Skip to main content
sharethis

คุยกับ ‘พระนพ’ (นามสมมติ) ภิกษุที่ขึ้นสาธยายธรรมในงานชุมนุม ‘19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร’ ถึงเหตุผลที่ตัดสินใจขึ้นสาธยายธรรมและผลกระทบที่ต้องเจอหลังจากนั้น รวมทั้งความเห็นที่ว่า กฎหมายที่ระบุว่าพระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวการเมืองก็เป็นการเมืองอย่างหนึ่ง


ภาพการสาธยายธรรมของคณะสงฆ์ในการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. 

25 ก.ย. 2563 ก่อนหน้านี้ประชาไทได้รับรายงานว่าหลังการขึ้นสาธยายธรรมของกลุ่มภิกษุในงานชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา หนึ่งในภิกษุกลุ่มนี้โดนวัดยื่นคำขาดให้ออกจากวัดหลังจำพรรษาเสร็จในวันที่ 2 ต.ค. ที่จะถึงนี้ โดยให้เหตุผลว่าทำผิดคำสั่งมหาเถรสมาคมปี 2538 ห้ามภิกษุยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และคำสั่งเจ้าคณะปกครองฉบับพิเศษปี 2560 ห้ามภิกษุยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือทำตัวกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และใช้อำนาจตามมาตรา 38 วรรค 2 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งระบุว่า ให้อำนาจเจ้าอาวาสสั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด 

ประชาไทติดต่อไปยัง ‘พระนพ’ (นามสมมติ) ภิกษุรูปดังกล่าวเพื่อขอให้เล่าถึงเหตุผลว่าทำไมจึงตัดสินใจขึ้นมาสาธยายธรรม และเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น

 

ความอยุติธรรมครอบงำบ้านเมือง

พระนพกล่าวว่าที่ตนตัดสินใจขึ้นสาธยายธรรมในวันที่ 19 นั้น เพราะตนในฐานะที่เป็นภิกษุและมีความเลื่อมใสในพระพุทธพจน์หรือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฎในพระไตรปิฎก เห็นว่าในคำสอนมีในแง่มุมที่สอดคล้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ คือเรื่องการรณรงค์ให้ประเทศไทยมีระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

“มันมีความรู้สึกหลายอย่างประกอบกัน อย่างแรกเลื่อมใสในพระพุทธพจน์ สองคือเราเห็นอยู่ว่าความอยุติธรรม ความไม่ถูกต้องชอบธรรมมันครอบงำบ้านเมืองเราอยู่ ระบบเจ้าพ่อ ระบบมาเฟีย เสียงของประชาชนไม่ได้รับการตอบสนองกับเจ้าหน้าที่รัฐ ในทางตรงกันข้ามเจ้าหน้าที่รัฐเสียเองที่เป็นฝ่ายไม่รักษากฎกติกา เป็นฝ่ายโกงประชาชนเสียเอง เป็นเหตุที่ทำให้อาตมานึกถึงพระสูตรเหล่านี้” พระนพกล่าว

 

พ.ร.บ.คณะสงฆ์โดยสภาเผด็จการ-พระไม่ควรยุ่งการเมืองก็เป็นการเมืองแบบหนึ่ง

ส่วนวาทกรรมที่อ้างว่า เป็นพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไปจนถึงกฎต่างๆ ของเถรสมาคมที่ออกมาบอกให้พระสงฆ์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง พระนพตอบว่า ประการแรกพระสูตรที่ปรากฎในพระไตรปิฎกซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นคนตรัสเอง ก็ยังพูดถึงการปกครองบ้านเมืองของฝ่ายฆราวาส ดังนั้นเป็นมายาคติมากที่บอกว่าศาสนาพุทธไม่พูดเรื่องการเมืองการปกครองของฝ่ายราชอาณาจักร

ประการที่สอง เมื่อดูบริบทของพระสงฆ์กับการเมืองไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไทยมีการรื้อการปกครองของสงฆ์สองครั้งใหญ่ ครั้งแรกมีการออกพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 และครั้งที่สองคือหลังจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ ก็มีการออกพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 หลังจากปี 2505 ก็มีการแก้อีกถึง 4 ครั้ง สมัย คสช. ซึ่งถือเป็นสภาเผด็จการ ก็มีการแก้พ.ร.บ.คณะสงฆ์ครั้งที่ 3 และ 4 ในปี 2560 และ 2561

“ตั้งแต่ปี 2475 เรื่อยมาจนถึงปี 2563 ฝ่ายบ้านเมืองมีการยกร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่รวมกันทั้งหมด 5 ครั้ง ฝ่ายรัฐสภา ซึ่งบางช่วงก็เป็นสภาเผด็จการ มีการเข้ามาปรับ เปลี่ยน รื้อ วิธีการปกครองคณะสงฆ์ไทยตลอดเวลา ผ่านการตราพ.ร.บ. ผ่านการแก้ไขพ.ร.บ.ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าการปกครองคณะสงฆ์ไทยไม่เกี่ยวกับการเมือง” พระนพระบุ

ประการที่สาม ก่อนปี 2475 ในรัชกาลที่ 1 ก็ทรงออกกฎเกี่ยวกับคณะสงฆ์ไว้ 10 ฉบับ และต่อมาในรัชกาลที่ 5 ก็มีการตราพ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 ขึ้นมาเป็นกิจจะลักษณะ

“ดังนั้นจะเห็นว่าฝ่ายปกครองบ้านเมืองเข้ามาควบคุม กำกับดูแล รวมทั้งมาแต่งตั้งว่าพระรูปใดควรเป็นผู้ปกครองสูงสุด พระรูปนี้ควรมีตำแหน่งนี้ อำนาจเท่านี้ ฝ่ายบ้านเมืองเป็นผู้กำหนดทั้งหมดตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว

“มีการออกคำสั่งเถรสมาคมปี 2538 ว่าคณะสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งๆ ที่คำสั่งนั้นก็เป็นคำสั่งทางการเมือง ผู้ที่ออกคำสั่งมหาเถรสมาคมก็คือผู้ใช้อำนาจทางการเมือง และเป็นการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของคณะสงฆ์ แต่เป็นการเมืองระบอบแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจฝ่ายฆราวาส ดังนั้นมันจึงเป็นวาทกรรม เป็นมายาคติทั้งนั้นที่บอกว่าคณะสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือการเมืองไม่ควรอยู่ในคณะสงฆ์” พระนพกล่าว

 

ถูกขับไล่ออกจากวัดเพราะขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา

พระนพเล่าให้ฟังว่า

“หลังจากขึ้นไปสาธยายพระสูตรวันที่ 19 ก.ย. ก็กลับวัด เช้ามืดวันที่ 20 ตอนทำวัดเช้า ตี 4 ครึ่ง ผู้รักษาการเจ้าอาวาสก็เดินมาบอกอาตมาว่า อาตมาไปก่อเรื่องเอาไว้ ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา หลังทำวัดเช้าเสร็จแล้วให้มานั่งคุยกัน”

เราสะดุดใจกับคำว่า “ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา” จึงถามว่าทำไมใช้คำแบบเดียวกับทหารเลย พระนพอธิบายว่า เพราะ พ.ร.บ.คณะสงฆ์มีลักษณะการปกครองแบบเดียวกับรูปแบบทหาร ทหารมีพลทหารชั้นประทวน และนายทหารชั้นสัญญาบัตร นายร้อย นายพัน นายพล คณะสงฆ์ก็เหมือนกัน ในระเบียบมหาเถรสมาคมก็มีการกำหนดสมณศักดิ์ ชั้นประทวน และชั้นสัญญาบัตร เริ่มตั้งแต่พระครู เรื่อยไปจนถึงพระราชาคณะ ในพระราชาคณะก็จะเริ่มต้นที่พระราชาคณะชั้นสามัญ ขึ้นไปชั้นราชย์ ชั้นเทพ ชั้นธรรม ชั้นพรหม และชั้นสมเด็จ ซึ่งตรงนี้ในมาตรา 5 ทวิ ของพ.ร.บ.สงฆ์ จะระบุว่าเป็นพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งหรือถอดถอนสมณศักดิ์

กลับเข้าเรื่อง พระนพเล่าต่อว่า พอทำวัดเสร็จ จะมีการอ่านพระวินัยมุข ซึ่งเป็นแบบเรียนที่ใช้ทั่วประเทศโดยมหาเถรสมาคม เป็นคิวของพระนพที่จะขึ้นธรรมาสน์อ่าน เจ้าอาวาสกลับบอกว่าไม่ต้องอ่านอีกแล้ว และให้พระอีกรูปอ่านแทน 

หลังจากนั้นพระนพเล่าว่ามีการนั่งคุยกัน เจ้าอาวาสก็ได้กล่าวถึงคำสั่งมหาเถรสมาคมปี 2538 ห้ามภิกษุสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และคำสั่งเจ้าคณะปกครองฉบับพิเศษปี 2560 ห้ามภิกษุยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และบอกว่าความคิดห้ามกันไม่ได้ แต่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองพร้อมกับอาศัยอยู่ที่นี่ไม่ได้ หลายคนไม่ยอม โดยเฉพาะวัดแห่งนี้ก็คงไม่ได้

สองสามวันถัดมาเลขาของเจ้าอาวาสก็ส่งหนังสือบันทึกข้อความมาให้พระนพเซ็นทางแอพลิเคชั่นไลน์ โดยระบุว่าหลังจำพรรษาเสร็จในวันที่2 ตุลาคม จะให้พระนพออกไปจากวัด พระนพกล่าวว่าพบว่าเนื้อหาบางส่วนไม่ได้อยู่ในการสนทนาก่อนหน้านั้น แต่อย่างไรก็ตามมาตรา 38 ในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ให้อำนาจเจ้าอาวาสขับไล่ภิกษุที่ไม่ได้อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด

“การให้อำนาจแก่เจ้าอาวาสนี้เป็นมาตราที่คงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีลักษณะเป็นท็อปดาวน์ ข้างบนสั่งการลงมาเป็นทอดๆ ซึ่งอำนาจนี้อาตมามองว่า หนึ่ง-มันขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัย หรือคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ที่ผู้แทนสงฆ์จะต้องได้รับการแต่งตั้ง ตรวจสอบจากสงฆ์ ถ้าประพฤติไม่ถูก ลำเอียง หรือความรู้ความสามารถไม่พอ คณะสงฆ์สามารถถอดถอนได้ แต่พ.ร.บ.คณะสงฆ์ลบอำนาจตามพระธรรมวินัยออก ให้อำนาจแก่เจ้าอาวาสเพียงผู้เดียว ซึ่งเจ้าอาวาสก็มาจากการแต่งตั้งของผู้บังคับบัญชาที่อยู่สูงขึ้นไป

“สอง-มันขัดรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิพลเมือง สิทธิการปฏิบัติตนตามความเชื่อทางศาสนาไว้หลายแห่ง

นอกจากนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดให้บุคคลที่สามหรือองค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบ คัดค้านคำสั่งปกครองในลักษณะนี้เลย ทำให้องค์กรคณะสงฆ์เป็นองค์กรที่ไร้การตรวจสอบ ถ่วงดุลจากบุคคลหรือองค์กรอิสระภายนอก” พระนพกล่าว

ทั้งนี้ยังไม่มีคำสั่งอย่างเป็นทางการให้พระนพออกจากวัด แต่หากจะมีคำสั่งขับไล่จริง พระนพกล่าวว่าตามระเบียบตนมีสิทธิจะอุทธรณ์ได้สามขั้น คืออุทธรณ์ไปที่เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด แต่เจ้าอาวาสวัดของพระนพเป็นเจ้าคณะจังหวัดด้วย พระนพจึงยังไม่รู้ว่าหากมีคำสั่งนี้ออกมาจะต้องไปอุทธรณ์กับใครที่ไหน จึงอาจจะต้องไปถามที่ปรึกษาด้านกฎหมายอีกที

เมื่อถามว่าภิกษุรูปอื่นที่ขึ้นสาธยายธรรมด้วยกันมีรูปใดโดนวัดกระทำเช่นนี้อีกหรือไม่ พระนพระบุว่ามีเพียงการกล่าวตักเตือนด้วยวาจา ไม่มีถึงขั้นไล่ออกจากวัด

“อาตมาคิดว่าในโลกยุคนี้แล้ว เราควรจะมาคุยกันว่ามาตรา 38 ซึ่งมันเป็นกฎหมายตกค้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มันสมควรจะมีอยู่ไหม และในรัฐธรรมนูญก็ระบุว่ากฎหมายอันใดที่ละเมิดรัฐธรรมนูญก็เป็นอันใช้ไม่ได้ ก็อาจจะต้องมาคุยกันจริงๆจังๆว่าเราควรจะสังคายนาพ.ร.บ.คณะสงฆ์” พระนพกล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา โพสต์เฟซบุ๊คแสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า “เจ้าอาวาสที่คิดจะลงโทษพระที่แสดงออกทางการเมืองด้วยการสาธยายคำสอนพุทธศาสนา โดยไล่ออกจากวัดหรือจับสึก ทำไม่ได้ครับ เพราะการแสดงออกเช่นนี้เป็นการใช้เสรีภาพที่ไม่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญและไม่ผิดธรรมวินัย อำนาจของเจ้าอาวาสจะเหนือธรรมวินัยและรัฐธรรมนูญไม่ได้  ถ้าเห็นว่าพระทำไม่เหมาะสมก็ควรเรียกไปพูดคุยตักเตือนเท่านั้น ถ้าไล่ออกจากวัดหรือให้สึก แสดงว่าเจ้าอาวาสใช้อำนาจเผด็จการเหนือธรรมวินัยและกฎหมายรัฐธรรมนูญ”

 

พูดอีกครั้งว่า เจ้าอาวาสที่คิดจะลงโทษพระที่แสดงออกทางการเมืองด้วยการสาธยายคำสอนพุทธศาสนา โดยไล่ออกจากวัดหรือจับสึก...

โพสต์โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ เมื่อ วันอังคารที่ 22 กันยายน 2020

 

อนึ่ง วันชุมนุม ‘19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร’ ที่ผ่านมา ในการปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วงหนึ่ง กลุ่มภิกษุจำนวน 6 รูปได้ขึ้นเวทีสาธยายธรรม โดยตอนหนึ่งได้นำพระสูตรจากพระไตรปิฎก ภาคพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 2. ปัตตกัมมวรรค 10. อธัมมิกสูตร ที่ได้คัดเลือกมาให้เข้ากับเหตุการณ์ที่กำลังรณรงค์เรียกร้องกันอยู่ในการชุมนุม ซึ่งนั่นก็คือการปกครองและอำนาจอธิปไตยสูงสุดควรเป็นของประชาชน ความว่า

“ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พระธรรมิกสูตรว่าด้วยพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมและผู้ตั้งอยู่ในธรรม ภิกษุทั้งหลายในเวลาที่พระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้พวกข้าราชการก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวกข้าราชการไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้พราหมณ์และคหบดีก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และคหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้ชาวนิคมและชาวชนบทก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนอย่างนั้น ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์ เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข”


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net