ปชช.สทิงพระฟ้องศาลปกครองจังหวัดสงขลาหยุดก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดมหาราช

ประชาชน อ.สทิงพระ ฟ้องศาลปกครองสงขลา ขอให้ยกเลิกการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดมหาราช เพราะขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ไม่จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และขออนุญาตดำเนินการไม่ถูกต้อง

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 ประชาชน อ.สทิงพระ จ.สงขลา ประมาณ 20 คน  พร้อมอธิวัฒน์  เส้งคุ่ย ทนายความเครือข่ายมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และอภิศักดิ์ ทัศนี จากโตรงการ Beach for life เดินทางไปศาลปกครองสงขลา เพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงจลา ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายฝั่งทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา โดยมีนิธิวัฒน์ ชินพงศ์, วิชัย เเก้วนพรัตน์, และอภิชาติ สังข์ทอง เป็นผู้ฟ้องคดี ฟ้องกรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมเจ้าท่า, สำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาคสาขาสงขลา, และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมยื่นคำร้องขอให้มีการกำหนดมาตรการชั่วคราว ด้วยการชะลอโครงการไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา พร้อมนำส่งรายชื่อผู้สนับสนุนให้มีการฟ้องคดี รวม 218 ราย

คำฟ้องมีใจความว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายฝั่งทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งมีลักษณะเป็นขั้นบันได พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ริมชายหาดมหาราช ระยะทางรวม 1,744 เมตร ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า โครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากหาดมหาราชไม่มีปัญหากัดเซาะชายฝั่ง โครงการไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างแท้จริง แต่จะก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้นในพื้นที่ถัดไปจากโครงการ กรมเจ้าท่าและสำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาค สาขาสงขลา มีหน้าที่ในการอนุมัติอนุญาตโครงการดำเนินการโดยไม่ชอบ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งมีหน้าที่ดูแลชายหาดไม่ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องชายหาดตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ในคำฟ้องยังบรรยายถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของโครงการ โดยสรุปดังนี้

1. การดำเนินการโครงการมีความบกพร่องในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างเพียงพอ และรอบด้าน

2. โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล เข้าข่ายต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือจัดทำรายงานการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามกฎหมาย เนื่องจากมีลักษณะเป็นการก่อสร้างโครงสร้างแข็งยื่นลงไปในทะเล ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทะเล ชายหาด และส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ถัดไปจากโครงการ  แม้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมได้ถอดถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำ EIA แต่รัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องการดำเนินโครงการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องคำนึกถึงหลักพึงระวังไว้ก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบครอบ รอบด้าน ดังนั้น การดำเนินโครงการดังกล่าวจะต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

3. โครงการมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องในการขออนุญาตหรืออนุมัติตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินโครงการ ได้แก่ การขออนุญาตเจ้าท่า เพื่อดำเนินการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ การขออนุญาตเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน และการขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คำฟ้องระบุคำขอให้ศาลพิพากษาว่า โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อ.สทิงพระ จ.สงขลา ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกเลิกการดำเนินโครงการดังกล่าวทั้งหมด และขอให้หน่วยงานทั้งสี่ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อปกป้องชายหาดด้วย

หลังยื่นคำฟ้อง คำร้องขอให้ศาลเดินเผชิญสืบ คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว และคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนคำร้อง กำหนดมาตรการชั่วคราวฯเป็นกรณีฉุกเฉิน ต่อศาลปกครองสงขลาแล้ว ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนคำร้องกำหนดมาตรการชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ศาลจำต้องรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากคู่กรณีฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินตามคำร้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม  ส่วนคำขอวิธีการชั่วคราวและคำร้องอื่นศาลจะได้พิจารณามีคำสั่งต่อไป

“ชาวบ้านและตัวแทนรวมตัวกันเพราะว่าชาวบ้านเขาเดือดร้อน ซึ่งมีการทำหนังสือร้องเรียนไปแล้วหลายหน่วยงาน แต่ไม่ได้รับการแก้ไข จึงใช้สิทธิตามกฎหมายโดยการฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้วินิจฉัยและพิจารณาต่อโครงการต่อไป” นิธิวัฒน์ ชินพงศ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าว

“สิ่งที่เราคาดหวังต่อการฟ้องคดีครั้งนี้ คือ การที่จะมีคำพิพากษายืนยันถึงโครงการในลักษณะนี้ว่า มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราคิดว่า หากมีบรรทัดฐานเหล่านี้จะทำให้โครงการในลักษณะนี้จะดำเนินการโดยรัฐอย่างรอบคอบมากขึ้น และในขณะเดียวกันการลุกขึ้นมาใช้สิทธิของประชาชนในการฟ้องคดี ซึ่งเป็นสิทธิที่ถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญ เป็นการสร้างความเข้มแข็งและสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรของชุมชน” อภิศักดิ์ ทัศนี ตัวแทนโครงการ Beach for Life กล่าว

อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความเครือข่ายของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า การฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิตามกระบวนการทางศาล เพื่อให้ศาลปกครองตรวจสอบโครงการของรัฐว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งกรณีหาดทรายนั้น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า หากมีการก่อสร้างโครงสร้างแข็งลงไปบนชายหาดและทะเล ย่อมส่งผลกระทบต่อชายหาดไม่รู้จบ ดังนั้น โครงการที่เรียกว่า เขื่อนป้องกันคลื่น หรือกำแพงกันคลื่น จึงจำเป็นต้องถูกตรวจสอบว่าดำเนินการโดยความชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเนื้อหาและกระบวนการหรือไม่ เป็นหน้าที่ศาลปกครองตรวจสอบโครงการดังกล่าวต่อไป เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

ทนายความเครือข่ายของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวต่อว่า ประชาชนยื่นหนังสือร้องเรียนต่อทุกหน่วยงานเพื่อให้ยุติโครงการ แต่ไม่เป็นผล จึงไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนมีรายงานออกมา  สามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลในวันนี้

หลังยื่นฟ้อง ตัวแทนประชาชนร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ขอให้ยุติการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดมหาราช อ.สทิงพระ จ.สงขลา

ประชาชนชาวสทิงพระยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา
ขอให้ยุติการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา 

ตัวแทนประชาชนมหาราช ได้แก่ นายนิธิวัฒน์ ชินพงศ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 นายวิชัย เเก้วนพรัตน์ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และนายอภิชาติ สังข์ทอง ผู้ฟ้องคดีที่ 3 และผู้สนับสนุนการฟ้องคดีครั้งนี้ จำนวน 218 คน ได้ยื่นฟ้องคดี กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กรมเจ้าท่า เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 สำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาคสาขาสงขลา เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4

สืบเนื่องจาก กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายฝั่งทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ ระยะที่ 1 ความยาว 92 เมตร  ระยะที่ 2 ความยาว 1,102 เมตร  และระยะที่ 3  ความยาว 550 เมตร รวมทั้งสิ้น 1,744 เมตร  โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบขั้นบันได พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ริมชายหาดมหาราช

การดำเนินโครงการดังกล่าว ผู้ฟ้องคดี มีความเห็นว่าโครงการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเชิงเนื้อหา และเชิงกระบวนการ

ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงเนื้อหา เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างแท้จริง และเป็นโครงการที่ไม่จำเป็นต้องกระทำ อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้ว โครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่คุณภาพของสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของชุมชนยิ่งกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ และขัดต่อหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วน

ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงกระบวนการ คือ

1. การดำเนินการโครงการนั้นมีความบกพร่องในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน  และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างเพียงพอ และรอบด้าน

2. โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล เข้าข่ายต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือจัดทำรายงานการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามกฎหมาย เนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหรือกำแพงกันคลื่นนั้น มีลักษณะเป็นการสร้างโครงสร้างแข็งยื่นลงไปในทะเลที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทะเล ชายหาด และส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านด้านน้ำของโครงการ จากบทเรียนในประเทศและต่างประเทศพบว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าวนั้นได้ทำให้พื้นที่ชายหาดด้านหน้ากำแพงกันคลื่นหายไป เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านท้ายน้ำ เป็นเหตุให้ต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ได้ถอดถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำ EIA แต่เนื่องจาก ในทางกฎหมายนั้น การดำเนินโครงการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้อง คำนึกถึงหลักพึงระวังไว้ก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยต้องทำการศึกษาผลกระทบอย่างรอบครอบ รอบด้าน ดังนั้น การดำเนินโครงการดังกล่าวจะต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

3. โครงการดังกล่าวนั้น มิได้ดำเนินการให้ถูกต้องในการขออนุญาตหรืออนุมัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินโครงการ อันได้แก่ การขออนุญาตเจ้าท่า เพื่อดำเนินการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และ การขออนุญาตเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน

การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดมหาราช โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น  หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้ชายฝั่งทะเลหาดมหาราช และชายฝั่งในอำเภอสทิงพระ เกิดการเปลี่ยนแปลง พื้นที่ชายฝั่งทะเลจะหายไป เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านเหนือของโครงการ  ซึ่งจะทำให้ประชาชนสทิงพระ และพื้นที่ใกล้เคียงที่เคยอาศัยใช้ประโยชน์หาดทรายในการนันทนาการ การประมงริมชายฝั่ง ไม่สามารถที่จะดำเนินตามวิถีชีวิตอันเป็นปกติได้  อีกทั้ง โครงการในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ยังเป็นการก่อสร้างทับพื้นที่ชายหาดที่มีชุมชนประมงชายฝั่งอาศัยใช้ประโยชน์หาดทราย ในการจอดเรือ วางอวน กว่า 20 ครัวเรือน ซึ่งการดำเนินโครงการนี้จะทำให้ชาวประมงริมชายฝั่งไม่สามารถจอดเรือได้ เพราะไม่มีพื้นที่ชายหาด และไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ตามปกติ

มิหนำซ้ำการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้จะเป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหาทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง

อีกทั้งกรมทรัพยากรทางทะและชายฝั่ง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์ รักษา และคุ้มครองทรัพยากรหาดทราย แต่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีหน้ามีหน้าที่พิทักษ์รักษา คุ้มครองทรัพยากรหาดทรายไม่ให้เกิดความเสียหาย เสื่อมโทรม และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งจากโครงสร้างแข็ง

ซึ่งในประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของผู้ฟ้องคดีทั้งสามและผู้สนับสนุนการฟ้องคดี 218 คน ออกมาปกป้องชายหาดมหาราช ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 และประชาชนผู้สนับสนุนการฟ้องคดี 218 คน จึงนำคดีมาสู่ศาลปกครอง โดยขอศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษาว่า

1. โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อ.สทิงพระ จ.สงขลา ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3  ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ยกเลิกการดำเนินโครงการดังกล่าวทั้งหมด

2. ขอให้เพิกถอนการอนุญาตที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เข้าดำเนินการโครงการบนพื้นที่ชายหาด ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกัน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ออกจากบริเวณชายหาดมหาราชทั้งหมด และให้ปรับสภาพพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยงบประมาณของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ประชาชนชาวมหาราช และผู้ที่มีหัวใจรักชายหาด ได้พยายามทุกหนทางในการทั้งการร้องเรียนหน่วยงาน 10 ฉบับ แต่ยังไม่มีหนทางใดที่จะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดียกเลิกโครงการและฟื้นฟูสภาพชายหาดให้กลับมาดังเดิมได้ ศาลปกครองจึงเป็นความหวังที่จะเป็นการปกป้อง พิทักษ์รักษาหาดทรายไว้ให้คงอยู่สืบต่อไป 

วันที่ 24 กันยายน 2563 
ณ ศาลปกครองสงขลา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท