Skip to main content
sharethis

ชมบรรยากาศคืนสุดท้ายของการตรวจ-จัดระเบียบเอกสารรายชื่อแก้รัฐธรรมนูญของ iLaw ทะลุแสนชุด ก่อนยื่นต่อรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (22 ก.ย. 63) นัดหมายประชาชนที่ MRT เตาปูน เวลา 13.00 น. เดินเท้า 2.2 กม.ไปสภา ด้าน 'ปธ.สภา' เสียดายแก้รธน.ฉบับ iLaw ไม่ทัน 23 ก.ย.นี้ ชี้ม็อบบุกสภาเรื่องปกติ

21 ก.ย.2563 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ระบุ อาสาสมัครช่วยล่าชื่อทั่วประเทศ ทำให้แสนชื่อเป็นไปได้ ชวนประชาชนร่วมแสดงพลังกดดัน ส.ส.-ส.ว.รื้อระบอบอำนาจของ คสช. และสร้างหนทางกลับสู่ประชาธิปไตยเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม 100%

สำหรับการพิจารณาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญของสองสภาน่าจะเริ่มวาระแรกในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 วางหมากล็อคสเป็คให้ต้องมี ส.ว.โหวตผ่านเกิน 84 เสียงจึงจะเริ่มนับหนึ่งได้ ประชาชนเตรียมจับตาให้ดีและกดดันให้สภานำร่างหรืออย่างน้อยเจตนารมณ์ในการ "แก้ทั้งระบบ" ตามร่างฉบับประชาชนเข้าพิจารณาด้วย 

เมื่อเวลา 19.32 น. เพจiLaw โพสต์แจ้งว่า ตอนนี้มีประชาชนกว่า 100,611 รายชื่อแล้วที่ร่วมกันลงชื่อ #แก้รัฐธรรมนูญ ทั้งทางบูธลงชื่อในที่ต่างๆ และส่งมาทางไปรษณีย์ที่ตู้ปณ. 79

'ปธ.สภา' เสียดายแก้รธน.ฉบับ iLaw ไม่ทัน 23 ก.ย.นี้ ชี้ม็อบบุกสภาเรื่องปกติ

ช่อง 3 และ ไทยโพสต์ รายงานตรงกันว่า ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มไอลอว์ จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2564 ฉบับประชาชนในวันที่ 22 ก.ย.จะสามารถนำมาบรรจุวาระเพื่อพิจารณาร่วมกับอีก 6 ญัตติทันหรือไม่ว่า หากทันก็ดี เพราะอยากให้พิจารณาไปพร้อมกัน แต่ญัตติที่ยื่นจะต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดเพราะหากเกิดความผิดพลาดสภาต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ได้นั่งดูรายละเอียดฉบับที่ จอน อึ๊งภากรณ์ ยื่นมาก่อนหน้านี้ อ่านแล้วก็อยากให้นำเข้าพิจารณาได้ทัน แต่เจ้าหน้าที่รายงานมาว่าไม่สามารถทำได้ทันกำหนดเวลาได้ เนื่องจากจอนเพิ่งเสนอเข้ามาจึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ

เมื่อถามว่าหากนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาไม่ทัน จะสามารถนำเข้าพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการได้หรือไม่นั้นชวน กล่าวว่า  การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำตามกฎหมาย เพียงแต่ประชาชน 5 หมื่นรายชื่อมีสิทธิ์เสนอได้ แต่เมื่อเข้าสมัยประชุมนี้ไม่ทัน และเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วสามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระต่อไป

“เสียดายที่ส่งมาช้าไปหน่อย เพราะอยากให้พิจารณาไปพร้อมๆ กันเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสอภิปรายร่วมกัน ซึ่งผมก็พยายามที่จะช่วยเต็มที่เพื่อให้ญัตติของนายจอนได้บรรจุ แต่เจ้าหน้าที่เขาแจ้งมาแล้วว่าทำไม่ทัน” นายชวน ระบุ

ส่วนกรณีที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขอให้ประธานสภาฯ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า 4 ญัตติของฝ่ายค้านไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะมีปัญหากับการอภิปรายในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้หรือไม่นั้น ชวน กล่าวว่า ไม่มีญัตติไหนมีปัญหา

เมื่อถามถึงกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะมาปักหลักหน้ารัฐสภาในวันที่ 24 ก.ย.นี้นั้น ชวน กล่าวว่า เขาก็มาปกติไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะรัฐสภามีคนมาอยู่ทุกวัน ยิ่งในวันประชุมก็มีมาหลายกลุ่ม ทางรัฐสภาก็ต้องดูแลอำนวยความสะดวกอย่าให้มีปัญหา ทั้งการรักษาความปลอดภัยและการระมัดระวังไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

เมื่อถามย้ำว่า จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการลงมติรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 24 ก.ย.หรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า ไม่คิดว่าเขามาคุกคามอะไร ตนว่าเขามาตามปกติ มาแสดงความเห็น และความประสงค์ เป็นเรื่องปกติเหมือนแต่ละกลุ่มที่มาแต่ละครั้ง คงไม่มีผลอะไร ส่วนในเรื่องแนวทางการลงมติในญัตติทั้ง6 ฉบับก็ต้องมีการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 22 ก.ย. นี้

ไอลอว์แจง ปธ.ชวน ย้ำยื่นแล้วเป็นหน้าที่สภาต้องรับพิจารณา

ต่อมาเมื่อเวลา 23.00 น. ไอลอว์ชี้แจงว่า ในฐานะผู้รับผิดชอบรวบรวมรายชื่อประชาชน ขอชี้แจงกับผู้เข้าชื่อกว่า 100,000 คน ดังนี้

1. เราใช้เวลาในการรวบรวมเอกสารเข้าชื่อทั้งหมด 43 วัน ซึ่งถือว่า เร็วมากๆ ภายใต้ข้อจำกัดที่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มที่ถูกต้อง และลงลายมือชื่อด้วยกระดาษปากกา ไม่สามารถส่งผ่านช่องทางออนไลน์ได้

ภารกิจในการรวบรวมเอกสาร ตรวจสอบความถูกต้อง และจัดการงานหลังบ้าน จัดทำโดยอาสาสมัครรวมแล้วกว่า 200-300 คน ที่ทำงานอย่างหนักและทำอย่างดีที่สุดตลอดเดือนเศษๆ ที่ผ่านมา จนกระทั่งได้ยอดเอกสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์มาเกิน 100,000 รายชื่อ ซึ่งมากกว่าจำนวนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดกว่าสองเท่า ไม่มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนครั้งใดสามารถทำได้เสร็จสิ้นรวดเร็วเท่านี้มาก่อน

ดังนั้น ประเด็นข้อกังวลในขั้นตอนของทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ว่า เมื่อตรวจสอบความถูกต้องแล้วอาจเหลือรายชื่อไม่เพียงพอ จึงไม่น่ากังวลแม้แต่น้อย เพราะหากมีเอกสารบางฉบับที่ไม่สมบูรณ์ก็ยังมีเอกสารที่สมบูรณ์เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนดอีกมาก

2. วันนี้ประชาชนกว่า 100,000 คนได้แสดงออกซึ่ง “เจตจำนง” แล้วว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องการ “รื้อ” ระบอบอำนาจของ คสช. “สร้าง” หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเปิดทางให้เกิดการ “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ซึ่งเจตจำนงนี้ ทั้งสมาชิกรัฐสภาและสาธารณะได้รับรู้รับทราบแล้ว แต่การจะบรรจุเข้าในวาระการพิจารณาได้ทันหรือไม่นั้นเป็นประเด็นทาง “เทคนิค” ในขั้นตอนการทำงานของระบบราชการเท่านั้น

ซึ่งขั้นตอนทางเทคนิคไม่ควรเป็นอุปสรรค ทำให้เจตจำนงของประชาชนถูกทอดทิ้งไป หากทางรัฐสภาจริงใจที่จะรับฟังข้อเสนอจากประชาชน ก็เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะแก้ปัญหาทางเทคนิคเพื่อรับพิจารณาข้อเสนอชุดนี้เพื่อดำเนินการไปพร้อมกับข้อเสนอจากพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งมีทางเลือกอยู่หลายช่องทาง เช่น การลงมติงดใช้ข้อบังคับบางประการเพื่อรับพิจารณาข้อเสนอของประชาชนก่อน หรือการเร่งตรวจสอบรายชื่อให้เร็วที่สุดแล้วเปิดสมัยประชุมวิสามัญพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาข้อเสนอของประชาชนได้

3. รัฐธรรมนูญ 2560 ได้สร้างโครงสร้างทางการเมืองที่ผิดปกติ สร้างระบอบทางการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจให้ คสช. อันนำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชน จนกระทั่งเกิดการชุมนุมบนท้องถนนของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนหลากหลายกลุ่มในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เพียงขาดกลไกที่หาทางแก้ไขปัญหา แต่ยังเป็นตัวปัญหาที่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองเสียเอง

การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น และโดยเร็วที่สุด ซึ่งวันนี้ประชาชนมากกว่า 100,000 คน ได้ช่วยกันเสนอทางแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นข้อเสนอตามระบบบกฎหมายที่มีอยู่ โดยอาศัยโครงสร้างของรัฐสภาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะหาทางออก หากรัฐสภาไม่พิจารณาข้อเสนอของประชาชนในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการแสดงออกว่า การแก้ไขปัญหาไม่สามารถเดินหน้าด้วยกลไกที่มีอยู่ได้ และบีบบังคับให้ประชาชนที่ต้องการออกจากระบอบการเมืองแบบที่เป็นอยู่ต้องเลือกเส้นทางการต่อสู้บนท้องถนนเท่านั้น

ซึ่งเท่ากับเป็นการเลือกเส้นทางท้องถนน โดยคนที่มีอำนาจ ไม่ใช่โดยประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net