Skip to main content
sharethis

วิกฤต COVID-19 ได้บังคับกลาย ๆ ให้บริษัทต่าง ๆ เริ่มหันมายอมรับวัฒนธรรม 'การทำงานทางไกล' และชาวโตเกียวหลายคนเริ่มสงสัยว่าการใช้ชีวิตในเมืองหลวงนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ปรากฎการณ์นี้อาจจะช่วยลดความตึงเครียดเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ณ จุดศูนย์กลางของญี่ปุ่น


ที่มาภาพประกอบ: cybozushiki.cybozu.co.jp

การเปลี่ยนแปลงแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 อาจจะลดความตึงเครียด ณ จุดศูนย์กลางของประเทศอย่างกรุงโตเกียว

วิกฤตการแพร่กระจายของ COVID-19 บังคับกลาย ๆ ให้บริษัทต่าง ๆ ต้องยอมรับ 'การทำงานทางไกล' (Telework) ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และชาวโตเกียวหลายคนเริ่มสงสัยว่าการใช้ชีวิตในเมืองหลวงนั้นคุ้มค่าหรือไม่

โตเกียวอาจเป็นศูนย์กลางของการเมืองธุรกิจและวัฒนธรรม แต่ก็มีข้อเสีย ได้แก่ ค่าเช่าที่สูง การคมนาคมสาธารณะที่แออัดในชั่วโมงเร่งด่วน และที่อยู่อาศัยคับแคบ เป็นต้น

การเปลี่ยนไปใช้รูปแบบงานทางไกล ทำให้คนทำงานไม่จำเป็นที่จะอาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งจะช่วยลดจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยโตเกียวมีผู้อยู่อาศัยประมาณร้อยละ 11 ของประชากรทั้งหมดในญี่ปุ่น วิธีการทำงานใหม่นี้อาจช่วยบรรเทา 'ความเข้มข้นที่มากเกินไป' ซึ่งเป็นปัญหามาเป็นระยะเวลาหลายปี

“แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปรูปแบบการทำงาน รัฐบาลพยายามส่งเสริมการสื่อสารโทรคมนาคม แต่ก็ไม่เกิดผลมากนัก” คาซึยูกิ ยามาชิตะ นักวิเคราะห์อสังหาริมทรัพย์กล่าว “จากนั้นไวรัสโคโรนาและการทำงานทางไกลก็พุ่งสูงขึ้น นั่นต่างหากเป็นการผลักดันให้ผู้คนหันมาอาศัยอยู่ห่างไกลจากเมืองใหญ่”

สถิติชี้คนญี่ปุ่นเข้าโตเกียวน้อยลง

จากสถิติของกระทรวงการสื่อสาร พบว่าประชากรในเขตมหานครโตเกียวซึ่งรวมถึงจังหวัดคานากาวะ ชิบะ และไซตามะ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี แต่พึ่งถดถอยลงเป็นครั้งแรกในเดือน ก.ค. 2563 นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2556 เป็นต้นมา

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาประชากรของโตเกียวซึ่งเพิ่มขึ้น 840,000 คน (ณ เดือน พ.ค. 2563) และโดยทั่วไปแล้วเดือน มิ.ย. จะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 10,000 คน เนื่องจากการไหลเข้าของคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 2563 นี้ ลดลงเหลือเพียง 3,405 คน (ณ วันที่ 1 มิ.ย.) ตัวเลขดังกล่าวเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลครั้งแรกในปี 2499 หลังจากเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือน ก.ค. 2563 ตัวเลขก็ลดลงอีกครั้งที่ 5,903 โดยประชากรในโตเกียว ณ วันที่ 1 ส.ค. 2563 อยู่ที่  13,993,721 คน

"เนื่องจากมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งอาจต้องอยู่กับมันอีกเป็นเวลาหลายปี ส่งผลให้การทำงานทางไกลมีแนวโน้มที่จะหยั่งรากในญี่ปุ่น รูปแบบการทำงานขั้นพื้นฐานแบบใหม่นี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้การกระจายความเป็นศูนย์กลางออกจากโตเกียว" คาซึมะ โคมิยะ ผู้จัดการอาวุโสของสถาบันในแผนกวิจัยและให้คำปรึกษาโครงการของบริษัทมิซูโฮ กล่าว 

"การสนับสนุนในการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นของรัฐบาลกลาง จะทำให้ประชาชนมีความสนใจเพิ่มขึ้นในการย้ายไปยังพื้นที่ส่วนภูมิภาคห่างจากเมืองใหญ่ - ทั้งนี้ในสถานการณ์ปกติคนรุ่นใหม่จะหลั่งไหลมายังโตเกียวเพื่อหางาน หรือเข้าเรียนมหาวิทยาลัย" โคมิยะ อธิบาย "แต่ COVID-19 จะหยุดยั้งคนหนุ่มสาวในการมาโตเกียว"

ความสนใจออกจากเมืองใหญ่ที่เพิ่มขึ้น


ที่อยู่อาศัยในเขตชานเมืองในเขตปริมณฑล กำลังได้รับความนิยมจากผู้ที่ต้องการย้ายออกจากโตเกียว | ที่มาภาพประกอบ: sib-network.com

รายชื่อบ้านมือสองในเขตคิซาราซึ จังหวัดชิบะ ได้รับการจัดอันดับว่ามียอดการดูหน้าเว็บที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในพอร์ทัลข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท Suumo หลังจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของผู้คนที่เพิ่มขึ้นในการใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากใจกลางโตเกียว

"คิซาราซึใช้เวลานั่งรถไฟ 1-1.30 ชั่วโมง จากโตเกียว และขับรถเพียง 1 ชั่วโมง หากใช้ทางด่วน" ยามาชิตะ นักวิเคราะห์อสังหาริมทรัพย์กล่าว "ส่วนบ้านมือสองในเขตโชนัน จังหวัดคานางาวะ นั้นอยู่ห่างจากโตเกียวระยะทางและเวลาพอ ๆ กัน แต่มีราคาแพงกว่าเกือบสองเท่า"

ในทำนองเดียวกันชานเมืองในเขตปริมณฑล เช่น เขตฮาชิโมโต ในจังหวัดคานากาวะ, เขตฮาชิโอจิทางตะวันตกของโตเกียว และเขตโอมิยะในจังหวัดไซตามะ มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ ในการย้ายออกจากสถานที่ที่สะดวกแต่ราคาแพงกว่าอย่างในเขตใจกลางโตเกียว

การตั้งราคาอสังหาริมทรัพย์สินก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยบ้านในพื้นที่ห่างไกลแต่ใกล้สถานีรถไฟมากที่สุด ได้ดึงดูดความสนใจมากขึ้น

"ราคาของอพาร์ทเมนต์ที่ใช้เวลาเดินไม่เกิน 5 นาทีจากสถานีอาจแตกต่างถึงร้อยละ 30 หรือร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับอพาร์ทเมนต์ที่ใช้เวลาเดิน 15 นาที" เขากล่าว "ถ้าอยู่ห่างออกไป 15 นาที คุณสามารถซื้อบ้านที่มีพื้นที่ใหญ่ขึ้นประมาณ 1 ใน 3 และเด็ก ๆ สามารถวิ่งเล่นในพื้นที่ที่น่าอยู่อาศัยกว่า"

ท้องถิ่นอำนวยความสะดวก


เมืองซึ่งมีทิวทัศน์อันงดงามของภูเขาไฟฟูจิอย่างชิซูโอกะ ได้นำเสนอแคมเปญที่กระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายเข้ามายังในเมือง | ที่มาภาพประกอบ: aokidaira.com

สำหรับภาคธุรกิจก็มีแนวคิดเช่นเดียวกัน การย้ายสำนักงานออกไปนอกโตเกียวหรือไกลออกไปกว่านั้นก็กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

AIS Co. Ltd. ผู้ให้บริการระบบบัญชีในโตเกียวสำหรับบริษัทเดินเรือเป็นตัวอย่างหนึ่ง ในเดือน ส.ค. 2563 AIS ได้เปิดสำนักงานที่ใช่ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมในเมืองชิซูโอกะ ห่างจากโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 180 กิโลเมตร

"เราคาดว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายสำนักงานได้ถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบการตั้งสำนักงานในชิซูโอกะกับการขยายพื้นที่สำนักงานในโตเกียว" ฮิโรชิ โออุระ ประธาน AIS กล่าว

โออุระได้ว่าจ้างพนักงานใหม่ 6 คน เพื่อขยายการดำเนินงานและวางแผนที่จะจ้างเพิ่มอีกประมาณ 4 คนในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ธุรกิจทั่วประเทศกำลังลดพนักงานลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดจาก COVID-19

พนักงานคนหนึ่งของเขาที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอิบารากิได้ย้ายไปที่ชิซูโอกะ และอีกคนเดินทางจากโยโกฮาม่าด้วยชินคันเซ็นไปทำงานที่สำนักงานใหม่นี้ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง

เงินอุดหนุนที่รัฐบาลท้องถิ่นที่เสนอให้ภาคธุรกิจย้ายสำนักงานจากเมืองใหญ่ไปยังเมืองและหมู่บ้านของพวกเขาเอง อาจช่วยอำนวยความสะดวกในการกระจายความแออัดออกจากเมืองใหญ่

ชิซูโอกะได้นำเสนอแคมเปญที่กระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ในเขตโตเกียวและปริมณฑลย้ายมา  AIS เป็นบริษัทแรกที่ตั้งสำนักงานสื่อสารผ่านดาวเทียมที่นั่นในปี 2563 นี้

เมืองซึ่งมีทิวทัศน์อันงดงามของภูเขาไฟฟูจินี้ ยังเสนอแคมเปญแบบจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพื่อให้ผู้คนได้ลองใช้งานระบบทำงานทางไกลเป็นเวลาหนึ่งวัน

แม้ว่าการรณรงค์นี้จะหยุดชะงักลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2563 แต่ก็มีผู้เข้าร่วมแคมเปญ 6 คน ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 เป็นต้นมา รวมถึง 3 บริษัทที่รวมถึง AIS ก็ได้ตั้งสำนักงานสื่อสารผ่านดาวเทียมในชิซูโอกะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

"ธุรกิจต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีในชิซูโอกะ และพวกเขาสามารถลดค่าเช่าสำนักงานได้อย่างมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ในโตเกียว" ยูอิ โอคุดาอิระ เจ้าหน้าที่ของเทศบาลเมืองชิสึโอกะกล่าว "บริษัทต่าง ๆ ยังระบุถึงความสะดวกสบายของการนั่งชินคันเซ็นเพียง 1 ชั่วโมงจากโตเกียว รวมทั้งความจำเป็นในการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ เหล่านี้เป็นเหตุผลในการเลือกชิซูโอกะ"

บริษัทบางแห่งเช่น Overflow Inc. บริษัทด้านการตลาดดิจิทัล ถึงกับตัดสินใจที่จะปิดสำนักงานในโตเกียวทั้งหมดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

ส่วนบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง Fujitsu Ltd. ได้ตัดสินใจลดพื้นที่สำนักงานลงครึ่งหนึ่งภายใน  30 เดือนข้างหน้า และผลักดันให้พนักงานทำงานจากที่บ้านในระยะยาว เพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ในสำนักงาน

"หากคุณจำเป็นต้องเดินทางเพียงสัปดาห์ละครั้งหรือเดือนละครั้ง ผู้คนอาจยังรับได้ต่อการเดินทาง 1 2 หรือ 3 ชั่วโมง และอาจได้รับแจ้งให้เดินทางด้วยชินคันเซ็นในบางกรณี" ยามาชิตะ นักวิเคราะห์ด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าว "มันอาจทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในการเลือกบ้านในพื้นที่ที่ห่างไกลจากที่ทำงานมากขึ้น"

บริษัทโฆษณาอย่าง Ad-promote Co. ได้ปิดสำนักงานใหญ่ในย่านโดเก็นซากะที่คึกคักใกล้กับสถานีชิบูย่า ในโตเกียวและย้ายไปที่เขตโอยามะ จังหวัดโทชิกิ ในเดือน พ.ค. 2563 โดยให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน

การย้ายดังกล่าวช่วยลดต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่าสำนักงาน และค่าขนส่งได้ประมาณร้อยละ 30 ตามที่ฮิเดกิ โยชิดะ ซีอีโอของบริษัทกล่าว นอกจากนี้เขายังยกเลิกสัญญาอพาร์ตเมนต์ย่านชินจูกุในโตเกียวของเขาด้วย

"เนื่องจากเราเป็นบริษัทไอที เราจึงเปลี่ยนไปใช้การทำงานจากระยะไกลได้อย่างราบรื่น และผลการดำเนินงานของบริษัทก็ไม่ได้ลดลงจนถึงขณะนี้ หากไม่มีสำนักงานใหญ่ในโตเกียว" โยชิดะ กล่าว "ก่อนหน้านี้ผมแน่ใจว่าสักวันหนึ่งจะมาถึง เมื่อเราไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานในโตเกียว"


ที่มาเรียบเรียงจาก
Telework forces a rethink of working and living in Tokyo (THE JAPAN TIMES, 3/9/2020)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net