Skip to main content
sharethis

ไอลอว์เผยร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนยังไม่ถูกปัดตก ถ้าสภาตรวจสอบเอกสารทันสามารถพิจารณาพร้อมร่างฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านได้ ด้านภูมิใจไทยประกาศ ไม่ว่าอย่างไรจะลงมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ร่วมลงชื่อเสนอ ฟากประชาธิปัตย์พร้อมแก้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้ง ส.ส.ร. ส่วนเสรีเห็นว่าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งทีต้องแก้ให้รอบด้าน แต่ที่เสนอมาเห็นว่ายังไม่แก้ปัญหาที่มีอยู่ 

หลังที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากให้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอก่อนลงมติรับหลักการ (วาระแรก) โดยคาดว่าต้องใช้กรอบเวลาพิจารณาประมาณ 30 วัน เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563

ไอลอว์เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พบว่า ตามข้อบังคับที่ 41 ระบุว่า  "ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป" ดังนั้น การลงมติเพื่อตั้ง กมธ.ศึกษาญัติติก่อนการลงมติรับหลักการ จึงไม่ได้เป็นผลให้ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตกไปโดยอัตโนมัติ

ในทางกลับกัน หากจะมีการพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในการประชุมรัฐสภาสมัยหน้า ก็สามารถที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชนเข้ามาพิจารณาพร้อมกันได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 33 (1) ที่ระบุว่า ที่ประชุมรัฐสภาสามารถเสนอญัตติอื่นในญัตติที่กำลังปรึกษาหรือพิจารณาอยู่ได้ ถ้าเป็นการขออให้รวมระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาที่เป็นเรื่องเดียวกัน ทำนองเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกันเพื่อพิจารณาพร้อมกัน

ดังนั้น หากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรภายใต้กำกับของชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร สามารถเร่งรัดตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชนได้ตามกำหนด 45 วัน ตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนก็จะได้รับการพิจารณาพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญของพรรครัฐบาล-ฝ่ายค้าน 

นอกจากนี้ ตามข้อบังคับที่ 41 ยังให้อำนาจประธานรัฐสภาอนุญาตให้นำญัตติที่มีหลักการเช่นเดียวกันที่ตกไปแล้วมาพิจารณาได้ ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป หรือพูดง่ายๆ ว่า ประธานรัฐสภาคือหัวใจในการพิทักษ์สิทธิและเสียงของประชาชนในการแก้รัฐธรรมนูญ

25 ก.ย. 2563 ด้านวอยซ์ออนไลน์ รายงานว่า อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ก่อนการลงมติตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ได้ร่วมหารือกันและมีข้อสรุปว่า ไม่ว่าผลการศึกษาจะออกมาอย่างไร เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับเข้ามาสู่การประชุมร่วมรัฐสภาในสมัยประชุมหน้า ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ทุกคนจะลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ได้ร่วมลงชื่อเสนอ สาระสำคัญคือ การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 (หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์)

"ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เราร่วมลงชื่อเสนอเอง เมื่อวานนี้ ส.ส.ภูมิใจไทย ลงมติด้วยความไม่สบายใจ เนื่องจากไม่ได้รับทราบมาก่อนว่าจะมีแนวทางเช่นนี้ แต่มีคำอธิบายว่า เป็นแนวทางสายกลางที่จะนำไปสู่เป้าหมายคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนต้องการได้ และเราถอยถึงที่สุดแล้ว ระยะเวลา 30 วันที่คณะกรรมาธิการฯ จะทำการศึกษา พรรคภูมิใจไทยขอยืนยันหลักการให้มีการแก้ไขมาตรา 256 และจะไม่ถอยอีกแล้ว" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าว

หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ได้มอบให้ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี แจ้งต่อคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ว่าการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิของ ส.ส. ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ฉะนั้น พรรคภูมิใจไทยขอสงวนสิทธิที่จะลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เสนอ โดยไม่ผูกพันกับมติของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล

"เราต้องเชื่อมั่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เราร่วมลงชื่อเสนอเอง ต้องไม่บิดเบือนเจตนารมณ์ของตัวเราเอง ต้องรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน นี่คือจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" อนุทิน กล่าว

ด้านไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมากให้เลื่อนการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป และให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ 3 ฝ่าย มาศึกษาร่วมกันก่อนนั้น ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์มีหลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และไม่หวั่นไหวในข้อกล่าวหาว่าพรรคไม่จริงใจ เพราะพรรคต่อสู้เรื่องนี้มาตลอด และทราบล่วงหน้าไม่ถึง 1 ชั่วโมงว่าพรรคพลังประชารัฐจะเสนอตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ในข้อ 121 วรรค 3 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยเพราะสภาผู้แทนราษฎรได้มีการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพอสมควรแล้ว ถามว่าคณะกรรมาธิการชุดใหม่ที่ตั้งขึ้นนี้จะศึกษาเรื่องอะไรอีก

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอให้มีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย แต่เหตุใดจึงไม่มีการหารือกัน และการที่วุฒิสภาอ้างว่าไม่มีเวลาศึกษาทำความเข้าใจนั้น จะเป็นไปได้หรือ เพราะญัตติร่างแต่ละฉบับมีรายละเอียดเพียงไม่กี่มาตรา และมั่นใจว่าสังคมตั้งคำถามต่อรัฐสภา ว่าเหตุใดจึงต้องตั้งคณะกรรมาธิการเช่นกัน

"ส่วนกรณีที่พรรคไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แต่กลับส่ง ส.ส. เข้าไปร่วมเป็นกรรมาธิการด้วยนั้น มีเหตุผลเพื่อควบคุมและรักษาหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256 และเป็นประเด็นตั้งต้นให้ ส.ส.ร. หวังว่ากรรมาธิการชุดนี้จะไม่ขยายกรอบเวลาทำงาน 30 วันออกไปอีก เพราะหนึ่งเดือนหลังจากนี้สภาปิดสมัยประชุม จึงมีเวลามากพอที่จะศึกษาก่อนนำเข้าสู่การลงมติในที่ประชุมรัฐสภาในเดือน พ.ย.นี้ และย้ำว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และให้มีการตั้ง ส.ส.ร." โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ศึกษาญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ส่วนตัวเห็นว่าหลักการและเหตุผลของการเสนอร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้กว้างขวาง กรอบของร่างรัฐธรรมนูญน่าจะมีรายละเอียดและกรอบที่ชัดเจนมากกว่านี้ และในหลักการยังมองอยู่มุมเดียวเท่านั้นเอง มองเพียงแค่ว่าชอบหรือไม่ชอบแต่ประโยชน์ที่จะได้รับจริงๆยังน้อยไป ยังไม่เป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ได้ และเนื้อหาของหลักการเสนอมา ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งทีควรมีเนื้อหาสาระที่มากกว่านี้ แก้ทั้งทีต้องดูให้ครบมิติว่า จากการที่ใช้รัฐธรรมนูญช่วงระยะเวลาหนึ่งมีปัญหาอะไร การแก้ก็ใช้งบประมาณสูง เพราะฉะนั้นเนื้อหาสาระและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าจะให้สมบูรณ์ต้องมีหลายมิติและมีความรอบคอบ ซึ่งเป็นหลักสำคัญ

"ปัญหาหรือข้อเสนอมันมีมากกว่านี้ ไม่ใช่ทำทั้งทีแล้วทำแค่นี้ ทำตามความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ หรือความชอบ ความไม่ชอบ ผมว่ามันน้อยไป" เสรีกล่าว

เมื่อถามว่า มีความกังวลหรือไม่ เหมือนหลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลและ ส.ว. จับมือเพื่อยื้อเรื่องดังกล่าว เสรี กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะมันอยู่ที่ผลจะออกมา เราให้เวลา 30 วัน ในการเอาประเด็นปัญหาที่อภิปรายในสภามาเป็นข้อเสนอที่ดีขึ้น ชัดเจนและได้ประโยชน์มากกว่าเดิม การแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเหตุผลที่ดีกว่านี้อีก เราต้องทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ยื้อไปเดือนเดียวทำอะไรได้ แต่ถ้าจะมีอะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิมมันก็น่าจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกมธ.ฯที่ตั้งขึ้นมาก็คงต้องเดินหน้า ส่วนส.ว.เองก็คงจะมีการประชุมแยกออกมา เพราะเราต้องมีจุดยืนของเราที่ชัดเจน ข้อเสนอมันต้องมีข้อดี ข้อเสีย เขามองมุมเดียว แต่เราต้องมองในมุมที่มันมีจุดบกพร่องด้วย หรืออะไรที่ได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย

ส่วนสมัชชาคนจนเผยแพร่แถลงการณ์ ประณามสมาชิกรัฐสภา 431 คน ที่โหวตตั้ง กมธ.ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ถ่วงเวลาแก้รัฐธรรมนูญ เรียกร้องรัฐบาลและรัฐสภาเร่งรัดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที 

แถลงการณ์สมัชชาคนจน

หยุด !!! ซื้อเวลา เร่งแก้รัฐธรรมนูญ

สมัชชาคนจนได้คัดค้านรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 เกิดขึ้นจากรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจอธิปไตยของประชาชนและทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นอกจากจะไม่มีความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ยังไม่เอื้อประโยชน์ที่ดีต่อวิถีชีวิต การทำมาหากิน และกระบวนการแก้ไขปัญหาที่คนจนได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังสร้างปัญหาใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอีกด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ลดทอนโอกาสของประชาชนในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย และการกำกับตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เราได้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด และเราให้ความสนใจติดตามสถานการณ์การชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23–24 กันยายน 2563 ที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 6 ฉบับ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ทั้ง 6 ฉบับ ก่อนรับหลักการ ตามที่ปรากฏในสื่อทั่วไปนั้น

สมัชชาคนจน มีความเห็นว่า การที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 228 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 203 คน เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ทั้ง 6 ฉบับ ก่อนรับหลักการ นั้น เป็นการเล่นละครในสภาแหกตาประชาชนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายรัฐบาล ทั้งที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่มีความละอาย รวมทั้งใช้วิธีสมคบกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจเผด็จการรัฐสภาเล่นเกมการเมืองเพื่อซื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปเพื่อให้ตนเองพวกพ้องอยู่ในอำนาจยาวนานยิ่งขึ้น การกระทำดังกล่าวนี้ เป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ ไม่เห็นหัวประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้า จนทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ได้

สมัชชาคนจน จึงขอประณามการกระทำของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้ง 431 คน ที่สมคบกันซื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขอเรียกร้องรัฐบาลและรัฐสภาเร่งรัดให้เกิดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยทันที พร้อมทั้งให้หยุดการใช้เล่ห์เหลี่ยมกลเกมส์ทางการเมืองเพื่อยื้อหรือถ่วงเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกท่าน เดินลงสู่ถนนร่วมกันรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชน

ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน

สมัชชาคนจน

25 กันยายน 2563

เพิ่มเติมข้อมูลเวลา 00.40 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net