Skip to main content
sharethis

อานนท์ นำภา ผู้หยิบประเด็นสถาบันกษัตริย์มาพูดในที่สาธารณะ สร้างแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญจนเกิดเป็นกระแสการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เขายังคงยืนยันเช่นเดิมว่าต้องทำ เพื่อจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์และกลับมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะเกิดการแตกหักทางความคิด

  • ระบอบประชาธิปไตยอนุญาตให้มีกษัตริย์ ไม่ใช่ระบอบกษัตริย์ที่อนุญาตให้มีประชาธิปไตย
  • ข้อเสนอ 10 สิงหา เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการจำกัดพระราชอำนาจให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมือง
  • หากสถาบันกษัตริย์ไม่ปฏิรูปอาจนำไปสู่การแตกหักทางความคิดและการสูญเสีย
  • กลไกในสภาและนอกสภาต้องประสานกันเพื่อขับเคลื่อนประเด็นนี้และสร้างการพูดคุยแลกเปลี่ยน

ภาพ อานนท์ ปราศรัยบนเวที ‘19 กันยายน ทวงอำนาจคืนราษฎร’ สนามหลวง

ด้านหลังเวที ‘19 กันยายน ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ท่ามกลางเสียงปราศรัยและเสียงกู่ร้องของประชาชนผู้มาร่วมชุมนุม ทีมงานประชาไทนั่งคุยกับอานนท์ นำภา ทนายสิทธิมนุษยชน ผู้เปิดประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย เกิดแรงกระเพื่อมหลายระลอกตามมา โดยเฉพาะข้อเสนอ 10 สิงหา บนเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

ความตั้งใจจะพูดคุยกับอานนท์ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เนิ่นช้ามาหลายครั้ง เพราะทุกครั้งที่นัดหมายจำต้องเผชิญเหตุสุดวิสัยทุกครั้ง ทั้งการถอนประกันทำให้เขาต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ จนถึงการถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม

19 กันยายนจึงเป็นนัดหมายล่าสุดที่การพูดคุยเกิดขึ้นจริง เป็นการทบทวนและยืนยันว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คือสิ่งจำเป็น

“จำเป็นและต้องทำด้วย เพราะถ้าไม่ทำ มันจะทำให้ประเทศกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้มันเคลื่อนเข้าไปใกล้จุดที่จะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากๆ แล้ว การที่ให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจทางการเมืองสูง มีกองกำลังทหารเป็นของตัวเอง สามารถใช้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะตามพระราชอัธยาศัย มันสะท้อนว่ารัฐนี้ไม่ได้ถูกปกครองด้วยประชาธิปไตย”

ระบอบประชาธิปไตยอนุญาตให้มีกษัตริย์ ไม่ใช่ระบอบกษัตริย์ที่อนุญาตให้มีประชาธิปไตย

“ที่สำคัญกว่านั้นคือการขยายพระราชอำนาจ ในแง่ที่ว่าสามารถเข้ามาแทรกแซงการเมืองได้โดยตรง เช่น การแก้รัฐธรรมนูญหลังที่มีการผ่านประชามติแล้ว การแต่งตั้งข้าราชการจะอ้างว่าเป็นส่วนราชการในพระองค์ก็ตาม มันสะท้อนว่ากษัตริย์มีอำนาจเหนือกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้”

อานนท์เน้นย้ำว่า ในระบอบประชาธิปไตย กษัตริย์ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้เพราะ...

“กษัตริย์ต้องมีอำนาจจำกัด เพราะระบอบประชาธิปไตยอนุญาตให้มีกษัตริย์ ไม่ใช่ระบอบกษัตริย์ที่อนุญาตให้มีประชาธิปไตย ดังนั้น กษัตริย์จะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยต้องใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้เท่านั้น และรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้นั้นจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่กษัตริย์สามารถแก้รัฐธรรมนูญให้ตัวเองสามารถทำอะไรก็ได้”

หรืออีกนัยหนึ่ง กษัตริย์ทรงทำได้ทุกอย่างตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเป็นประชาธิปไตย และกษัตริย์จะต้องทรงอยู่เหนือการเมือง

“คือไม่ออกมาแทรกแซงทางการเมือง เหตุการณ์ทางการเมือง 10 ปีมานี้ เราเห็นคนในสถาบันกษัตริย์ออกมาแทรกแซงการเมืองหลายครั้งมาก ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อปี 2551 ที่มีผู้ชุมนุมทางการเมืองเสียชีวิตคือคุณโบว์ (อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551) การที่สมเด็จพระราชินีกับฟ้าหญิงจุฬาภรณ์เสด็จไปงานศพของคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองกับอีกฝั่งหนึ่ง มันแสดงออกถึงการเข้าข้างคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอันนี้ถือว่าไม่ได้อยู่เหนือการเมืองชัดเจน เข้ามาแทรกแซงการเมือง แสดงว่าตนเองเห็นด้วยกับกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยทำไม่ได้”

อานนท์ยังยกกรณีการถวายสัตย์ไม่ครบของประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ในทางปฏิบัติ กษัตริย์ควรทำหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีทำการถวายสัตย์ใหม่อีกครั้ง

“เพราะอะไร เพราะการถวายสัตย์ระหว่างนายกฯ กับกษัตริย์ไม่ใช่เรื่องของคนสองคนพูดกัน มันเป็นการถวายสัตย์ต่อหน้าตัวแทนของประชาชนก็คือกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เป็นตัวแทนของประชาชนและอำนาจทั้ง 3 ส่วนมายืนต่อหน้าให้นายกถวายสัตย์ ที่สำคัญก็คือเนื้อหาที่มันขาดไปคือเนื้อหาส่วนที่สำคัญที่สุดของการเป็นผู้ปกครองประเทศนี้ก็คือว่า ต้องรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ทำตามรัฐธรรมนูญ จะบริหารราชการแผ่นดินให้ผาสุกอย่างไรก็ได้ ถ้าไม่ทำตามรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ไม่อย่างนั้นก็เป็นเผด็จการไป ซึ่งส่วนนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากและก็พวกเราไม่สามารถทวงถามกับกษัตริย์ได้โดยตรง เพราะกษัตริย์ปล่อยให้ประยุทธ์เอามาแอบอ้างได้อย่างตรงๆ”

เขายังยกตัวอย่างกรณีพระราชดำรัสก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่ระบุว่า ให้เลือกคนดี ก็เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากประชาชนมีดุลพินิจของตนเอง กษัตริย์ไม่สามารถชี้แนะ แทรกแซงได้ ซึ่งหากไม่เข้มงวดในการแสดงออกทางการเมืองของกษัตริย์ ย่อมมีความสุ่มเสี่ยงสูงที่ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นจะถูกบงการจากสถาบันกษัตริย์อีกต่อหนึ่ง

อานนท์ (แฟ้มภาพ ประชาไท)

กษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมือง

จากนั้นนำข้อถกเถียงของไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยให้สัมภาษณ์กับ ‘ประชาไท’ ที่ว่า เป็นเพราะเกิดการรัฐประหารบ่อยทำให้รัฐธรรมนูญไม่นิ่งเพียงพอจะให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัว ขณะเดียวกัน รัฐสภาก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะทัดทานอำนาจของสถาบันกษัตริย์ อานนท์ตอบว่า

“ไม่จริงคุณต้องกลับไปที่หลักการ หลักการคือสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อยู่เหนือการเมือง ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ คุณก็ทำตัวอยู่เหนือการเมือง แต่กษัตริย์ออกมาแทรกแซงตลอดเพราะมีการรัฐประหารทีหนึ่งก็ออกมาเซ็นรับรอง ซึ่งกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทำไม่ได้ เพราะเป็นการโค่นล้มอำนาจของประชาชน กษัตริย์จะรับรองการโค่นอำนาจของประชาชนไม่ได้เลย จะอ้างว่าเพราะรัฐธรรมนูญเปลี่ยนบ่อย กษัตริย์จึงทำตัวไม่ถูก ไม่ใช่หรอก เป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผลเพราะหลักการจริงๆ ของระบอบนี้มีอยู่ไม่กี่ข้อ กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมืองก็มีแค่นั้น”

ในส่วนของสภา อานนท์อธิบายว่า

“ปัจจุบันเราจะเห็นได้ชัดว่าแม้แต่ ส.ว. หรือแม้แต่ ส.ส. ที่อยู่ในสภาเองหลายคนก็ไม่กล้าที่จะแตะต้องสถาบันกษัตริย์ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อตอนปลายปีมีการตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการโอนกำลังทหารไปขึ้นตรงต่อสถาบันกษัตริย์ถึง 2 กรม ซึ่ง ส.ส. ในสภาปิดปากเงียบหมด ไม่มีการออกมาอภิปรายอย่างตรงไปตรงมา อย่างชัดเจนว่ามันขัดกับระบอบประชาธิปไตยยังไง ส.ส. หลายคนพูดด้วยซ้ำว่าการอภิปรายอย่างนั้นเป็นการแสดงออกถึงความไม่จงรักภักดี เราจะเห็นว่า ส.ส. กับ ส.ว. บ้านเราห่วยแตก เพราะเกรงกลัวอำนาจสถาบันกษัตริย์ ไม่กล้าออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมา”

ในอีกด้านหนึ่ง อานนท์ยังตั้งข้อสงสัยว่า กฎหมายทำนองนี้ ถ้าไม่มีการสั่งการลงมา รัฐบาลย่อมออกเองไม่ได้ อานนท์จึงกล่าวว่า อย่าโทษรัฐสภา ต้องโทษผู้ที่สั่งการ เพราะหากสภาเข้มแข็ง ปัญหาอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอ 10 สิงหา เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ

สำหรับข้อเสนอ 10 สิงหา อานนท์เห็นว่า เป็นมาตรฐานขั้นต่ำส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงให้สถาบันกษัตริย์กลับไปเป็นสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ทั้งหมด

“ถามว่าสถาบันกษัตริย์เห็นด้วยไหมที่จะปรับตัวตาม 10 ข้อ ผมว่าไม่อยาก ถ้าดูจากสิ่งที่ทำมาตลอดตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ ถามว่ามันจะนำไปสู่อะไร ผมว่ามันจะนำไปสู่การแตกหักทางความคิด ถึงจุดจุดหนึ่งถ้ามีการรัฐประหารขึ้นและกษัตริย์เซ็นรับรองรัฐประหาร ผมคิดว่าวันนั้นมีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่ประชาชนจะประกาศความต้องการอย่างอื่นที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์”

อานนท์ยังประเมินด้วยว่า ปัจจุบัน พลังอนุรักษ์นิยมก็อ่อนกำลังลงมากและหลายส่วนก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถามว่าอะไรทำให้เขาประเมินเช่นที่ว่า

“จากที่เราวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา มีคนที่ออกมาด่าเราน้อยมาก อนุรักษ์นิยมเดิมแทนที่เขาจะออกมาด่าเรา เขานิ่ง การนิ่งของเขาแสดงว่าเขาเห็นด้วย แต่ฉันก็จะไม่ออกไปเชียร์พวกคุณนะ นั่นหมายความว่าคนที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะกษัตริย์พระองค์นี้ลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย อย่างมีนัยสำคัญด้วย”

รายละเอียดข้อเสนอ 10 ข้อ เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ประกอบด้วย

1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก

6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

นอกสภา-ในสภา ประสานการขับเคลื่อน

อย่างไรก็ตาม การจะจำกัดพระราชอำนาจให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญต้องอาศัยกลไกรัฐสภา ซึ่งท่าทีที่ออกมาท่ามกลางกระแสการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ณ เวลานี้ค่อนไปทางที่ว่า จะไม่มีการแตะต้องหมวดที่ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์

อานนท์ กล่าวว่า การจะขับเคลื่อนประเด็นนี้ให้เป็นจริงต้องมีทั้งกลไกสภาและกลไกสังคมผสมผสานกัน กลไกใดกลไกหนึ่งทำไม่ได้

“ข้างนอกสภากับข้างในสภาต้องเกื้อหนุนกันและกัน เราไม่ได้บอกว่าต้องเท่ากันด้วยนะ บางครั้งสภาต้องออกแรงมากกว่า แต่บางครั้งนอกสภาก็ต้องออกแรงมากกว่า มันต้องมีการหนุนเสริมการให้กลมกล่อมในการแก้ปัญหา เราคิดว่าถ้ามีคนออกมาชุมนุมกันเรือนแสนเรือนล้าน ถ้ามันเยอะขึ้นสภาต้องเอาตาม คิดว่าอย่างนั้นเพราะว่าก่อนหน้านี้ก็ยังไม่มีการพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญเลย พอมีคนออกมาชุมนุม มีคนออกมากดดันจึงมีการพูดถึง

“ผมคิดว่าเรามีเวลาอยู่และการที่เรารวบรวมกำลังคนได้หลายหมื่นหรือเป็นแสน มันเป็นต้นทุน เราไม่ได้บอกว่าให้แก้รัฐธรรมนูญครั้งเดียว แก้ครั้งนี้ไม่สำเร็จ ปีหน้าแก้ใหม่ก็ได้ แต่การที่เรารวบรวมจำนวนคน รวบรวมเหตุผล รวบรวมข้อเสนอได้อย่างแหลมคมกว่า ผมเชื่อว่าสุดท้ายสภาก็ต้องแก้ตามเรา ไม่อย่างนั้นลงเลือกตั้งครั้งหน้าใครจะไปเลือก”

อานนท์ บนเวทีเช้าวันที่ 20 ก.ย.63 เวทีสนามหลวง

จะมีขบวนการปฏิวัติหรือปฏิรูป? อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

หลายฝ่ายกังวลว่าข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะจุดชนวนความรุนแรง อานนท์กลับไม่คิดอย่างนั้น ตรงกันข้าม การเสนอความคิดและผลักดันในลักษณะนี้เป็นการหลีกเลี่ยงความรุนแรง

อานนท์เสริมอีกว่า เวลาเขาไปปราศรัยตามต่างจังหวัด คนรุ่นมัธยมพูดไกลไปถึงการปฏิวัติแล้ว เพราะพวกเขาไม่เข้าใจกับการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์

ส่วนกรณีที่เขาถูกฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เขาตอบว่า

“ผมคิดว่าไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร เป็นคุณกับเราแน่นอน ถ้าตัดสินว่าเราไม่ได้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เราก็เคลื่อนไหวต่อ แต่ถ้าตัดสินว่าพฤติกรรมทั้งหมดของนักเรียน นักศึกษา เป็นการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ นั่นเป็นการประกาศว่ามีกลุ่มที่ล้มล้างสถาบันกษัตริย์อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ซึ่งสุ่มเสี่ยงมาก ปากกาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเขียนให้ประเทศนี้มีขบวนการปฏิวัติหรือแค่มีขบวนการปฏิรูปก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

“เราต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงสังคมในการไม่ยอมรับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่ มันสูงมาก แต่เราทุกคนพร้อมที่จะให้มีสถาบันกษัตริย์อยู่ แต่ถ้ามีแล้วเป็นปัญหากับประชาธิปไตยมากเกินจำเป็น ผมว่าคนรุ่นใหม่เขาไม่ยอม รุ่นผมอาจจะยอม แต่เด็กมัธยมหรือคนที่จะโตขึ้นมาไม่ยอมแน่นอน

“ผมว่า (สถาบันกษัตริย์) ต้องปรับตัวและเป็นสภาพบังคับด้วย ถ้าไม่ทำ มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีกษัตริย์สูงมาก ซึ่งผมก็หวั่นใจว่าถ้ามันไปถึงจุดนั้น มันจะเกิดการสูญเสียและประชาชนชนะด้วย เพราะถ้าเราจะแพ้คุณต้องฆ่าคนเจเนอเรชั่นหนึ่งทิ้งไป คุณจะมีคนแค่อายุ 35 ขึ้นไป แต่คนที่อายุต่ำกว่า 35 ตายหมด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้”

ภาพการชุมนุมช่วงเช้าวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ช่วงแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมส่งตัวแทนยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือขอให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้ง 10 ข้อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผ่านตัวแทนองคมนตรี โดยตัวแทนผู้ชุมนุมหวังว่าข้อเรียกร้องจะถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

หาหนทางที่จะอยู่ร่วมกัน

จะเคลื่อนไหวให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างไร ก่อนที่สังคมไทยจะเดินไปสู่ความสูญเสีย อานนท์ กล่าวว่า

“เริ่มแรกเลยครับ ต้องส่งเสียงเป็นสัญลักษณ์ไปที่สถาบันกษัตริย์ว่าเราไม่ยอมแล้ว งานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และประชาชนปฏิเสธที่จะไปร่วมงาน ไม่รับปริญญา ไม่ประดับธงทิว ขบวนเสด็จก็มีการบีบแตร เปิดไฟใส่ เป็นการแซงชั่นในทางสังคม และทำมาแล้วด้วย

“สอง ผมคิดว่าเราต้องส่งสัญญาณไปที่รัฐสภาว่าคุณจะอยู่กันแบบไม่มีกระดูกสันหลังไม่ได้แล้ว ต้องฟังเสียงประชาชน สมัยหน้าถ้าพรรคไหนไม่มีนโยบายในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผมเสนอไม่ต้องเลือก ใช้การงดออกเสียงเป็นการตอบโต้ว่าเราไม่ต้องการสภาวะแบบนี้”

“เราต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้เราอยู่ร่วมกันได้ เราต้องไม่ปฏิเสธว่าคนรุ่นใหม่มีกระแสไม่เอาแล้ว ตอนนี้กระแสมันย้อนกลับไป 2475 แล้ว ในแถลงการณ์ของคณะราษฎร์ฉบับที่ 1 เขียนไว้ชัดว่าเราขอให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หากไม่ยอมในเวลาที่กำหนดหรือปฏิเสธที่จะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีประมุขของประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง เส้นตายนี้มันถูกขีดกลับไปที่ 2475 อีกครั้งหนึ่งแล้วว่า ถ้าสถาบันกษัตริย์ไม่ยอมปรับตัวหรือปฏิเสธการปรับตัว คนรุ่นใหม่จะไม่เอาสถาบันกษัตริย์ ผมเชื่ออย่างนั้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นความสูญเสียมันมาแน่ แต่จะทำอย่างไรในเมื่อคนรุ่นใหม่เขาไม่เอา

“ต้องยอมรับความจริงข้อนี้และผมคิดว่ามันมีเวลาที่ยังคุยกันได้ บางทีข้อเสนอของเราอาจจะผิดก็ได้นะ เราก็อยากฟังความเห็นจากทางสถาบันกษัตริย์ว่าคิดอย่างไร ถ้าไม่ปรับตัวจะอยู่อย่างไร แล้วข้อเสนอของเรามีข้อด้อยอย่างไรที่ท่านทำตามไม่ได้ หรือว่าทำตามแล้วจะทำให้ประเทศมันเสียหายขึ้น”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net