"หยุดกอดอดีต ปล่อยอนาคตให้ลูกหลาน" 'พิธา' อภิปรายญัตติแก้รธน. 40 ปีที่ไทยย่ำอยู่กับที่

'พิธา' หัวหน้าพรรคก้าวไกลอภิปรายในสภาเทียบ รธน.ปี 21 และปี 60 ชี้ 40 ปีผ่านมาประเทศยังอยู่กับที่ ย้ำอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน ระบุพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจยับยั้งร่างรธน. เสี่ยงกระเทือนระบอบปชต.อันมีพระมหากษัติย์เป็นประมุข

23 ก.ย. 2563 วันนี้ ที่รัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 

 

เทียบ รธน.ปี 21 และปี 60 ชี้ 40 ปีผ่านมาประเทศยังอยู่กับที่

พิธากล่าวว่า "ในฐานะสมาชิกรัฐสภา พวกเรามาร่วมประชุมกัน ที่รัฐสภาแห่งนี้ ในช่วงเวลา “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิการเมืองที่ร้อนระอุจากความไม่ชอบธรรมและความล้มเหลวของ “ระบอบประยุทธ์” หรือจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงชีวิตของพวกเรา หรือจะเป็นกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง (Disruption) อย่าง “เร็วและแรง” ในทุกมิติจนเราอาจไม่มีที่ยืน หากก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

ไม่มีเวลาไหนมากไปกว่าตอนนี้อีกแล้วในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่เราต้องการระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และยึดโยงกับประชาชน สะท้อนหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

ซึ่งนั่นทำให้การอภิปรายญัตติ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวันนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนี่เป็นการอภิปรายที่ประชาชนจับตามองมากที่สุดครั้งหนึ่ง การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ย่อมส่งผลต่ออนาคตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน เพราะถ้าการเมืองยังเหมือนเดิม จะเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่ขวางอนาคตของประเทศเอาไว้ ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ไม่ให้พัฒนา

สาระสำคัญของการอภิปรายในวันนี้ ก็คือว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขนั้น ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นเครื่องมือกลไกการสืบทอดอำนาจของ คสช. แต่ยังเป็นกลไกที่ ยื้อรั้ง ฉุดกระชากลากทูประเทศไทยกลับไปสู่อดีต เป็นการทวนเข็มนาฬิกา ย้อนยุคประเทศไทยให้ล้าหลัง

รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่ให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง เลือกนายกฯได้ คือ รัฐธรรมนูญปีไหนคำตอบก็คือ รัฐธรรมนูญปี 2521 ผ่านมาแล้วกว่า 40 ปี

"ตัวผมเองปีนี้อายุ 40 ครับ เกิดปี 2523 ผมเกิดในยุคที่เราเรียกกันว่า “ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ” ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2521 อันเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มีการใช้กำลังปราบนักศึกษา นำมาสู่การยึดอำนาจของทหาร" พิธากล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุว่า หลัง 6 ตุลา มีการประกาศ “แผนพัฒนาประชาธิปไตย” 12 ปี โดย 4 ปีแรกให้ “สภาปฏิรูป” ที่มาจากการแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แต่สุดท้ายก็เกิด “รัฐประหารซ้ำ” อีก และประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ใน ปี 2521

รัฐธรรมนูญ 2521 ให้อำนาจ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเลือกนายรัฐมนตรีได้ในช่วง 4 ปีแรก โดยมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แกนนำคณะรัฐประหาร เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

รัฐธรรมนูญ 2521 ไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เท่ากับเปิดทางให้มีนายกคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้

พอถึงปีที่ตนเกิด ส.ว. ที่ถูกแต่งตั้งมา ก็หันไปสนับสนุน พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกแทน

หลังจากนั้นไม่ว่าผมจะอยู่ ป.1 ป.2 ป.3 ป.4 หรือ ป.5 ประเทศไทยก็ยังมีนายกชื่อ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ 

"ผ่านมา 40 ปี ลูกสาวผมเกิดมาในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 มีหัวหน้าคณะรัฐประหารชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนี้เธออายุ 4 ขวบแล้ว เรายังมีแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีในรัฐธรรมนูญจากคณะรัฐประหารอยู่อีก เรายังให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง เลือกนายกรัฐมนตรี เรายังมีรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ปี 62 สว ที่มาจากการแต่งตั้ง ก็เลือก พล.อ ประยุทธ จันท์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น ไม่ว่าลูกสาวผมจะอายุ 2 ขวบ 3 ขวบ 4 ขวบ หรือ 5 ขวบ ก็ยังมีนายกฯชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

นี้คือความเหมือนที่ไม่บังเอิญของรัฐธรรมนูญปี 21 กับ 60 ผ่านไป 40 ปี ก็ยังใช้วิธีเดิมๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือนวัตกรรมทางการเมืองเพื่อการผูกขาดอำนาจแบบใหม่ โดยใช้องค์กรอิสระที่ไม่อิสระจริง ทำลายศัตรูทางการเมือง จนวันนี้องค์กรที่ตั้งมาเพื่อหวังให้เป็นกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล กลับลุแก้อำนาจ ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลเสียเอง

40ปี ผ่านไปจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ประเทศไทยยังไม่ไปไหน วนเวียนอยู่กับที่ เหมือนม้าหมุน แค่เปลี่ยน จาก “ประชาธิปไตยครึ่งเดียว” ในรุ่นพ่อ กลายเป็น “ประชาธิปไตยสลึงเดียว” ในรุ่นลูก 

การทวนเข็มนาฬิกาการเมืองไทยแบบนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ2560 เมื่อ40 ปีก่อน ท่านก็ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 2521

สิ่งที่น่าเศร้าใจสำหรับสังคมไทย จึงกลายเป็นว่า สิ่งที่เราพูดคุย ถกเถียงกันในวันนี้ มันไม่ก้าวหน้าไปไหนเลยจาก 30 40 ปีที่แล้ว

รัฐธรรมนูญ 2560 ในแง่หนึ่งจึงไม่ใช่แค่การสืบทอดอำนาจของ คสช. แต่มันคือความพยายามที่จะพาสังคมไทยกลับไปสู่อดีต เพื่อกดทับให้ “อำนาจที่มาจากประชาชน” อยู่ใต้ “อำนาจชั้นฟ้า” ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนตลอดไป ทั้งๆ ที่เราต้องเสียเลือดเสียเนื้อกันไปไม่รู้เท่าไร นั่นเท่ากับว่า ผู้มีอำนาจในประเทศไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากชีวิตของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในหลายสิบปีที่ผ่านมา" พิธากล่าว

 

ย้ำอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน

พิธายังระบุว่า จนถึงจุดนี้ ตนยังมีความหวังว่าการที่มาอภิปรายกันในวันนี้ จะทำให้สังคมเราไม่เหมือนเดิมอย่างทุกๆครั้งที่ผ่านมา ให้ผลลัพธ์มันออกมาไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

"เรายังมีโอกาสอันริบหรี่ในสังคมไทย ที่เกิดขึ้นได้จากพลังอานุภาพของประชาชนที่อยู่นอกสภา เราไม่สามารถที่จะปล่อยให้โอกาสที่จะพาประเทศไทยออกจากหลุมดำทางการเมือง ถูกปล้นไปได้ต่อหน้า ต่อตา ผมจึงขอวิงวอนเพื่อนสมาชิกไม่ว่าจะเป็น สส หรือ สว ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ช่วยกันทำให้โอกาสนี้ไม่สูญเปล่า ช่วยกันถอนฟืนออกจากกองไฟ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะถอนฟืนออกจากกองไฟนั้น ต้องโอบอุ้มความฝันของคนทุกกลุ่มทุกประเภท ด้วยเหตุนี้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องเป็นตัวแทนกลุ่มทางสังคมหรือตัวแทนทางอุดมการณ์ที่หลากหลาย มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนไม่ใช่ให้ สสร เป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจของการสืบทอดอำนาจอีกทีนึง อย่างที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเปิดให้มี สสร. จากการแต่งตั้งอีก ไม่ว่าจะมาจากรัฐสภาภายใต้ระบอบประยุทธ์ 20 คน จากการเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดีภายใต้ระบอบประยุทธ์ 20 คน และมาจากนักเรียนนักศึกษาที่ กกต. ภายใต้ระบอบประยุทธ์คัดสรรมาให้อีก 10 คน

เช่นนี้จะทำให้ ส.ส.ร. ที่ควรจะยึดโยงกับประชาชน กลายเป็นยึดโยงกับระบอบประยุทธ์ ปล้นเจตนารมย์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปโดยสิ้นเชิง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะถอนฟืนออกจากกองไฟนั้น สำคัญคือการออกแบบรัฐธรรมนูญต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีข้อจำกัด ไม่จำกัดความฝันของประชาชนกลุ่มใด ดังนั้น การห้ามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ จะไม่ช่วยให้ข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อย่างแท้จริง ได้ถูกพูดถึงด้วยเหตุและผลอย่างมีวุฒิภาวะ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมั่งคง สถาพร

มีคนบางกลุ่มพยายามปลุกปั่นทำให้การเรียกร้องของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนกลายเป็น “ปีศาจ” ของสังคมไทย ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ความฝันของพวกเขาเป็นสิ่งที่ธรรมดาสามัญมาก พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าระบอบการเมืองที่ “คนเท่ากัน” ทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย เป็นนิติรัฐ ใครก็ตามที่ใช้อำนาจสาธารณะย่อมต้องถูกตรวจสอบได้ ใครทำผิดต้องรับผิด 

พวกเขาฝันถึงสังคมที่จะไม่มีการรัฐประหารอีก อยากเห็นข้าราชการ ตุลาการ และสถาบันพระมหากษัตริย์ร่วมมือกับประชาชนไม่รับรองการรัฐประหารอีก สถาบันที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติต้องปลอดพ้นจากการเมือง

จะสวยงามเพียงใด หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพวกเรา เริ่มต้นด้วยมาตรา 1 อย่างเรียบง่ายว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะถอนฟื้นออกจากกองไฟนั้น ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขเวลา มีความจริงใจ ไม่ใช่การ ยื้อเวลา การประวิงเวลาให้ “ระบอบประยุทธ์” อยู่ในอำนาจต่อไป และลำพังเพียง การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. คงจะไม่พอที่จะลดอุณหภูมิการเมืองได้

ดังนั้น สำหรับสถานการณ์เฉพาะหน้า ที่เร่งด่วนที่สุด เราต้องพิจารณาใจกลางของปัญหาความขัดแย้งของการเมืองไทย นั่นก็ คือ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ที่มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ระบบเลือกตั้งที่ไม่สะท้อนเจตจำนงค์ของประชาชน ทำให้เกิดรัฐบาลอ่อนแอไร้ประสิทธิภาพ องค์กรอิสระที่ถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจปัจจุบัน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะถอนฟื้นออกจากกองไฟนั้น ต้องถูกกำหนดโดยประชาชนด้วยการเห็นชอบผ่านประชามติ ไม่ใช่การเห็นชอบโดยรัฐสภาภายใต้ “ระบอบประยุทธ์” ตามญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล" พิธากล่าว

 

พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจยับยั้งร่างรธน. 

พิธายังกล่าวว่า "นอกจากนี้การบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติของประชาชนได้ ก็เป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะการเอาพระราชอำนาจมาปะทะกับอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนอาจกระเทือนต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

หยุดกอดอดีต ปล่อยอนาคตให้ลูกหลาน

พิธากล่าวต่อว่า "ประเทศไทยเราเสียเวลากับอดีตมามากเกินไปแล้ว อนาคตของประชาชน คนรุ่นใหม่ ถูก ชนชั้นนำ คนรุ่นเก่า เพียงไม่กี่กลุ่มปล้นไปต่อหน้าต่อตา นั้นคือ สาเหตุที่พวกเขาต้องออกมาทวงคืนอนาคตของเขาคืน

ตอนนี้ประชาชนหมดศรัทธากับรัฐสภา นี่เป็นโอกาสที่เราจะสร้างศรัทธาให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นตัวพวกเราอีกครั้ง เราต้องเป็นความหวังให้ประเทศไทย เราต้องหาทางออกให้กับความขัดแย้งความรุนแรง และสร้างอนาคตให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้

การแก้รัฐธรรมนูญคือทางออกก็จริง แต่ต้องไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญแบบขอไปที แก้เพื่อให้ผู้มีอำนาจอยู่รอดเท่านั้น

หากเราเลือกที่จะแก้แบบที่รัฐบาลเสนอ สังคมไทยที่แบ่งขั้วขัดแย้งรุนแรงมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ ความขัดแย้งจะยังทอดยาวออกไป การปะทะทางความคิดอย่างรุนแรงจากกลุ่มคนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง และกลุ่มคนที่ไม่พร้อมและไม่อยากจะเปลี่ยนแปลง จะถึงทางตัน ไร้ทางออก ดังนั้นหากเราไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ อนาคตอาจจบด้วยการปะทะกันอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเห็นอีกแล้วในสังคมไทย อย่างน้อยก็ไม่ใช่พวกผม เราหลีกเลี่ยงมันได้ครับ

สุดท้ายนี้ ผมจึงขออ้อนวอนสมาชิกรัฐสภาทุกท่านโดนเฉพาะฝ่ายรัฐบาล และ สมาชิกวุฒิสภา ขอท่านอย่าได้ทำตามคำสั่งของ “ระบอบประยุทธ์” ถึงเวลาแล้วที่ท่านต้องอยู่ฝั่งเดียวกับประชาชน เพื่อนร่วมชาติของท่าน ลูกหลานของท่าน

หยุดกอดอดีตเอาไว้เถิดครับ แล้วปล่อยประเทศไทยไปสู่อนาคตเสียที ขอบคุณครับ" พิธากล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท