Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพ: China Labour Bulletin

21 ก.ย. 2563 ข้อมูลจาก China Labour Bulletin’s Strike Map พบว่าระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. 2563 มีการประท้วงของคนงานก่อสร้างในจีน 151 ครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการประท้วงระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. 2563 ที่มีเพียง 39 ครั้ง ทั้งนี้การประท้วงส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเรื่องค่าแรงที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายให้กับแรงงาน

ในจีน แม้ว่าจำนวนการประท้วงของคนงานโดยรวมในทุกอุตสาหกรรมจะยังคงต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสาเหตุหลักมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง พบว่าสัดส่วนการประท้วงของคนงานก่อสร้างกลับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38 เป็นร้อยละ 43 

ทั้งนี้สัดส่วนของข้อพิพาทระหว่างคนงานกับนายจ้างโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในจีนกำลังเพิ่มขึ้นสูงขึ้น จากเหตุการณ์ประท้วง 151 ครั้งในช่วง 4 เดือนที่ผ่าน (พ.ค.-ส.ค. 2563) พบว่าการประท้วง 62 ครั้ง เกี่ยวข้องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และการประท้วง 43 ครั้ง เกี่ยวข้องกับโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย 

ปริมาณธุรกรรมที่อยู่อาศัยในจีนซึ่งวัดตามพื้นที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา และแม้ว่าตลาดจะเริ่มฟื้นตัวเมื่อการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ถูกควบคุมได้ในช่วงปลายเดือนเม.ย. 2563 แต่ปัญหากระแสเงินสด และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดข้อพิพาทค้างจ่ายค่าจ้างในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง

สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือข้อพิพาทเหล่านี้เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ (SOEs) ซึ่งโดยปกติแล้วธุรกิจกลุ่มนี้จะค่อนข้างมีเสถียรภาพทางการเงิน แต่มากกว่าร้อยละ 40 ของการประท้วงโดยคนงานก่อสร้างทั้งหมด ณ เดือน ส.ค. 2563 เป็นโครงการของรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ เมื่อเทียบกับทั้งปี 2562 มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น

ตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2563 กลุ่มคนงานก่อสร้างในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยเมืองเป๋ยไห่ มณฑลกวางสี ได้ประท้วงเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างชำระ จากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 2 แห่งของจีน อย่าง Evergrande Group และ China Railways Engineering Group

สิ่งที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งก็คือการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงต่อผู้ประท้วง ในปีนี้ผู้ประท้วงถูกจับกุมหรือถูกกระทำรุนแรงร้อยละ 20 เทียบกับเพียงร้อยละ 14 ในปี 2562 ตัวอย่างเช่นกรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 คนงานคนหนึ่งถูกลากเข้าไปในสำนักงานไซต์งานก่อสร้างแห่งหนึ่งและถูกทุบตีอย่างรุนแรงระหว่างการโต้เถียงกับผู้จัดการที่ไซต์ก่อสร้างในเฉิงตู นอกจากนี้ยังมีคนงานไม่ต่ำกว่าสิบคนถูกทุบตีระหว่างการประท้วงในเมืองหุยเซียน มณฑลเหอหนานเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 กรณีนี้นายจ้างค้างชำระค่าจ้างให้คนงานประมาณ 100 คน มากกว่าสิบล้านหยวนสำหรับ แต่คนงานกลับถูกขับออกจากไซต์งานโดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ แม้รัฐบาลท้องถิ่นจะเข้ามาแทรกแซง แต่บริษัทนายจ้างก็ยังไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างไว้

ย้อนกลับไปในปี 2560 กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมของจีน ได้ประกาศ 'แผนปฏิบัติการ 3 ปี' เพื่อขจัดปัญหาค้างชำระค่าจ้างภายในปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแรงงานข้ามถิ่นในภาคการก่อสร้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับพบว่าแนวทางการบริหารแบบบนลงล่างของรัฐบาลจีนในการแก้ปัญหานี้กลับล้มเหลวอย่างชัดเจน 


ที่มาเรียบเรียงจาก
Construction worker protests on the rise as economic uncertainties persist in China (China Labour Bulletin, 15/9/2020)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net