รมว.ดิจิทัล เตรียมแจ้งเอาผิดมือโพสต์หมิ่นสถาบันฯ ช่วงชุมนุม 19 ก.ย.

กระทรวงดิจิทัลฯ เตรียมแจ้งความกับ ปอท. พบ 10 ราย โพสต์หมิ่นสถาบันฯ ผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ระหว่างการชุมนุม 19 ก.ย.

23 ก.ย.2563 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ ประกาศเตือนเรื่องการชุมนุมทางการเมืองว่าเป็นสิทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ขอความระมัดระวังในการ ใช้ Social Media โพสต์ข้อความต่างๆ อย่าทำผิดกฎหมายหรือพาดพิงสถาบันหลักของประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ระบุว่า จากการติดตามเนื้อหาการโพสต์ข้อความทางออนไลน์ในช่วงการชุมชนุมทางการเมืองในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างใกล้ชิด พบว่ามีการกระทำความผิดนำเข้าข้อความที่ผิดกฎหมาย 10 ราย จึงจะให้ฝ่ายกฎหมายไปแจ้งความต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อดำเนินคดี หรือปอท.เพื่อเอาผิดกับผู้นำเข้าข้อความที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ที่มีจำนวนผู้กระทำผิดไม่มากเป็นเพราะกระทรวงฯต้องการให้ทีการดำเนินคดีกับบุคคลแรกที่เป็นผู้นำเข้าข้อมูลเท่านั้น

รายงานข่าวระบุด้วยว่า พรุ่งนี้ (วันที่ 24 กันยายน 2563) เวลา 11.00 น. รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯและทีมทนายความ จะดำเนินการ ฟ้องเอาผิดแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่ไม่ดำเนินการปิดตามคำสั่งศาล และ แจ้งความดำเนินคดี ผู้ใช้ Social Media จำนวน 10 ราย ที่กระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการชุมนุมทางการ เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.ที่ผ่านมา ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ศูนย์ราชการ. แจ้งวัฒนะ

“ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ กระทรวงต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกระทรวงคิดว่า ปอท. คงเป็นผู้ประสานคณะกรรมการไกล่เกลี่ยเข้าดูแลว่าแต่ละกรณีที่ยังไม่ปิดเป็นเพราะอะไร” พุทธิพงษ์ กล่าว

รมว.กระทรวงดีอีเอส ระบุด้วยว่า กระทรวงกำลังจะดำเนินการส่งคำสั่งศาลปิดเว็บไม่เหมาะสมรอบที่ 3 อีก 3,097 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก จำนวน 1,748 ยูอาร์แอล ยูทูป จำนวน 607 ยูอาร์แอล ทวิตเตอร์ 261 ยูอาร์แอล และรายการอื่นๆ อีก 481 ยูอาร์แอล (หมิ่นสถาบัน ลามก การพนัน ยาเสพติด และการละเมิดลิขสิทธิ์) ซึ่งเจ้าของแพลตฟอร์มต้องดำเนินการปิดภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก ประเทศไทยได้อุทธรณ์คำสั่งศาล กรณีที่มีคำสั่งให้ปิดกั้นเว็บไซต์หรือเพจที่ผิดกฎหมาย รอบแรกที่เฟซบุ๊กปิดกั้นหมดแล้ว โดยกระทรวงดีอีเอสได้รับการแจ้งจากศาลให้ไปชี้แจงกรณีที่มีการอุทธรณ์คำสั่งศาล จำนวน 17 คดี ในเดือน ต.ค.นี้ จึงได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงดีอีเอส เตรียมการเพื่อชี้แจงเหตุผลที่ต้องขอคำสั่งศาลในการปิดกั้นเว็บไซต์หรือเพจที่ผิดกฎหมายดังกล่าวแล้ว

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ และไทยพีบีเอส  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท