กลุ่มอนุรักษ์ฯ จ.หนองบัวลำภู ยื่นหนังสือต่อนายอำเภอให้แจงข้อสงสัยโม่หินผิดกม. จี้ยกคำขอต่ออายุเหมือง

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนผาจันไดฯ รุดยื่นหนังสือต่อนายอำเภอ ขอให้ชี้แจงข้อสงสัยโม่หินผิดกฎหมายและต้องคืนคำขอต่ออายุทำเหมืองทั้งหมดของบริษัทธ.ศิลาสิทธิ จำกัด พร้อมส่งหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

23 ก.ย. 2563 เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา เวลา 15.40 น. ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ประมาณ 8 คน ได้เข้ายื่นหนังสือ ต่อจรูญ วิริยะสังวร นายอำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ณ ที่ว่าการอำเภอสุวรรณคูหา จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย ฉบับที่ 1 หนังสือขอให้ชี้แจงข้อสงสัยกรณี บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด และ/หรือ ธีรสิทธิ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ ดำเนินการแต่งแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ฉบับที่ 2 หนังสือขอให้คืนคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองแร่ของธีรสิทธิ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ ฉบับที่ 3 หนังสือขอให้คืนคำขอต่ออายุประทานบัตรที่ 27221/15393 ของธีรสิทธิ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ และฉบับที่ 4 หนังสือขอให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เล่มที่ 70 ฉบับที่ 16 เนื้อที่ 50 ไร่ ของธีรสิทธิ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ และ/หรือ บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด  

แต่เนื่องจากจรูญ วิริยะสังวร นายอำเภอสุวรรณคูหา ติดประชุมที่จังหวัดหนองบัวลำภู ชาวบ้านจึงได้เชิญศรายุทธ นามวิจิตร ปลัดอำเภอสุวรรณคูหา เป็นตัวแทนรับหนังสือจากชาวบ้าน จำนวน 4 ฉบับ

โดยตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ทำการอ่านเนื้อหาในหนังสือฉบับที่ 1 ต่อศรายุทธ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า เนื่องจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ตั้งข้อสังเกตจากรายงานผลการปฏิบัติตามมาตราการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม เดือนมกราคม - มิถุนายน 62 พบว่ารายงานฉบับนี้ ยังมีการระบุว่ายังไม่มีการโม่บดและย่อยหินในพื้นที่โรงโม่ และชาวบ้านในพื้นที่พบว่ามีการนำเครื่องโม่หินเข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ.2562 และเริ่มดำเนินการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ในรายงานดังกล่าวกลับไม่มีรายงานที่เกี่ยวข้องกับการโม่หิน อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนและขอข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่และโรงโม่หิน ก็ไม่มีหน่วยงานใดให้ข้อมูลต่อกลุ่มอนุรักษ์ฯ ว่าบริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตแต่งแร่แต่อย่างใด จึงขอให้รีบดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงโดยเร็ว

ส่วนเนื้อหาหนังสือฉบับที่ 2 มีใจความสำคัญว่า กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ทราบข้อมูลว่าธีรสิทธิ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ ได้มีการยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 63 และมีการเซ็นต์รับคำขอในวันเดียวกัน ซึ่งการยื่นคำขอดังกล่าวต้องทำตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่ระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2548 ต้องมีเอกสารหลักฐานประกอบคำขอต่ออายุครบถ้วนสมบูรณ์ก่อน จึงจะสามารถรับจดทะเบียนคำขอต่ออายุได้ แต่ในวันที่มีการยื่นคำขอและรับจดทะเบียนคำขอนั้น ไม่ปรากฏว่าองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟเคยมีมติเห็นชอบในการต่ออายุดังกล่าวแต่อย่างใด มีเพียงการมีมติที่ถูกเพิกถอนไปในภายหลังเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 63 เท่านั้น ดังนั้นการยื่นคำขอและรับจดทะเบียนคำขอดังกล่าวเป็นการยื่นหลักฐานที่ไม่ครบถ้วนตามระเบียบ และเป็นการรับจดทะเบียนไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการคืนคำขอดังกล่าว

เนื้อหาหนังสือฉบับที่ 3 มีใจความสำคัญว่า กลุ่มอนุรักษ์ฯ ทราบข้อมูลว่าธีรสิทธิ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ ได้มีการยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตรที่ 27221/15393 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 63 ซึ่งเป็นการยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตรที่ไม่เป็นไปตามระเบียบเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยืนคำขอต่ออายุประทานบัตรและการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตร พ.ศ.2561 และตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 จึงควรยกคำขอดังกล่าว

และเนื้อหาหนังสือฉบับที่ 4 มีใจความสำคัญว่า หลังจากที่มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพบความผิดปกติและข้อสงสัยเกี่ยวกับการรังวัดปักหมุดและกำหนดเขตประทานบัตร ในวันที่ 15 กันยายน 63 ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบค่าพิกัด และสถานที่วางหมุดต่าง ๆ อย่างชัดเจน และเมื่อไปตรวจบริเวณหมุดที่ 6 ซึ่งเป็นหมุดร่วมกันระหว่างหมุดประทานบัตร (หมุดที่ 6) และหมุดโรงโม่ (หมุดที่ 1) พบว่า การปลูกสร้างสิ่งก่อสร้าง รวมไปถึงมีการสร้างถนนเกินออกมาจากแนวเขตที่ทางบริษัทฯ ขอใช้พื้นที่ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนฯ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขแนบท้ายหนังสืออนุญาต และเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2509 มาตรา 14 ดังนั้นจึงขอให้ดำเนินการตามมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ เพื่อเอาผิดกับผู้กระทำความผิด พร้อมทั้งมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปส.23 เล่มที่ 70 ฉบับที่ 06 ลงวันที่ 11 เมษายน 2557

ทั้งนี้หลังจากที่ศรายุทธรับหนังสือจากชาวบ้านก็ให้เจ้าหน้าที่นำหนังสือทั้ง 4 ฉบับไปลงเลขรับไว้ และไม่มีการกล่าวสิ่งใดกับชาวบ้าน ซึ่งตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ได้กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากยื่นหนังสือเสร็จ ว่า

“การยื่นหนังสือในครั้งนี้ หน่วยงานรัฐก็ยังคงเพิกเฉยเหมือนเดิม ไม่มีการพูดจาหรือให้คำตอบใด ๆ เลยว่าจะดำเนินการต่ออย่างไรบ้าง จึงไม่แน่ใจว่าเรื่องที่พวกเรายื่นไปจะดำเนินการตามที่ร้องขอหรือไม่" 

แต่อย่างไรก็ตามในวันนี้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ไม่ได้ยื่นหนังสือต่อนายอำเภอสุวรรณคูหาเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองและโรงโม่หิน ทั้งหมดด้วย โดยได้เน้นย้ำว่า การเพิกเฉยต่อการตรวจสอบการดำเนินโครงการเหมืองแร่และโรงโม่หินในพื้นที่ และเพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหาของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ย่อมหมายถึงการผลักให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงในพื้นที่อย่างโดดเดี่ยว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท