ทำร้าย ตัดเงิน ไล่ออกจากบ้าน สิ่งที่นักเรียนต้องเจอเมื่อเคลื่อนไหวการเมือง

หลังการชุมนุม “หนูรู้หนูมันเลว” เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2563 ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มนักเรียนและองค์กรแนวร่วมนักเรียนอีก 48 องค์กร สมาชิกในกลุ่มถูกครอบครัวกดดันอย่างมากบางคนถูกตี ตัดเงิน ขู่ไม่ให้ค่าเทอม จนถึงกับถูกไล่ออกจากบ้าน ขณะที่ 'ครูจุ๊ย' ย้ำ 'บ้าน' ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก การทำให้เด็กไม่มีตัวตนในบ้านเป็นเรื่องเจ็บปวด แนะแม้ยังไม่พร้อมเปิดใจก็ควรรับฟังไว้ก่อน

เมื่อ 16 ก.ย.2563 หลังจากทวิตเตอร์ “นักเรียนเลว” แจ้งว่ามีนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม “หนูรู้หนูมันเลว” เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2563  ก็มีแรงกดดันจากครอบครัวให้ยุติกิจกรรม 

23 ก.ย.2563 ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ บุ้ง สมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว เธอให้ข้อมูลว่าหลังจากจบม็อบก็มีนักเรียนที่มาจากองค์กรแนวร่วมที่ขึ้นเวทีถูกคุกคามจากครูในโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ มีการขู่ว่าจะให้ออกจากโรงเรียน แล้วก็มีการกดดันจากที่บ้านด้วย 

 

บุ้งยังบอกอีกว่า นอกจากนักเรียนในองค์กรเครือข่ายจะมีการคุกคามในสถานศึกษาแล้วก็ยังมีนักเรียนที่ถูกคุกคามทางเพศในสื่อสังคมออนไลน์ด้วยได้รับผลกระทบทางจิตใจมาก ซึ่งก็พยายามติดต่อหานักจิตวิทยาเด็กให้เธอก็ได้รับคำตอบจากน้องว่ายังไหวไม่เป็นไร ทั้งที่เธอเห็นว่าจริงๆ แล้วเขาแค่ทำเป็นแข็งแรงแต่พอพูดเรื่องนี้ขึ้นมาก็ร้องไห้

บุ้งเล่าถึงสถานการณ์ของกลุ่มนักเรียนเลวว่าตอนนี้ถูกกดดันและคุกคามจากครอบครัวค่อนข้างหนักมีแล้วอย่างน้อย 4 คน ทั้งการทำร้ายร่างกาย เช่น การตี และยังมีคนที่ถูกไล่ออกจากบ้านมาแล้วมีอยู่ 2-3 คน และยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกทางครอบครัวขู่ว่าจะไล่ออกจากบ้านอีก บางคนก็ถูกตัดเงินเดือนสำหรับเป็นค่าใช้จ่าย และบางคนก็ถูกขู่อีกว่าถ้ายังไปร่วมกิจกรรมกับนักเรียนเลวอีกก็จะไม่ให้ค่าเทอมด้วย

“ถ้าถามเด็กๆ เขาก็จะบอกว่าเขาถูกทำแค่นี้แหละ ไม่ได้ถึงขนาดเอาเข้าโรงพยาบาล แต่บุ้งก็เห็นว่าไม่โอเค” 

บุ้งบอกว่าทางกลุ่มนักเรียนเลวมีข้อมูลนักเรียนที่ถูกคุกคามและกดดันจากครอบครัวรวมแล้วกว่า 20 คน ทั้งจากองค์กรแนวร่วมและสมาชิกของนักเรียนเลวเอง 

บุ้งบอกอีกว่าตอนนี้นักเรียนก็พยายามช่วยเหลือกันเองอยู่ เช่น ต้องนำเงินบริจาคมาต่อยอดหารายได้เพื่อมาช่วยเพื่อนๆ ในองค์กรแนวร่วมและสมาชิกนักเรียนเลวเอง ส่วนคนที่ถูกไล่ออกจากบ้านตอนนี้เพื่อนๆ ในนักเรียนเลวคนไหนที่มีที่พักอาศัยให้ความช่วยเหลือได้ก็ให้เพื่อนที่ถูกไล่ออกจากบ้านไปอยู่ก่อน 

เธอบอกว่านักเรียนเลวก็จะยังเคลื่อนไหวต่อไปแล้วก็หาทางสนับสนุนกันไป

“ส่วนตัวแล้วคิดว่าครอบครัวหรือสถานศึกษาควรจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ ไม่ควรจะทำให้เขารู้สึกว่า สร้างปมอะไรในใจหรือสร้างบาดแผลอะไรในใจให้กับเด็กๆ ควรจะสนับสนุนเด็กๆ สถานที่ควรจะต้องปลอดภัยที่สุดมาทำร้ายเขาแบบนี้ทำให้เด็กคนหนึ่งเสียสูญไปเลย ถ้าเขาตัวคนเดียวเด็กๆ ก็อาจจะแย่ไปแล้ว แต่ยังมีเพื่อนๆ และหลายๆ คน คอยให้กำลังใจเขาก็ฟื้นขึ้นมาได้ เด็กบางคนก็เป็นซึมเศร้าด้วย ก็ไม่ได้เอานี้มาเป็นข้ออ้าง แค่อยากบอกครอบครัวอยากบอกสังคมว่ามันควรเคารพกันนะแค่ความคิดเห็นต่างทางการเมือง แต่อย่างน้อยเขาก็คือลูกของคุณ” บุ้งกล่าว

นักเรียนเลวมีกิจกรรมแล้วหลายครั้งโดยมุ่งเป้าไปที่ประเด็นระบบการศึกษาและกฎระเบียบที่ทั้งจำกัดและละเมิดสิทธิในโรงเรียนทั้งเรื่องทรงผมและเครื่องแบบ ซึ่งรวมไปถึงการคุกคามทางเพศและการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็น LGBTQ+ จากครูในโรงเรียนอีกด้วย 

ศูนย์ทนายสิทธิฯ เปิดข้อมูล 3 วัน พุ่ง 103 กรณี นร. ถูกคุกคามจากการแสดงออกทางการเมือง

ข่าวปรากฏการณ์คุกคามรูปแบบต่างๆ ที่สืบเนื่องจากการออกมาทำกิจกรรมครั้งแรกๆ เกิดขึ้นภายหลังการชุมนุมที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการเมื่อ 17 ส.ค.และมีกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากนั้นตลอดสัปดาห์คือการผูกโบว์ขาวและชูสามนิ้วขณะเคารพธงชาติซึ่งยอดสถิติการคุกคามสูงถึง 103 กรณีภายใน 3 วัน แต่หลังการชุมนุมเมื่อ 5 ก.ย.2563 ก็ปรากฏกรณีที่มีแรงกดดันจากครอบครัวอีกด้วย

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือครูจุ๊ย กรรมการบริหารคณะก้าวหน้าและเป็นอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ให้สัมภาษณ์ว่าก็มีนักเรียนมาขอคำปรึกษาเหมือนกันเลยทำให้รู้ว่าปฏิกิริยาจากทางบ้านที่ให้การยอมรับไม่เท่ากัน บางบ้านเขาอยู่กันหลายรุ่นทั้งรุ่นพ่อแม่แล้วก็ยังมีรุ่นปู่ย่าตายายอยู่ด้วย เช่น พ่อแม่พอจะเข้าใจแต่รุ่นปู่ย่าตายยายไม่เข้าใจแล้วก็เกิดการปะทะกันอยู่ประมาณหนึ่งแม้ว่าคนรุ่นพ่อหรือแม่ไปพยายามคุยกับคนรุ่นปู่ย่าตายายแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมยังไม่เห็นด้วยก็เป็นแรงกดดันอยู่ในบ้าน แต่แรงกดดันอีกแบบหนึ่งคือเป็นคนรุ่นพ่อแม่ที่เห็นไม่ตรงกัน

กุลธิดาบอกว่าปัญหาปฏิกิริยาของคนระหว่างรุ่น ถึงแม้เด็กจะเข้าใจดีด้วยว่าทางฝั่งคนรุ่นปู่ย่าโตมาคนละแบบได้รับข่าวสารมาอีกแบบตัวเขาก็ยังรู้สึกกดดันอยู่ดี แต่เท่าที่เห็นเด็กก็พอจะจัดการได้ แต่พอเป็นปฏิกิริยาจากรุ่นพ่อแม่ที่ใกล้ตัวเข้ามาอีกแม้ว่าเขาจะยังไปเรียนได้หรือทำกิจกรรมได้แต่เชื่อว่าส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กไม่น้อย ดังนั้นก็อยากบอกเด็กๆ ว่าพ่อแม่รักเขาเพียงแต่พ่อแม่เองก็โตมาอีกแบบแล้วก็ไม่รู้วิธีที่จะแสดงออกถึงความรักที่อ่อนโยนและแสดงถึงความเข้าใจซึ่งอันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งในสังคมไทย 

กุลธิดาแนะนำว่าถ้าสื่อสารกันด้วยคำพูดไม่ได้ก็ลองเขียนจดหมายหรือสื่อสารกันด้วยวิธีอื่น หรือบางทีผู้ใหญ่ก็มีคำพูดว่า “ลูกเปลี่ยนไป” ซึ่งเด็กก็อาจจะต้องย้ำว่าเราไม่ได้เปลี่ยนไปก็ยังเป็นพ่อเป็นแม่กันเหมือนเดิมเพียงแต่ว่าเราแค่โตขึ้นเท่านั้นเองเรามีความคิดเป็นของตัวเอง แล้วถึงที่สุดเด็กๆ ไม่ได้ต้องการอะไรมากแค่อยากให้พ่อแม่รับฟัง แต่การลงโทษโดยตัดเงิน ไม่ให้อยู่คอนโดฯ หรือพ่อแม่เก็บค่าเช่าห้องค่าแอร์กับลูก ไม่ได้เป็นการพูดคุยกันด้วยสติอย่างมีเหตุผล แต่มีอารมณ์อยู่ในนั้นเยอะมาก ดังนั้นหลายครั้งถ้ายังมีอารมณ์กันอยู่ทั้งสองฝ่ายก็เลี่ยงที่จะคุยกันดีกว่าอย่าเพิ่งคุยกันตอนนั้น 

“มันเป็นความขัดแย้งในครอบครัวที่รุนแรงเหมือนกัน การกระทำไม่ได้รุนแรงเท่ากับผลกระทบทางจิตใจในความรู้สึกของเด็กว่าบ้านมันเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา อันนี้มันเป็นผลที่ก้อนใหญ่มากๆ” กุลธิดากล่าว

กุลธิดาบอกอีกว่า เด็กๆ กลุ่มนี้เขาต้องรับมือหลายทางทั้งกระแสสังคม โรงเรียนแล้วก็ที่บ้านด้วย การที่เขารวมตัวกันแล้วก็พยายามหาเงินมาสนับสนุนบริหารจัดการช่วยเหลือด้านกายภาพก็ทำไปแล้ว แต่เธอเคยขออาสาสมัครนักจิตวิทยาที่สนใจจะช่วยดูแลอยู่ มีคนที่ตั้งใจว่าถ้ามีปัญหาก็อยากให้น้องๆ มาลองเลือกโปรไฟล์นักจิตวิทยาแล้วลองคุยดู 

“แต่เบื้องต้นที่สุด ณ ตอนนี้ คือการที่เขามีคนที่ไว้ใจรับฟัง ถ้ายังไม่ได้เป็นระดับนักจิตวิทยาอย่างน้อยๆ เพื่อนๆ กันก็ต้องช่วยกันฟัง รับฟังกันแบบไม่ตัดสินฟังกันแบบแบ่งปันความทุกข์ซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นขั้นตอนก่อนที่จะมาเป็นนักจิตวิทยา เป็นการช่วยกันบรรเทาซึ่งกันและกัน ฟังแบบ Deep Listening ไม่ตัดสินกัน ยังไม่ต้องให้ทางออกใดๆ กับเพื่อนเลยก็ได้ เขามีอะไรให้เขาปล่อยออกมา” 

ส่วนกับทางครอบครัวของเด็กกุลธิดาบอกว่า การทำให้เด็กเป็นคนไม่มีตัวตนอยู่ในบ้านเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาเจ็บปวดที่สุด เธอแนะนำว่าเบื้องต้นปฏิบัติในความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกให้เหมือนปกติ เคยดูแลอย่างไรก็ทำแบบนั้น ส่วนเรื่องที่ลูกออกมาเคลื่อนไหวถ้ายังไม่พร้อมคุยก็อย่าเพิ่งคุยตอนนี้ก็ได้ แต่อย่างน้อยไปดูว่าเขาทำอะไร 

“จริงๆ เด็กๆ อยากให้พ่อแม่รู้ว่าเขาพูดอะไร อยากให้พ่อแม่ฟังว่าเขาพูดอะไร อยากให้พ่อแม่สนใจว่าเขากำลังทำในสิ่งที่สำหรับเขามันสำคัญมากคนที่เห็นความสำคัญและจะทำให้เขาใจฟูที่สุดคือที่บ้าน  น้องพยายามสื่อสารกับที่บ้านว่าหนูไปทำอันนี้มานะ ก็อย่าปัดทิ้งอย่างน้อยก็รับไว้อย่าปัดทิ้งไม่เอาไม่ดูไม่สนฉันไม่ดู ยังไม่เห็นด้วยก็รับไว้ก่อนยังไม่เปิดใจก็รับสิ่งที่ลูกให้ไว้ก่อน” กุลธิดาบอกว่าสิ่งนี้พ่อแม่ทำได้เบื้องต้น อย่าปฏิเสธลูก ก่อนที่ไปสู่ขั้นยอมรับฟังกันว่าเขาอยากทำอะไรสนใจอะไรหรือไปดูว่าที่เขาไปทำกิจกรรมเป็นอย่างไร ไปคุยกับเด็กคนอื่นแล้วก็จะพบว่าเขาเป็นเด็กวัยรุ่นที่มีความฝันที่อยากจะทำให้สังคมและอนาคตของเขาดีขึ้นเหมือนคนที่เป็นพ่อแม่ก็อาจจะลืมไปเคยเป็นแบบนั้นมาก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท