Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีข้อเสนอ 10 สิงหาว่าเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองหรือไม่ เป็นการฟ้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ นักกฎหมายแสดงทัศนะว่ามาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือการสารภาพบาปจากการอ่านกฎหมายผิดในอดีต และเห็นว่าข้อเสนอ 10 สิงหาไม่ใช่การล้มล้างระบอบ

  • Militant Democracy คือหลักการปกป้องระบอบประชาธิปไตยจากภัยคุกคามที่ต้องการล้มล้างระบอบ
  • รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ระบุให้ต้องฟ้องศาลรัฐธรรมนูญผ่านอัยการสูงสุด แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดช่องให้ฟ้องโดยตรงได้ ซึ่งเข็มทองเห็นว่าเป็นการสารภาพบาปจากการอ่านกฎหมายผิดของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2555
  • หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อเสนอ 10 สิงหา เป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง คำวินิจฉัยอาจถูกใช้เป็นฐานในการดำเนินคดีอาญาต่อไป
  • ในทัศนะของเข็มทอง ข้อเสนอ 10 สิงหา ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เนื่องจากไม่มีการเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบรัฐ แต่เป็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคำร้องของณฐพร โตประยูร ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยรับวินิจฉัยเฉพาะกรณีการปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม บนเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ผลในทางกฎหมายที่ตามมาจากนี้จะเป็นอย่างไร

หากจะไล่เรียงกันจริงๆ แล้ว การอนุญาตให้ฟ้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นการพยายามแก้ไขการ ‘อ่านกฎหมายผิด’ จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 โดยนักเขียนรัฐธรรมนูญอย่างมีชัย ฤชุพันธุ์

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (แฟ้มภาพ ประชาไท)

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายหลักการปกป้องประชาธิปไตย การอ่านกฎหมายผิดของอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงกรณีล่าสุด

Militant Democracy

รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 49 ระบุว่า ‘บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

‘ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้

‘ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

‘การดําเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง’

เป็นช่องทางที่ทำให้ณฐพรสามารถฟ้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเข็มทองอธิบายว่า

“แนวคิดของมาตรานี้มันมาจากแนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า militant democracy หรือบางคนเรียกว่า defensive democracy คือวิธีคิดว่าประชาธิปไตยต้องอดทนต่อความเห็นต่าง ต้องให้สิทธิ์ แต่มันก็มีคำถามว่าแล้วถ้าคนใช้สิทธิ์นั้นเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตยล่ะ คือสมัยก่อนภัยคุกคามประชาธิปไตยมันตรงไปตรงมามากคือเผด็จการล้มล้างประชาธิปไตย แต่หลังๆ มันมีความละเอียดอ่อนขึ้นก็คือเผด็จการไม่ได้มาในรูปแบบของเผด็จการทหาร เอารถถังออกมาวิ่ง แต่กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีความคิดที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย

“ตัวอย่างเช่นพรรคการเมืองที่เน้นเรื่องชาติ เรื่องสีผิว เรื่องศาสนา ไม่ว่าจะเป็นขวาจัดหรือซ้ายจัดก็ตาม มันเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มประชาธิปไตย โดยที่เนื้อหาไม่ได้เป็นประชาธิปไตย มันจะต้องทนกับพวกนี้ขนาดไหน ซึ่งคำตอบของนักกฎหมายมหาชนส่วนใหญ่คือไม่จำเป็นต้องทน เพราะมันจะทำให้ระบบนี้มันล้มไป เพราะการใช้สิทธิ์ตามระบบเพื่อล้มระบบเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต”

ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีการเขียนเนื้อหาทำนองนี้เอาไว้ ซึ่งถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลมีอำนาจสั่งให้หยุดการกระทำนั้นได้ ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เช่นกันที่ไม่ได้กำหนดให้ประชาชนสามารถฟ้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็เพื่อมิให้คดีหลั่งไหลเข้าไปที่ศาล

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้อ่านข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เมื่อศาลอ่านกฎหมายผิด มาตรา 49 ในรัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นการสารภาพบาป

แต่ในช่วงการใช้รัฐธรรมนูญปี 50 ที่รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีเรื่องที่เข็มทองใช้คำว่า ‘อื้อฉาว’ ขึ้น

“มันมีเหตุอื้อฉาวเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าดูตัวบทรัฐธรรมนูญจริงๆ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้แค่กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ จะพิจารณาตัวการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเองเลยไม่ได้ มันไม่ได้เขียนเอาไว้ เขาก็เลยมาออกช่องนี้ว่าเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แล้วก็ฟ้องตรงเลย ซึ่งก่อนหน้านี้มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 50 มีบรรทัดฐานมาตลอดว่าถ้าไม่ผ่านอัยการสูงสุด ไม่รับ แต่เป็นครั้งแรกที่อยู่ดีๆ ศาลรัฐธรรมนูญรับ โดยให้เหตุผลว่าแทนที่จะอ่านว่าให้ฟ้องตรงโดยผ่านอัยการสูงสุด ศาลกลับอ่านว่าฟ้องตรงหรือผ่านอัยการสูงสุด กลายเป็นว่าจะฟ้องตรงก็ได้หรือจะผ่านอัยการสูงสุดก็ได้โดยศาลให้เหตุผลว่ามันเป็นเรื่องคับขัน ถ้าให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วชักช้า มันไม่ทัน ประชาธิปไตยจะถูกทำลายไปก่อน ศาลก็ต้องรับ

“มันมีเรื่องต่อไปอีก อย่างเช่นการที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องดูเจตนารมณ์ตามร่างภาษาอังกฤษของรัฐธรรมนูญ ทั้งที่จริงๆ รัฐธรรมนูญร่างเป็นภาษาไทย คือตอนเราร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เราร่างเป็นภาษาอังกฤษก่อนเพราะว่าคนที่ร่างเป็นผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ มันจึงยกร่างเป็นภาษาอังกฤษก่อน เวลาเรียนกฎหมายตอนปี 1 จะบอกว่าเจตนารมณ์กฎหมายแพ่ง ถ้าเกิดสงสัยต้องไปดูต้นร่างภาษาอังกฤษ ผมไม่รู้ว่ามันมาผสมกันยังไง แต่กลายเป็นว่าตอนที่คุณวสันต์ (สร้อยพิสุทธิ์) มาอธิบายเหตุผลในการรับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เอาเรื่องต้นร่างภาษาอังกฤษมาพูด มันเป็นเรื่องวุ่นวายมาก รัฐธรรมนูญปี 60 จึงแก้ให้ฟ้องตรงโดยต้องผ่านอัยการก่อน ถ้า 15 วัน อัยการสูงสุดไม่สั่งฟ้องจึงจะสามารถฟ้องตรงไปที่ศาลได้เลย อันนี้คือช่องทางที่คุณณฐพรใช้”

เข็มทองคิดว่า การที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุเช่นนี้เป็นการสารภาพบาป

“ผมคิดว่ามันเป็นการสารภาพบาป อย่างน้อยที่สุดมันบอกชัดเจนเลยว่าเมื่อปี 2555 ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะอ่านกฎหมายผิด ไม่อย่างนั้นรัฐธรรมนูญปี 60 ก็ไม่ต้องแก้หรอก แปลว่าปี 2555 ศาลใช้กฎหมายผิดแน่นอน”

ใช้เป็นฐานดำเนินคดีอาญา

คำถามคือหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง ผลที่ตามมาคืออะไร

“ถ้าไปดูตัวบทมาตรา 49 มันบอกให้หยุดการกระทำ แปลว่าตามเจตนารมณ์จริงๆ ขณะที่เกิดเหตุการณ์นั้น ศาลสั่งว่านับแต่วินาทีนี้ให้หยุด เลิกทำ แล้วถ้าเป็นพรรคการเมืองก็ให้ยุบพรรค มาตรการนี้ส่วนใหญ่ในต่างประเทศก็คือให้ศาลสั่งหยุดการกระทำและยุบพรรคการเมือง ถ้าเกิดการกระทำนั้นเป็นการกระทำของพรรค เช่น โปรโมทแนวคิดนาซี โปรโมทแนวคิดคลั่งศาสนา”

แต่ในกรณีนี้แตกต่างออกไป เนื่องจากเป็นการกระทำที่จบสิ้นไปแล้ว สั่งให้หยุดการกระทำไม่ได้ หนทางที่น่าจะเป็นคือการวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างและใช้เป็นฐานในการดำเนินคดีอาญาต่อ

“แต่อีกอันหนึ่งที่คิด ก็คือถ้าล้มล้างแล้วขอให้ศาลสั่งไปข้างหน้าว่าห้ามขึ้นปราศรัยอีก ผมคิดว่าอันนี้ก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะว่าการปราศรัยแต่ละครั้งต้องคิดเป็นการกระทำแยกแต่ละครั้ง ถ้าจะสั่งห้ามการปราศรัยครั้งไหนก็ต้องใช้ข้อเท็จจริงจากการปราศรัยครั้งนั้น มันไม่สามารถเอาข้อเท็จจริงจาก 10 สิงหาคมไปสั่งห้ามการปราศรัยในเดือนตุลาคมได้ เพราะคุณต้องระวังเรื่องการจำกัดสิทธิ์ที่ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังที่สุด ตีความอย่างแคบที่สุด

“ปัญหาคือนี่จะเป็นคดีใหญ่ชุดแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ตัดสิน คือพอหมดคดีอนาคตใหม่ศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนเกษียณหรือหมดวาระ และเพิ่งมีการแต่งตั้งใหม่ขึ้นมา เราคาดเดาไม่ได้ว่าจริงๆ จะเป็นอย่างไร เดาแนวทางไม่ถูก”

ข้อเสนอ 10 สิงหาคม ไม่ใช่การล้มล้างระบอบ

เข็มทองแสดงทัศนะว่า ข้อเสนอ 10 สิงหาคม ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะยังเป็นการยืนยันว่าให้มีสถาบันกษัตริย์ แต่เรียกร้องการปฏิรูป

“ในต่างประเทศคำว่า ล้มล้าง มันต้องเปลี่ยนรูปของรัฐไปเลย เช่น จากรัฐที่เป็นรัฐโลกวิสัยไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนากลายเป็นจะเอาศาสนามาใช้เป็นกฎหมายสูงสุดแทนรัฐธรรมนูญ หรือจะเปลี่ยนจากรัฐที่เป็นรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยให้กลายเป็นรัฐเผด็จการเชื้อชาตินิยม ผมไม่คิดว่าคำข้อเสนอ 10 ข้อไปถึงขนาดนั้น ถามว่ามันยังเป็นประชาธิปไตยอยู่ไหม ยังเป็น ยังมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ไหม ยังมี เพียงแต่ว่ารูปแบบต่างๆ จะต้องเปลี่ยนไป หมายถึงปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองจะต้องเปลี่ยนไป ซึ่งถามว่าเรียกร้องได้ไหม เรียกร้องได้”

น่าสนใจว่า กรณีนี้ฟ้องว่าเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองจากเหตุการณ์ที่จบไปแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้อง หากนำการรัฐประหาร 2557 ซึ่งเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองชัดเจนไปฟ้องจะสามารถทำได้หรือไม่ เข็มทองกล่าวว่า ยาก เนื่องจากกฎหมายอยู่ฝั่งผู้มีอำนาจ อีกทั้งในรัฐธรรมนูญยังมีการนิรโทษกรรมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอาไว้

“มันมีมาตรา 279 ที่เป็นการนิรโทษกรรม น่าจะยาก ต้องยอมรับว่ากฎหมายอยู่ฝั่งข้างผู้มีอำนาจ เขาวางล็อกเอาไว้หมดแล้ว

“ที่เราพูดกันทั้งหมดนี้ เราพูดกันเรื่องกฎหมาย ในความเป็นจริง ความยากของกฎหมายมาตรานี้คือสมมติว่าคนล้มล้างมีกำลังขึ้นมาจริงๆ ศาลสั่ง แล้วมันจะทำไม สมมติทหารจะทำรัฐประหาร เอารถถังออกมา ถามว่าคำวินิจฉัยศาลจะหยุดรถถังได้ไหม มันยากนะ แต่ถามว่าถ้าประชาชนคิดจะเปลี่ยนรูปแบบจริงๆ ศาลสั่งให้หยุดการกระทำได้ไหม ได้ เพราะเป็นอำนาจตามกฎหมาย แต่คุณเปลี่ยนข้อเท็จจริงไม่ได้ว่ามีคนคิด ไอเดียมันฆ่าไม่ตาย มันสั่งห้ามคนคิดไม่ได้ ที่ผ่านมาก็ใช้ยุบพรรคเป็นหลัก ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ใช้กับประชาชนและการปราศรัย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net