่งนี้เองจึงกลายเป็นสดมภ์หลักในการแสดงออกซึ่งความเป็นมนุษย์ นักวิชาการพิจารณาว่าจุดกำเนิดของกราฟฟิตี้มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาพเขียนสีโบราณในถ้ำก็ล้วนแสดงออกซึ่งหัวใจสำคัญของความเป็นมนุษย์

กราฟฟิตี้ในโลกสมัยใหม่มีบทบาทสำคัญยิ่งโดยเฉพาะการเป็นทั้งการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองที่ถูกเก็บกดและปิดกั้น ทั้งยังเป็นตัวแทนของการดำรงอยู่อย่างไร้ตัวตนของบรรดาชนชายขอบของสังคม

กล่าวอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม กราฟฟิตี้จะยิ่งมีบทบาทและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในฐานะปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากการถูกกดให้ไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง
ในทางกลับกัน ประเทศซึ่งระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับและมีการเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชน กราฟฟิตี้ จะได้รับการยอมรับและถูกยกย่องในฐานะงานศิลปะ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตทางภูมิปัญญาของสังคม

ปรากฏการณ์กราฟฟิตี้ในรูปแบบ “ประเทศทวย” ในจังหวัดเชียงใหม่สะท้อนอุณหภูมิที่อึดอัดและบรรยากาศทางการเมืองที่ควบคุมความคิดเห็นอันแตกต่างได้เป็นอย่างดีของสังคมไทย  โดยเฉพาะการควบคุมพื้นที่ในการรับรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในสื่อกระแสหลัก ตลอดจนการควบคุมและตรวจตราการใช้พื้นที่ออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็น ประเทศทวยจึงเกิดขึ้นเพื่อตั้งคำถามในความสัมพันธ์ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนที่ควรเป็นมากกว่าการควบคุมให้ประชนชนตกอยู่ในระบอบที่ไม่เป็นธรรม

กราฟฟิตี้ประเภทนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่รกหูรกตา ทว่า มันคือ สัญญาณของประชาชนที่ส่งต่อรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประเทศทวยจึงเป็นสัญญาณทางสังคม เป็นจินตนาการของประชาชนที่อยากเห็นสังคมไทยมีความก้าวหน้าในทิศทางที่ถูกต้อง

ความน่าสนใจของกราฟฟิตี้ประเทศทวยคือ การใช้พื้นที่ในการดูแลของรัฐ เช่นป้ายจราจรและป้ายบอกทาง ซึ่งอยู่ริมถนนและข้างตลาดในการแสดงผลงาน  พื้นที่เหล่านี้สาธารณชนเห็นได้ง่ายและปรากฏอยู่ทั่วไปในที่ชุมนุมชน คำถามสำคัญคือ เหตุใดสาธารณชนจึงไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านและรู้สึกขัดตาต่อการปรากฏของประเทศทวย  ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ สาธารณชนไม่ได้รู้สึกว่าพื้นที่ในการดูแลของรัฐเป็นส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบของประชาชน  ความรู้สึกร่วมเช่นนี้เกิดขึ้นมาจากกระบวนการแยกพื้นที่สาธารณะให้ตกอยู่ในการดูแลของรัฐและกีดกันประชาชนออกจากกระบวนการตัดสินใจและมีส่วนร่วมมาอย่างยาวนาน  ในแง่มุมนี้ แม้กราฟฟิตี้ประเทศทวยจะเกิดขึ้นจากศิลปินในฐานะบุคคลหรือกลุ่มก็ตาม  ทว่า ประเทศทวยที่เขารังสรรค์ขึ้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสำนึกร่วมที่สาธารณชนมีต่อรัฐและการใช้พื้นที่ของรัฐ  เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นตัวแทนการใช้อำนาจต่างหากที่มีความจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าคำร้องต่อความไม่เป็นธรรมสามารถเกิดขึ้นได้นอกสำนักงานหรือสถานีตำรวจ  แต่เป็นพื้นที่ซึ่งประชาชนใช้ชีวิตอยู่จริง

สุดท้าย กราฟฟิตี้ประเทศทวยคือตัวแทนของสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิที่จะมีสิทธิ” (The right to have rights) ในการแสดงออกทางความคิดภายในสังคมที่มีข้อจำกัดในวิธีคิดเรื่องเสรีภาพทั้งที่ปรากฏในแง่มุมของกฎหมายและจินตนาการถึงสังคมที่เป็นธรรม ประเทศทวยจึงไม่ใช่แค่รอยขีดข่วนหรือการวาด แต่คือคำถามต่อสังคมไทยว่าเราจะอดทนอยู่ในสังคมที่ปิดกั้นสิทธิของประชาชนไปอีกนานเท่าไหร่ สังคมที่เสรีภาพเป็นทั้งภาพฝันและกรงขังที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นนำ  สิทธิที่จะมีสิทธิในความหมายนี้จึงเป็นการสร้างกรอบจินตนาการว่าด้วยเสรีภาพขึ้นมาใหม่จากกลุ่มชนต่างๆ ที่ไร้พื้นที่ในการแสดงออกและความคิดเห็น  สังคมที่กำลังมุ่งหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะเห็นคุณค่าและย้อนกลับมาพิจารณาเพื่อรับฟังการเปล่งเสียงในรูปแบบต่างๆ ของประชาชน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่/Doctoral researcher in visual and media anthropology, Free university of Berlin 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ศิลปินช่างสักเชียงใหม่ถูกจับกุม-แจ้งข้อหา เหตุเขียนข้อความ ‘ประเทศทวย’ บนป้ายจราจร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท