เดินไปสภายื่นแสนเสียงแก้รัฐธรรมนูญ​

หลังแสนแตกไปเมื่อคืนวาน (21 ก.ย. 2563) วันนี้ iLaw องค์กรเครือข่ายและประชาชนร่วมกันเดินหน้าเสนอแก้รัฐธรรมนูญยื่น 100,732 รายชื่อใช้ซาเล้ง 6 คันไปที่รัฐสภา เกียกกาย มีตำรวจอำนวยความสะดวกจราจรให้

22 ก.ย.2563 เวลา 11.45 น.ที่ MRT​ เตาปูน​ ไอลอว์​ องค์กรเครือข่ายและประชาชนตั้งขบวนเตรียมนำรายชื่อทั้งหมด 100,732 รายชื่อที่ต้องใช้ซาเล้ง 6 คันขนไปยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ที่รัฐสภา เกียกกาย

12.20 น. ที่​ MRT​ เตาปูนทางออก​ 4 มี​ ตร.​ใน​เครื่องแบบ​ประมาณ​ 10 นายสังเกต​การณ์​ โดยการชุมนุม​ในวันนี้​ ไอลอว์แจ้งการชุมนุม​ต่อ​ พ.ต.อ.กฤช​ กัญชนะ​ ผู้กำกับ สน.เตาปูน​ ตาม​ พ.ร.บ.ชุมนุม​ฯ พ.ศ.2558​ แล้ว

พ.ต.อ.กฤชส่งหนังสือตอบกลับลงวันที่เมื่อวานนี้โดยอ้าง มาตรา 19 (5) วรรคสาม ของกฎหมายฉบับดังกล่าว ระบุว่าห้ามไม่ให้กระทำการใดที่ส่งผลต่อการจราจร และห้ามไม่ให้เข้าไปชุมนุมในพื้นที่ส่วนบุคคลซึ่งเจ้าของสถานที่ไม่อนุญาต และให้สัมภาษณ์ต่อประชาไทว่า ​วันนี้ใช้กำลังตำรวจจาก​ สน.เตาปูน​ และ​ บชน.2 จำนวน​ 80 นาย​ ดูแลการชุมนุม​ โดยจะคอยอำนวยความสะดวก​ด้านการจราจร​ระหว่างขบวนเดินเท้าไปรัฐสภา

ประชาชนที่เข้าร่วมเดินขบวนร่วมกันใส่เสื้อขาวที่มีหมุดคณะราษฎรที่ 2 และผูกโบว์ขาว

13.10 น. ขบวน​เริ่มออกเดินจาก​ MRT​ เตาปูนไปตาม​ ถ.ประชาราษฎร์​ สาย​ 2 มุ่งหน้ารัฐสภา​ โดยใช้​ 1 ช่องการจราจร

เอกภพ  สิทธิวรรณธนะ นักสเกตช์ ภาพอิสระ ให้สัมภาษณ์ว่าปกติก็ตามไปสเกตช์ภาพกิจกรรมบ่อยๆ ตามเหตุการณ์ที่ช่วงนั้นสนใจ กระบวนการทำงานก็คือเลือกสถานที่ เลือกเหตุการณ์ แล้วก็พาตัวเองมา โดยมีอุปกรณ์เพียงปากกา สีน้ำ แล้วก็กระดาษเล็กๆ

 “ช่วงนี้มันมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มันส่งผลมาเป็นภาพพเหตุการณ์และเชื่อว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญของสังคม ไม่ว่ามันจะออกทางไหน มันมีความตื่นตัว มันมีความสร้างสรรค์ มีการเคลื่อนไหว ก็จะบันทึกไว้” เอกภพกล่าว และอธิบายว่าทำไมถึงเลือกที่จะใช้การสเกตช์ภาพแทนการถ่ายภาพว่า “คือมันถ่ายรูปก็ได้แหละ แต่ว่าพอมันถ่ายทอดลงเป็นลายเส้นหรือว่าเป็นภาพมันมีบรรยากาศอื่นๆ ที่มันผ่านตัวประสบการณ์ของผมด้วย”

ภาพสเกตช์ของเอกภพ  สิทธิวรรณธนะ

จากนั้นเวลาประมาณ 14.00 น. ขบวนเดินถึงรัฐสภาแล้ว รปภ.ของรัฐสภาดึงรั้วปิดทันที แรงงานก่อสร้างอาคาร รัฐสภาตะโกนออกมาจากไซต์ก่อสร้างว่า "สู้ๆ ฝากด้วยนะ คุณคืออนาคต ของพวกเรา"

ด้านณัฐพล​ อนันทะวัน นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมาศึกษานอกสถานที่ในวิชา Freedom Assembly Law หรือเสรีภาพในการชุมนุมกับกฎหมาย เล่าว่า วันนี้มาสังเกตการเคลื่อนที่ของมวลชน ว่าเขาเคลื่อนที่กันอย่างไร ศึกษารูปแบบการจัดขบวน ส่วนสอดคล้องกับที่เรียนในรายวิชา คือ การจัดการมวลชนในการชุมนุม ตำรวจหรือผู้รักษากฎหมายมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชน

"ประทับใจดีครับ ไม่คิดว่าคนจะมาเยอะขนาดนี้เหมือนกัน" ณัฐพลกล่าว

ณัฐพลและกลุ่มเพื่อนที่มาศึกษานอกสถานที่ในวิชาเสรีภาพในการชุมนุมกับกฎหมาย

14.25 น. เป็นช่วงการปราศรัยโดยมีพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw และ นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญและทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี คณะประชาชนปลดแอก ถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และความลำบากในการล่ารายชื่อแต่ก็เยอะเกินคาด

15.20 น. จอน อึ๊งภากรณ์เป็นผู้มอบหนังสือและรายชื่อทั้งหมดให้ก้บ สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุลและสุทิน คลังแสง ที่ออกมาเป็นตัวแทนรับหนังสือ โดยสมบูรณ์แจ้งว่าที่ชวนไม่สะดวกมารับรายชื่อวันนี้  เพราะติดมอบรางวัลให้อัยการประชาชน ทำให้มวลชนไม่พอใจตะโกนว่าไม่เห็นความสำคัญของประชาชน

สุทินยืนยันว่าร่างของฝ่ายค้านกับของภาคประชาชนมีจุดประสงค์เหมือนกัน  และจะพยายามให้ตัวแทนประชาชนมีที่นั่งในกรรมาธิการ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่าสิ่งที่เห็นวันนี้คือการเมืองที่เป็นไปได้ ก่อนหน้านี้คนพูดว่า 43 วัน ห้าหมื่นกว่าเสียงเป็นไปได้หรือแต่ไอลอว์ทำได้หนึ่งแสนกว่าชื่อ

พิธากล่าว่าพูดถึงม.256 สสร.ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่เป็น ส.ส.ตอนที่พรรคเก่ายังไม่ถูกยุบมีแต่คนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่วันนี้เป็นไปได้เพราะประชาชนนี่คืออานุภาพของประชาชน พรุ่งนี้(23 ก.ย.) จะอภิปรายว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เป็นเพียงการสืบทอดอำนาจของ คสช.แต่เป็นการเหนี่ยวรั้งไทยกลับสู่อดีตย้อนหลังไป 40 ปี รัฐธรรมนูญปี 2521-2522 ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี 40 ปีต่อมาลูกก็โตแล้ว ยังมี ส.ว.มาเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี

พิธาบอกว่า สสร.คือทางออกสุดท้ายที่มีอย่าให้ใครมาแย่งชิง แทรกแซงโอกาสครั้งสุดท้าย สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเท่านั้น และบทเฉพาะกาล 269-272 ต้องได้รับการแก้ไข

"วันนี้เป็นเวทีของประชาชน ไม่ใช่ของผม พรุ่งนี้เป็นเวทีของผม ผมจะยำให้เละครับ" พิธากล่าว

จากนั้นเนตรนภา  อำนาจส่งเสริม จากประชาชนปลดแอกได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐสภาต้องพิจารณาข้อเสนอของประชาชนหากมีความจริงใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อหาทางออกจากระบอบการเมืองในปัจจุบัน

แถลงการณ์ รัฐสภาต้องพิจารณาข้อเสนอของประชาชน

เป็นเวลาเพียง “43 วัน” นับตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม ถึง 19 กันยายน 2563 ที่ประชาชนช่วยกันเข้าชื่อจนรวบรวมได้กว่า 100,000 รายชื่อ ในการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อ “รื้อ” ระบอบอำนาจของ คสช. “สร้าง” หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเปิดทาง “ร่าง” รัฐธรรมนูญใหม่ ทุกประเด็น ทุกมาตรา โดยประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ประชาชนคนไทยตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงพร้อมที่จะใช้สิทธิตามช่องทางที่มีอยู่ตามกฎหมาย แม้ว่าขั้นตอนการเข้าชื่อจะสร้างภาระ ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชน ต้องลงชื่อบนกระดาษโดยไม่สามารถมีส่วนร่วมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แต่ประชาชนก็สามารถทำภารกิจรวบรวมรายชื่อได้ภายในเวลาอันรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ กว่า 20 ปี ของสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน

กลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช., ช่องทางนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง, การยึดครององค์กรตรวจสอบจนหมดความน่าเชื่อถือ ล้วนมีขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจให้ คสช. และทำให้ดุลอำนาจทางการเมืองในปัจจุบันไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งวันนี้ประชาชนเห็นแล้วว่า หากกลไกเหล่านี้ไม่ถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยจะไม่มี “ทางออก” จากความขัดแย้ง และไม่มี “อนาคต”

แม้ว่า ส.ส. จากหลายพรรคการเมืองจะเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้สิทธิของ ส.ส. บ้างแล้ว แต่กลับยังขาดการแก้ไขในประเด็นสำคัญดังที่กล่าวมา โดยเฉพาะข้อเสนอจากพรรคฝ่ายรัฐบาล ที่วางแผนไว้เพื่อยึดครองสภาร่างรัฐธรรมนูญ  (ส.ส.ร.) ให้ทำงานตามใจตนเองต่อไป ดังนั้น ข้อเสนอเท่าที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขความผิดปกติในระบอบการเมืองในปัจจุบันได้

หากรัฐสภาจริงใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อหาทางออกจากระบอบการเมืองในปัจจุบัน ก็ควรต้องพิจารณาข้อเสนอในเรื่องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากประชาชน เนื่องจากประชาชนคือเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนคือผู้มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในทางการเมืองและการกำหนดทิศทางของประเทศ

เครือข่าย People Go Network
เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ  (CALL)
กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า
คณะประชาชนปลดแอก Free People
iLaw

การรณรงค์ครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2563 ที่ผ่านมาซึ่งใช้เวลาเพียง 43 วัน โดยในตอนเริ่มแรกมีการประกาศว่าต้องการ 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน

 

เพิ่มข้อมูล 22 ก.ย.2563 เวลา 19.37 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท