Skip to main content
sharethis

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้กฎหมายอาญามาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่การยกเลิกกลับยังไม่เกิดขึ้น แม้ว่ากฎหมายนี้จะมีอายุถึง 112 ปีแล้วก็ตาม มดลูกของผู้หญิงย่อมเป็นสิทธิของผู้หญิงและไม่มีผู้หญิงคนไหนที่ท้องเพื่อไปทำแท้ง นี่คือสิ่งที่งานเสวนานี้ต้องการสื่อสาร

ทุกวันที่ 28 กันยายนของปี คือวันรณรงค์เพื่อเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้หญิงกว่า 21.6 ล้านคนทั่วโลกที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่งส่งผลให้ผู้หญิงกว่า 47,000 คนต้องเสียชีวิตในแต่ละปี

ในประเทศไทย การเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้งยังมีความผิดตามกฎหมาย แต่มีเงื่อนไขบางประการที่กฎหมายยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301-305 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กฎหมายอายุ 112 ปีนี้บัญญัติไม่ใช่สิ่งที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันอีกแล้ว ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า มาตรา 301 ขัดกับรัฐธรรมนูญ

ทางโครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ ‘ชีวิตและสิทธิของหญิงท้องไม่พร้อม: ความสำเร็จและพันธกิจที่ต้องสานต่อ’ เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา โดยในช่วงบ่ายมีการเสวนาในหัวข้อย่อยเรื่อง ‘กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเรื่องการทำแท้ง ทำไมต้องยกเลิกมาตรา 301’

กฎหมายอายุ 112 ปีที่ควรยกเลิก

สุไลพร ชลวิไล จากกลุ่มทำทาง กล่าวว่า กฎหมายมาตรา 301-305 มีเค้าโครงเช่นเดียวกับกฎหมาย ร.ศ.127 หรือปี 2451 เป็นครั้งแรกที่มีการเอาผิดกับผู้หญิงที่ทำแท้ง โดยในกฎหมายก่อนหน้านี้ของสยามไม่มีการระบุความผิดของผู้หญิงแต่อย่างใด

แม้จะมีความพยายามผลักดันเพื่อแก้กฎหมายอยู่เป็นระยะ แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ

“แต่การพยายามแก้กฎหมายไม่เคยสำเร็จ เวลาที่มีความพยายามแก้กฎหมาย มีการทำโพล จะบอกว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไข หมายถึงว่าเพิ่มเงื่อนไขให้ทำแท้งได้มากขึ้น แต่สุดท้ายแก้ไม่ได้ เพราะติดเรื่องศีลธรรม มีความพยายามแก้ไขสองสามรอบ แล้วก็ไม่ผ่านสักรอบ โดยคนเดิม กลุ่มเดิม ที่ออกมาคัดค้าน”

สุไลพรย้ำว่า การเข้าถึงการทำแท้งปลอดภัยถือเป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง

“เราได้ทำรายงานชิ้นหนึ่ง มันมีสิทธิในเสรีภาพ สิทธิในความปลอดภัยของร่างกาย สิทธิในด้านสุขภาพ สิทธิในการรับบริการสาธารณสุข สิทธิที่จะมีความเป็นส่วนตัวและตัดสินใจว่าจะมีบุตรกี่คนและแต่ละคนควรมีอายุห่างกันเท่าไหร่ สิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติและมีอิสระจากการถูกทรมาน สิทธิเหล่านี้ถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในปฏิญญาสากล อนุสัญญา และกติการะหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งคำถามก็คือคนที่แก้ไขกฎหมายไม่ได้อ่านเลยหรือว่า มีการรับรองสิทธิซึ่งเราสามารถชี้ให้เห็นว่ามีอะไรบ้าง”

นอกจากนี้ สุไลพรยังกล่าวด้วยว่า ในการแก้กฎหมายแต่ละครั้ง ผู้หญิงกลับไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเลยแม้แต่นิดเดียว ทั้งที่เป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้หญิงอย่างมาก ขณะที่ผู้ที่มีบทบาทในการแก้ไขกฎหมายก็ยังเป็นภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ เป็นคนที่ท้องไม่ได้ ไม่เคยท้อง

ที่มาภาพ: Alec Perkins from Hoboken, USA 

การทำแท้งเป็นสิทธิของผู้หญิง

ในประเด็นที่ว่าสิทธิตัดสินใจทำแท้งเป็นของใคร? นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง จากเครือข่ายอาสา เล่าย้อนถึงวัฒนธรรมในยุคโบราณที่การทำแท้งหรือการรีดลูกมีหลักฐานยืนยันอย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 บนภาพสลักหินในปราสาทนครวัด ซึ่งไม่ถือเป็นความผิดบาป ในกฎหมายพระธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าแก่ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นความผิด

“เราเริ่มมีทัศนคติด้านลบจากการรับความคิดของฝรั่งในยุควิกตอเรียน ในยุคล่าอาณานิคม ซึ่งขัดกับหลักคิดในปัจจุบันที่ถ้าจะทำแท้งก็ต้องทำกับหมอ แต่ถ้าเรายังใช้กฎหมายเมื่อ 112 ปีก่อน มันก็จะกลายเป็นว่าทำแท้งกับหมอผิดมากกว่าไปให้คนขายส้มตำทำให้อีก เป็นความบิดเบี้ยวของกฎหมายในสมัยนั้น

“เป็นที่น่าสนใจว่ากฎหมายที่ห้ามผู้หญิงทำแท้ง เอาผิดผู้หญิงทั้งสองฉบับคือกฎหมายลักษณะอาญาในปี 2451 กับประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้ในปัจจุบัน ไม่ได้กล่าวถึงผู้ชายเลย ในความคิดของผม การเอาผิดผู้หญิงแต่ฝ่ายเดียวใน 301-305 เป็นการยอมรับทางกฎหมายว่าการตั้งครรภ์เป็นเรื่องของผู้หญิง สิทธิทั้งหมดก็น่าจะเป็นของผู้หญิงเพราะไม่เคยกล่าวถึงผู้ชายในมาตรา 301-305 เลย”

นพ.นิธิวัชร์ กล่าวว่า ผู้ชายที่เป็นผัว เป็นพ่อ ไม่มีสิทธิในตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์ จนกว่าตัวอ่อนนั้นจะคลอดออกมาจากครรภ์มารดา อีกทั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังได้วินิจฉัยว่ากฎหมายอาญามาตรา 301 ที่มุ่งเอาผิดผู้หญิงขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ตั้งแต่ปี 2540 คำวินิจฉัยนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงสิทธิในการทำแท้งของผู้หญิง เนื่องจากตัวอ่อนอาศัยอยู่ในมดลูกของผู้หญิง ผู้หญิงจึงมีสิทธิอันชอบธรรมในการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของตัวเองได้ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิในการเกิดของตัวอ่อนเกินสมควร ซึ่งคำว่า เกินสมควร เป็นคำที่ต้องถกเถียงกันว่าสังคมจะยอมรับที่จุดไหน

“เราต้องตั้งคำถามว่าจะให้สิทธิผู้หญิงทำแท้งตลอดการตั้งครรภ์เลยหรือไม่ สิทธิในการเกิดของตัวอ่อนอยู่ตรงไหน การทำแท้งเป็นบริการสุขภาพที่ทุกแห่งต้องให้บริการหรือไม่ รัฐจะมีบทบาทอย่างไรในการเข้ามาโอบอุ้มผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม หมดยุคแล้วครับที่จะบังคับให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายโดยไม่สนใจว่ากฎหมายนั้นจะเป็นธรรมหรือไม่ แต่เราต้องร่วมกันเรียกร้องให้เกิดกฎหมายที่เป็นธรรมกับทุกคน ไม่เลือกปฏิบัติต่อหญิงหรือชาย คนแก่หรือเด็ก คนจนหรือคนรวย กษัตริย์หรือราษฎร”

ทุกคนมีเหตุผลของตนเอง

ในส่วนของ นพ.วรชาติ มีวาสนา จากเครือข่ายอาสา ผู้มีประสบการณ์ในการยุติการตั้งครรภ์ให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวว่าตนทำงานด้านนี้มาประมาณสิบกว่าปีและเป็นแพทย์คนเดียวในประเทศไทย ณ เวลานี้ที่รับยุติการตั้งครรภ์ถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์

“ถามว่าหมอชอบใช่ไหม อยากทำใช่ไหม ไม่ใช่นะครับ เราแค่อยากช่วย เราไม่ได้อยากทำ เราเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนที่มีปัญหาเหมือนคนที่อยู่ในถ้ำ มันไม่มีทางออก เราเป็นแค่แสงเล็กๆ แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้ก้าวมาไกลมาแล้ว

“ผมเป็นพุทธะนะ สอบนวกะ สอบนักธรรม และเรียนรู้ว่าทุกกิจกรรมที่เราทำมีบาปเกิดขึ้นเสมอ แต่บาปก็เป็นมายาคติ เราถูกสอน ถูกคุณจิตสัมผัสบอกว่าคนที่เป็นอย่างนี้เพราะทำแท้ง มีผีมากมาย พอผมมาทำงานนี้ เราเรียนรู้เหตุผลต่างๆ มากมายอย่างที่คนอื่นไม่รู้ ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง แต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือก ผมเป็นหมอสูติฯ เคสที่มาหาผมไม่ได้หมายความว่าต้องยุติทุกราย ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง เราใช้การให้คำปรึกษาอย่างมีทางเลือก ทางเลือกมีมากมาย ถ้าเลือกท้องต่อ ผมก็ดูแลอย่างมีคุณภาพ ถ้าเลือกยุติ ผมก็ดูแลอย่างปลอดภัย หน้าที่ของหมอมีเท่านี้จริงๆ”

นพ.วรชาติ กล่าวอีกว่า โรคท้องไม่พร้อมเป็นเหมือนเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตคนที่สามารถเกิดขึ้นได้เหมือนกับหกล้มหรือเจ็บป่วยอื่นๆ ดังนั้น เราจึงไม่ควรใช้เหตุผลของตนเองไปตัดสินใคร ตรงกันข้ามควรต้องให้เกียรติและศักดิ์ศรีแก่คนที่ตัดสินใจ และด้วยเหตุนี้ เขาจึงเห็นว่า

“ไม่มีใครท้องเพื่อตั้งใจมายุติการตั้งครรภ์ ถ้าเราเชื่อตรงนี้ กฎหมายมาตรา 301 ไม่ควรจะมีเลย”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net