สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 20-26 ก.ย. 2563

ปตท.จะออกค่าใช้จ่ายให้พนักงาน 3,800 คน ออกเดินทางท่องเที่ยวไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้ประกาศโครงการพนักงาน ปตท.ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้ โดย ปตท.จะออกค่าใช้จ่ายให้พนักงานที่เดินทางท่องเที่ยวไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย จากพนักงาน ปตท.ที่มีอยู่ 3,800 คน ใช้งบประมาณรวม 18 ล้านบาท

คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากโครงการนี้ 4-5 เท่าจากงบประมาณ โดยเงื่อนไขประกอบด้วย การท่องเที่ยวในวันธรรมดา ด้วยการพักค้างคืนและการท่องเที่ยวในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ต้องท่องเที่ยวในพื้นที่ห่างจากที่พัก 300 กิโลเมตรขึ้นไป โดยให้พนักงานนำใบเสร็จค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าตั๋วเข้าชมสถานที่ และอื่นๆ มาเบิกภายใต้งบประมาณที่ให้ โดย ปตท.จะออกให้ครึ่งหนึ่ง หากพนักงานใช้งบไม่หมดในครั้งเดียว สามารถเก็บใช้ครั้งต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย ในเวลา 3 เดือน “งบฯที่ ปตท.นำมาใช้โครงการนี้ ถือว่าไม่มาก แต่อย่างน้อยได้อีกครึ่ง ที่พนักงาน ปตท.จะใช้จ่ายเพิ่มอีกหลายเท่าตัว คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมีเงินหมุนเวียนเข้าระบบอย่างน้อย 2 เท่า หรืออาจถึง 4-5 เท่าจากงบฯที่ให้ 18 ล้านบาท โดยมาตรการนี้ให้ใช้เฉพาะ ปตท.เท่านั้น ส่วนบริษัทลูกจะใช้มาตรการเดียวกันหรือไม่ ขึ้นกับแต่ละบริษัท ล่าสุดทราบว่า บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (โออาร์) ก็จะทำโครงการนี้เช่นกัน”

สำหรับเป้าหมายให้ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ลดต้นทุนการผลิตปิโตรเลียมต่อหน่วยลงเหลือ 25 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากปัจจุบันอยู่ที่ 30 เหรียญฯ เพื่อรับมือราคาน้ำมันที่ยังอยู่ระดับต่ำนั้น ปตท.สผ.ยืนยันว่าสามารถทำได้ตามเป้าใน 3-5 ปีข้างหน้า พร้อมยังมุ่งหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ในภูมิภาคและตะวันออกกลางที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ก็จะช่วยลดต้นทุนในภาพรวมด้วย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมกลุ่มบริษัท ปตท.ว่า ได้หารือกับผู้บริหารถึงแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 63-67) วงเงิน 900,000 ล้านบาท ว่าให้เป็นไปตามเป้าหมายเพราะการลงทุนของ ปตท.มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผู้บริหาร ปตท.พร้อมเดินหน้าตามแผน และจะบริหารเชิงรุกด้วยการสร้างความร่วมมือกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ “ผมกระตุ้นให้ ปตท.ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว”

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 26/9/2563

เรียกร้องสำนักงานประกันสังคมการเคารพสิทธิของผู้ประกันตนข้ามชาติ ในการเลือกตั้งกรรมการการประกันสังคม

25 ก.ย. 2563 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องสำนักงานประกันสังคมการเคารพสิทธิของผู้ประกันตนข้ามชาติ ในการเลือกตั้งกรรมการการประกันสังคม โดยระบุว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการยกร่างยกระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2563 และที่ประชุมคณะอนุกรรมการยกร่างฯเห็นว่าผู้ประกันตนที่เป็นคนต่างด้าวไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากการบริหารกองทุนถือเป็นอธิปไตยทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของการบริหารกองทุน และมีมติกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังนี้

(1) มีสัญชาติไทย (2) ขึ้นทะเบียนนายจ้างหรือผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือน (3) จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนในระยะเวลาหกเดือนก่อนเดือนมีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง (4) ได้ลงทะเบียนเพื่อจะใช้สิทธิเลือกตั้ง และ (5) กำหนดให้มีการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อผู้มีสิทธิ

การที่คณะอนุกรรมการยกร่างฯเห็นว่า กฎหมายประกันสังคมใช้ถ้อยคำว่า “การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและสัดส่วนระหว่างหญิงชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส” หมายความว่า ควรที่จะมีไม่ใช่ต้องมี และจากความเห็นดังกล่าวได้นำไปสู่การลงมติกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่กล่าวมาข้างต้น

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติมีความเห็นว่า

1. การตีความถ้อยคำกฎหมายว่า “ควรที่จะมีไม่ใช่ต้องมี” นั้นเป็นการลดทอนการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย กฎหมายบัญญัติว่า “การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” ซึ่งแสดงว่ากฎหมายมีเจตนาเพื่อให้ผู้ปฎิบัตินำบทบัญญัตินี้ไปบังคับใช้อย่างแท้จริงเพื่ออำนวยให้ผู้ประกันต้องใช้สิทธิและได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายมิใช่ให้ผู้ปฎิบัติใช้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลือกว่าจะปฎิบัติหรือไม่ก็ได้ตามที่คณะอนุกรรมการยกร่างฯตีความ 2. นอกจากนี้การที่คณะอนุกรรมการยกร่างฯมีมติกำหนดคุณสมบัติปฎิบัติเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้และ คุณสมบัติที่กำหนดนั้นเป็นการขัดต่อหลักการมีส่วนร่วมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม และขัดต่อหลักการการมีส่วนร่วมของการสานเสวนาทางสังคม (Social dialogue) ซึ่งมีข้อกำหนดต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนลูกจ้าง เป็นผู้แทนในการร่วมปรึกษาหารือ หรือร่วมให้ความคิดเห็นกับผู้มีอำนาจตัดสินใจขององค์กร

3. แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมมีจำนวนกว่า 1.2 ล้านคนซึ่งไม่อาจจะปฎิเสธการ มีอยู่ของผู้ประกันตนข้ามชาติได้(ตัวเลขนี้ควรเป็นนัยยะของแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม ใช่หรือไม่คะ) ดังนั้นคณะอนุกรรมการยกร่างฯจึงต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนทุกคน การอ้างว่าการบริหารกองทุนถือเป็นอธิปไตยทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของการบริหารกองทุนนั้นเป็นข้อกล่าวอ้างที่ไร้หลักการและเป็นข้อกล่าวหาว่าผู้ประกันตนที่เป็นคนข้ามชาติเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่ออธิปไตยทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของกองทุนอันเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง

4. เครือข่ายฯ เห็นว่า กองทุนก่อตั้งและตั้งอยู่ด้วยเงินสมทบจากสามส่วน คือรัฐ ผู้ประกอบการและ ผู้ประกันตน เพื่อเป็นหลักประกันของผู้ประกอบการและผู้ประกันตนที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้ที่ชำระเงินสมทบทุกส่วนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุน รัฐต้องไม่กีดกัน จำกัดหรือสร้างเงื่อนไขให้ผู้มีส่วนได้เสียจากการบริหารกองทุนด้วย

และ 5. นอกจากนี้กฎระเบียบดังกล่าวยังอาจขัดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องหลักความเสมอภาคหรือหลัก

ความเท่าเทียมกัน (equality principle) การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม (unfair / unjust discrimination) ที่ประเทศเป็นภาคี เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR) ที่วางหลักการเรื่องความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติไว้ว่า “รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับที่จะประกันว่าสิทธิทั้งหลายที่ระบุไว้ในกติกานี้ปราศจาก การเลือกปฏิบัติใด ๆ …” รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) และ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination: CERD) ว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง สัญชาติ สถานะทางเศรษฐกิจ สังคม ถิ่นกำเนิด หรือสภาพอื่นใด การคุ้มครองแรงงานทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติที่ไทยได้ให้การรับรองไว้ในอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 111 ตลอดจนบทสนทนาเชิงนโยบายในเวทีการประชุมระดับสูงด้านแรงงานระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thailand - EU Labour Dialogue) ระหว่างกระทรงวงแรงงานไทยและกระทรวงการจ้างงาน กิจการสังคม และการหลอมรวมทางสังคมแห่งสหภาพยุโรป (Directorate-General for Employment, Social Affairs and Inclusion (DG EMPL)) ที่ให้ความสำคัญเรื่องการคุมครองทางสังคม (social protection)

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติขอเรียกร้องให้คณะกรรมการยกร่างระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมทบทวนมติเรื่องคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียในกองทุนประกันสังคม ดังนี้

1. ยกเลิกร่างยกระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อันมีลักษณะที่กีดกันทางเชื้อชาติและสัญชาติของผู้ประกันตนที่เป็นประชากรข้ามชาติ

2. ยกเลิกหลักเกณฑ์เรื่องระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนและระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ เนื่องจากผู้ที่ขึ้นทะเบียนประกันตนมีผลเป็นผู้ประกันตนทันทีแม้จะยังไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ในทองทุนประกันสังคมได้ แต่การมีสถานะเป็นผู้ประกันตนย่อมหมายถึงการเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองทุนประกันสังคม ดังนั้น การกำหนดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการขึ้นทะเบียนติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนไม่น้อยกว่าสามเดือนนั้นเป็นการสร้างเงื่อนไขที่เป็นการกีดกันผู้ประกันตนในการปกป้องส่วนได้เสียของตน

3. การลงทะเบียนเพื่อจะใช้สิทธิเลือกตั้งต้องคำนึงถึงความหลากหลายของผู้ประกันตนเป็นสำคัญและควรเป็นกลไกที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย

กองทุนประกันสังคมเป็นผลประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกคนจึงเป็นอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของผู้ประกันตนที่จะมีส่วนร่วมในตัดสินใจเลือกผู้แทนที่จะทำหน้าที่ในการบริหารกองทุนและรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องอำนวยและคุ้มครองให้ผู้ประกันตนทุกคนให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกคนโดยเสมอภาค

ที่มา: เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ, 25/9/2563

เตือนตัวเลขการว่างงานของไทยจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก 2% ไปที่ 7.4%

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวในการสัมมนา "BATTLE STRATEGY แผนฝ่าวิกฤต พิชิตสงคราม EPISODE II : DON'T WASTE A GOOD CRISIS พลิกชีวิตด้วยวิกฤตการณ์" ในหัวข้อ "ประเทศไทยกับการก้าวข้ามเศรษฐกิจติดเชื้อ" ว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิด 3 บาดแผลสำคัญ คือ

1. ภาคธุรกิจปิดกิจการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 และการชะลอของเศรษฐกิจโลก คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ยอดขายและยอดส่งออกหดตัวลงมาก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม และธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก จากผลกระทบการบริโภคชะลอตัวและการล็อกดาวน์ รวมถึงธุรกิจรายเล็กที่ขาดสภาพคล่อง

2. ปัญหาการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้สะท้อนภาพชัดเจน แม้ว่าสิ้นไตรมาส 2/63 ตัวเลขการว่างงานของไทยจะอยู่ในระดับเพียง 2% แต่หากมีการปิดกิจการเพิ่มขึ้นก็จะทำให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เกิดความกังวลว่ากลุ่มคนที่มีอายุ 15-24 ปี และกลุ่มนักศึกษาจบใหม่จะมีโอกาสตกงานมากขึ้น แม้แต่กลุ่มแรงงานรายชั่วโมงบางกลุ่มที่มีจำนวนมากถึง 2.5 ล้านคน ก็มีชั่วโมงการทำงานลดลง หรือมีงานทำแต่ทำงาน 0 ชั่วโมง เปรียบเสมือนกับคนตกงาน หากรวมกลุ่มคนที่ทำงาน 0 ชั่วโมงเข้าไป ตัวเลขการว่างงานของไทยจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก 2% ไปที่ 7.4% จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวลต่อผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

และ 3. การดูแลงบดุลของภาคครัวเรือน ค่อนข้างมีความเปราะบาง จากที่ผ่านมาครัวเรือนได้สร้างภาระหนี้สินไว้เป็นจำนวนมาก สัดส่วนหนี้ครัวเรือนล่าสุดมาที่ 81% และคาดว่าสิ้นปี 63 จะเพิ่มขึ้นเป็น 88-89% ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคครัวเรือน การจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว จะเป็นปัญหาต่อกำลังซื้อในอนาคตที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ขาดแรงหนุนของปัจจัยภายในประเทศ

นายยรรยง กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจทั่วโลกยังมองว่าจะเป็นการค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และการฟื้นตัวจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมด้วย เนื่องจากความสามารถในการการบริหารจัดการและมาตรการอัดฉีดเงินและเยียวยาของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของแต่ละประเทศมีความสามารถที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ประเทศสหรัฐฯ และจีน ที่เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อทำมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เป็นจำนวนมากและมหาศาล ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสามารถกลับมาได้เร็ว

"การฟื้นตัวในครั้งนี้แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน และแต่ละ sector ก็ไม่เหมือนกันด้วย แม้ทุกคนมองว่าเศรษฐกิจจะ Bottom out ไปแล้ว แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็เป็นการฟื้นตัวทีชะลออยู่ และฟื้นตัวช้า ส่วนประเทศไหนจะฟื้นกลับมาก่อนก็ขึ้นกับความสามารถในการอัดฉีดเม็ดเงินของประเทศนั้น"นายยรรยง กล่าว
ด้านภาคอุตสาหกรรมก็มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้าที่สุด คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ยังคงต้องรอความหวังการผลิตวัคซีนรักษาโควิด-19 ออกมาใช้และกระจายไปให้กับทุกประเทศก่อน จึงจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นได้เร็ว โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3 ปีกว่าจะเห็นการฟื้นตัวกลับมาเหมือนกับช่วงก่อนโควิด-19

ขณะที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวช้า เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำไห้กำลังซื้อของคนลดลง และคนชะลอการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้การตัดสินใจซื้อสินค้าคงทนเป็นสินค้าเสียหายยาก และใช้ได้นานจะไม่ได้กลับมาได้เร็ว รวมไปถึงกลุ่มสินค้าไม่จำเป็นหรือสินค้าฟุ่มเฟือยด้วย

ส่วนภาคการส่งออกหรือการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศยังมีโอากสกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว แต่ยังต้องใช้ระยะเวลา 2 ปีกว่าจะกลับมาเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 โดยการส่งออกนั้นจะต้องมีการวิเคราะห์ตลาดในแต่ละประเทศให้ดี เพื่อดูว่าประเทศใดจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว และเน้นการเข้าไปทำตลาดในประเทศนั้น เพราะจะได้รับประโยชน์จากการกลับมาฟื้นตัวของประเทศที่ฟื้นตัวก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจส่งออกไทยควรให้ความสำคัญเพราะจะเป็นการสร้างโอกาสในการกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

นายยรรยง กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมาก จากปัจจัยความไม่แน่นอนของโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆทำให้ฟื้นตัวยังคงต้องไช้ระยะเวลาไปถึงปี 66 กว่าจะเห็นการกลับมาเติบโตเหมือนกับก่อนเกิดโควิด-19 แต่ทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมความพร้อมรับแรงกดดันในระยะสั้นเพื่อก้าวข้ามวิกฤติในครั้งนี้ไป และปรับตัวให้หมาะกับสถานการณ์ มีรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อช่วยในการดำเนินงาน และการวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 24/9/2563

อสมท เปิดโครงการ “เต็มใจจาก” ลดพนักงาน 700 คน - “คลัง” ยันไม่ได้สั่ง เป็นเรื่องในองค์กรเอง

23 ก.ย. 2563 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เปิดเผยคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.ทวิชชาติ พละศักดิ์ ประธานกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) อสมท เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้เปิดโครงการ “เต็มใจจาก” และโครงการสมัครเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลีรีไทร์) โดยตั้งเป้าจะลดจำนวนพนักงานลง 700 คน จากพนักงานทั้งหมดที่มี 1,600 คน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงการคลัง

“การลดพนักงานดังกล่าวเป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ อสมท เพราะหากไม่ลดพนักงาน จะทำให้บริษัทไปไม่ไหว และหากพนักงานสมัครเข้าร่วมโครงการ “เต็มใจจาก” ครบตามเป้าหมาย 700 คน ก็ไม่จำเป็นต้องมีโครงการเออร์ลีรีไทร์แล้ว” พล.ต.อ.ทวิชชาติ กล่าว และย้ำว่า “อสมท จำเป็นต้องทำตามคำแนะนำของกระทรวงการคลัง เพราะไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาได้ ในขณะที่ อสมท เองมีความจำเป็นต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการฯ”

สำหรับโครงการ “เต็มใจจาก” นั้น เบื้องต้นที่ประชุมบอร์ด อสมท ให้นโยบายว่า พนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องได้รับเงินชดเชยตามระยะเวลาที่ทำงาน ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด และยังจะได้รับเงินพิเศษเพิ่มอีก โดยขณะนี้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลอยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และการชดเชยของโครงการ ทั้งนี้ บอร์ด อสมท ได้อนุมัติวงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับใช้ดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท

“เงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ที่จะนำมาจ่ายชดเชยพนักงานจะมาจากเงินกู้จากแบงก์ ซึ่งหลักทรัพย์ที่เราจะนำไปใช้ค้ำประกันเงินกู้ คือ เงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz ที่ กสทช.จะจ่ายให้เราเป็นงวดๆ แต่หากไม่เพียงพอก็จะใช้ที่ดินที่ อสมท มีอยู่ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยแบงก์จะจ่ายตามจำนวนที่เราจ่ายจริง และขอยืนยันว่า การเข้าร่วมโครงการจะเป็นไปตามความสมัครใจของพนักงาน ไม่มีการบังคับ และไม่มีการจิ้มออกอย่างแน่นอน” พล.ต.อ.ทวิชชาติ กล่าว

โดยหลังจากนั้น มีรายงานจากแหล่งข่าวกระทรวงการคลัง ว่า กระทรวงการคลังไม่เคยมีคำสั่งให้ อสมท ลดพนักงาน ถือเป็นเรื่องภายในขององค์กรเอง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงปรับแผนธุรกิจ เพื่อลดรายจ่ายค่าจ้างพนักงาน ให้สอดคล้องกับรายได้ ที่สำคัญปัจจุบัน อสมท ยังไม่เคยยื่นปรับแผนธุรกิจมาให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สศร.) พิจารณา รวมถึงไม่ได้เป็นองค์กรที่กำลังอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 23/9/2563

ก.แรงงาน แจงจ้างเด็กจบใหม่ เพิ่มวุฒิ ม.6 เผย 4 ขั้นตอนเข้าร่วมโครงการ

วันที่ 23 ก.ย. 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการจ้างงานเด็กจบใหม่ 260,000 อัตรา ที่รัฐบาลช่วยเอกชน สนับสนุนค่าจ้าง 50% จากหลักเกณฑ์เดิมที่ช่วยเหลือผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แล้ว ได้มีการพิจารณาให้เพิ่มวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ค่าจ้างไม่เกินเดือนละ 8,690 บาท รัฐช่วยอุดหนุนค่าจ้างครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 4,345 บาท เพื่อการดูแลผู้ว่างงานอย่างครอบคลุมทั่วถึง โดยนายจ้างและสถานประกอบการที่ต้องการร่วมโครงการจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคม ไม่มีการเลิกจ้างลูกจ้างเดิมเกินกว่าร้อยละ 15 ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ได้รับพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการและทำสัญญาจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่เข้าทำงานเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือหากผู้จบการศึกษาใหม่ลาออกในระหว่างโครงการ สถานประกอบการสามารถหาผู้จบการศึกษาใหม่ทดแทนได้

ในส่วนของผู้จบการศึกษาใหม่ ต้องมีสัญชาติไทยและไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคมมาก่อน อายุไม่เกิน 25 ปี หรือหากอายุเกินกว่า 25 ปี ต้องเป็นผู้จบการศึกษาประจำปีการศึกษา พ.ศ. 2562 หรือ พ.ศ. 2563 ซึ่งได้มอบกรมการจัดหางานเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาระบบ การ Matching งานระหว่างสถานประกอบการและผู้หางานให้ตอบโจทย์และสะดวกต่อการใช้งานเพื่อประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง สนับสนุนการจ้างงานระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่ ให้ส่งเสริมการมีงานทำก่อน อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ให้ละเลยประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งเน้นให้คนไทยต้องมีงานทำในทุกพื้นที่ สนับสนุนการจ้างงานที่มั่นคงและต่อเนื่อง เน้นเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบการในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนเพื่ออนาคตของประเทศไทย

ทางด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน แจงการเข้าร่วมโครงการ 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. การลงทะเบียน นักศึกษาจบใหม่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เข้าลงทะเบียนในระบบ Co-payment บันทึกข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมแนบ Transcript ในส่วนของนายจ้างและสถานประกอบการ เข้าลงทะเบียนในระบบ Co-payment แจ้งตำแหน่งงานว่างและจำนวนลูกจ้างที่ต้องการรับเข้าทำงาน

2. การตรวจสอบเอกสารข้อมูลเข้าร่วมโครงการ ระบบจะทำการตรวจสอบ Transcript ของผู้สมัคร และสถานประกอบการนั้นๆ ว่าอยู่ในระบบของสำนักงานประกันสังคมหรือไม่ หากตรงตามเงื่อนไขจึงอนุมัติเข้าร่วมโครงการ

3. การ Matching งาน สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการเมื่อลงทะเบียนในระบบเรียบร้อยแล้ว สามารถค้นหาผู้สมัครงานในตำแหน่งที่ต้องการ เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายตกลงจ้างงานกันแล้ว ให้ดาวน์โหลดสัญญาจ้างเพื่อลงลายมือชื่อร่วมกัน และอัปโหลดสัญญาจ้างเข้าระบบอีกครั้ง

4. เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานตรวจสอบเอกสารสัญญาจ้าง หากถูกต้องจึงอนุมัติผลการจ้างงานเป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 ไปถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564

สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างร้อยละ 50 ตามระดับการศึกษาให้กับลูกจ้าง ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย และแจ้งข้อมูลการจ่ายเงินให้ลูกจ้าง พร้อมส่งหลักฐานให้กรมการจัดหางานภายในวันที่ 1 ของเดือนถัดไป และกรมการจัดหางานจะเป็นผู้โอนเงินค่าจ้างร้อยละ 50 ผ่านธนาคารกรุงไทยเข้าบัญชีลูกจ้างโดยตรงภายใน 5 วันทำการ หลังจากได้รับแจ้งหลักฐานจากนายจ้าง/สถานประกอบการแล้ว

นอกจากนี้ ผู้จบการศึกษาใหม่ คนหางาน นายจ้างและสถานประกอบการ ที่กำลังมองหางานและคน สามารถเข้าร่วมงาน Job Expo Thailand 2020 ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงแรงงาน ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ย. 2563 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร Hall EH 98-99 และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 23/9/2563 

สำนักงานประกันสังคม ชี้แจงปมถือหุ้น “ศรีพันวา”

จากประเด็นสื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวสำนักงานประกันสังคม ถือหน่วยลงทุนของกองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา (SRIPANWA) ในสัดส่วนเป็นผู้ถือหน่วยรายใหญ่ และมีประเด็นข้อสอบถามเกี่ยวกับแนวทางในการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม ปัจจัยในการพิจารณาลงทุน ขั้นตอนและผู้มีอำนาจในการพิจารณาลงทุน รวมทั้งผลตอบแทนการลงทุนในกิจการดังกล่าว

นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวในเรื่องนี้ว่า สำนักงานประกันสังคมได้ถือหน่วยในทรัสต์เพื่อการลงทุน ในอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา (SRIPANWA) มูลค่าการลงทุนประมาณ 505 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน การลงทุน 22.6% ของจำนวนหน่วยลงทุนของ SRIPANWA ทั้งหมด (มูลค่า ณ วันที่ 16 กันยายน 2563) ซึ่งการลงทุนดังกล่าว จัดเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานประกันสังคมได้มีการลงทุน ในหน่วยลงทุนต่างๆ ทั้งนี้ ในการลงทุนสำนักงานประกันสังคมมีการวิเคราะห์ถึงผลตอบแทน ความสามารถ ในการจัดหารายได้จากทรัพย์สิน สภาวะอุตสาหกรรม ทิศทางธุรกิจ และกลยุทธ์การลงทุน ตลอดจนความเสี่ยงที่ได้รับจากการลงทุน โดยผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์การลงทุน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การลงทุนของสำนักงานอย่างเคร่งครัด โดยคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) มิได้มีส่วนในการตัดสินใจในลงทุนรายหลักทรัพย์แต่อย่างใด เนื่องจากมีหน้าที่ในการ ออกระเบียบ หลักเกณฑ์การลงทุนและกำกับดูแลเท่านั้น

สำนักงานประกันสังคมมีการลงทุนในกองทรัสต์ SRIPANWA ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนในปี 2556 มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 6% และได้รับเงินปันผลจากการลงทุนแล้ว จำนวน 229 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนสิงหาคม 2563 กองทุนประกันสังคมมีการลงทุน และมีผลตอบแทนที่รับรู้แล้วจำนวนกว่า 33,000 ล้านบาท ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจ และวางใจในการวิเคราะห์ และระมัดระวังของสำนักงานประกันสังคม ในการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุน

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม, 23/9/2563

รมว.แรงงาน ห่วง 25 แรงงานไทยกลับจากลิเบีย กำชับ จนท.ช่วยดูแลหลังกักตัว 14 วัน

22 ก.ย. 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่กระทรวงแรงงาน ได้รับรายงานจากนาวาตรี วิทวัส กู้ประเสริฐ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย (กรุงริยาด) ว่ามีแรงงานไทยจำนวน 25 คน ที่ทำงานอยู่ในประเทศลิเบีย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ว่าต้องการเดินทางกลับประเทศไทย เนื่องจากกลัวจะติดเชื้อโควิด - 19 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศลิเบียนั้น

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงรายงานของ ฝ่ายแรงงาน สนร.ริยาด ว่า แรงงานไทยทั้งหมด 25 คน ได้เดินทางถึงสนามบินกรุงโดฮา ประเทศการ์ตา จากนั้นจะต่อเครื่องด้วยสายการบิน การ์ต้าแอร์เวย์ ในวันนี้ (22 ก.ย. 2563) โดยเที่ยวบิน QR836 เวลา 03.10 น. โดยทั้งหมดได้เดินทางถึงประเทศไทยแล้วเมื่อเวลา 14.10 น. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รมว.แรงงาน ยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิดูแลอำนวยความสะดวกแก่แรงงาน พร้อมทั้งให้แรงงานจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ที่แรงงานไทยเดินทางกลับจากประเทศลิเบียอาศัยอยู่ ซึ่งภายหลังผ่านการกักตัวภายในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ได้ลงพื้นที่ไปพบปะเยี่ยมเยียนเพื่อให้กำลังใจและช่วยเหลือสิทธิประโยชน์แก่ครอบครัวแรงงานไทย

“ผมขอขอบคุณสถานทูต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยประสานให้แรงงานไทยเดินทางกลับมายังประเทศไทยในวันนี้ โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิดูแลอำนวยความสะดวกแก่แรงงาน จากนั้นทุกคนจะต้องผ่านการกักตัวตามสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) จากนั้นผมได้กำชับให้แรงงานจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ที่แรงงานอาศัยอยู่ ได้ลงพื้นที่ไปพบปะเยี่ยมเยียนเพื่อให้กำลังใจและช่วยเหลือแก่ครอบครัวของแรงงานแต่ละคนต่อไป”นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 22/9/2563

ก.แรงงาน จับมือ ซีพีเอฟ รวมใจสู้วิกฤตเซ็น MOU 3 โครงการ รับพนักงาน 8,000 อัตรา

22 ก.ย. 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกันเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการรับสมัครนักศึกษาจบใหม่”, “โครงการสนับสนุนแฟรนไชส์ธุรกิจร้านอาหาร” และ “โครงการคูปองแทนใจให้ผู้ประกันตน” เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาคนว่างงานจากผลกระทบโควิด-19 โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เป็นผู้ลงนาม ณ อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ สีลม

นายสุชาติ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้นำนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ” ของรัฐบาลเข้ามาดำเนินการโดยมีเป้าหมายที่จะผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันวางแผนเพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทย ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบถึงการจ้างงานของหลายบริษัท เกิดการว่างงานของแรงงานจำนวนมาก ตามมาด้วยปัญหาค่าครองชีพ และแนวโน้มการไม่มีงานทำของกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ดังนั้น การร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการช่วยกันแก้ปัญหาและร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ จึงมีความสำคัญยิ่ง

ขณะที่ ซีพีเอฟ เป็นภาคเอกชนที่มีความพร้อมและมีบทบาทในการช่วยเหลือประเทศชาติจากหลายๆ วิกฤตที่ผ่านมามาโดยตลอด จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่เกิดความร่วมมือในวันนี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้แรงงานจบใหม่ของไทยมีงานทำ มีความมั่นคง ทั้งยังช่วยสร้างผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง ซึ่งเป็นพื้นฐานด้านเศรษฐกิจอันเข้มแข็งของชาติ ขณะเดียวกัน ภาระค่าครองชีพที่กระทบถึงแรงงานเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ควรได้รับการแบ่งเบา การมอบคูปองส่วนลดพิเศษในการซื้ออาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสี่ของการดำรงชีพ ให้แก่ผู้ประกันตนทุกคน จึงน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งต้องขอขอบคุณซีพีเอฟที่มอบส่วนลดพิเศษนี้ให้แก่ผู้ประกันตน

ด้านนายประสิทธิ์ ระบุว่า บริษัทพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐในการช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญา 3 ประโยชน์ของประธานอาวุโส นายธนินท์ เจียรวนนท์ และเป็นไปตามนโยบายของนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ต้องการให้บริษัทมีส่วนร่วมแก้ปัญหาการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ อันเป็นการสร้างโอกาส สร้างความมั่นคงทางอาชีพ และสร้างประโยชน์ต่อประเทศในการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงวิกฤตโควิด-19

ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร จึงเปิดรับตำแหน่งงานได้อย่างหลากหลายตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ครอบคลุมหลายสาขาอาชีพ อาทิ สัตวแพทย์ สัตวบาล วิศวกร นักวิจัยพัฒนาอาหาร นักวิทยาศาสตร์ รวมถึง IT ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนางานด้าน Smart Farming , Smart Factory ตลอดจน งานด้านโลจิสติกส์ และงานบริการในร้านซีพีเฟรชมาร์ทและร้านอาหาร การรับนักศึกษาจบใหม่นี้ ตั้งเป้าเปิดรับจำนวนสูงถึง 8,000 อัตรา แบ่งเป็นงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 4,000 อัตรา และต่างจังหวัดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศอีก 4,000 อัตรา ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.cpfwolrdwide.com หรือ พบบูธ CPF ได้ในงาน JOB EXPO THAILAND 2020 จัดโดยกระทรวงแรงงาน วันที่ 26-28 ก.ย. 2563 ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา

ที่มา: ข่าวสด, 22/9/2563

ครม.เห็นชอบเงินอุดหนุนจ้างงาน นศ.จบใหม่ 2.6 แสนคน 50% เป็นเวลา 12 เดือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นโครงการ/แผนงานใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 19,462 ล้านบาท วัตถุประสงค์สำคัญ คือ ช่วยเหลือการจ้างงานให้ผู้จบการศึกษาใหม่ได้มีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มทักษะและประสบการณ์ในการทำงาน รวมทั้งยังเป็นการช่วยเหลือสถานประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง กลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนและผู้จบการศึกษาใหม่ 260,000 คน

สำหรับแผนการใช้จ่าย กระทรวงแรงงานจะจ่ายเงินอุดหนุนเงินเดือน 50% ให้กับผู้จบการศึกษาใหม่ตามอัตราเงินเดือนแยกตามวุฒิไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน/คน ในระยะเวลา 12 เดือนตั้งแต่ 1 ต.ค. 63 - 30 ก.ย. 64 โดยมีเงื่อนไขว่านายจ้างต้องอยู่ในระบบประกันสังคมและไม่เลิกจ้างลูกจ้างเดิมเกินร้อยละ 15 ภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับทั้งผู้จบการศึกษาใหม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน ลดปัญหาการว่างงาน นายจ้างหรือสถานประกอบการยังสามารถดำเนินธุรกิจ รัฐบาลก็จะได้รายได้กลับมาจากการเก็บภาษีด้วย

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 22/9/2563

ประกันสังคม เพิ่มช่องทางจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรผ่าน 'พร้อมเพย์' ได้แล้ว

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มช่องทางให้บริการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทน กรณีสงเคราะห์บุตร ผ่านระบบบริการพร้อมเพย์กับธนาคารที่ผู้ประกันตนเปิดบัญชีเงินฝาก กับธนาคารไว้ โดยขอเชิญชวนผู้ประกันตนที่สนใจขอรับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร สามารถลงทะเบียนพร้อมเพย์ ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารที่เปิดบัญชีเงินฝากไว้ ก่อนยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร

สำหรับผู้ประกันตนที่ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรไว้แล้ว สามารถแจ้งการเปลี่ยนแปลงการขอรับประโยชน์ จากการรับเงินโอนผ่านบัญชีธนาคาร เป็นผ่านบริการพร้อมเพย์ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/ จังหวัด/ สาขา ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มช่องทางการให้บริการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรผ่านระบบบริการพร้อมเพย์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการลดการใช้กระดาษ (Paperless) และเป็นการอำนวยความสะดวก ให้กับผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีความโปร่งใส ลดความผิดพลาด ลดการใช้เงินสดและเช็คอีกด้วย

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 21/9/2563

แสนสิริ แจงข่าวเลิกจ้างพนักงานฟ้าผ่า ยันปลดเพียง 5% ไม่ถึง 600 คน ตามแผนธุรกิจ

จากกรณีมีกระแสข่าวว่า บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทในเครือ แสนสิริ ได้ยื่นหนังสือเลิกจ้างพนักงานในเครือกว่า 600 คน จากพนักงานทั้งหมดประมาณ 4,000 คน แบบฟ้าผ่า จนทำให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากทางบริษัทไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้ามาก่อนนั้น

ล่าสุด (19 ก.ย. 2563) นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ทวิตข้อความชี้แจงถึงกรณีที่มีการปลดพนักงานดังกล่าวว่า ทางบริษัทมีการเลิกจ้าง 5% ของจำนวนพนักงานแสนสิริ และพลัสทั้งหมด ซึ่งมีตัวเลขน้อยกว่า 600 คนมาก โดยตนเองมองว่าเป็นเรื่องปกติของภาคธุรกิจที่จะต้องมีการปรับการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจมากกว่า ซึ่งทางบริษัทเองก็ได้มีการทำมาทุกปี

ที่มา: kapook.com, 20/9/2563 

นักวิชาการเผยผลศึกษาของธนาคารเอกชนรายหนึ่ง ชี้ปี 2564 ลูกจ้างเสี่ยงถูกลดเงินเดือน-เลิกจ้าง 11.8 ล้านคน

รศ. ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนาเรื่องการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานหลังโควิด จัดโดยภาคีสังคมแรงงานสู้โควิด ว่า มาตรการเยียวยาจากภาครัฐได้สิ้นสุดใน ส.ค. จึงเชื่อว่าตัวเลขว่างงานจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลหนึ่งที่น่ากังวลคือผลการศึกษาของธนาคารเอกชนรายหนึ่งที่ศึกษางบการเงินของสถานประกอบการจำนวน 4 แสนแห่ง พบว่ามีกว่า 38 % มีปัญหาสภาพคล่องภายในปี 2564 และ 28% มีความเสี่ยง เปราะบาง โดยเป็นกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ประมง สวนสนุก ลูกจ้างจำนวน 11.8 ล้านคน มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ ลดเงินเดือน ตกงาน

เมื่อสถานประกอบการมีปัญหาสภาพคล่องไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ต้องมีการเลิกจ้าง ดังนั้นหากรัฐไม่มีมาตรการส่งเสริมการจ้างงานที่จะเป็นการประคับประคองภาคธุรกิจ รักษาการจ้างงานเพื่อลดการเลิกจ้างที่สูงมากเกินไป โดยรัฐบาลอุดหนุนร่วมจ่ายค่าจ้างกับนายจ้าง

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ต้องมีความระมัดระวัง คัดกรองนายจ้างที่เข้าร่วมโครงการที่ต้องประสบปัญหาจริง เนื่องจากจะมีสถานประกอบการที่มีศักยภาพในการจ่ายและยังมีการผลิต ยังต้องการรักษาคนงานแต่ต้องการได้ประโยชน์ลดค่าใช้จ่ายจากเรื่องนี้ และเลิกจ้างคนงานเมื่อสิ้นสุดโครงการ ที่จะสูญเสียงบประมาณ และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจะต้องยุติโครงการโดยทันที

ด้าน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ติดลบ12% การนำเครื่องจักรติดลบ 25% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีการลงทุนใหม่ การฟื้นตัว การจ้างงานจะไม่ปรากฎในเร็วๆนี้ โดยคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลา 2 ปี เศรษฐกิจจึงจะกลับมาเช่นก่อนเกิดโควิด และขณะนี้ยังไม่ถือว่าได้ผ่านในช่วงต่ำสุด

ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวอีกว่าหลังโควิด หลายอาชีพจะหายไปทักษะปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ในอนาคต ประสบการณ์มีค่าเป็นศูนย์การลงทุนใหม่จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ดังนั้นการจ้างงานภาคธุรกิจภาคส่วนต่างๆจะต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิงดังนั้นคนจะตกงานอย่างมากมาย

ที่มา: TNN, 20/9/2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท