กรีนพีซระบุนโยบายพลังงานไทยไม่เอื้อการจ้างงาน-ลงทุนใหม่ด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด

กรีนพีซระบุ นโยบายพลังงานของประเทศเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนใหม่ด้านพลังงานหมุนเวียน การประมูลและโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน กลไกการกำหนดราคาและโควต้าไม่สอดคล้องกันและไม่โปร่งใส อีกทั้งโรงไฟฟ้าหลักไทยล้นเกินความจำเป็น เพราะระบบพลังงานเริ่มกระจายศูนย์และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

23 กันยายน 2563 รายงานการประเมินภาคพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Power Sector Scorecard report)[1] ที่จัดทำโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ให้เห็นว่านโยบายพลังงานของไทยยังคงล้มเหลวในการพัฒนาศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ในขณะที่การปรับนโยบายพลังงาน ทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนจากต่างประเทศ การจ้างงาน การผลิตและลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤตโควิด-19 

จริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า

“ยังคงมีมายาคติที่ว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นส่วนเสริมการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทยมีทั้งการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียนไปพร้อมๆ กัน แต่เมื่อพิจารณาถึงแผนงบประมาณ เราจะพบความจริงว่าเม็ดเงินไปที่ไหน กลลวงนี้ต้องหยุดลง เริ่มต้นใหม่จากแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด โดยการกระตุ้นการลงทุนระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ดังที่เวียดนามแสดงให้เห็นว่าทำให้เกิดการจ้างงาน”

การประเมินภาคพลังงานนี้ใช้ภาพฉายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ-อากาศ (the International Panel on Climate Change’s (IPCC) 1.5 degrees pathway) มาเปรียบเทียบแผนการพลังงานหมุนเวียนตามสถานการณ์ที่ดำเนินไปตามปกติกับแผนการพลังงานงานหมุนเวียนภายใต้สถานการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา โดยใช้ตัวชี้วัดในเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การถอนการลงทุนเชื้อเพลิงฟอสซิล การพัฒนาตลาดพลังงานแสงอาทิตย์และลม นโยบายสนับสนุนต่างๆ และการจัดการราคาพลังงาน

เวียดนามมีความคืบหน้ามากที่สุดในเรื่องการออกแบบและพัฒนาตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม มาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in-Tariffs : FiT) ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 134 เมกะวัตต์ในปี 2561 เป็น 5,500 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี 2562 การลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในเวียดนามโดยมีบางโครงการสรุปจบได้ในปี 2562 นั้นไม่มีต้นทุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นที่ส่งกระทบกับหลายประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถสร้างงานได้มากกว่าถ่านหินถึงสามเท่าตลอดห่วงโซ่ของการสร้างมูลค่า(Value chain)

การวิเคราะห์ตลาดพลังงานของไทยพบว่า จริงๆ แล้วนโยบายพลังงานของประเทศเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนใหม่ด้านพลังงานหมุนเวียนย้อนหลังไปในช่วงปี 2558 และ 2559 เมื่อนโยบายของภาครัฐปิดกั้นโครงการโซล่าร์ฟาร์มและฟาร์มกังหันลมผลิตไฟฟ้าให้เชื่อมต่อกับระบบสายส่ง การเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างทันทีทันใดได้ลดแรงจูงใจของนักพัฒนาโครงการและนักลงทุน ทำให้ตลาดพลังงานของไทยไม่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศได้ ในขณะที่ มีการสนับสนุนเชิงนโยบายพลังงานหมุนเวียนรวมถึงมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การประมูลและโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน กลไกการกำหนดราคาและโควต้าก็ไม่สอดคล้องกันและไม่โปร่งใส

ระบบไฟฟ้าหลักที่ผลิตอย่างต่อเนื่อง(Baseload) คือหนึ่งในมายาคติที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการลงทุนด้านถ่านหินและก๊าซธรรมชาติอย่างเป็นระบบ แต่การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าหลักของไทยล้นเกินความจำเป็น เนื่องจากระบบพลังงานเริ่มกระจายศูนย์และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

“ประเทศไทยมีเป้าหมายที่สูงในระยะยาว แต่ไม่มีขั้นตอนในระยะสั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราจำเป็นต้องเพิ่มเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนโดยให้มีสัดส่วนร้อยละ 50 ภายในปี 2573 ดังตัวอย่างของเวียดนามที่ได้ทำลายมายาคติที่มีมาอย่างยาวนานในเรื่องของการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์และการสร้างผลกําไรจากการปล่อยสินเชื่อแก่โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้ก็เป็นปี 2563 แล้ว เราไม่ควรมีข้ออ้างอีกต่อไปว่าไม่มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือไม่มีนโยบายสนับสนุนอื่นๆ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์และลม” จริยากล่าวสรุป

 

หมายเหตุ

[1] รายงานการประเมินภาคพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Power Sector Scorecard report) ดูได้ที่นี่ 

[2] บทคัดย่อรายงานการประเมินภาคพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูได้ที่นี่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท