Skip to main content
sharethis

การชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาประชาชน 19 กันยา จะเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ใช้ความรุนแรง แต่แสดงเจตจำนงไม่ยอมรับกฎหมาย คำสั่ง ข้อห้าม ที่ไม่ชอบธรรม ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ขัดขวางการแสดงออกตามวิถีประชาธิปไตย ถูกใช้เป็นเครื่องมือรัฐประหารสืบทอดอำนาจ

ม็อบประกาศว่า จะเริ่มชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ถ้ามีคนมากจะค้างคืนสนามหลวง แล้วเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล

นั่นคือการแสดงเจตจำนงฝ่าฝืนข้อห้ามใช้สนามหลวง ข้อห้ามเข้าใกล้ทำเนียบ 50 เมตร ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แต่พอ ผู้บริหารธรรมศาสตร์ออกคำสั่งห้าม ให้ความร่วมมือฝ่ายความมั่นคง สั่งปิดประตูมหาวิทยาลัย

ม็อบก็จะต้องฝ่า 3 ด่านคือ ยึดพื้นที่ธรรมศาสตร์ ยึดพื้นที่สนามหลวง เดินขบวนไปหน้าทำเนียบ ยื่นข้อเรียกร้องแล้ว สลายตัว

ถามว่าการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ที่สนามหลวง เดินขบวนไปทำเนียบ เป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่ ไม่เห็นทำผิดคิดร้ายตรงไหนเลย เป็นเรื่องปกติ เป็นประเพณีประชาธิปไตยที่ม็อบทุกฝ่ายทำมาหลายสิบปี ตราบใดที่ไม่เข้าไปยึดทำเนียบ 193 วัน

อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่างหาก มาออกกฎหมายข้อห้าม ทำให้การเคลื่อนไหวตามประเพณีประชาธิปไตยกลายเป็น “ผิดกฎหมาย”

ธรรมศาสตร์เป็นของประชาชน ไม่ใช่ของผู้บริหารไม่กี่คน ที่ใช้อำนาจสั่งปิดกั้น การยึดธรรมศาสตร์จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเพื่อทวงคืนธรรมศาสตร์ ให้กลับมาเป็นของประชาชน เป็นพื้นที่เสรีภาพ ตามเจตจำนง อ.ปรีดี

นี่ต่างจากการบุกยึดสถานที่ราชการของ กปปส. ซึ่งมีเจตจำนงให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ ปูทางไปสู่รัฐประหาร ม็อบยึดธรรมศาสตร์เพื่อชุมนุม 2 วัน เป็นสัญลักษณ์ทวงคืน ไม่ได้มุ่งทำลายทรัพย์สินหรือยุติการเรียนการสอน

เช่นเดียวกับประกาศว่าถ้าคนมากก็จะยึดสนามหลวง ทวงคืนสนามหลวง “ของประชาชน” พื้นที่ทางการเมืองตั้งแต่ยุคก่อนกึ่งพุทธกาล พื้นที่สันทนาการที่ไม่ควรถูกปิดกั้น พื้นที่รอรถเมล์ของคนหาเช้ากินค่ำ ฯลฯ

ซึ่งเป็นตลกร้าย หลังม็อบประกาศ “อาจยึด” กทม.ก็รีบคืนพื้นที่ให้ใช้สันทนาการใช้ออกกำลังกายได้ แต่ยังยืนยันห้ามชุมนุม

ทำเนียบรัฐบาล ทุกยุคสมัยก็เป็นจุดที่ประชาชนไปเรียกร้อง เพราะเป็นศูนย์กลางอำนาจบริหารที่มาจากเลือกตั้ง มีม็อบต่างๆ ไปประท้วง แสดงพลัง เพื่อให้รัฐบาลสนใจความเดือดร้อน แล้วก็จะเจรจากัน ถ้ายืดเยื้อก็จัดที่ให้อยู่ อย่างม็อบสมัชชาคนจน

ทุกยุคสมัยก็จะล้นถนน หรือปิดถนนเป็นพักๆ แต่ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบ เพราะไม่ได้บุกยึดทำเนียบยึดสนามบินแบบม็อบมีเส้น

พึงเข้าใจว่า การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญชุมนุมโดยสงบ จำต้องละเมิดกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ เสมอ เช่นม็อบเกษตรกรกีดขวางจราจร ใช้เครื่องขยายเสียง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสนใจ

ปัดโธ่ ม็อบชัตดาวน์กรุงเทพฯ เป็นอัมพาต บีบคอขัดขวางคนไปเลือกตั้ง ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ

ม็อบ 19 กันยาจึงเป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่จะฝ่าฝืนกฎหมายคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ เช่นที่วิษณุขีดเส้น ห้ามเข้าใกล้ทำเนียบ 50 เมตร ซึ่งไม่มีเหตุผลเลย

พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะออกโดยรัฐบาลเผด็จการ ตั้ง สนช.มาโหวตผ่าน กำหนดข้อห้ามไม่เป็นประชาธิปไตย ถูกใช้เป็นเครื่องมืออำนาจ จะม็อบด่ารัฐบาลต้องไปขออนุญาตตำรวจ

อย่างไรก็ตาม การฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุม มีโทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน ปรับหนึ่งหมื่นบาท ฉะนั้นถามว่าถ้าม็อบไม่หยุดที่สะพานมัฆวาน บุกเข้าไปตั้งเวทีปราศรัยประชิดทำเนียบ ตำรวจที่ระดมกันมาเป็นหมื่นๆ จะสลายการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา โล่กระบอง กระสุนยาง ฯลฯ หรือไม่

หรือถ้าม็อบบุกยึดธรรมศาสตร์ ที่ผู้บริหารปิดประตู เอาตำรวจเข้าไปตั้งมั่น จะสั่งลุยเลยหรือไม่ ถ้าทำเช่นนั้นก็เหมือน 6 ตุลากลับด้าน ผู้บริหารธรรมศาสตร์คงได้จารึกประวัติศาสตร์ตรงข้าม อ.ป๋วย

เช่นเดียวกับสนามหลวง ที่มีข้ออ้าง บุกรุกโบราณสถาน คุกสิบปีปรับหนึ่งล้าน เฮ้ยนั่นมันใช้กรณีมีคนถือขวานบุกเข้าไปทุบเจดีย์วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ไม่ใช่เข้าไปม็อบในสนามหลวงที่มี แต่หญ้า

การที่ม็อบประกาศฝ่า 3 ด่าน ก็คือแกนนำพร้อมต่อสู้คดี พร้อมให้มีหมายเรียกตามหลัง จากการชุมนุมโดยสงบ ยึดพื้นที่สัญลักษณ์ประชาธิปไตย โดยไม่ใช้ความรุนแรง เพียงใช้คนจำนวนมากร่วมแรงร่วมใจ

ฉะนั้น หากจะเกิดความรุนแรง ก็มาจากการตัดสินใจของรัฐ ของตำรวจ หากใช้กำลังขัดขวาง หากสลายการชุมนุม ซึ่งกระทำเกินกว่าเหตุ เมื่อเทียบกับ “ความผิด” ของการฝ่าฝืนดังกล่าว

ทำไมม็อบต้องฝ่าฝืน “กฎหมาย” ก็เพราะรัฐประหารใช้อำนาจเถื่อนฉีกกฎหมายสูงสุด เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ตัวเองสืบทอดอำนาจ ยัดเยียดลงประชามติ แล้วบอกว่าต้องยอมรับกติกา

รัฐประหารออกคำสั่งเป็นกฎหมาย ตั้ง สนช.พวกญาติยกมือผ่านกฎหมาย แล้วใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือค้ำอำนาจ ใช้กฎหมายตีความกฎหมายโดยองค์กรที่รัฐประหารตั้ง หรือใช้อำนาจเกินขอบเขตโดยตำรวจทหาร

แล้วยังบอกประชาชนต้องเคารพกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายเสื่อมหมดแล้วเพราะรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ เหลือแต่กฎที่เลี้ยวไปเลี้ยวมาเพื่ออำนาจ

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/newspaper-column/news_4936357

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net