สภาเลื่อนลงมติร่างแก้ รธน. ตั้ง กมธ. ศึกษา ไปอีก 1 เดือน

สภาลงมติ 431 ต่อ 255 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไปอีก 1 เดือน ฝ่ายค้านและ ปชป. ไม่เห็นด้วย 'ก้าวไกล-เสรีรวมไทย-ประชาชาติ-เศรษฐกิจใหม่' ประกาศไม่ร่วม กมธ.

24 ก.ย.2563 หลังจากอภิปรายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตลอด 2 วัน ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐเสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ก่อนรับหลักการแล้วค่อยกลับมาลงมติในเดือนพฤศจิกายน แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยพร้อมอภิปรายคัดค้านนั้น

ภายหลังการอภิปราย ที่ประชุมจึงมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 45 คนขึ้นมาศึกษาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ เป็นเวลา 1 เดือน ก่อนลงมติด้วยคะแนนเสียง 431 ต่อ 255 เสียง งดออกเสียง 28 เสียงไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยเป็นสัดส่วนฝ่ายละ 15 คน

ทั้งนี้ก่อนลงมติมีการอภิปรายของสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ตามข้อบังคับทำได้ แต่พวกตนเข้าใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งใจจะให้สำเร็จ ดังนั้นทางใดที่จะสำเร็จก็ไม่ขัดข้องยอมแม้กระทั่งให้เลือกตามที่สะดวก แก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ชักช้าเกินไป แต่ตามข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อนลงมตินั้น เกรงว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ และจะยิ่งทำให้เกิดความล้มเหลว เพราะยังไม่เคยปรึกษาหารือกัน จึงถือว่าไม่มีข้อตกลงใดๆ ดังนั้น จึงเห็นว่าจะเป็นการเสียเวลา และไม่มีความจำเป็น และเสมือนตนถูกหลอก หากจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก็จะไม่ขอร่วม

เช่นเดียวกับ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าที่สมาชิกรัฐสภาอภิปรายมาตลอด 2 วัน ได้ข้อมูลเพียงพอแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อน และญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นความหวังที่จะเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทำให้นายวิรัชต้องขอพักการประชุม 15 นาที แต่ประธานให้เพียง 10 นาที เพราะหากต้องลงมติ เกรงว่าจะไม่ทัน 24.00 น. คืนนี้ ซึ่งปิดสมัยประชุมรัฐสภา

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า นี่คือการประชุมร่วมของรัฐสภา ซึ่งรัฐมนตรีไม่มีสิทธิลงคะแนน แล้วผมก็เห็นด้วยตาของผมเอง ว่ารัฐมนตรีบางท่าน ได้กดปุ่มลงคะแนน คำถามคือว่า นี่คือการลงคะแนนที่ชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 หรือไม่

รังสิมันต์ ประกาศ พรรคก้าวไกลไม่ร่วม กมธ. ขอให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัย โดยประธานรัฐสภา ตอบกลับว่า ผิดกฎหมายให้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเศรษฐกิจใหม่ ประกาศไม่ร่วม กมธ.

20.28 น. พรรคฝ่ายค้านวอล์กเอาท์จากที่ประชุมรัฐสภา ระหว่างการประกาศรายชื่อ กมธ. ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลเสนอใช้เวลา 30 วัน โดยผ่านการรับรองในที่ประชุม

ประธานรัฐสภาปิดประชุมสภาในเวลา 20.33 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ด้านนอกสภาตั้งแต่ช่วงเย็น กลุ่มประชาชนนำโดย คณะประชาชนปลดแอกจัดชุมนุม #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา เรียกร้องเรียกร้อง 1. ส.ว. จะต้องจับมือกับ ส.ส. เพื่อแก้ไข ม.256 เปิดทางให้ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงแก้ไขมาตราอื่น ๆ เพื่อลดอำนาจของส.ว. ลง 2. จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดการเลือกตั้ง สสร. และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ทุกหมวดทุกมาตรา” ซึ่งภายหลังปิดประชุม แกนนำพรรคก้าวไกลพาสมาชิกออกมาขอโทษ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แสดงความผิดหวัง ที่พยายาม หาทางอแกให้ประเทศ เอาฟืนออกจากองไฟ  เสียใจที่  ส.ว. ไม่รับไมตรีจิตและทำให้ต้องมาคุยกับพี่น้องตรงนี้  เสียใจที่ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ก้าวไกลจะไม่หมดหวัง ร่างของภาคประชาชนยังอยู่ เราจะอภิปรายอย่างเข้มแข็ง

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย วิทยุรัฐสภาและ @ThaiPBSNews

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท